ความหวังของคนทั้งโลกขณะนี้คือ การได้วัคซีนป้องกันโรคระบาดไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ใช้กันถ้วนทั่ว เพื่อให้ชีวิตจะได้กลับมาปกติสุขได้เหมือนเดิม และขณะนี้มีบริษัทใหญ่หลายแห่ง ทั้งไฟเซอร์, โมเดอร์นา ของสหรัฐอเมริกา แอสตร้าเซนเนก้า ของอังกฤษ, สปุกนิต 5 ของรัสเซีย ล่าสุด วัคซีนซีรีแว็กซ์ของประเทศจีนประกาศว่าวัคซีนได้ผลมีประสิทธิภาพ 91.25% ซึ่งก่อนหน้าจีนมี "ซิโนฟาร์ม" ที่ประกาศว่าประสบความสำเร็จด้วยแล้วเช่นกัน โดยหลังปีใหม่คาดว่าจะมีงานวิจัยอีกมากมายที่ทยอยประกาศความสำเร็จการผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ออกมาเรื่อยๆ
ในด้านประเทศไทยก็กำลังเดินหน้าโครงการวิจัยวัคซีนโควิด-19 โดยไทยมีประมาณ 6 โครงการวิจัยด้วยกัน ซึ่งวัคซีน CU-COV19 ของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กำลังเข้าสู่ขั้นตอนวิจัยในอาสาสมัคร ซึ่งจะเริ่มหลังสงกรานต์ปี 2564 และนักวิจัยประกาศว่าไทยจะประสบความสำเร็จได้ไม่แตกต่างจากงานวิจัยบริษัทใหญ่ๆ ในต่างประเทศด้วยเช่นกัน ดูเหมือนจะมีความคืบหน้าที่ค่อนข้างไปได้เร็วกว่าโครงการวิจัยอื่นๆ
แต่ระหว่างที่การวิจัยวัคซีน CU-COV19 ที่เป็นผลงานของคนไทยอยู่ในขั้นการทดลองเฟส 2 หรือเฟส 3 และคาดการณ์ว่าน่าต้องรอไปถึงประมาณปลายปี 64 หรือกลางปี 65 ถึงจะได้วัคซีนผลงานนักวิจัยไทย 100% มาฉีดให้คนไทย ทางรัฐบาลก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ จัดหาวัคซีนจากต่างประเทศมาเตรียมฉีดให้คนไทย
ที่ชัดเจนที่สุดคือ การทำข้อตกลงซื้อวัคซีนจากบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ที่ร่วมวิจัยกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดของประเทศอังกฤษ จำนวน 26 ล้านโดส มาฉีดให้คนไทย และทางแอสตร้าเซนเนก้าตกลงที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้กระบวนการผลิตวัคซีนโควิดให้กับบริษัท สยามไบโอไซแอนซ์ ซึ่งเป็นบริษัทของคนไทย 100% โดยคาดว่าจะมีการฉีดวัคซีนนี้ให้กับคนในประเทศล็อตแรก จำนวน 13 ล้านคน ได้ประมาณกลางปี 64
ทั้งนี้ทั้งนั้น "วัคซีน" นับเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทยซึ่งอยู่ในฐานะผู้ซื้อวัคซีนจากต่างประเทศมาโดยตลอด ไม่ได้อยู่ในฐานะผู้ผลิตวัคซีนใช้เอง ยิ่งบอกว่าคนไทยจะผลิตวัคซีนใช้เอง และเป็นวัคซีนที่ใช้ป้องกันไวรัสโควิด-19 ที่คนทั้งโลกหวาดผวา ยิ่งเหมือนเป็นเรื่องเหลือเชื่อ แต่นี่เป็นเรื่องจริงที่คนไทยจะเป็นส่วนหนึ่งของ World Map Vaccine ของโลก
แต่การจะมี "วัคซีน" ไว้ใช้ ทั้งจากซื้อต่างประเทศและผลิตเอง มีเบื้องลึกเบื้องหลัง รายละเอียด แง่มุมบางเรื่องที่สังคมไทยอาจยังไม่เคยรู้มาก่อน ถ้าได้มาฟังจากปากคำของ "นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ"
คำถามแรกคีอ สถานการณ์ระบาดโควิดจากสมุทรสาครกระจายไปหลายสิบจังหวัด เป็นตัวเร่งทำให้งานวิจัยวัคซีนต้องเร็วขึ้นหรือไม่
ทุกวันนี้งานวิจัยวัคซีนก็เร่งกันอยู่แล้ว การที่เราได้เห็นผลของวัคซีนเฟส 3 ในช่วงเวลาผ่านไปไม่ถึง 1 ปี เรียกว่าเร่งรัดกันสุดๆ ไม่เคยเปิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์โลกที่พบเชื้อใหม่ซึ่งยังไม่เคยเจอมาก่อน แล้วใช้เวลาเพียงแค่ไม่ถึงปีแล้วได้วัคซีน นี่คือเร่งสุดๆ แล้ว มันไม่เกี่ยวกับสถานการณ์การระบาดที่นี่หรือที่ไหน หรือการระบาดของโลก แต่มันคือตัวเร่งที่จะค้นหาวัคซีน การวิจัยวัคซีนได้เต็มพิกัดความเร็วอยู่แล้ว เพียงแต่ผมเชื่อว่าถึงการรับรู้และตื่นตัวอยากได้วัคซีนมันก็ขึ้นๆ ลงๆ เวลาโลกสงบลง เราก็ไม่ค่อยสนใจหรือบางทีก็ย่อหย่อนในมาตรการการปฏิบัติตัว สัดส่วนการใส่หน้ากากไม่เข้มงวด การล้างมือ หรือสแกนคิวอาร์โค้ดไทยชนะก็ไม่เข้มงวด เคร่งครัด เหมือนตอนที่เราเริ่มมาตรการ เรานึกกันว่าเราสบายดีกันแล้วเป็นระยะเวลา 6 เดือน ก็เป็นธรรมชาติของคนที่เข้าใจได้ ภาครัฐก็ออกมาเตือนเสมอๆ การ์ดอย่าตก แต่ก็ยังเกิดขึ้น เพราะสถานการณ์ของโลกคาดหมายไม่ได้ และเราอยู่ท่ามกลางการระบาดของโลก และการระบาดที่อยู่รอบบ้าน การที่เรานิ่งนอนใจ รู้สึกสบายดี รู้สึกสบายใจ ใช้ชีวิตเข้าใกล้ภาวะปกติ เมื่อมีการระบาดเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ต้องตกใจ ความต้องการวัคซีนก็ต้องอยากได้มากขึ้นเป็นเรื่องธรรมดา
ในส่วนที่ภาครัฐได้พยายามขวนขวายจัดหาวัคซีนโดยการจองวัคซีนล่วงหน้า เราก็ดำเนินการอยู่ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นทุกอย่างต้องใช้เวลา สิ่งที่เราเห็นว่าประเทศอื่นๆ เขาเริ่มมีวัคซีนใช้ (หมายถึงประเทศสิงคโปร์) เขาจองวัคซีนกันตั้งแต่เดือนกรกฎาคม เพราะไม่ใช่ว่าจองวันนี้แล้วจะได้วันนี้ ไม่มีทางได้ เพราะความต้องการวัคซีนสูง
จองซื้อวัคซีนช้าเพราะ....
ของไทยเราจองในเดือนพฤศจิกายน เพราะเรามีข้อจำกัด กฎหมายไทยไม่เอื้อให้เราทำการจองวัคซีนล่วงหน้าโดยที่ไม่รู้ว่าวัคซีนจะได้หรือไม่ได้ ต้องพยายามไปสร้างกลไกทางด้านกฎหมาย กฎระเบียบ เพื่อที่ว่าให้เราสามารถจองวัคซีนล่วงหน้าได้ ซึ่งเป็นความพยายามของหน่วยงานภาครัฐทั้งหมด กระทรวงสาธารณสุข สถาบันวัคซีนแห่งชาติ กรมควบคุมโรค และหน่วยงานทางด้านกฎหมายของประเทศ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลาง ทุกคนต่างให้ความร่วมมือ ไม่มีขอบ ไม่มีรั้วของกระทรวง เป้าหมายเดียวคือเพื่อจัดหาวัคซีนให้ได้ พยายามหาช่องทาง หากฎระเบียบให้มารองรับเพื่อให้การดำเนินการเป็นไปได้ สุดท้ายเราก็สามารถจองวัคซีนได้
กลไกนี้ไม่ได้แก้กฎหมาย แต่เป็นการหาช่องการอ้างอิงตามกลไกพระราชบัญญัติความมั่นคงวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ.2561 ในตัว พ.ร.บ.วัคซีนแห่งชาติ ในมาตรา 18 ได้ให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยความรับผิดขอบของคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ออกประกาศกำหนดในการจัดหาวัคซีนในสถานการณ์ฉุกเฉินได้ เราก็อาศัยช่องนี้ Exercised ตามอำนาจ พ.ร.บ.จัดหาวัคซีน ที่เป็นตัวปลดล็อกการดำเนินการการหาวัคซีนในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉิน จำเป็น แล้วให้ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขออกประกาศกำหนดในนามของคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ
โดยตอนแรกเรายังคิดหาทางกันว่า เราจะใช้เงื่อนไขอะไรในการจัดหาวัคซีนล่วงหน้า ก็มีอยู่แค่ช่องนี้ที่ทำได้ (ไม่ถึง 1 บรรทัดครึ่ง) ตอนแรกเราก็เห็นอยู่ แต่ไม่รู้จะไปท่าไหนดี จึงปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานอัยการสูงสุด แม้กระทั่งทีมกฎหมายของท่านรองนายกฯ วิษณุ เครืองาม ต่างก็ให้ความเห็นว่า ต้องใช้ช่องนี้แหละ เพราะมีอยู่ทางเดียวเท่านั้นเองที่จะไปได้
"จริงๆ ตัวกฎหมายนี้เราก็พยายามดูแล้ว มันพอจะไปได้หรือเปล่า จะเห็นได้ว่ามันเขียนเพียงวรรคเดียวเท่านั้น ดูเหมือนธรรมดามาก แต่จะใช้กลไกนี้ไม่ได้ ถ้าไม่ได้นักกฎหมายมาช่วยดูให้ เป็นที่มาทำให้เราจองซื้อวัคซีนล่วงหน้ากับบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า"
การจองซื้อวัคซีนกับบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ไม่ได้เป็นแค่เพียงการจองซื้อ แต่มันมีความวิเศษ เพราะเป็นการจองซื้อที่พ่วงกับข้อตกลงการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตให้กับบริษัทของคนไทย บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ ที่เป็นบริษัทของคนไทย 100% เป็นบริษัทยาและชีววัตถุที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทาน ทรงใช้เงินทุนของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่จะสร้างโรงงานนี้ขึ้นมา โดยใช้เงินไม่น้อยกว่า 4,500 ล้านบาท
ถ้าได้รับเทคโนโลยีผลิตวัคซีนจากแอสตร้าเซนเนก้าแล้ว ส่วนนี้รัฐบาลได้มอบเงิน 600 ล้านบาทให้ไปดำเนินการ เพราะโรงงานเดิมไม่ได้ตั้งเพื่อผลิตวัคซีน เพราะ 4-5 ปีที่แล้วไม่มีใครรู้อนาคต เพียงแต่ทำขึ้นเพื่อผลิตยา แต่เวลานี้กลับได้เป็นที่พึ่งของประเทศได้จริงๆ เพราะตัวโรงงานของสยามไบโอไซเอนซ์มีศักยภาพสามารถผลิตวัคซีนในจำนวนขนาด 200 ล้านโดสต่อปีได้ ซึ่งถือว่าเป็นศักยภาพการผลิตที่ใหญ่ และเข้าหลักเกณฑ์ที่ทางแอสตร้าเซนเนก้าและมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดตั้งใจที่จะขยายกำลังการผลิตวัคซีนนี้ไปตามทวีปต่างๆ เพื่อให้มีกำลังการผลิตจำนวนมากๆ และให้ขายวัคซีนในหลักการว่าไม่เอากำไร ราคาประมาณอยู่ที่โดสละ 5 เหรียญฯ หรือประมาณ 150 บาท ซึ่งราคานี้เป็นค่าประมาณ เป็นราคาไม่หวังผลกำไร แสดงว่ามันขึ้นกับต้นทุนการผลิต ซึ่งต้นทุนการผลิตจะประมาณการเป๊ะๆ ไม่ได้ เพราะพอเวลาผ่านไป ราคาวัตถุดิบมันก็เปลี่ยน
แม้กระทั่งขวดบรรจุวัคซีนก็แพงขึ้นเยอะ เพราะความต้องการสูง นอกจากแพงแล้วยังได้ของช้าอีกด้วย คิวจองต้องจองล่วงหน้า ขวดพวกนี้เราต้องสั่งจากต่างประเทศ ขวดต้องตรงสเปกกับเครื่องบรรจุซึ่งเป็นระบบอัติโนมัติ ถ้าเราจะทำให้ได้เดือนหนึ่ง 15 ล้านขวด เราจะมาใช้มือหยอดบรรจุไม่ได้ ต้องใช้เครื่อง ขวดต้องเรียงให้พอดี ให้เข้าถาดเพื่อเข้าเครื่อง เพี้ยนไปมิลลิเมตรเดียวก็จะทำให้แตก ขวดที่ผลิตจึงต้องได้มาตรฐานสูงมาก สเปกของขวดต้องตรงกับเครื่องบรรจุวัคซีน ซึ่งตัวเครื่องนี้เราไม่ได้ทำเอง ทุกอย่างต้องมาจากเมืองนอก โรงงานหลอมแก้วธรรมดาทำขวดนี้ไม่ได้ถ้าไม่ตรงสเปก แม้กระทั่งจุกยางปิดขวดก็ต้องพอดีกันเป๊ะกับการใช้เครื่องอัตโนมัติ พอทุกอย่างมีดีมานด์ ซัพพลาย เข้ามาเกี่ยว มูลค่าของก็เลยเพิ่มขึ้น และเป็นเหตุที่ทำให้ต้องมีการจองกันล่วงหน้าด้วย
การพัฒนาวัคซีนก่อนเกิดโควิด-19 ทำกันแบบค่อยเป็นค่อยไป การวิจัยพัฒนาเฟส 3 จบแล้วค่อยมาเตรียมการผลิตจริงก็ได้ คือไม่รีบ ไม่ด่วน แต่ตอนนี้ทุกคน (ทั้งโลก) มองข้ามช็อตไปหมดแล้ว การเตรียมการผลิตจำนวนมหาศาลถูกเตรียมการกันตั้งแต่เดือนมิถุนายน ถูกเตรียมการตั้งแต่การทดลองวัคซีนยังไม่เสร็จ แค่เริ่มวิจัยก็เตรียมกันแล้ว เขาเรียกว่าเป็นการลงทุนเพื่อความเสี่ยงโดยแข่งกับเวลา ทั้งที่ไม่รู้ว่าการวิจัยจะสำเร็จหรือไม่ ถ้าไม่ทำ ไม่จองไว้ก่อน ก็จะไม่มีของ อย่างวิจัยของสหรัฐอเมริก อังกฤษ มีการจองออเดอร์วัตถุดิบกันล่วงหน้ากับผู้ที่ผลิตที่เป็นต้นน้ำตั้งแต่เดือนกรกฎาคม สิงหาคมกันแล้ว แม้การจองล่วงหน้าจะเป็นความเสี่ยง เงินจองได้นำไปซื้อวัตถุดิบแล้ว ถ้าทดลองไม่ได้ผลก็ไม่มีการคืนเงิน เพราะเอาไปซื้อของแล้ว ถ้าไม่ทำแบบนี้ในเวลาปกติ ไม่มีการแย่งชิงข้าวของก็ทำได้ เวลาปกติ อีก 6 เดือนค่อยจองได้ แต่เวลานี้ถ้าใครมาออเดอร์วัตถุดิบแม้กระทั่งขวดบรรจุวัคซีนต้องรอ 12 เดือน
เมื่อก่อนเราใช้วัคซีนแค่เด็กที่เกิดใหม่แต่ละปีจนถึงอายุ 5 ปี ปีละ 7 แสนคน หรือประมาณ 3.5 ล้าน แต่ตอนนี้เราต้องสั่งวัคซีนล็อตแรกถึง 13 ล้านขวดยังไม่พอเลย เดี๋ยวต้องหามาเพิ่มอีก แค่นี้ความต้องการก็มากกว่า 3 เท่าแล้ว ซึ่งเรามัดจำแอสตร้าเซนเนก้า 2,000 ล้านบาท หรือครึ่งหนึ่งที่เราสั่งจอง ราคาที่เขาเสนอให้เรา 5 เหรียญฯ ถือว่าถูกที่สุดแล้ว
ถ้าจบเรื่องโควิด-19 ศักยภาพของประเทศไทยจะกลายเป็นหลักประกันความมั่นคงวัคซีนของประเทศ เพราะทั้งคน ทั้งของ ทั้งความชำนาญที่จะเกิดขึ้นในเวลานี้ มันคือทรัพยากรที่มีค่าที่ประเมินค่าไม่ได้ เพราะมันอยู่ในประเทศเรา เป็นบริษัทคนไทย เทคโนโลยีที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดและแอสตร้าเซนเนก้าให้มา เรียกว่า Viral vector vaccine มันเป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่ มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดที่เป็นหน่วยงานสาธารณะ เขารู้ดีว่าวัคซีนของเขาดีพอที่จะใช้ป้องกันคนทั้งโลก เขาตั้งเป้าว่าต้องการกระจายวัคซีนไปทั่วโลกให้มากที่สุด จึงร่วมมือกับแอสตร้าเซนเนก้าที่เป็นบริษัทใหญ่ในอังกฤษ แล้วเขายังขยายฐานการผลิตไปที่บราซิล เม็กซิโก สหรัฐ อินเดีย รัสเซีย เกาหลี ไทย สิ่งที่เขาได้ ในความเห็นผมนะ คือเขาได้พันธมิตรทางธุรกิจที่ไม่เคยใหญ่ขนาดนี้มาก่อน ต่อไปข้างหน้าประเทศเหล่านี้เหมือนได้เพื่อนรู้มือรู้ใจ เคยทำงานโควิดด้วยกัน ในแง่ธุรกิจก็เป็นเรื่องประโยชน์ร่วมกัน กลายเป็นเพื่อนทางธุรกิจ ได้มีการพูดคุย รู้ว่าคนนี้มีความเก่งมากน้อยแค่ไหน ซึ่งจะออกมาเป็นการแสวงหาความร่วมมือในอนาคต เช่น ถ้าเขามีผลิตภัณฑ์สักตัวอยากจะขยายออกไปกว้างๆ ก็มีเครือข่ายที่จะขยายได้
เปอร์เซ็นต์ประสิทธิภาพของแอสตร้าเซนเนเก้าที่ได้ผล 65% ถือว่าน้อยกว่าวัคซีนอื่นๆ ที่ประกาศความสำเร็จ จะมีปัญหาหรือไม่
ผอ.วัคซีนบอกว่า ผมไม่กังวลข้อนั้น เพราะองค์การอนามัยโลกบอกว่าวัคซีนที่มีผลประมาณสัก 50% ก็ใช้การได้ในการควบคุมโรค หยุดยั้งการระบาด ดังนั้นเมื่อเราได้วัคซีนมาแล้วฉีดให้ครบตามเป้าหมาย มันก็จะค่อยๆ ลดความเสี่ยง หยุดยั้งการระบาดของโรคได้ในอีก 1-2 ปีข้างหน้า การไม่มีวัคซีนมันจะไปอีกยาว คิดจากประชากร 7 พันล้านคน ตอนนี้ติดไปกว่า 70 ล้าน ถ้ามีวัคซีนมันจะชะลอ เหมือนมีเบรก กระบวนการการระบาดจะค่อยๆ ช้าลงและสงบ
ขณะนี้แอสตร้าเซนเนก้ายังไม่ได้ฉีดวัคซีนให้ใคร เพราะกำลังรอการขึ้นทะเบียนจาก อย.ประเทศอังกฤษก่อน คาดว่าไม่นานน่าจะได้รับการขึ้นทะเบียนในอังกฤษ ต่อไปคงไปที่อียู กลุ่มสหภาพยุโรป และทยอยไปประเทศอื่นๆ นอกจากนี้ประสิทธิผลของวัคซีนที่จะได้ 50% หรือ 60% อยู่ที่การออกแบบงานวิจัย ตอนนี้เขากำลังไปปรับโดสการฉีดให้ชัดเจนมากขึ้น เพื่อให้แน่ใจว่าการฉีดได้ผล 90% เป็นเช่นนั้นจริง ซึ่งทางแอสตร้าเซนเนก้าต้องไปออกแบบข้อมูลงานวิจัยเพิ่มเติม
แอสตร้าเซนเนก้าส่งวัคซีนต้นแบบให้ไทยแล้ว
เมื่อถามว่าหลังจากที่ไทยทำข้อตกลงซื้อวัคซีนจากแอสตร้าเซนเนก้าแล้ว ในขั้นตอนการส่งต่อเทคโนโลยีมาให้เราเพื่อเข้าสู่กระบวนการผลิตจะช้าหรือไม่
นพ.นครบอกว่า ตอนนี้แอสตร้าเซนเนก้าเริ่มมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตเกือบทั้งกระบวนการ ไม่ใช่เอาวัคซีนมาแบ่งบรรจุ เขาให้เราผลิตวัคซีนเองตั้งแต่ต้น และเขาให้วัคซีนต้นแบบเรามาแล้ว เป็นขวดเล็กๆ เราต้องมาขยายจาก 500 ซีซี 5 ลิตร 50 ลิตร 100 ลิตร 200 ลิตร 500 ลิตร 1,000 ลิตร นี่คือวิธีการขยายกำลังการผลิต ชนิดไวรัสเวกเตอร์ เลี้ยงไวรัสให้เจริญเติบโต ให้ได้ตามมาตรฐาน ไม่ใช่วิธีแบบ mRNA โดยไวรัสเวกเตอร์คือการที่เอาไวรัสตัวหนึ่งซึ่งไม่ก่อให้เกิดโรคในคน และใส่ยีนของโควิด-19 เข้าไป เพื่อให้เมื่อระบบภูมิคุ้มกันร่างกายเจอกับไวรัสตัวนี้ก็จะเจอกับยีนโควิด-19 ด้วย และก็จะมีปฏิกิริยาภูมิคุ้มกันต่อตัว สไปค์โปรตีน โควิด-19 (ส่วนหนามของไวรัสโควิด)
วิธีการนี้ไม่ใช่แบบเดียวกันกับการเชื้อให้อ่อน คนละแบบ เชื้ออ่อนก็คือเอาตัวโควิด-19 มาทำให้มันอ่อน แต่เราไม่ได้เอาโควิด-19 มา เราแค่สังเคราะห์ยีนของมันไปใส่ไว้ในไวรัสอีกตัวหนึ่ง เหมือนเอาไปฝากไว้ ตัวยีนในการผลิตส่วนที่เป็นสไปค์โปรตีน เพราะเรารู้ว่ายีนตัวที่ผลิตสไปค์โปรตีนมันคืออะไร เราก็เลยเอายีนใส่เข้าในไวรัสอีกตัวหนึ่งและเลี้ยงตัวนี้ให้เจริญเติบโต และก็เป็นไวรัสที่ไม่ก่อให้เกิดโรคในคน พอเราเพิ่มจำนวนไปแล้วก็จะทำให้ตัวไวรัสที่เพิ่มจำนวนกลายเป็นวัคซีน พอฉีดเข้าไปก็เหมือนกับการไปซ้อมให้ภูมิคุ้มกันของเราเจอกับเชื้อโควิด-19 โดยไม่ได้ใส่เชื้อจริงๆ เข้าไป เพราะร่างกายของเรามีระบบการจดจำ ถ้าจำได้ว่าเคยได้รับเชื้อนี้มาก่อนหรือเคยรู้จักมาก่อน พอเวลาที่ตัวจริงๆ มันเข้ามา ภูมิคุ้มกันจะมาจับอยู่ตามพวกนี้ เพราะวิธีที่ตัวนี้มันจะเข้าสู่เซลล์ผิวทางเดินหายใจของเรา ผิวเซลล์เจาะเข้าไปเพิ่มจำนวนอยู่ในตัวเซลล์ของเรา และเพิ่มจำนวนเข้าไป โควิด 1 ตัวก็เพิ่มเป็น 10 ยกกำลัง 10 ประมาณ 1 หมื่นล้านตัว แต่ไวรัสมันเล็กมาก ดังนั้นเวลามันแตกออกมา เซลล์เราก็เลยเปลี่ยน เกิดการอักเสบเพราะถูกทำร้าย ทำยังไงไม่ให้เข้าเซลล์ได้ ถ้าภูมิคุ้มกันเรามาจับกับตรงนี้ จนเชื้อเข้าเซลล์ไม่ได้ ลอยไปลอยมาก็ตาย เพราะเชื้อไวรัสต้องเข้าเซลล์ เป็นเรื่องที่นักวิทยาศาสตร์ต้องใช้ความรู้พวกนี้ ที่เราผลิตวัคซีนได้ก็ต้องใช้ความรู้พวกนี้
ที่แอสตร้าเซนเนก้าให้วัคซีนต้นแบบเรามาแค่ 500 ซีซี ต่อไปเราก็ไม่ต้องเอา 500 ซีซีจากเขา สามารถทำเอง เลี้ยงเพาะเชื้อเองตั้งแต่จุดเริ่มต้นได้หรือไม่
นพ.นครตอบว่า ทำได้ เด็ก สวทช.กำลังทำอยู่ ทำตั้งแต่ตัวที่เป็นไวรัสเวกเตอร์ พูดง่ายๆ ภาพอนาคตหากมีโควิด-20 กว่า หรือโรคอื่นๆ ที่เป็นไวรัส เราก็มีศักยภาพที่พัฒนาวัคซีน เราก็จะไม่ช้า ยืนบนขาของตัวเอง และเรายังทำวัคซีนของตัวเอง mRNA วัคซีน DNA วัคซีน ซึ่งเป็นตัวที่ไปได้ช้า เพราะเป็นตัวที่ต้องอาศัยเครื่องมือพิเศษในการนำวัคซีนเข้าสู่ร่างกาย แต่ก็เป็นอีกหนึ่งความหวังคือ ในตอนนี้ถ้าเรามองภาพใหญ่ คือภาพหนึ่งเราใช้ทางลัดในการรับเทคโนโลยีที่ถ่ายทอดมา อีกภาพหนึ่งก็ทำของเราเองตั้งแต่ต้นน้ำ ทั้งหมดคือการสร้างศักยภาพประเทศในการวิจัยพัฒนาวัคซีน นักวิจัยมาขอทุน สถาบันวัคซีนแห่งชาติก็หาทุนมาให้ หน่วยงาน วช. อว. ก็หาทุนมาให้ ถ้าเราสนับสนุนกันแบบนี้ ประเทศเราจะก้าวกระโดดจากการเป็นผู้ซื้อวัคซีนตลอดกาล กลายเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายวัคซีน และก็จะเหมือนกับจีน ณ เวลานี้ ก็ขายวัคซีน
ความคืบหน้าการวิจัยอื่นๆ ในไทย อย่างองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ได้ทุนจากมูลนิธิเกตส์มาพัฒนาวัคซีนชนิดหนึ่ง Newcastle disease virus (NDV) ซึ่งวิธีทำคล้ายๆ ไวรัสเวกเตอร์ แล้วใส่ยีนโควิด-19 เข้าไป แต่ NDV พอทำเสร็จแล้วเอาไปเลี้ยงในไข่ไก่ มันก็คือการเพิ่มจำนวน คือไวรัสต้องการเซลล์ในการเพาะเลี้ยง NDV มีคุณสมบัติคือ เจริญได้ดีในไข่ไก่ ในสัตว์ปีก คือไวรัสมีหลายชนิด บางชนิดอยู่ได้ในสัตว์ปีก แต่อยู่ไม่ได้ในเซลล์คน พอฝากเลี้ยงเพิ่มจำนวนเซลล์แล้วทำให้เชื้อมันตาย แต่มันยังมียีนโควิด-19 อยู่ หลังจากนั้นก็มาผลิตเป็นวัคซีน อภ.กำลังอยู่ในขั้นทดลองในสัตว์ทดลอง
"ผมเชื่อว่าอีกไม่เกิน 2 ปี วัคซีนโควิด-19 จะมีเยอะจนล้นตลาด แต่ปัญหาสำคัญคือก่อน 2 ปีนี่มันจะไม่พอ ภายในปี 2022 กำลังการผลิตวัคซีนทั้งโลกจะเพิ่มสูงจนเพียงพอ เพราะงานวิจัยที่อยู่ในไปด์ไลน์ต่างๆ จะทยอยออกมา แต่ตอนนี้มีเฉพาะเจ้าหน้าที่อยู่แถวหน้าเข้าเส้นชัยแล้ว ไฟเซอร์ ปี 2020 ผลิตไว้คอยแล้ว 40 ล้านโดส แต่สหรัฐอเมริกาจองไป 100 ล้านโดส อังกฤษจองไป 90 ล้านโดส ต้องทยอยแบ่งให้อังกฤษ สหรัฐ แค่นี้ก็หมดแล้ว ปีหน้าบอกว่าจะผลิตได้ 1,000 ล้านโดส แต่ออเดอร์ที่อยู่ในมือก็ยังทำไม่ทัน ปีหน้าวัคซีนยังไม่พอ พอปี 2023 จะล้นตลาด เกินความต้องการ จะครอบคลุมประเทศยากจน พอของล้น ราคาจะถูกลง เหมือนหน้ากากอนามัยที่แพงตอนต้นปี" นพ.นครกล่าว
ส่วนโครงการวัคซีนใบยาสูบของจุฬาฯ ที่ระดมทุน 500 ล้าน เป็นเรื่องของทิศทางการทำงานของเขา เขาอยากให้คนไทยมีส่วนร่วม แต่รัฐบาลให้การสนับสนุน ช่วงแรก 150 ล้านบาท เป็นวงเงินเบื้องต้น และเตรียมเงินไว้อีกส่วนถ้าเขามีการทดสอบวิจัยในคนที่ต้องใช้เงินจำนวนมาก ซึ่งการให้งบประมาณจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ถ้าวัคซีนได้ผลก็จะขยับเรื่องเงินทุนไปเรื่อยๆ รูปแบบการให้ทุนของรัฐบาลประเทศไทยไม่เหมือนต่างประเทศที่เอาเงินมาคอยงาน คือเราไม่มีรูปแบบการให้ทุนแบบทุนให้เปล่า
ทิศทางการระบาดของไทยจะไปทางไหน จะหนักกว่าไหม
นพ.นครกล่าวว่า หวังว่าจะควบคุมได้ จำเหตุการณ์สนามมวย ผับ ที่กระจายไปทั่วประเทศ หรือในภาคใต้ที่กลับมาจากทำพิธีทางศาสนาที่มีกว่าพันคน แต่ตอนนั้นที่ระบาดหนัก สนามมวยเป็น 100 ผับเป็น 100 กระจายไปทั่วประเทศ ถ้าเราทำได้เหมือนเดิมก็คุมได้เหมือนเดิม วงนี้อาจจะใหญ่หน่อย พอเห็นจำนวนก็ต้องตกใจ เพราะตลาดคนเดินไปมา กระจายกันไป ต้องไล่ตามทั้งหมดเพื่อให้ควบคุมโรคได้ดี ข้อสำคัญพวกเราที่ยังไม่ป่วยก็ต้องลดความเสี่ยง ป้องกันตัวเอง ร่วมมือตามมาตรการภาครัฐ อีกอย่างคือพยายามอย่าตั้งข้อรังเกียจ เรามีบทเรียนโรคเอดส์ สร้างภาพความน่ากลัว เกิดการรังเกียจ กีดกัน คือไปสร้างความรู้สึกทำให้ผู้ที่เคยไปสัมผัส หรือผู้ที่เข้าค่าย ไม่กล้าเปิดเผยตัว เพราะชีวิตส่วนตัวก็จะถูกเปิดเผยหมด กลายเป็นว่าเราไล่ตามชีวิตส่วนตัว พยายามช่วยกันเพื่อลดการรังเกียจ หรือการตั้งข้อรังเกียจในกรณีผีน้อย กลายเป็นถูกตีตรา ไม่อยากให้มา ทำให้การป้องกัน ควบคุมโรคเป็นไปได้ยาก แต่หากรู้สึกว่าไม่เป็นไร เสี่ยงก็รู้ว่าเสี่ยง ต้องเป็นเรื่องสุดวิสัยไม่รู้มาก่อน เพราะเราขึ้นรถไฟฟ้าก็ไม่รู้ว่าจะไปเจอกลุ่มเสี่ยงเมื่อไหร่ อยากจะกระตุ้นเรื่องการควบคุมป้องกันโรค จะทำได้ถ้ามีการร่วมมือ ถ้าหากอยากให้การระบาดรอบนี้จบลงเร็วๆ
บทบาทสถาบันวัคซีนหลังได้วัคซีนเป็นอย่างไร นพ.นครกล่าวว่า สถาบันจะดูแลเรื่องนโยบาย อนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ซึ่งอยู่ภายใต้กำกับของคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ อนุกรรมการฯ จะพิจารณาว่ากลุ่มประชากรไหนจะได้รับการฉีดก่อน ซึ่งการเลือกกลุ่มฉีดจะต้องใช้ข้อมูลวิชาการ ความเชี่ยวชาญของนักวิชาการในประเทศไทยและต่างประเทศ เพื่อให้ลิสต์กลุ่มประชากรออกมา และคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติก็จะนำไปนำเสนอ หลังจากนั้นพอได้วัคซีนมาก็เป็นเรื่องของกรมควบคุมโรค เป็นแม่งานเตรียมการฉีดวัคซีน กรมควบคุมโรคจะทำหน้าที่กระจายวัคซีนไปยังหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน รวมทั้งกรุงเทพมหานคร.
วัคซีนเพื่อคนไทย
รัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุขมีแผนจัดหาวัคซีนโควิด-19 ให้คนไทยในสัดส่วน 50% ของจำนวนประชากร โดยเบื้องต้นเตรียมงบประมาณไว้ประมาณ 5,000-6,000 ล้านบาท การจัดหาวัคซีนทำใน 3 ด้าน คือ 1.ความร่วมมือกับต่างประเทศเพื่อให้มีโอกาสได้วัคซีนเร็วขึ้น ดำเนินการโดยผ่านช่องทางของหน่วยงานที่ชื่อว่า "โคแวกซ์ ฟาซิลิตี้ (Covax facility) และกราวิ วัคซีน อลิอันซ์ ซึ่งเป็นหน่วยงานองค์การอนามัยโลก
2.การจัดซื้อวัคซีนจากต่างประเทศ ซึ่งเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 ไทยได้ประกาศจองซื้อวัคซีนจากบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า จำกัด และมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด จำนวน 26 ล้านโดส เพื่อฉีดให้แก่ประชาชน 13 ล้านคนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายแรกในช่วงกลางปี 2564
การซื้อวัคซีนจากบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า อยู่ในเงื่อนไขพิเศษ โดยทางแอสตร้าเซนเนก้าตกลงจะถ่ายทอดเทคโนโลยี กระบวนการผลิตวัคซีน AZD1222 ตั้งแต่ระดับต้นน้ำ-ปลายน้ำให้กับไทย โดยให้บริษัท สยามไบโอไซแอนซ์ เป็นผู้ทำการผลิต
3.การวิจัยพัฒนาวัคซีนในประเทศเพื่อให้ผลิตได้เอง
หลังการระบาดโควิด-19 ระลอกแรก นอกจากรับมือกับการระบาดแล้ว รัฐบาลไทยยังประสานความร่วมมือในการพัฒนาผลิตวัคซีนป้องกันเชื้อโควิด-19 โดยมีการลงนามความร่วมมือระหว่าง 11 หน่วยงาน ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยมหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ บริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กรมการแพทย์ กรมควบคุมโรค กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา องค์การเภสัชกรรม และสถาบันวัคซีนแห่งชาติ
มีการรายงานว่า ในประเทศไทยมีโครงการวิจัยพัฒนาวัคซีนโควิด-19 เกิดขึ้นประมาณ 20 ราย แต่ส่วนใหญ่ยังไม่มีการประกาศตัวอย่างเป็นทางการ มีเพียง 6-7 โครงการเท่านั้นที่ประกาศตัวให้สาธารณชนรับทราบ จนถึงขณะนี้มีประมาณ 2-3 โครงการที่แสดงความคืบหน้าในการพัฒนาวิจัย และจะเข้าสู่ขั้นตอนการทดลองในมนุษย์ ซึ่งถือว่าเป็นเฟสที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาวัคซีนในช่วงปีหน้า
ตัวไหนใกล้เข้าเส้นชัย
- วัคซีนชนิด mRNA ของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้น ที่มีชื่อว่า CU-COV19 ซึ่งร่วมมือพัฒนากับมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา ถือว่ามีความก้าวหน้าที่สุด นับว่าเป็นความหวังของคนไทย ขณะนี้ผ่านขั้นตอนการทดลองในสัตว์ทั้งหนูและลิงไปแล้ว ซึ่งนักวิจัยจุฬาฯ ยืนยันประสิทธิภาพของวัคซีนได้ผล 90% ไม่แตกต่างจากวัคซีนของบริษัท ไฟเซอร์ และบริษัท โมเดอร์นา ที่ใช้เทคนิค mRNA เช่นเดียวกัน ความคืบหน้าการวิจัยกำลังจะเข้าสู่กระบวนการทดลองในคนระยะที่ 1 ในช่วงหลังสงกรานต์ปี 2564 คาดว่ารู้ผลการทดลองประมาณกลางเดือน มิ.ย.64 หลังจากนั้นจะทดลองในคนระยะที่ 2 รู้ผลประมาณเดือน ส.ค. ซึ่งทีมวิจัยคาดหวังว่าถ้าการทดลองระยะที่ 2 ได้ผลระดับภูมิคุ้มกันเท่ากับวัคซีนของไฟเซอร์ หรือโมเดอร์นา ก็จะข้ามขั้นตอนการทดลองในคนระยะที่ 3 และนำไปฉีดให้คนไทยระดับหมื่นคน และถ้าได้ผลน่าพอใจก็จะฉีดไปถึงระดับล้านคน ได้เงินกว่า 300 ล้าน เพื่อไปดำเนินการผลิตวัคซีนในโรงงานที่แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา
ถ้าการทดลองวัคซีน CU-COV19 ประสบผลสำเร็จ ก็มาถึงขั้นตอนการผลิตวัคซีนออกมาเป็นล็อตใหญ่ ซึ่ง นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผอ.บริหารโครงการวิจัยวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ออกมากล่าวว่า ถ้าผลิตให้ได้ 500 ล้านโดสจะต้องใช้เงินอีกไม่ต่ำกว่า 1,500 ล้านบาท
- วัคซีนที่ผลิตจากใบยาสูบของเป็นโครงการของทีมวิจัยคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ ภายใต้โครงการ "วัคซีนเพื่อคนไทย" เพราะใช้ทีมคนไทยล้วนๆ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยไม่ได้พึ่งเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ดำเนินงานในนามบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด ร่วมมือกับองค์การเภสัชกรรม (อภ.) และบริษัท คินเจน ไบโอเทค จำกัด เทคนิคที่ใช้เป็นการใส่พันธุกรรมไวรัส เพื่อให้พืชผลิตโปรตีนออกมาแล้วเราสกัดโปรตีนนั้นมาเป็นวัคซีน ซึ่งขั้นตอนการวิจัยระยะที่ 1 และ 2 จะเริ่มประมาณกลางปีหน้า และสิ้นสุดการทดลองระยะที่ 3 ราวสิ้นปี 2564 การทดลองในสัตว์ได้ผลน่าพอใจ มีประสิทธิภาพสูง กระตุ้นภูมิไม่แตกต่างจากไฟเซอร์ หรือโมเดอร์นา ละสามารถยับยั้งเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้แม้มีการกลายพันธุ์ โดยวัคซีนจะไปสร้างหน่วยความจำในร่างกาย หากเชื้อโควิดเข้าสู่ร่างกายเมื่อใด ระบบภูมิคุ้มกันก็จะถูกปลุกขึ้นมาต่อต้านไวรัส
- วัคซีนชนิด DNA ของเอกชน บริษัท ไบโอเน็ท เอเชีย ซึ่งปัจจุบันมีหลายประเทศทั้งในยุโรปและอเมริกา ประมาณ 3-4 เจ้า ผลิตวัคซีนป้องโควิด-19 ใช้เทคนิคดีเอ็นเอ ผลทดลองในหนูล่าสุดของไบโอเน็ทฯ ให้ผลกระตุ้นภูมิคุ้มกันระดับดี ขณะนี้เตรียมการให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจสอบคุณภาพ และส่งเรื่องขอคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) วิจัยในคน แต่ล่าสุดไบโอเน็ทฯ จะจับมือกับรัฐบาลออสเตรเลียในการทดลองในมนุษย์ และอาจมีการทดลองในคนที่ประเทศออสเตรเลียประมาณต้นปี 2564
- องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ผลิตวัคซีนจากไวรัส ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิบิลเกตส์ สำหรับ อภ.ถือว่ามีความพร้อมในการผลิตวัคซีนในประเทศมาก เพราะสามารถพัฒนาโรงงานผลิตวัคซีนที่มีอยู่มาผลิตวัคซีนโควิดได้
การพัฒนาวัคซีนโควิด อภ.ยังทำในรูปแบบการสนับสนุนโครงการพัฒนาวิจัยวัคซีนกลุ่มอื่นๆ ได้แก่ ให้การสนับสนุนทุนวิจัยคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ที่พัฒนาวัคซีนอนุภาคไวรัส (Virus-like particle) และคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ พัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ต้นแบบชนิดวัคซีนโปรตีนซับยูนิต (Subunit vaccine) โดยวัคซีนทั้ง 2 ชนิดนี้ใช้เทคโนโลยีการใช้เซลล์เพาะเลี้ยง
และ อภ.ยังร่วมมือกับศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC) เพื่อวิจัยพัฒนาวัคซีนชนิดเชื้อตายจากการตัดต่อยีนของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ SARS-CoV2 เข้าไปในยีนของไวรัสไข้หวัดใหญ่ (Inactivated influenza virus-based COVID-19 vaccine) เพื่อเป็นเชื้อไวรัสตั้งต้น หากสำเร็จจะนำเชื้อไวรัสตั้งต้นนี้ผลิตเป็นวัคซีนโดยใช้เทคโนโลยีการใช้ไข่ไก่ฟักของ อภ. คาดว่าการวิจัยพัฒนาวัคซีนทั้ง 3 ชนิดจะทราบผลเบื้องต้นในปลายปี 2563
- วัคซีนอนุภาคไวรัส พัฒนาวิจัยโดยทีมคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล (ที่ อภ.ให้การสนับสนุนการวิจัย)
- วัคซีนชนิดใช้ไวรัสเป็นพาหะ เป็นวัคซีนแบบเชื้อชนิดอ่อน พัฒนาโดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยไบโอเทคที่มีห้องปฏิบัติการไวรัสวิทยาและเซลล์เทคโนโลยี มีประสบการณ์เป็นเลิศด้านงานวิจัยไวรัสวิทยา พัฒนาวัคซีนหลายชนิดสำหรับสัตว์ เทคโนโลยีการสร้างวัคซีนที่นำมาใช้คือ การนำดีเอ็นเอที่มีรหัสพันธุกรรมของไวรัสมาเพิ่มปริมาณในแบคทีเรีย และนำดีเอ็นเอดังกล่าวไปสร้างเป็นอนุภาคไวรัสในหลอดทดลอง เรียกเทคโนโลยีนี้ว่า Reverse genetics โดยเป็นทีมวิจัยเป็นกลุ่มแรกๆ ของโลกที่ประสบความสำเร็จในการสร้างไวรัสโคโรนาของสุกร ล่าสุดทางไบโอเทคนำเทคนิคนี้มาใช้ในการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ในส่วนของการพัฒนาวัคซีนต้านโคโรนาไวรัสนั้นมีความคืบหน้ามาก พัฒนาวัคซีน 5 ต้นแบบ ทดสอบไป 2 ชนิดแล้ว โดยได้ฉีดวัคซีนต้นแบบชุดแรกในหนูทดลอง ร่วมมือกับทางคณะสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในการทดสอบในห้อง ABSL3
ก้าวกระโดดสู่เวทีวิจัยระดับโลก
การวิจัยผลิตวัคซีนโควิด-19 ของไทย เปรียบเสมือนการได้ลงสนามแข่งในเวทีผลิตวัคซีนของโลก แม้จะเป็นการจับมือระหว่างมหาวิทยาลัยไทยกับบริษัทข้ามชาติ และมหาวิทยาลัยไทยกับมหาวิทยาลัยระดับโลก แต่นับเป็นความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทยที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน และน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ไทยจะผลิตวัคซีนอื่นๆ ที่เป็นวัคซีนชนิดใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนไข้เลือดออก วัคซีนมะเร็ง โรคสะเก็ดเงิน ฯลฯ ใช้เองได้ในอนาคตโดยไม่ต้องซื้อจากต่างประเทศ
โดยเฉพาะการนำเทคนิค mRNA มาผลิตวัคซีนของทีมวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งเป็นเทคนิคเดียวกับที่ไฟเซอร์และโมเดอร์นาใช้นั้น นับเป็นความก้าวหน้าอย่างมาก เนื่องจากที่ผ่านมาโลกยังไม่เคยพัฒนาวัคซีนจากวิธี mRNA หรือให้การรับรองวัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอให้ใช้ในคนมาก่อน
เทคนิคของ mRNA นั้นก็คือการคัดลอกพันธุกรรมจากส่วนหนามของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่มากระตุ้นให้ร่างกายมนุษย์ผลิตแอนติบอดี้มาต่อต้านสารพันธุกรรมของไวรัสได้ โดยไม่ต้องใช้ตัวเชื้อไวรัสทั้งตัวโดยตรง ซึ่งประเทศไทยก็สามารถพัฒนาวัคซีนนี้ได้ไปพร้อมๆ กับการวิจัยของบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านยาของโลก
นอกจากนี้ วัคซีนโควิด-19 จากใบยาสูบนับเป็นเทคนิคที่ไทยไม่เคยใช้มาก่อน และผลการทดลองในสัตว์ได้รับการยืนยันประสิทธิภาพวัคซีนว่าให้ผลไม่ต่างจากเทคนิค mRNA จะเข้าสู่การทดลองในมนุษย์ช่วงกลางปี 64 นับเป็นความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ของไทยที่จะนำไปสู่การพัฒนาขั้นสูงในด้านอื่นๆ ต่อไป
-------------------
ฉีดให้ใครก่อน
ทางภาครัฐตั้งเป้าว่าจะต้องฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับคนในประเทศไม่ต่ำกว่า 50% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ 70 ล้านคน ซึ่งความเป็นไปได้ชนิดวัคซีนที่จะนำมาฉีดเป็นของบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำให้กับไทย ผ่านบริษัท สยามไบโอไซแอนซ์ หลังจากนั้นอีก 6 เดือนก็จะมีวัคซีนออกมา โดยวัคซีนล็อตแรกจะมีจำนวน 26 ล้านโดส และฉีดได้ 13 ล้านคน ประมาณกลางปี 2564 โดยวัคซีนที่นำมาฉีดเป็นวัคซีนที่ผลิตในประเทศจากโรงงานของบริษัท สยามไบโอไซแอนซ์ ไม่ต้องขนส่งนำเข้าจากต่างประเทศ
หลังจากได้วัคซีนแล้วฉีดให้กลุ่มเป้าหมาย ซึ่งคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ภายใต้กำกับของคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ จะเป็นผู้กำหนดกลุ่มเป้าหมายกลุ่มแรกว่าใครจะได้ฉีดก่อน เบื้องต้นคาดกลุ่มแรกจะเป็นกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ เพราะถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงที่สุดต่อการติดเชื้อ หลังจากนั้นจะตามมาด้วยกลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยงอื่นๆ
การเตรียมการฉีดวัคซีนที่จะดำเนินการโดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ขั้นตอนอย่างแรกมีการสำรวจความเห็นประชาชน การทำการประชาสัมพันธ์เพื่อให้ประชาชนเกิดความเข้าใจครบถ้วน เพราะอาจจะมีคนที่ทั้งอยากฉีดและไม่อยากฉีด และภายหลังจากการฉีดแล้วจะต้องติดตามผลหลังการฉีด 6 เดือนหรือ 1 ปี ซึ่งวัคซีนอาจมีประสิทธิผลในผู้ได้รับแตกต่างกันตามช่วงอายุ โดยคนหนุ่มสาวอาจมีภูมิคุ้มกันดีกว่าผู้สูงอายุ
อย่างไรก็ดี สิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ เพราะผู้ผลิตวัคซีนยังต้องพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ชนิดใหม่ๆ เป็นประจำทุกปี เพื่อพยายามจับคู่สายพันธุ์ของไข้หวัดใหญ่ที่มีการกลายพันธุ์อยู่เรื่อยๆ และเทคโนโลยีในการผลิตวัคซีนอาร์เอ็นเอนั้นง่ายต่อการปรับแต่ง ดังนั้นจึงไม่น่าจะเป็นปัญหาสำคัญ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |