ล้อมคอกความปลอดภัย


เพิ่มเพื่อน    

    
    ในช่วงปี 2563 ที่ผ่านมา หลายคนคงได้ยินข่าวเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในโรงเรียนมากมาย ไม่ว่าจะเป็นข่าวดีหรือข่าวไม่ดี แต่ที่เป็นที่กล่าวถึงกันมากที่สุดคงหนีไม่พ้นเรื่องการทำร้ายร่างกายเด็กนักเรียนในโรงเรียนเอกชนชื่อดังของประเทศแห่งหนึ่ง ซึ่งจากเหตุการณ์นั้นทำให้ผู้ปกครองหลายคนต้องกลับมาทบททวนแล้วว่ายังต้องการส่งเด็กให้ไปเรียนในสถานที่นั้นๆ อยู่ไหม และจะเอาอะไรมามั่นใจว่าคุณครู หรือบุคลากรในโรงเรียนอื่นๆ จะไม่มีการทำร้ายร่างกายลูกของตัวเอง 
    ด้วยเหตุนี้จึงมีการสืบค้นข้อมูลต่างๆ ทำให้เกิดการกระจายเป็นวงกว้างทุกโรงเรียนถูกสืบค้นหมดว่าเคยเกิดเหตุการณ์เหมือนหรือคล้ายดังกล่าวขึ้นหรือไม่ จนผู้ปกครองหลายคนเริ่มระแวงและไม่มีแนวทางการปฏิบัติที่ถูกต้อง ซึ่งความกังวลดังกล่าวลามมาถึงการดูแลความปลอดภัยต่างๆ ในโรงเรียน และมาตรการที่จะต้องเข้ามาดูแลและปกป้องเด็กนักเรียนในโรงเรียนด้วย ทั้งนี้หน่วยงานของรัฐบาลที่เกี่ยวข้องจึงต้องออกมาดูแลเรื่องดังกล่าวไม่ให้บานปลาย และเกิดผลกระทบเป็นวงกว้าง แม้กระทั่งสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ถึงแม้ว่าจะดูไม่เกี่ยวข้องเท่าไหร่นัก แต่ก็พร้อมที่จะทำงานเชิงรุกออกมาตรการที่ใช้เป็นเรื่องมือในการเข้ามาดูแลปัญหาดังกล่าว 
    โดย สมอ.ได้เตรียมประกาศมาตรฐานการจัดการด้านความปลอดภัยในโรงเรียน เพื่อให้สถานศึกษาได้นำไปใช้ในการบริหารจัดการเพื่อดูแลนักเรียนและลดปัญหาดังกล่าว โดยมาตรฐานฉบับนี้ สมอ.ร่วมมือกับสมาคมอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน ซึ่งบอร์ดได้เห็นชอบมาตรฐานดังกล่าวแล้วเมื่อวันที่ 23 ธ.ค.63 ที่ผ่านมา คาดว่าจะประกาศใช้มาตรฐานดังกล่าวได้ภายในเดือน ม.ค.2564 นี้ 
    ซึ่งข้อกำหนดในมาตรฐานอ้างอิงมาจากมาตรฐานสากลที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก คือ มาตรฐานระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย (ISO 45001) และหลักเกณฑ์และแนวทางการบริหารความเสี่ยง (ISO 31000) สามารถนำมาปรับใช้ได้กับทุกโรงเรียน ตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย ซึ่งครอบคลุมในด้านการบริหารจัดการด้านความปลอดภัยภายในโรงเรียน และการควบคุมความเสี่ยงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากอุปกรณ์ หรือเครื่องมือต่างๆ รวมถึงสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บและการเจ็บป่วย รวมทั้งโรคติดต่อ เพื่อให้นักเรียน และบุคลากร ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายมีความปลอดภัยสูงสุด  
    โดยใช้หลักการประเมินความเสี่ยงมาใช้ในการวางแผนเพื่อลดความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นแก่นักเรียน บุคลากรภายในโรงเรียน และผู้เกี่ยวข้อง เช่น อันตรายจากการที่ครูแอบทำร้ายเด็ก อันตรายจากสนามเด็กเล่น สนามกีฬา เพลิงไหม้ในห้องครัว อุบัติเหตุและอุปกรณ์ภายในห้องเรียนการจัดการเมื่อเกิดโรคระบาด การตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม เป็นต้น  
    ทั้งนี้ ผู้บริหารสถานศึกษาจะต้องเป็นผู้นำและแสดงความมุ่งมั่นในการจัดการด้านความปลอดภัยภายในโรงเรียน มีการกำหนดนโยบายที่ชัดเจน จัดหาทรัพยากรให้เพียงพอ มีการอบรมให้ความรู้ รวมทั้งสื่อสารข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับอันตราย กฎระเบียบ และข้อควรปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการจัดการด้านความปลอดภัยให้กับนักเรียน บุคลากร ผู้รับเหมา และบุคคลภายนอกที่มาใช้บริการ เกิดความเข้าใจและสามารถปฏิบัติได้ รวมถึงการควบคุมความเสี่ยงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการจัดซื้อ จัดจ้างผลิตภัณฑ์ อุปกรณ์ หรือเครื่องมือต่างๆ ในโรงเรียนด้วย เช่น การจัดซื้อสารเคมีต้องเลือกซื้อชนิดที่มีความปลอดภัย เครื่องเล่น อุปกรณ์สนามต้องปลอดภัยได้มาตรฐาน รวมถึงมีการเตรียมความพร้อมและการดำเนินการเกี่ยวกับภาวะฉุกเฉินที่อาจจะเกิดขึ้นในโรงเรียนได้ 
    นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการ สมอ. กล่าวว่า สมอ.ยังได้เตรียมประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสำนักการศึกษา กทม. เพื่อร่วมกันผลักดัน และหาแนวทางที่เหมาะสมสำหรับการส่งเสริม และสนับสนุนให้โรงเรียนดำเนินการตามมาตรฐานการจัดการด้านความปลอดภัยในโรงเรียนต่อไป 
    การออกมาตรฐานดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความใส่ใจของหน่วยงานที่อาจจะไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรง แต่การทำงานเชิงรุกทำให้สรรหาวิธีการที่จะเข้าไปดูแลได้อย่างตรงจุดและมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันก็เป็นการดูแลนักเรียนที่จะถือว่าเป็นบุคลากรของประเทศต่อไป. 

ณัฐวัฒน์ หาญกล้า


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"