2 ม.ค.64 - นายบัญญัติ บรรทัดฐาน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และกรรมการที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงภาพรวมการเมืองปี2564 ว่า คงไม่น่าต่างจากปีนี้เท่าไหร่ เพราะหลายเรื่องมีความต่อเนื่องมาจากปีนี้ และที่สำคัญคงยุ่งวุ่นวายไม่น้อยหรืออาจมากกว่าด้วยซ้ำไป เพราะจากปัจจัยองค์ประกอบต่างๆ ได้แก่ การชุมนุมของกลุ่มเดิม การแก้ไขรัฐธรรมนูญ การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลของฝ่ายค้าน ที่จะมีแน่นอนตอนต้นปี การเลือกตั้งท้องถิ่นที่จะทยอยจัดขึ้นต่อเนื่องจากการเลือกตั้งนายกฯอบจ. ตามโปรแกรมที่กำหนดไว้เดิม และสุดท้ายการทำงานของคณะกรรมการสมานฉันท์
นายบัญญัติ กล่าวว่า ประเด็นการชุมนุมมีการประกาศชัดเจนว่าจะหยุดชั่วคราวและนัดชุมนุมต่อในปีหน้า เพียงแต่สถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ที่อาจจะต้องชะลอ หรือทิ้งช่วงห่างออกไปหรือไม่ เพราะดูการระบาดรอบใหม่นี้ไม่ใช่ของเล่น ผู้ชุมนุมต้องคิดถึงสวัสดิภาพของตนเองเช่นกัน และพ่อแม่ผู้ปกครองของเยาวชนก็ต้องมีการคุมเข้มเพราะหวั่นอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับลูกหลานของตน ซึ่งโอกาสความขัดแย้งจะมีมากกว่าเดิมจะมีหรือไม่ขึ้นอยู่กับการเมืองรวมด้วย เพราะหลายข้อเรียกร้องเกี่ยวกับการเมืองทั้งสิ้น และความขัดแย้งระหว่างความคิดของผู้ชุมนุมกับกลุ่มต่อต้านจะเพิ่มความหึกเหิมขึ้นหรือไม่อาจจะเป็นส่วนที่ทำให้บานปลายได้
นายบัญญัติ กล่าวต่อว่า ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่มาก ชัดเจนว่ามีความขัดแย้งอย่างแน่นอน ที่ชัดสุดมีสว.ชุดหนึ่งแสดงความไม่เห็นด้วยอย่างชัดเจน โดยเฉพาะการแก้ไขเรียกร้องให้แก้ไขทั้งฉบับหรือร่างใหม่เลยก็เป็นสิทธิ์ของเขา แต่ที่น่าห่วง คือ ความรู้สึกนี้ยังจะมีอยู่แม้จะผ่านขั้นรับหลักการวาระหนึ่งแล้ว ก็ยังมีความพยายามที่จะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าการแก้ไขในลักษณะจัดทำใหม่นั้นมีอำนาจทำได้หรือไม่ ที่สำคัญในการประชุมคณะกรรมาธิการฯก็มีความขัดแย้งค่อนข้างรุนแรงอย่างชัดเจน เช่น ฝ่ายหนึ่งไม่ต้องการให้สว.ร้อยละ30 มาเป็นเกณฑ์กำหนดการแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งถือว่าเป็นเสียงข้างน้อยมากำหนด เมื่อตั้งใจจะเลิกตรงนี้ก็จะหันกลับไปใช้แบบที่ผ่านมา ใช้ระบบจำนวนเปอร์เซนต์ วันนี้ก็ยังเถียงกันอยู่มาก สว.จำนวนหนึ่งที่เป็นตัวแทนฝ่ายไม่เห็นด้วยยังยืนยันว่าต้อง2ใน3 ขณะที่ฝ่ายค้านบอกเกินครึ่งก็ใช้ได้แล้ว ส่วนพรรคประชาธิปัตย์เล็งเห็นว่าหากใช้เกินครึ่งสว.ไม่ยอมแน่ จึงเสนอ3ใน5 แต่ก็ยังไม่ยุติ เถียงกันหนักมาก รวมถึงที่มาของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) และระยะเวลาในการจัดทำรัฐธรรมนูญก็คงจะเถียงกันหนัก
“สำคัญคือเถียงกันแล้วถ้าตกลงกันไม่ได้ ซึ่งความจริงมันควรตกลงกันได้ ถ้าถือหลักประชาธิปไตยมันไม่มีกลุ่มใดได้เต็มร้อยหรอก แต่ถ้าไม่ได้ในวาระ3 ซึ่งเกณฑ์ที่ต้องผ่านขณะนี้ต้องได้รับเสียงสว.84 คน หรือ1ใน3 ถ้ามันไม่ผ่านจริงๆ จะเกิดความขัดแย้งในสังคมไปอีกไกล ที่ผู้สื่อข่าวรัฐสภาให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเหตุการณ์แห่งปีนั้น ผมคิดว่าในปี64 ก็ยังให้เป็นอีกปีก็ได้” นายบัญญัติ กล่าว และว่า หากเป็นเช่นนั้นปัญหาความขัดแย้งจะต้องรุนแรงแน่นอน เพราะความขัดแย้งรัฐธรรมนูญถือเป็นเชิงอุดมการณ์ เพราะจากผลการศึกษาเราพบความจริงว่าประชาชนทั่วประเทศต้องการให้แก้รัฐธรรมนูญให้ได้ เมื่อความขัดแย้งอยู่ท่ามกลางเสียงเรียกร้อง ถ้าสว.ไม่ยอมให้ผ่านได้ ก็เป็นเรื่องที่น่ากังวล และปฏิเสธไม่ได้ว่าเหตุผลหนึ่งที่ทำให้มีการเรียกร้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะความระแวงแคลงใจในการรักษาความได้เสียเปรียบทางการเมือง
เมื่อถามว่ามีเสียงวิจารณ์ว่าที่สุดแล้วจะไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และคณะกรรมการสมานฉันท์ก็ทำงานไม่สำเร็จนั้น นายบัญญัติ กล่าวว่า ไม่น่าจะมีขนาดนั้น เพราะมีสว.ไม่น้อยเหมือนกันที่พร้อมจะให้ความร่วมมือในการแก้ไข รัฐธรรมนูญ ส่วนท่าทีของรัฐบาลจะจริงจังหรือไม่ ตนไม่ทราบ แต่อีกไม่นานเราคงจะรู้ว่าใครเป็นใครอย่างไร ก็คงมีการเปิดโฉมหน้าให้ชัดเจน หลังปี64 นี้
นายบัญญัติ กล่าวด้วยว่า สำหรับการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลที่ต้องมีแน่นอน เพราะฝ่ายค้านแสดงทีท่าชัดเจนแล้ว เข้าใจว่าจะมีช่วงเดือนกุมภาพันธ์ แต่จะมีอย่างไรจะซักฟอกเฉพาะนายกฯหรือทีมโดยตรง. น่าจะเป็นประเด็นร้อนอีกประเด็นหนึ่ง เพราะเวลาพูดถึงอภิปรายไม่ไว้วางใจย่อมหมายถึงจะมีการหยิบยกความไม่ชอบมาพากล ความบกพร่อง การทุจริตในการบริหารมาพูดจากัน จะเรียกว่าเป็นความขัดแย้งก็ไม่ถนัด เพราะเป็นหน้าที่ของฝ่ายค้าน และเป็นหน้าที่รัฐบาลที่จะชี้แจง
นายบัญญัติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนจะส่งผลทางการเมืองอย่างไรนั้น คิดว่าอยู่ที่รูปธรรมของการทุจริต แม้ที่ผ่านมาทำอะไรรัฐบาลได้ยาก เพราะมีเสียงสนับสนุนเพียงพอ แต่หลายครั้งก็ชี้ให้เห็นถึงการทุจริตที่เป็นรูปร่างชัดเจนมากขึ้นก็เคยทำให้มีปัญหามาแล้ว แม้ไม่ถึงกับมีการยกมือไม่ไว้วางใจของพรรคร่วมรัฐบาล แต่ว่าการลงคะแนนไว้วางใจมีลดน้อยลง และถ้ามีการทุจริตชัดเจนมากขึ้นแม้จะผ่านไปแล้ว ก็จะมีการปรับครม. ตามมา ก็ต้องรอดูว่าฝ่ายค้านจะชี้ให้เห็นเป็นรูปร่างชัดเจนอย่างไร โยงไปถึงรัฐมนตรีโดยตรงได้หรือไม่ อย่างเรื่องถุงมือยางก็มีการพูดถึงกันอยู่ แต่ตนได้มีโอกาสรับฟังคำชี้แจงของกระทรวงพาณิชย์ว่าเป็นเรื่องที่ผอ.องค์การคลังสินค้าทำไปเองโดยพละการไม่ผ่านการเห็นชอบของบอร์ด และหลังสุดบอร์ดก็มีคำสั่งให้ผอ.คนใหม่ไปแจ้งร้องทุกข์กล่าวโทษกับผอ.คนเก่าแล้ว
“ปีหน้ายังมีวุ่นวายสับสนยุ่งเยิงอยู่บ้าง แต่ในระบอบประชาธิปไตยก็เป็นเช่นนี้ และเป็นเรื่องที่ประชาชนต้องเข้าใจและไม่ควรรำคาญ เพราะเคยมีคำพูดที่เป็นเหตุเป็นผลว่า ทันทีที่เห็นนักการเมืองถกเถียงโต้แย้งกันอย่าเพิ่งไปรำคาญ หากแต่ต้องสดับรับฟังเสียก่อนว่าเขาถกเถียงกันเรื่องอะไร เพื่ออะไร ถ้าเพื่อประโยชน์ส่วนตนของพวกเขาอย่างนี้รำคาญได้ แต่ถ้าถกเถียงเพื่อหาข้อยุติในอันที่จะทำประโยชน์ต่อสังคมส่วนร่วมนอกจากจะไม่รำคาญแล้ว ควรจะแสดงออกให้เห็นถึงความชื่นชมด้วย ฉะนั้นต้องดูว่าปัญหาต่างในปี64 มันยุ่งเยิงเพราะอะไร" นายบัญญัติ กล่าว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |