ภูมิคุ้มกัน สร้างได้ ไม่ต้องรอวัคซีน


เพิ่มเพื่อน    

 

ใกล้วันสิ้นปีที่จะต้องลาปีชวดและต้อนรับปีชลูในสถานการณ์ที่โควิด-19 กลับมาระบาดอีกระลอก หลายคนเริ่มกังวลว่า การระบาดในรอบนี้จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างไร การคาดการณ์ผลกระทบ ณ เวลานี้ อาจเร็วเกินไป เนื่องจากสถานการณ์การระบาดยังไม่ทรงตัว  ซึ่งทุกคนต้องร่วมมือในการลดโอกาสของการระบาดระลอกใหญ่ ด้วยการใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาท สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง หมั่นล้างมือ หลีกเลี่ยงการเข้าสู่พื้นที่แออัด และหากเริ่มมีอาการป่วยควรพบแพทย์และพักรักษาตัวอยู่ในสถานที่ เลี่ยงการพบปะผู้อื่นเพื่อลดความเสี่ยงของการแพร่เชื้อ

แม้ว่าการระบาดในรอบนี้จะยังไม่สามารถคาดการณ์ผลกระทบทางเศรษฐกิจได้ชัดเจน แต่ ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการระบาดในช่วงต้นปี 2563 ส่งผลกระทบอย่างมากต่อระบบเศรษฐกิจไทย แม้ว่าในไตรมาสสามอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเปรียบเทียบกับไตรมาสสอง แต่รวม 9 เดือนแรกของปี 2563 เศรษฐกิจไทยปรับตัวลดลงร้อยละ 6.7 โดยแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2563 คาดว่าจะลดลงมากกว่าร้อยละ 6.0 (NESDC Economic Report, 16 พฤศจิกายน 2563)   นอกจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 การหดตัวทางเศรษฐกิจ และการว่างงาน สถานการณ์ระดับครัวเรือนที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด และมีความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจและสังคมอย่างมาก คือ การก่อ “หนี้ครัวเรือน” ข้อมูลในไตรมาส 2/2563 จากธนาคารแห่งประเทศไทย สะท้อนว่ายอดคงค้างหนี้ครัวเรือนของไทยยังขยับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยในไตรมาส 2/2563 เพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 83.8% ต่อจีดีพี และแนวโน้มหนี้ครัวเรือนของไทยในปี 2563 และต่อเนื่องถึงต้นปี 2564 จะขยับขึ้นมาอยู่ที่กรอบ 88-90% ต่อจีดีพี เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มหดตัว (ศูนย์วิจัยกสิกรไทย, 5 ตุลาคม 2563)     

สถานการณ์ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นว่า “การสร้างภูมิคุ้มกัน” มีความสำคัญอย่างมาก ตามคำนิยาม “ภูมิคุ้มกัน” หมายถึง สภาพที่ร่างกายมีแรงต่อต้านเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกาย ซึ่งไม่เพียงการมีร่างกายที่แข็งแรงต่อสู้กับเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกาย ยังรวมถึงการป้องกันตนเองจากการรับเชื้อโรค พฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เลี่ยงความเสี่ยงจากการรับเชื้อถือเป็นภูมิคุ้มกันที่สำคัญ โควิด-19 เป็นเพียงเชื้อโรคหนึ่งที่เกิดระบาดในช่วงนี้ ซึ่งเราคงต้องรอเวลาของการพัฒนาและการเข้าถึงวัคซีนกันต่อไป และในอนาคตอาจจะมีเชื้อโรคอุบัติใหม่อื่นที่จะเกิดขึ้น และการพัฒนาวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายจะเกิดตามมาภายหลัง แต่พื้นฐานสำคัญ คือ การมีร่างกายที่แข็งแรง มีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี ดำเนินชีวิตอยู่บนความไม่ประมาท ตระหนักถึงโอกาสในการเกิดความเสี่ยง หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง ป้องกันตนเองอย่างรอบคอบระมัดระวัง  เปรียบเสมือนเกราะป้องกันเชื้อโรคในด่านแรก แม้ว่าจะต้องเผชิญกับเชื้อโรคร้ายในบางครั้ง ก็จะสามารถต่อสู้และลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นได้  

เมื่อเปรียบการสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกายกับการสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงินของคนไทย ปัญหาหนี้ครัวเรือนระดับสูงส่วนหนึ่งมาจากการขาดภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีในการป้องการการก่อหนี้ที่ไม่มีคุณภาพ จากข้อมูลโครงสร้างหนี้ครัวเรือนของไทย (ธนาคารแห่งประเทศไทย, 2562)การก่อหนี้จำนวนมากเป็นหนี้ระยะสั้นเพื่อใช้อุปโภคบริโภคส่วนบุคคล สัดส่วนประมาณร้อยละ 32 ของหนี้รวม โดยมีธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจ (specialized financial institutions: SFIs) และธุรกิจที่มิใช่ธนาคาร (non-banks) เป็นผู้ให้กู้หลัก และในระยะหลังธุรกิจ non-banks บริษัทลีสซิ่ง และสหกรณ์ออมทรัพย์มีบทบาทในการให้สินเชื่อส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นมาก ในขณะที่การก่อหนี้ระยะยาวเพื่อซื้อสินทรัพย์ที่มีความมั่นคงมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 34 ของหนี้รวม แตกต่างกับประเทศอื่นที่สัดส่วนหนี้เพื่อที่อยู่อาศัยมีมากกว่าครึ่งหนึ่งของหนี้รวม ขณะที่การก่อหนี้เพื่อการประกอบธุรกิจของครัวเรือนมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 18 ของหนี้รวม ซึ่งเกือบครึ่งหนึ่งของหนี้ดังกล่าวเป็นการให้สินเชื่อโดย SFIs เพื่อประกอบธุรกิจการเกษตรเป็นหลัก 
รายงานของธนาคารแห่งประเทศไทยยังสะท้อนให้เห็นถึงความเสี่ยงของครัวเรือนไทยที่มีระดับการออมน้อย มีสภาวะการก่อหนี้เร็วขึ้น มากขึ้น และนานขึ้น กล่าวคือ คนไทยเริ่มเข้าสู่วงจรการเป็นหนี้ในช่วงอายุที่น้อยลง ระดับการก่อหนี้สูงมากขึ้น และมีระยะเวลาของการเป็นหนี้นานขึ้น ซึ่งหมายถึงความเสี่ยงของการมีหนี้ในวัยเกษียณ ซึ่งอาจส่งต่อความสามารถในการชำระคืน แม้ว่าหนี้สินบางส่วนจะเป็นหนี้ที่มีหลักประกัน แต่หลักประกันไม่ช่วยลดความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ ความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนโดยรวมขึ้นกับภาวะเศรษฐกิจซึ่งกระทบโดยตรงต่อรายได้ หากเกิดการเปลี่ยนแปลงของรายได้อย่างเฉียบพลัน  ครัวเรือนจะเผชิญความเสี่ยงของการผิดนัดชำระหนี้ และอาจถูกยึดหลักประกัน ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงและความสามารถในการดำรงชีพของครัวเรือนได้ และอาจส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังเสถียรภาพของระบบการเงิน ดังนั้น การสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงินช่วยให้ครัวเรือนได้รับประโยชน์สูงสุดจากการก่อหนี้ ระมัดระวังมิให้ก่อหนี้เกินตัวจนเกินภาวะหนี้สินล้นพ้นตัว ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตและเสถียรภาพของระบบการเงินไทยในระยะยาว 

ภูมิคุ้มกันทางการเงิน คือ หลักคิดในการดำเนินชีวิตที่อยู่บนฐานของความพอประมาณ การบริโภค การลงทุน และการก่อหนี้อยู่บนฐานของความพอดีไม่เกินตัว มีเหตุมีผลในการตัดสินใจ คำนึงถึงต้นทุนและผลตอบแทนอย่างรอบคอบ และตระหนักถึงความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นและเตรียมการรับมือกับความเสี่ยงนั้น การสร้างพฤติกรรมที่สะท้อนภูมิคุ้มกันในลักษณะนี้ จะต้องเกิดขึ้นจากการมีความรู้ความเข้าใจและสามารถนำมาประกอบใช้ในการตัดสินใจได้ รวมถึงหากอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยย่อมทำให้ประสิทธิผลการสร้างภูมิคุ้มกันเพิ่มมากขึ้น 

ดังนั้น การสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงินต้องเริ่มจากการมีความรู้เกี่ยวกับการวางแผนทางการเงิน มีวินัยในการใช้จ่าย ให้ความสำคัญกับการออม และตระหนักถึงความเสี่ยงในการดำเนินชีวิต ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ต้องเกิดขึ้นการมีความรู้เพียงพอสำหรับการประกอบใช้งานและตระหนักคิดจากภายในบุคคลเพื่อการดำเนินพฤติกรรมดังกล่าว โดยมีวัคซีนจากนโยบายและมาตรการจากภาครัฐช่วยเสริมประสิทธิภาพของการสร้างภูมิคุ้มกัน ได้แก่ 1) นโยบายส่งเสริมความรู้และทักษะการวางแผนและบริหารการเงิน ปลูกฝังจิตสำนึกให้ตระหนักถึงความสำคัญของการออม และการมีภูมิคุ้มกันทางการเงินตั้งแต่อายุยังน้อย รวมถึงการให้ความรู้ทางการเงินเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและทัศนคติทางการเงินที่ถูกต้องอย่างต่อเนื่องกับคนทุกระดับ   2) การสร้างมาตรการในการกำกับดูแล และร่วมมือของภาคสถาบันการเงินให้เกิดการให้กู้ยืมอย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible Lending) มิใช่มุ่งเน้นการแข่งขันเพื่อขยายสินเชื่อจนให้แรงจูงใจผิดกระตุ้นให้เกิดการก่อหนี้มากเกินไป รวมถึงการมีบทบาทให้ความรู้ทางการเงินกับภาคประชาชนด้วย 3) นโยบายปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อช่วยผู้ที่ติดอยู่ในวงจรหนี้สามารถหลุดพ้นได้อย่างยั่งยืน การมีโครงการคลินิกแก้หนี้ที่ง่ายต่อการเข้าถึงและตรงกับกลุ่มเป้าหมาย  ช่วยปรับโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงิน รวมถึงการสร้างจิตสำนึกและการมีวินัยทางการเงินให้ครัวเรือนกลุ่มนี้ต้องดำเนินการควบคู่ไปอย่างต่อเนื่อง และการเข้าถึงข้อมูลที่จะช่วยติดตามไม่ให้คนกลุ่มนี้กลับไปอยู่ในวงจรหนี้ได้อีก และ 4) ส่งเสริมและสนับสนุนให้ครัวเรือนมีแหล่งรายได้หลากหลาย เพื่อลดความเสี่ยงจากการพึ่งพารายได้แหล่งเดียว มีรายได้ที่เพียงพอเพื่อสร้างความมั่นคงให้แก่ครัวเรือนได้
ถึงวันนี้คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ภูมิคุ้มกันเป็นสิ่งสำคัญ ต้องเริ่มสร้างจากตัวเองก่อน ไม่ต้องรอวัคซีน

คอลัมน์ เวทีพิจารณ์นโยบายสาธารณะ 
ผศ.ดร.ณดา จันทร์สม
คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ 
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ 
Email: [email protected]
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"