ข้อมูลจากสำนักการระบายน้ำ กทม. ระบุว่า ในพื้นที่กรุงเทพฯ มีประชาชนปลูกสร้างบ้านเรือนรุกล้ำคูคลองสาธารณะทั้งหมดจำนวน 1,161 คลอง จำนวนครัวเรือนที่รุกล้ำ 23,500 ครัวเรือน ประชากรประมาณ 94,000 คน ซึ่งบ้านเรือนจำนวนมากที่รุกล้ำลำคลองนี้ สำนักการระบายน้ำระบุว่าทำให้ประสิทธิภาพในการระบายน้ำลดน้อยลง และเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ดังนั้นจึงควรรื้อย้ายบ้านเรือนที่รุกล้ำลำคลองเพื่อไม่ให้กีดขวางทางเดินของน้ำ โดยการสร้างเขื่อนคอนกรีตและประตูระบายน้ำขึ้นมา
เขื่อนคอนกรีตป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯ
โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เป็นผลสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 หลังจากนั้นในปีต่อมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้หารือตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2555 เห็นชอบการจัดการสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำลำน้ำสาธารณะ โดยจะมีการก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตตลอดแนวคลองสายหลัก คือคลองลาดพร้าว ความยาวทั้งสองฝั่งประมาณ 45 กิโลเมตร เพื่อให้การระบายน้ำเป็นไปอย่างคล่องตัว แต่รัฐบาลในขณะนั้นยังไม่ได้ดำเนินการ ต่อมาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เข้ามาบริหารบ้านเมือง หลังจากนั้นในวันที่ 3 มีนาคม 2558 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งให้หน่วยงานที่รับผิดชอบรับโครงการนี้ไปดำเนินการต่อ
วันที่ 16 กันยายน 2558 พลเอกประยุทธ์ได้ลงนามแต่งตั้ง “คณะกรรมการอำนวยการกำหนดนโยบายการบริหารจัดการสิ่งก่อสร้างรุกล้ำลำน้ำสาธารณะ” มี ‘พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ’ รองนายกฯ เป็นประธาน มี รมว.มหาดไทย, รมว.กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ, ผู้ว่าฯ กทม.เป็นรองประธาน ฯลฯ มีผู้บัญชาการทั้ง 4 เหล่าทัพ รวมทั้งปลัดกระทรวงต่างๆ ร่วมเป็นคณะกรรมการ มีอำนาจหน้าที่กำหนดกรอบแนวทาง มาตรการจัดระเบียบและแก้ไขปัญหาชุมชนแออัดที่รุกล้ำลำคลอง
โครงการดังกล่าวในช่วงแรก (พ.ศ.2559-2561) ประกอบด้วยการก่อสร้างเขื่อนคอนกรีต ค.ส.ล.และประตูระบายน้ำในคลองลาดพร้าว (คลองบางบัว-คลองถนน-คลองสอง) และคลองบางซื่อ จากอุโมงค์เขื่อนยักษ์พระราม 9 - รามคำแหงไปยังประตูระบายน้ำคลองสองสายใต้ เขตสายไหม เพื่อระบายน้ำลงสู่อุโมงค์เขื่อน-แม่น้ำเจ้าพระยา แล้วไหลลงสู่ทะเลต่อไป
รูปแบบเป็นเขื่อนคอนกรีต ค.ส.ล.(สมอยึดด้านหลัง) ความยาว 40,000 เมตร และ 5,300 เมตร รั้วเหล็กกันตกความยาว 43,000 เมตร และประตูระบายน้ำ 1 แห่ง บริษัทริเวอร์เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ประมูลงานได้ในวงเงิน 1,645 ล้าน หน่วยงานที่รับผิดชอบการก่อสร้างเขื่อนคือ กองระบบคลอง สำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร ความกว้างของเขื่อนประมาณ 38 เมตรตลอดทั้งโครงการ และจะมีการขุดลอกคลองให้ลึกจากเดิมอีก 3 เมตรด้วย ขณะนี้การก่อสร้างเขื่อนมีความคืบหน้าประมาณ 30 %
‘บ้านประชารัฐริมคลอง’ แผนงานรองรับที่อยู่อาศัยชาวชุมชนริมคลองลาดพร้าว
คลองลาดพร้าวมีความยาวทั้งหมด 31.9 กิโลเมตร เริ่มจากบริเวณอุโมงค์เขื่อนพระราม 9 เชื่อมกับคลองแสนแสบ (เขตวังทองหลาง) มายังวัดลาดพร้าว-วังหิน-บางบัว (เขตจุตจักร)-คลองถนน (เขตดอนเมือง) -สะพานใหม่ และคลองสอง (เขตสายไหม) มี 50 ชุมชน รวม 7,069 ครัวเรือน ประชากรเกือบ 30,000 คน
ชาวบ้านอยู่อาศัยบนที่ดินริมคลองซึ่งกรมธนารักษ์ดูแลมานานไม่ต่ำกว่า 50 ปี โดยไม่ได้เสียค่าเช่า และบางส่วนที่มาอยู่ในภายหลัง เมื่อไม่มีที่ว่างบนฝั่งจึงปลูกสร้างบ้านเรือนรุกล้ำลงไปในลำคลอง แต่ที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้เข้ามาจัดระเบียบ เนื่องจากเกรงว่าจะเป็นปัญหามวลชน
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลชุดปัจจุบันได้มอบหมายให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) รับผิดชอบเรื่องแผนงานรองรับที่อยู่อาศัยของประชาชนที่ปลูกบ้านเรือนตามแนวลำคลอง ตามแนวทาง ‘บ้านประชารัฐริมคลอง’ ซึ่งกระทรวง พม.ได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัด คือ “สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ “พอช.” รับไปดำเนินงานต่อ เนื่องจาก พอช.ได้ดำเนินโครงการ “บ้านมั่นคง” รองรับชาวบ้านที่มีรายได้น้อยมาตั้งแต่ปี 2546 และได้ดำเนินโครงการบ้านมั่นคงชุมชนริมคลองในปี 2547 มีชุมชนที่สร้างบ้านเรือนเสร็จไปแล้วตั้งแต่ปี 2548 เช่น ชุมชนริมคลองบางบัว, ชุมชนเชิงสะพานไม้ 1, ชุมชนสามัคคีร่วมใจ ฯลฯ
นายสมชาติ ภาระสุวรรณ ผู้อำนวยการ พอช.กล่าวว่า หลักการสำคัญในการดำเนินโครงการบ้านมั่นคงชุมชนริมคลองก็คือ 1. หากชุมชนใดสามารถอยู่ในที่ดินเดิมได้ (หลังจากสำรวจและวัดแนวเขตว่าพ้นจากแนวเขื่อนแล้ว) จะต้องทำสัญญาเช่าที่ดินจากกรมธนารักษ์ ระยะเวลาช่วงแรก 30 ปี (สามารถต่อสัญญาได้ครั้งละ 30 ปี) อัตราค่าเช่าไม่เกิน 2 บาท/ตารางวา/เดือน) หลังจากนั้นจึงจะเริ่มปลูกสร้างบ้าน
ส่วนกระบวนการสร้างบ้าน ชาวชุมชนจะต้องรวมตัวกันจัดตั้งสหกรณ์เคหสถานขึ้นมาเพื่อบริหารโครงการ มีกลุ่มออมทรัพย์เพื่อออมเงินสร้างบ้าน มีการสำรวจข้อมูลชุมชน ออกแบบผังชุมชน ออกแบบบ้านร่วมกัน โดยมีสถาปนิกจาก พอช.เป็นที่ปรึกษา ใช้วิธีการจ้างผู้รับเหมาหรือบริษัทก่อสร้างบ้าน ฯลฯ และเนื่องจากพื้นที่ชุมชนริมคลองมีจำกัด ดังนั้นครอบครัวใดที่เคยครอบครองที่ดินมากก็จะต้องเสียสละแบ่งปันที่ดินให้ครอบครัวอื่นๆ ได้อยู่อาศัยร่วมกัน โดยการแบ่งที่ดินให้แต่ละครอบครัวเท่ากัน โดย พอช.จะสนับสนุนเรื่องสินเชื่อไม่เกิน 360,000 บาท/ครัวเรือน ระยะเวลาผ่อน 20 ปี ดอกเบี้ยร้อยละ 4 บาทต่อปี รวมทั้งสนับสนุนงบประมาณสร้างสาธารณูปโภคครัวเรือนละ 75,000 บาท เงินอุดหนุนและช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบครัวเรือนละ 72,000 บาท
2. หากชุมชนใดมีพื้นที่ไม่เพียงพอ ชาวบ้านอาจจะรวมตัวกันไปหาที่ดินแปลงใหม่ที่อยู่ไม่ไกลจากชุมชนเดิม เพื่อความสะดวกในการประกอบอาชีพ การเดินทาง สถานศึกษา เช่น ที่ดินของบรรษัทสินทรัพย์ในสังกัดกระทรวงการคลัง หรือที่ดินเอกชน โดย พอช.จะให้การสนับสนุนสินเชื่อครัวเรือนละไม่เกิน 450,000 บาท และช่วยเหลือเหมือนกับข้อ 1
3. หากไม่มีที่ดินที่เหมาะสม พอช.อาจจะประสานกับการเคหะแห่งชาติเพื่อหาที่อยู่อาศัยรองรับชาวบ้าน เช่น โครงการบ้านเอื้ออาทร ฯลฯ
“โครงการบ้านประชารัฐริมคลอง เป็นความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ เช่น กรมธนารักษ์ กรมส่งเสริมสหกรณ์ คสช. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย กรุงเทพมหานคร สำนักงานเขต การไฟฟ้า การประปา สสส. ฯลฯ เพื่อทำให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง มีสภาพแวดล้อมที่ดี และนอกจากจะสร้างบ้านใหม่แล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะสนับสนุนและส่งเสริมคุณภาพชีวิตของชาวชุมชน เช่น ส่งเสริมเรื่องอาชีพ การจัดการขยะ การบำบัดน้ำเสีย ส่งเสริมกิตกรรมเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ และคนพิการด้วย” นายสมชาติกล่าว
สำหรับความคืบหน้าในการดำเนินการนั้น นายสมชาติกล่าวว่า ขณะนี้สร้างบ้านเสร็จไปแล้ว 34 ชุมชน รวม 1,190 ครัวเรือน อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 1,231 ครัวเรือน โดยมีชุมชนที่อยู่อาศัยในที่ดินเดิมไม่ได้จำนวน 958 ครัวเรือนร่วมกันจัดซื้อที่ดินเพื่อสร้างชุมชนใหม่ รวม 6 โครงการ ส่วนที่เหลืออีก 16 โครงการขณะนี้อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |