พรปีใหม่ 2564 จากใจกระทรวงพม.
เป้าหมายเพื่อความมั่นคงของมนุษย์
มีการแถลงเปิดตัวของขวัญปีใหม่ 2564 ที่มอบความสุขให้กับกลุ่มเป้าหมาย ตั้งแต่เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้มีรายได้น้อย ผู้ยากไร้ และผู้ประสบปัญหาทางสังคม จากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ไปเรียบร้อยแล้ว ภายใต้ชื่อ “งานพรปีใหม่ 2564 จากใจ กระทรวง พม.”
ความน่าสนใจเห็นจะเป็นประเด็นที่ของขวัญ 8 ชิ้นจากใจกระทรวง พม.นั้น มีที่มาและผ่านการกลั่นกรองก่อนที่จะสรุปออกมาโดยความร่วมมือของทุกหน่วยงานในกระทรวง พม.ตั้งแต่ 1.กรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) 2.กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) 3.กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) 4.กรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) 5.สถาบันพัฒนาองค์การชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. 6.การเคหะแห่งชาติ (กคช.) 7.กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) และ 8.สำนักงานปลัดกระทรวง พม. (สป.พม.)
ของขวัญชิ้นที่ 1 คือ การพัฒนาที่อยู่อาศัย ได้แก่ 1) โครงการบ้านเช่าสำหรับผู้มีรายได้น้อย “บ้านเคหะสุขประชา” จำนวน 20,000 หน่วย โดยการสร้างบ้านเช่าราคาถูก สำหรับผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้บุกรุกในที่สาธารณะ ข้าราชการชั้นผู้น้อย หรือข้าราชการเกษียณอายุ และประชาชนผู้มีรายได้น้อย จำนวน 20,000 หน่วย ราคาเช่าหลังละ 999 ถึง 3,500 บาทต่อเดือน ขึ้นอยู่กับรูปแบบบ้านและเฟอร์นิเจอร์ โดยกระจายโครงการในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ซึ่งพิจารณาตามความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีรายได้น้อย หรือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สามารถเช่าบ้านได้ในราคาประหยัด และ 2) ปรับปรุง/ซ่อมแซมบ้านสำหรับกลุ่มเปราะบาง จำนวน 25,064 หลัง
ของขวัญชิ้นที่ 2 คือ 1300 ทั่วไทย สายด่วน พม. “สายด่วนสังคม สร้างความอุ่นใจ อยู่ใกล้ประชาชน” ได้แก่ 1) ปรับปรุงรูปแบบการให้บริการสายด่วน 1300 ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงง่าย สะดวก รวดเร็ว โดยกระจายการให้บริการสายด่วนครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค 76 จังหวัด โดยตั้งอยู่ที่หน่วยงาน พม.ในจังหวัด (บ้านพักเด็กและครอบครัวประจำจังหวัด) 2) จัดหน่วยเคลื่อนที่เร็วให้ความช่วยเหลือ คุ้มครองสวัสดิภาพ ให้คำปรึกษา แนะนำแก่ผู้ประสบปัญหาทางสังคมภายใน 24 ชม. โดยหน่วยงานในสังกัดกระทรวง พม.ในพื้นที่ (ทีม One Home พม.จังหวัด) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 3) ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาทางสังคมโดยทีมสหวิชาชีพ เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาความครอบคลุมในทุกมิติ ผ่านกระบวนการจัดสวัสดิการสังคม สังคมสงเคราะห์และแผนการจัดการรายกรณี (Case Manager) โดยจัดทำแผนระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว 4) บูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการจัดสรรทรัพยากรที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหาความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย โดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางในการแก้ไขปัญหา และ 5) ติดตามประเมินผลการให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ จะให้การพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มคนเปราะบางรายครัวเรือน ด้วยการเก็บข้อมูลคนกลุ่มเปราะบางเป็นรายครอบครัวในทุกตำบล โดยจะบูรณาการจากทุกภาคส่วนในการจัดสรรทรัพยากรอย่างเหมาะสมเพื่อแก้ไขปัญหา และยึดผู้ประสบปัญหาเป็นศูนย์กลาง รวมทั้งจะทำการแก้ไขปัญหาให้ครอบคลุมในทุกมิติ มีเป้าหมาย 1,000 ครัวเรือน เพื่อให้กลุ่มคนเหล่านี้สามารถดำเนินชีวิตอยู่ได้โดยไม่ต้องรอการพึ่งพิงจากภาครัฐ
ของขวัญชิ้นที่ 3 คือ ร่วมสานพลัง มอบของขวัญแก่น้อง จำนวน 6,464 ชิ้น ได้แก่ 1) ประชาสัมพันธ์รับบริจาคของขวัญให้แก่เด็กในสถานรองรับของกระทรวง พม.ทั่วประเทศ ซึ่งเป็นเด็กที่ประสบปัญหาและขาดโอกาสทางสังคม ผ่านทางเว็บไซต์ของกระทรวง พม. และ ดย. 2) เปิดโอกาสให้สังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการมอบของขวัญให้กับเด็กในสถานรองรับของกระทรวง พม. จำนวน 107 แห่ง เพื่อแสดงออกถึงความห่วงใย ใส่ใจ และให้ความสำคัญกับเด็กและเยาวชน และ 3)จัดกิจกรรมมอบของขวัญแก่เด็กในสถานรองรับพร้อมกันทั่วประเทศในวันที่ 1 ม.ค.64
ของขวัญชิ้นที่ 4 คือ พม.สร้างอาชีพครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว จำนวน 1,000 ราย ได้แก่ 1) จัดอบรมหลักสูตรระยะสั้นด้านอาหาร และการวางแผนธุรกิจเบื้องต้นให้แก่ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวที่ประสบปัญหาด้านการประกอบอาชีพ ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 จำนวน 1,000 ราย 2) จัดบริการในการดูแลบุตรให้แก่ผู้รับการอบรม 3) ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอก อาทิ เทสโก้ โลตัส ในการจัดหาแหล่งทุนให้กับผู้ที่ผ่านการอบรม และ 4) คัดเลือกครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวที่ผ่านการอบรมจากทั่วประเทศ เพื่อรับการสนับสนุนอุปกรณ์และทุนประกอบอาชีพจากเทสโก้ โลตัส รวมมูลค่า 30,000 บาทต่อคน
ของขวัญชิ้นที่ 5 คือ รายการโทรทัศน์สำหรับผู้สูงอายุและคนพิการ ได้แก่ 1) จัดทำความร่วมมือกับสถานีโทรทัศน์ อาทิ สถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส และสถานีโทรทัศน์ช่อง 5 เพื่อจัดทำรายการโทรทัศน์ที่เป็นมิตร สร้างกำลังใจ สอดคล้องกับความต้องการของผู้สูงอายุและคนพิการ และ 2) มีรายการโทรทัศน์ที่เป็นประโยชน์สำหรับผู้สูงอายุและคนพิการ เพื่อเตรียมความพร้อมในการรองรับสังคมผู้สูงอายุ รวมถึงการให้ความรู้ที่มีประโยชน์เกี่ยวกับสวัสดิการและบริการสังคม การพัฒนาคุณภาพชีวิต การดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุและคนพิการ นอกจากนี้ ร่วมซ่อมแซมปรับปรุงบ้านให้กับผู้สูงอายุ จำนวน 4,000 หลัง
ของขวัญชิ้นที่ 6 คือ พัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบางรายครัวเรือน ได้แก่ 1) นำฐานข้อมูลกลุ่มเปราะบาง ผู้ประสบปัญหาทางสังคม และฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เพื่อประกอบการวิเคราะห์สภาพปัญหารายครัวเรือน ก่อนวางแผนการให้ความช่วยเหลือ และพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเป้าหมายอย่างเหมาะสม 2) จัดตั้งคณะทำงานในพื้นที่ ประกอบด้วย ทีมสหวิชาชีพ เครือข่ายภาคประชาชน ชุมชน และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันวางแผนการให้ความช่วยเหลือ ผ่านกระบวนการจัดสวัสดิการสังคม การสังคมสงเคราะห์และการจัดการรายกรณี (Case Manager) โดยจัดทำแผนระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว 3) บูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการจัดสรรทรัพยากรที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหา ตามความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย โดยยึดผู้ประสบปัญหาเป็นศูนย์กลางในการแก้ไขปัญหาให้ครอบคลุมทุกมิติ ได้แก่ การจัดหาทุนการศึกษา การปรับปรุงซ่อมแซมบ้านพักอาศัย การดูแลสุขภาพ การพัฒนาทักษะ ความรู้ การสร้างอาชีพ ส่งเสริมให้มีงานทำ และสามารถพึ่งพาตนเองได้ และ 4) ในปี 2564 มีเป้าหมายจำนวน 1,000 ครัวเรือน
ของขวัญชิ้นที่ 7 คือ สนับสนุนการซ่อมแซมปรับปรุงบ้านให้กลุ่มเปราะบาง คนพิการ และผู้สูงอายุ ทั้งนี้ พอช.มีกลุ่มเป้าหมายเป็นครัวเรือนที่มีฐานะยากจนทั่วประเทศ รวม 15,000 ครัวเรือน (แบ่งเป็น 5 ภูมิภาค ภูมิภาคละ 2,900 ครัวเรือน และภาคประชาสังคมรับไปดำเนินการ 500 ครัวเรือน) ขณะนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินการ โดยโครงการนี้เป็นการสนับสนุนให้ครัวเรือนที่มีความเดือดร้อน สภาพบ้านเรือนผุพัง ทรุดโทรม มีฐานะยากจน ได้ซ่อมแซมปรับปรุงบ้านเรือนให้มีความมั่นคง แข็งแรง มีความปลอดภัย เหมาะสมกับการอยู่อาศัย
ของขวัญชิ้นที่ 8 คือ จัดบริการ “จิตอาสา” เพื่ออำนวยความสะดวกบริการรถเข็นวีลแชร์ให้แก่กลุ่มคนพิการที่ต้องการความช่วยเหลือระหว่างการเดินทางกลับภูมิลำเนาในช่วงเทศกาลปีใหม่ ซึ่งมีจุดบริการ ได้แก่ สถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) สถานีขนส่งผู้โดยสารสายตะวันออกกรุงเทพฯ (เอกมัย) และสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (จตุจักร) ระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม 2563 ถึง 3 มกราคม 2564
"ของขวัญทั้งหมดมาจากปัญหาความเจ็บปวดของประชาชนเป็นที่ตั้ง" นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.พม. สรุปให้เข้าใจ เมื่อมีการตั้งคำถามว่าใช้อะไรเป็นบรรทัดฐานในการเลือกให้ของขวัญปีใหม่
อีกทั้งความมั่นคงของมนุษย์หมายถึงควรจะต้องเข้าถึงปัจจัยสี่ได้อย่างเท่าเทียม เพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดี และสามารถก้าวเดินต่อไปอย่างมั่นคงและยั่งยืน
"ในสถานการณ์เศรษฐกิจแบบนี้ คอนเซ็ปต์คือ ทุกคนไม่ต้อไปซื้อบ้านเก็บเงินก้อนไว้ คุณสามารถเช่าบ้านอยู่ได้จนคุณเสียชีวิตและลูกหลานมาเช่าต่อ ราคาไม่ได้ฝืนธรรมชาติ ราคาที่การเคหะฯ อยู่ได้ และราคาส่วนใหญ่จะต่ำกว่าเอกชนครึ่งหนึ่ง บางพลี ลำลูกกา รังสิต ให้เช่าอย่างเดียว เพราะจากนี้ไป 3-5 ปี คนที่ตกมาจากชนชั้นกลางจะเยอะ แล้วคนไม่ต้องเอาเงินก้อนมาจ่าย ถูกกว่าผ่อนบ้าน แต่ว่าสามารถเช่าบ้านอยู่ได้ และมีเงินเหลือดูแลตัวเองได้"
รมว.พม.เปิดเผยด้วยว่า โครงการเป็นของขวัญปีใหม่ที่เรียกว่า "เคหะสุขประชา" ท่านนายกรัฐมนตรีบอกว่าให้ไปดูเรื่องผู้สูงอายุ ข้าราชการมีรายได้น้อยก็จะเร่งทำ รัฐบาลเหลือเวลาทำ 2 ปีจะเร่งให้เสร็จ เพราะตึกสูงต้องใช้เวลาสร้างสองปี ราชการจะมี 10-15% และจะมีชาวบ้าน มีทั้งหมู่บ้านราบ 20,000 หลัง ทุกปีที่ทำถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวันพระบรมราชสมภพ นั่นคือบ้าน
"ส่วนผู้สูงอายุจะเป็นตึกสูง แต่ทุกแห่งออกแบบมีลิฟต์ ที่เตียงกับรถเข็นขึ้นได้อย่างสบาย เดิมทีที่ออกแบบไว้ ให้ไปเปลี่ยนหมด ว่าเสียไปอีกห้องหนึ่งทุกชั้น เพื่อให้ลิฟต์ใหญ่ขึ้น เพราะยังไม่ได้ก่อสร้าง เราจะทำว่าอาคารนี้ผู้ป่วยที่ต้องการคนดูแล อยู่ตึกนี้ให้หมด และเราจะเสนอว่าให้เสนอในแต่ละชั้น เราให้โอกาสว่าพยาบาลให้เช่าราคาถูก แต่จะบอกว่าถ้าคุณอยู่แล้วมีอะไรฉุกเฉินช่วยดู เราจะให้มีชั้นนึงมีคนหนึ่ง เหมือนเป็นโควตา ราคาถูกกว่าทุกคน เขาจะได้สิทธิ์ แต่เขาก็ทำงานที่อื่นไม่ได้ทำงานตรงนี้ และจะต้องดูว่ามีคลินิกผู้สูงอายุว่าทำกับกระทรวงสาธารณสุขทำยังไงได้ และจะมีสถานที่ร้านค้า ชุมชนเล็กๆ ไม่ใช่คอมมูนิตี้มอลล์แบบในเมืองนะ ก็คุณมีอะไรก็มาขายเป็นรายได้ที่จะเลี้ยงตัวช่วยเรื่องค่าส่วนกลางให้อยู่ได้ เพราะถ้าไม่มีตรงนี้จะเก็บค่าเช่าถูกไม่ได้"
เลือกบ้านเป็นของขวัญ เพราะเป็นปัจจัยสี่ของชีวิต ต้นทุนชีวิตบ้านเป็นที่อยู่ของครอบครัว ทุกคนมีความมั่นคงคือปัจจัยสี่ของชีวิต และเลือกที่จะให้เช่าคือสถานการณ์เศรษฐกิจมันเปลี่ยน
"ตอนแรกที่ทำก็ได้รับการต่อต้านจากคนข้างในเยอะ ว่าการเคหะฯ มีรายได้อยู่ดีๆ เคขาสร้างขาย มาเปลี่ยนได้อย่างไร ก็พยายามอธิบายว่าสิ่งที่เราเห็นคือพายุกำลังจะมา ไม่มีใครที่จะสามารถมีเงินก้อนไปซื้อบ้านได้อีกแล้ว เพราะต้องมีเงินก้อนทำ ขนาดคนไม่มีเงินเลย ถือกระเป๋าเข้ามาอยู่บ้านได้เลยเพราะว่ามีครัวให้ มีโต๊ะกินข้าว มีเตียง มีตู้เสื้อผ้า เบสิกนะ พวกคุณมาต้องไปกู้เงิน 6-7 หมื่น ทั้งบัตรเครดิตทั้งหลายคุณต้องเสียดอกเบี้ยเป็นเงินก้อน คุณจะต้องสะดุด นี่เป็นออปชันไปเลยคุณก็ผ่อนไปเลย ค่าเฟอร์นิเจอร์และเฟอร์นิเจอร์ก็มีคุณภาพ" รมว.พม.เปิดเผย
มีของขวัญให้คนแก่แล้ว ของเด็กจะมีเรื่องสภาเยาวชนที่จะอบรมกันทั่วประเทศ ขณะนี้อบรมไปแล้ว คืออบรมแม่ไก่ เอาสภาเยาวชนที่เข้มแข็ง และมีพลังมากคือที่ภาคเหนือกับภาคใต้ คืออบรมรุ่นแม่ไก่ก่อน และแม่ไก่จะไปถ่ายทอดกับมหา'ลัย วิทยาลัย ร่วมกับมัธยมปลาย เขาจะอบรมทักษะของคนรุ่นใหม่มีอะไรบ้าง ซึ่งโรงเรียนไม่มีสอน จะขยายให้ทั่วให้เด็กมีทักษะที่จะอยู่รอดต่อไปได้
นายจุติย้ำว่า วันนี้กระทรวง พม.เป็นเรื่องของครอบครัว เด็ก ผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้หญิง พ่อแม่ ผัวเมีย มันอยู่ในสถาบันครอบครัวทั้งหมด
ปีนี้กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวจะเหนื่อย เพราะว่าเราเห็นแล้วว่านอกจากเรื่องภัยของโรคระบาด ภัยเศรษฐกิจ ภัยเงียบ ซึ่งไม่มีใครกล้าพูดภัยที่ร้ายแรงไม่แพ้เรื่องเศรษฐกิจเลย คือความรุนแรงความเครียดในครอบครัว
ที่ผ่านมาประมาณ 3 เดือน เราจัดหลักสูตรอบรมจิตวิทยาให้กับกลุ่มเจ้าหน้าที่ ตอนเด็กๆ ก็จิตวิทยา ผู้สูงอายุก็อีกแบบ และของครอบครัวก็อีกแบบ ปรากฏว่าสิ่งที่เจอคือความรุนแรงในครอบครัวมีมากขึ้น หงุดหงิดก็ทะเลาะกัน วันนี้เราทำไม่ทันหรอก เราไปเอาสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมาย ไปเอาคณะนิติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ และก็อาจจะมีโรงพยาบาลจิตเวชของแต่ละหัวเมืองมาช่วยที่อยู่ในทีมของกระทรวง พม. ให้คำแนะนำต่อคนปฏิบัติหน้าที่ และอาสาสมัครพัฒนาสังคมจะเข้าไปรีบแจ้งเหตุ และตรงนี้กลัวเรื่องของความเครียด ตกงาน บ้านถูกยึด รถถูกยึด ไม่มีเงินส่งลูก
"เรื่องสร้างบ้านให้ผู้เปราะบาง มีให้เหนือจรดใต้ ขณะนี้ได้ประเมินแล้วว่ามีที่การเคหะฯ ไม่ขายใครเลย ใช้ให้หมด ให้คุ้ม เพราะว่าการเคหะฯ แบกเรื่องต้นทุนขาดทุนเรื่องเอื้ออาทร สมัยเอื้ออาทรมีที่ดินที่ซื้อไว้ มีที่ดินไม่ได้ใช้ เป็นต้นทุนจมสองหมื่นกว่าล้าน แล้วการเคหะฯ ไม่มีใครดู แล้วก็ปล่อยจ่ายค่าดอกเบี้ย จ่ายค่ารักษา ค่าบ้านหรือค่าส่วนกลางที่ขายไม่ออก ไม่มีคนเช่า เยอะมาก มาจนถึงวันนี้ส่วนนี้ประมาณหมื่นล้านที่เสียไปฟรีๆ ก็ต้องหยุดแล้ว ก็ต้องมาจัดสรรเรื่องทรัพย์สินใหม่ และก็เอาเงินได้ใต้ดินขึ้นมาบนดินให้หมด" นายจุติกล่าวสรุปด้วยความมั่นใจ และให้ความหวังว่า กำแพงปัญหาต่างๆ ในระบบราชการซึ่งเคยต่างคนต่างทำงานนั้น วันนี้ได้มีการบูรณาการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่กระทรวง พม.เท่านั้น แต่เป็นการร่วมมือกันระหว่างกระทรวงหรือข้ามกระทรวง โดยมีเป้าหมายอันเดียวกันเพื่อประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง
ดังนั้นจึงสามารถรับประกันได้ว่า ปีฉลูนี้ ชีวิตแม้จะไม่หรูหรา แต่มีแสงสว่างสู่ความมั่นคงและยั่งยืน สมศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์อย่างแน่นอน..สวัสดีปีใหม่ครับ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |