วิ่งไปบนถนนลอยฟ้า ดอยภูคา-บ่อเกลือ


เพิ่มเพื่อน    

(ลักษณะการกางเต็นท์ริมแม่น้ำว้า บ้านสะปัน มีหลังคาคลุมกันแดดอีกชั้น)

    หากท่านต้องการปลุกเพื่อนให้ตื่นนอนในตอนเช้าโดยไม่เสียมารยาท ผมขอแนะนำให้ไปชงกาแฟหอมๆ ใกล้ๆ ที่นอนของผู้กำลังหลับใหล
    เพื่อนของผมบดเมล็ดกาแฟออร์แกนิกส์ ตรา “ฮักนากาแฟ” ด้วยเครื่องบดมือที่เขาเตรียมมา จากนั้นต้มด้วยเครื่องต้มกาแฟพกพาแบบใช้แบตเตอรี่ ต้มได้ 2 ถ้วยจากการชาร์จแบตเตอรี่ 1 ครั้ง ผมม้วนเก็บถุงนอนแล้วเดินออกจากเต็นท์ เขาถามว่าต้องการเอสเปรสโซหรืออเมริกาโน ผมขออย่างหลัง เพราะต้องการปริมาณ
    อากาศในช่วงสายๆ บนลานดูเดือน อุทยานแห่งชาติดอยภูคาอุ่นสบาย แสงแดดจ้ามีส่วนช่วย แต่น้ำในก๊อกยังเย็นเฉียบไม่ต่างจากเมื่อคืน เราเลยไม่คิดเสี่ยงชีวิตด้วยเหตุผล 2 ประการ คือห้องอาบน้ำไม่มีเครื่องทำน้ำอุ่น และพวกเราไม่มีผ้าเช็ดตัว
    ไฟในเตาถ่านพกพาที่วางไว้กลางลานก่อไฟตั้งแต่เมื่อคืนยังคงไม่มอด เพื่อนของผมเติมถ่านลงไปจนไฟโชนแดงอีกครั้ง เราจึงได้กินโจ๊กถ้วยกึ่งสำเร็จรูปเป็นมื้อเช้า เคียงกับประดาของเหลือ ไม่ว่าจะเป็นปลาหมึกหยอง แฮม ปูอัด ทำให้อยู่ท้องได้พอประมาณ
    นักท่องเที่ยวนับสิบคนที่กางเต็นท์อยู่อีกลานออกจากพื้นที่ไปหมดแล้ว ผมและเพื่อนถูกเจ้าหน้าที่จัดสรรให้มานอนในลานที่ 2 นี้เพียงลำพังเต็นท์เดียวด้วยสาเหตุที่ผมเชื่อว่าบุคลิกของเรามีส่วน นั่นคือเจ้าหน้าที่คงมองเห็นแนวโน้มการสร้างความรำคาญให้กับผู้อื่น
    ผมทราบจากเพื่อนร่วมทางในภายหลังว่าเจ้าหน้าที่อาจต้องการให้พวกเราได้ลองของหรือประสบเรื่องลี้ลับบางอย่าง ผมไม่เจอ แต่เพื่อนโดนไปเต็มๆ เมื่อคืนนี้เวลาเขาปวดฉี่ก็ขอให้ผมเดินไปเป็นเพื่อนทุกครั้ง และตอนผมเข้าห้องน้ำเขาจะเดินตามไปด้วยทั้งที่ตัวเองไม่ได้มีธุระอะไร
    ตอนค่ำที่เราเข้ามาเช็กอินจ่ายเงินแลกกับหมายเลขเต็นท์นั้น อาจพลาดพลั้งไปกวนบาทาท่านเจ้าหน้าที่เอาก็ได้ แม้ว่านึกแล้วนึกอีกก็ยังนึกไม่ออกว่าเผลอตัวไปตอนไหน

(ถนนลาดชันกลางหมู่บ้านน้ำดั้น อ.ปัว จ.น่าน)

    ห่างจากศูนย์บริการนักท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติดอยภูคาไปตามถนนหมายเลข 1256 ประมาณ 2 กิโลเมตร เป็นที่ตั้งของหมู่บ้านน้ำดั้นในเขตตำบลภูคา อำเภอปัว ผมเคยมาออกค่ายอาสาฯ สมัยยังเรียนมหาวิทยาลัยเมื่อเกือบ 20 ปีก่อน กลับมาเยี่ยมหมู่บ้านอีกครั้งราว 2 ปีให้หลัง จากนั้นก็ไม่โผล่มาอีกเลย
    ทันทีที่เพื่อนผมจอดรถหน้าร้านค้าปากทางเข้าหมู่บ้าน หญิงชาวลัวะปิดประตูบ้าน เปิดไว้เฉพาะส่วนที่ขายของชำ ผมเปิดประตูลงไป เธอพูดขึ้นว่าทำไมไม่ใส่หน้ากาก ผมลืมเสียสนิท กลับเข้าไปหยิบหน้ากากอนามัยจากในรถขึ้นมาสวมปิดหน้า เธอใส่หน้ากากผ้าอยู่แล้ว เช่นเดียวกับลูกน้อย
    เธอถอยฉากยืนห่าง ตอบคำถามแบบประหยัดคำพูด ผมไม่ได้รับคำตอบแม้แต่เรื่องเดียว จึงเดินเข้าไปในหมู่บ้าน ถนนคอนกรีตลาดลงและคดโค้งเช่นเดียวกับเมื่อ 20 ปีก่อน บ้านเรือนตั้งอยู่ 2 ฝั่ง ผมจำไม่ได้ว่าเปลี่ยนแปลงสภาพไปขนาดไหน แต่ซุ้มเหล้าป่าตรงหัวสะพานข้ามห้วยน้ำดั้นหายไปแล้ว และสะพานนี้สร้างขึ้นใหม่อย่างไม่ต้องสงสัย เลยสะพานไปคือพื้นที่ของศูนย์การเรียนรู้ชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” บ้านน้ำดั้น ในอดีตมีชื่อว่า “โรงเรียนบ้านน้ำดั้น”
    สนามตะกร้อที่เราขนอุปกรณ์ขึ้นมาสร้างร่วมกับชาวบ้านยังอยู่ ส่วนถังเก็บน้ำฝนหายไป ผมชะโงกหน้าเข้าไปในอาคารชั้นเดียวหลังเล็กหลังเดิม หญิงมีปัญหาทางจิตเข้าไปเรียกคุณครูในห้องน้ำ คุณครูผู้หญิงกำลังซักผ้า ท่านออกมาบอกว่าขอให้รอสักครู่ ผมจึงเดินดูสภาพหมู่บ้านส่วนที่เลยไปจากโรงเรียน บ้านฝาไม้ไผ่ขัดแตะหลังที่ผมเคยนอนเปลี่ยนเป็นบ้าน 2 ชั้นหลังใหญ่ครึ่งไม้ครึ่งปูน เข้าไปดูใกล้ๆ ไม่เห็นเจ้าของบ้าน ส่วนหลังถัดๆ ไปก็มีลักษณะคล้ายกัน บางหลังสร้างยังไม่เสร็จ ผมไม่ได้เดินไปไกลนักเพราะไม่อยากให้ดูคล้ายเป็นการรุกล้ำ แม้ว่าแทบไม่เจอผู้คนเลยก็ตาม
    กลับมาคุยกับคุณครู ผมถามถึงครูท่านเดิมที่เคยประจำอยู่ก็ทราบว่าย้ายสลับกับครูคนปัจจุบันไปอยู่ศูนย์การเรียนรู้ชาวไทยภูเขา “บ้านน้ำย้อ-ขุนดิน” ใกล้ๆ ร้านชำที่รถของเราจอดเสียเมื่อเย็นวาน มีชาวบ้านแนะนำด้วยซ้ำว่าให้ขึ้นไปพักแรมที่ศูนย์การเรียนรู้ดังกล่าวหากว่ารถวิ่งต่อไม่ได้ ผมเกือบจะเดินขึ้นไปอยู่แล้ว แต่ปัญหาของรถแก้ไขได้เสียก่อน
    เมื่อตอนที่ผมและคณะมาออกค่ายเกือบ 20 ปีที่แล้วมีครูในโรงเรียนบ้านน้ำดั้นแค่คนเดียว เวลานี้ก็มีแค่คนเดียว คงจะมีบางช่วงที่มีครูอายุน้อยมาประจำการอยู่บ้าง แต่ปัจจุบันจำเป็นต้องย้ายเด็กไปเรียนที่โรงเรียนบ้านเต๋ย (ภูคาวิทยาคม) อยู่ห่างออกไป 7 กิโลเมตร โรงเรียนระดับประถมศึกษากลายสภาพเป็นศูนย์การเรียนรู้ชาวไทยภูเขา  ครูคนเดียวสอนทั้งผู้ใหญ่ ซึ่งส่วนมากก็คือเด็กในหมู่บ้านที่ออกจากระดับมัธยมกลางคัน และเด็กเล็ก-อนุบาล
    “ครูหนุ่มๆ สาวๆ ย้ายมาอยู่คนละประมาณ 1 ปีเพื่อจะได้ย้ายไปอยู่ที่ใหม่ที่พอใจกว่า” แม่พิมพ์วัย 50 กลางๆ เล่าให้ฟัง คลอด้วยเสียงเพลงลูกทุ่งจากวิทยุขนาดเล็กของหญิงป่วยทางจิตคนเดิม หล่อนถือวิทยุเดินไปเดินมา สลับกับหยิบอุปกรณ์เครื่องเขียนออกมาโยนเล่น ครูไม่ว่าอะไร “ดีเหมือนกัน มีคนเปิดเพลงให้ฟังทั้งวัน” ครูพูดยิ้มๆ
    ผมถามถึงเด็กคนหนึ่งที่จำชื่อได้ ครูนึกไม่ออก แต่บอกชื่อมาอีกหลายคน ผมคุ้นชื่ออยู่บ้าง ครูบอกว่าเด็กเหล่านี้ส่วนใหญ่ไปทำงานในกรุงเทพฯ หรือไปมีครอบครัวอยู่ที่อื่น แต่ยังส่งเงินมาให้พ่อแม่สร้างบ้านดังที่เห็น
    โดยรวมแล้วหมู่บ้านแห่งนี้ยังคงสภาพเดิมไว้ได้ ไม่มีเกสต์เฮาส์และโฮมสเตย์ เพราะชาวบ้านชอบความสงบและไม่ชอบการเปลี่ยนแปลงมากนัก ผมขอเบอร์ของคุณครูคนเก่าเพื่อไว้โทรถามข่าวคราว รวมทั้งครูคนปัจจุบัน ทั้งคู่เป็นครูดอยมาทั้งชีวิตและจะเกษียณอายุในอีกประมาณ 5 ปีข้างหน้า
    คุยกันอยู่ราวๆ 1 ชั่วโมงผมก็ชวนเพื่อนที่นั่งรออยู่ข้างๆ สนามตะกร้อเดินข้ามสะพาน ขึ้นเนินกลับไปยังถนนใหญ่หมายเลข 1256 เข้าไปขอซื้อน้ำเปล่า 2 ขวด ยื่นเงินให้แม่ค้าคนเดิม เธอรับเงินแล้วเดินไปเปิดก๊อกน้ำล้างมือ และเรียกให้ลูกไปล้างด้วยทั้งที่เด็กไม่โดนตัวผมแม้แต่น้อย เพื่อนผมอยากดื่มเครื่องดื่มบำรุงกำลัง ผมไปซื้ออีกรอบ เธอรับเงินแล้วก็เดินไปล้างมือพร้อมเรียกลูกน้อยไปอีกเหมือนเดิม
    ในนิยายมีแต่คนกรุงรังเกียจคนบ้านนอก แต่ในยุคโควิด-19 เหตุการณ์ได้กลับตาลปัตรพลิกหัวพลิกหางไปอีกทางเรียบร้อยแล้ว
    ถนนหมายเลข 1256 ตัดจากตัวอำเภอปัวขึ้นดอยภูคาไปจนถึงตัวอำเภอบ่อเกลือ ระยะทาง 45 กิโลเมตร มีชื่อเล่นว่า “ถนนลอยฟ้า” เพราะวิ่งไปตามไหล่เขาและสันเขา บางช่วงจะมองเห็นวิวทิวเขาซ้อนกันระเกะระกะทั้งซ้ายขวาพร้อมๆ กัน

(สถานที่สำหรับกางเต็นท์ “ลานดูเดือน” ในอุทยานแห่งชาติ ดอยภูคา อ.ปัว จ.น่าน)

    เราแวะที่ “ลานดูดาว” ลานกางเต็นท์อีกแห่งของอุทยานแห่งชาติดอยภูคา เพื่อนบอกว่าแวะพักเบรกหน่อย เขาไม่ค่อยกล้าใช้ “Engine braking” อีกแล้ว เพราะกลัวปัญหาเดิมจะกลับมา จากนั้นเราก็ไปต่อ วิ่งผ่านตำหนักเจ้าหลวงภูคา ซึ่งเจ้าหลวงภูคาก็คือ “พญาภูคา” ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ภูคา (สันนิษฐานว่ามาจากอาณาจักรเงินยาง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงรายในปัจจุบัน) สร้างเมืองขึ้นที่อำเภอปัว เรียก “วรนคร” ครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ.1812-1880 ร่วมยุคสมัยกับกรุงสุโขทัย ก่อนที่กษัตริย์องค์ต่อๆ มาจะย้ายเมืองหลวงอีก 2-3 ครั้งจนไปตั้งอยู่ที่เมืองน่านในปัจจุบัน
    พระนาม “พญาภูคา” จึงเป็นที่มาของชื่อ “ดอยภูคา” ได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อ พ.ศ.2542 กินพื้นที่ 8 อำเภอของจังหวัดน่าน มีเนื้อที่รวม1,704 ตารางกิโลเมตร เป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำน่าน พืชที่เป็นสัญลักษณ์ของดอยภูคาก็คือ “ชมพูภูคา” ในประเทศไทยพบได้เพียงบนดอยแห่งนี้ ส่วนในดินแดนอื่นข้อมูลในอินเทอร์เน็ตระบุว่า มีที่เวียดนามตอนบน ไต้หวัน และตอนใต้ของจีนเท่านั้น
    ชมพูภูคาเป็นไม้ยืนต้นสูงประมาณ 20 เมตร มีดอกสีชมพูอ่อนลักษณะคล้ายระฆัง ออกเป็นช่อที่ปลายยอด หากต้องการชมดอกชมพูภูคาต้องมาเยือนดอยภูคาในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ผมขึ้นดอยภูคามา 3-4 ครั้งก็ไม่เคยได้ชมดอกชมพูภูคา เพราะมาไม่ตรงช่วงเวลา เคยเห็นแต่ต้นเท่านั้น เด็กในบ้านน้ำดั้นเป็นไกด์พาไปดู

(จุดชมวิวความสูง 1,715 เมตร จากระดับน้ำทะเล อุทยานแห่งชาติดอยภูคา)

    อุทยานแห่งชาติดอยภูคามีจุดสูงสุดอยู่ที่ยอดดอยภูคา ความสูง 1,980 เมตรจากระดับน้ำทะเล เราวิ่งมาถึงจุดชมวิวที่ใครๆ ก็ต้องแวะ ปักป้าย “1715” ซึ่งก็คือตัวเลขบอกระดับความสูงจากระดับน้ำทะเล มีระเบียงยื่นออกไปกลางหาวสำหรับชมสีเขียวอ่อน เขียวเข้ม พาดทับซ้อนกันไปจนจรดขอบฟ้า
    ใกล้ๆ จุดชมวิวมีแม่ค้าตั้งแผงขายของอยู่หลายเจ้า ผมซื้อไข่ปิ้งและมันปิ้งกินเป็นมื้อเที่ยง เพื่อนของผมกินมันปิ้งไปเพียงหัวเดียว เขาบอกว่าไม่ชอบกินจุกจิก จากนั้นรถของเราออกเดินทางขึ้นลงและคดโค้งหวาดเสียวต่อไป ผ่านจุดชมวิวอีกหลายแห่ง เพื่อนของผมบอกว่าเส้นทางนี้คล้ายทางขึ้นดอยอ่างขาง ต่างกันที่เส้นนี้ยาวกว่า
    ไม่นานนักเราก็เข้าสู่เขตตัวอำเภอบ่อเกลือ ผ่านโรงพยาบาลบ่อเกลือ ข้ามแม่น้ำมางแล้วเลี้ยวขวาเข้าสู่ซอยสำคัญใจกลางอำเภอบ่อเกลือ ซอยนี้คือย่านนักท่องเที่ยว มีร้านอาหาร คาเฟ่เก๋ๆ เต็มไปหมด ส่วนที่พักพวกรีสอร์ตและโฮมสเตย์กระจายไปอยู่ตามริมทุ่งนาและเชิงเขาเพื่อทิวทัศน์ที่ดีกว่า

(บ่อเกลืออายุ 800 ปี ต.บ่อเกลือใต้ อ.บ่อเกลือ จ.น่าน)

    เราแวะที่บ่อเกลือสินเธาว์โบราณเจ้าซางคำ เขียนป้าย  “บ่อเกลือโบราณ 800 ปี” ไม้ที่ล้อมรอบบ่อไว้คราบเกลือขึ้นอยู่เต็ม เห็นท่อพีวีซีต่อออกไปจากบ่อสำหรับบ้านเรือนที่ต้องการนำน้ำในบ่อไปต้มเป็นเกลือ นอกจากนี้ก็ยังเห็นมีคนใช้ถังผูกเชือกตักน้ำจากบ่ออีกด้วย    

(การต้มเกลือสินเธาว์แบบดั้งเดิม)

    ด้านในเป็นโรงต้มเกลือ คุณป้าคนหนึ่งกำลังใส่ฟืนเกลี่ยไฟต้มเกลือในกระทะใบใหญ่ น้ำกลายเป็นเกล็ดเกลือลอยอยู่ด้านบน ต้องคอยช้อนเกล็ดเกลือใส่ไว้ในตะกร้าที่แขวนอยู่เหนือกระทะแล้วค่อยบรรจุถุงขาย คุณป้าให้ข้อมูลว่าปัจจุบันมีบ่อเกลือที่ยังใช้งานอยู่ 2 บ่อ คือบ่อแห่งนี้และอีกแห่งหลังเลี้ยวเข้าซอยมาไม่ไกล ตรงนั้นมีขนาดใหญ่กว่า
    นอกจากเกลือแกงแล้วก็ยังมีผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเกลือวางขายอยู่อีกหลายอย่าง โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการประทินผิว รวมถึงของที่ระลึกอื่นๆ จากอำเภอบ่อเกลือ

(แม่น้ำว้า มองจากสะพานสะปัน บ้านสะปัน อ.บ่อเกลือ จ.น่าน)

    เนื่องจากถนนในซอยกำหนดให้เดินรถได้ทางเดียว  เราจึงวกกลับไปยังบ่อเกลืออีกแห่งไม่ได้ เพื่อนของผมขับขึ้นหน้าไปแล้วเลี้ยวซ้ายขึ้นเนินออก ถนนใหญ่หมายเลข 1081 “สันติสุข-บ่อเกลือ” นี่ก็เป็นอีกเส้นที่บางช่วงถูกเรียกว่า “ถนนลอยฟ้า” เราเลี้ยวซ้ายขึ้นเหนือไปสักพักก็เข้าสู่เขตอุทยานแห่งชาติขุนน่าน ราว 10 กิโลเมตรจากตัวอำเภอบ่อเกลือก็มีทางแยกเลี้ยวขวาสู่หมู่บ้านสะปันที่กำลังเป็นที่หลงใหลของนักเดินทาง-ท่องเที่ยว แม่น้ำว้าที่ไม่ลึกไหลเลียก้อนหินน้อยใหญ่อยู่ฝั่งซ้าย ตามแนวฝั่งแม่น้ำนี้เรียงรายไปด้วยโฮมสเตย์และร้านอาหาร
    เราเลี้ยวขวาไปจอดบริเวณลานจอดรถทางเข้าน้ำตกสะปัน น้ำตกสะปันมีอยู่ 3 ชั้น หากจะไปให้ถึงชั้นสูงสุดต้องเดินประมาณ 800 เมตร อันที่จริงระยะทางแค่นี้ไม่ใช่ปัญหา แต่ทางบางช่วงค่อนข้างสูงชัน มีทั้งบันไดปูนและทางลาดขึ้นเนินตามธรรมชาติ น้ำตกชั้นแรกตกลงมา 3 สาย สูงสายละ 3 เมตร ไม่ถึงกับสวยงามมากนัก เราเดินต่อไปอีกหน่อย เส้นทางร่มรื่น รู้สึกเย็นสบายตัวกำลังดี ข้ามสะพานเหล็กที่ทอดเหนือลำห้วย ก้อนหินมนเกลี้ยงหลายขนาดเหมาะสำหรับนั่งแช่เท้าในน้ำ รวมถึงมีบ่อให้พอลงไปเล่นน้ำได้
    ใครเดินสวนมาเราก็ถามว่า “อีกไกลไหม” คำตอบเหมือนกันหมด “อีกนิดเดียว” ทั้งที่รู้กันอยู่ว่ายังไม่ถึงครึ่งทางด้วยซ้ำ และไม่ทันจะถึงน้ำตกชั้นที่ 2 เพื่อนของผมเริ่มเหนื่อยหอบเพราะส่วนสัดอวบอั๋นเกินมาตรฐานอยู่หลายพิกัด ยิ่งเมื่อเจอบันไดปูนหลายขั้น อีกทั้งชันใช้ได้ เขาทรุดลงนั่งด้วยความท้อแท้ และชวนกลับ ว่ากันว่าน้ำตกชั้นที่ 3 นั้นสวยที่สุด แต่ผมก็ต้องเห็นใจเพื่อน หน้ามืดเป็นลมขึ้นมายิ่งจะลำบาก
    ออกจากลานจอดรถน้ำตก เราแวะถ่ายภาพที่สะพานสะปัน แลนด์มาร์คสำหรับผู้มาเยือนสะปัน เมื่อตอนเที่ยงครูที่บ้านน้ำดั้นบอกผมว่าแกเคยมาแต่ไม่ได้ประทับใจอะไรมากมาย พร้อมงัดเอาวิวจากอำเภอสันติสุขบ้านของแกมาเปรียบเทียบ “ไม่เห็นจะต่างกัน” คุณครูมั่นใจ
    เห็นวิวแม่น้ำที่มีภูเขาเป็นฉากหลังจากสะพานสะปัน ผมยอมรับว่าไม่ได้ถึงขั้นตะลึงงันอ้าปากค้าง เข้าใจว่าจังหวะธรรมชาติน่าจะมีส่วน วันไหนท้องฟ้า สายฝน สายหมอกเป็นใจก็คงจะสวยงามในสายตาผู้ชมผู้สัมผัสมากขึ้นไปตามมุมมอง
    ผมว่าจะแวะดื่มกาแฟยามบ่ายริมน้ำว้า แต่เพื่อนไม่มีจังหวะจอดจึงปล่อยเลยตามเลย ออกจากบ้านสะปันกลับไปทางตัวอำเภอบ่อเกลือ มุ่งหน้าอำเภอสันติสุข คนเราหากว่าง่วงแล้วไม่มีกาแฟให้ดื่ม ทางแก้เดียวที่เหลือคือการงีบหลับ ผมตั้งใจอย่างนั้น แต่ความคดเคี้ยวลาดชันของถนนลอยฟ้า หมายเลข 1081 ไม่อนุญาตให้กระทำ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"