30 ธ.ค.63 - นางประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ทำหน้าที่แทนประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่าในปี 2563 กสม.ได้ดำเนินการในเรื่องที่สำคัญดังนี้ 1. การรับเรื่องร้องเรียน กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียนทั้งสิ้นจำนวน 568 เรื่อง โดยประเด็นสิทธิมนุษยชนที่มีการร้องเรียนมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่
อันดับที่ 1 สิทธิในกระบวนการยุติธรรม คิดเป็นร้อยละ 24 เช่น กรณีขอความช่วยเหลือให้เร่งรัดดำเนินคดีของพนักงานสอบสวน กรณีกล่าวอ้างว่าเจ้าหน้าที่ทำร้ายร่างกายระหว่างการจับกุม กรณีการตั้งด่านตรวจค้นมีการปฏิบัติที่ไม่เหมาะสมกับเพศสภาพ เป็นต้น
อันดับที่ 2 สิทธิพลเมือง คิดเป็นร้อยละ 18 เช่น กรณีได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมือง เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุม กรณีกล่าวอ้างว่าถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐติดตามตัว กรณีผู้ต้องขังเข้าใหม่มีร่องรอยการถูกทำร้ายร่างกาย กรณีได้รับผลกระทบจากการกักตัวหลังจากเดินทางกลับจากต่างประเทศเพื่อดูอาการจากโรคโควิด – 19 เป็นต้น
อันดับที่ 3 สิทธิของบุคคลในทรัพย์สิน คิดเป็นร้อยละ 11 เช่น กรณีการจ่ายค่าทดแทนสำหรับการเวนคืนที่ดินโดยไม่เป็นธรรม กรณีปัญหาที่สาธารณะประโยชน์ทับซ้อนกับที่ดินทำกินของประชาชน กรณีการโต้แย้งสิทธิการครอบครองที่ดินของราษฎร เป็นต้น
2. การประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนหรือส่งต่อหน่วยงานอื่นเพื่อให้การแก้ไขปัญหาแก่ผู้ร้องเป็นไปอย่างรวดเร็ว จำนวนทั้งสิ้น 136 เรื่อง เช่น เรื่องที่เกี่ยวกับสิทธิในกระบวนการยุติธรรม สิทธิแรงงาน สิทธิสถานะบุคคล นักปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยได้มีการประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนไปยังหน่วยงานต่าง ๆ เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงแรงงาน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงยุติธรรม เป็นต้น
3. การจัดทำรายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน จำนวนทั้งสิ้น 203 คำร้อง โดยมีประเด็นสำคัญ ได้แก่ (1) สิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย เช่น กรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐทำร้ายร่างกายบุคคลผู้ต้องสงสัยระหว่างการควบคุมตัว (2) สิทธิชุมชน เช่น กรณีคัดค้านการก่อสร้างโครงการรัฐหรือเอกชนและชุมชนได้รับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากโครงการดังกล่าว และ (3) สิทธิของบุคคลในทรัพย์สิน เช่น กรณีพื้นที่สาธารณะประโยชน์ทับที่ดินทำกินของประชาชน และการโต้แย้งสิทธิการครอบครองที่ดินของราษฎร เป็นต้น ทั้งนี้ในจำนวนดังกล่าว มีทั้งกรณีละเมิดและไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน
4. การจัดทำข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเพื่อเสนอต่อรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีจำนวนทั้งสิ้น 21 เรื่อง โดยมีเรื่องสำคัญ ได้แก่ (1) ข้อเสนอแนะแนวทางในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน (หลักสูตรสิทธิมนุษยชนศึกษาสำหรับกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย และคู่มือการจัดการเรียนรู้สิทธิมนุษยชนศึกษาขั้นพื้นฐาน) (2) ข้อเสนอแนะแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของผู้สูงอายุ (3) ข้อเสนอแนะกรณีผลกระทบด้านการจราจรของโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี (4) ข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการยุติการตั้งครรภ์ (5) ข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและการแก้ไขกฎหมายกรณีปัญหาความรุนแรงทางเพศต่อเด็กนักเรียนโดยครูหรือบุคลากรทางการศึกษา และ (6) ข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน กรณีสถานการณ์การชุมนุมและเรียกร้องทางการเมืองของนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน
5. การติดตามการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของ กสม. พบว่า คณะรัฐมนตรีมีการสั่งการไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนให้แก่ประชาชนแล้วจำนวน 11 เรื่อง จากจำนวน 12 เรื่องที่ กสม. เสนอ เช่น ข้อเสนอแนะการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวีในการรับเข้าทำงานกับบริษัทเอกชน ข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของผู้สูงอายุ ข้อเสนอแนะแนวทางในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน (หลักสูตรสิทธิมนุษยชนศึกษาสำหรับกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย และคู่มือการจัดการเรียนรู้สิทธิมนุษยชนศึกษาขั้นพื้นฐาน) ข้อเสนอแนะเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน กรณีกล่าวอ้างว่า การลงทุนของภาคธุรกิจไทยในต่างประเทศกระทบต่อสิทธิมนุษยชน เป็นต้น
นอกจากนี้ ได้ดำเนินการเฝ้าระวังสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน เช่น การตั้งคณะทำงานเพื่อเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์กรณีการชุมนุมทางการเมือง โดยร่วมสังเกตการณ์การชุมนุมประกอบการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย การตั้งคณะทำงานติดตามสถานการณ์และเฝ้าระวังผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) เพื่อเฝ้าระวังผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนในสถานการณ์โรคระบาด และได้ให้ข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
สำหรับภารกิจด้านการส่งเสริมการเคารพสิทธิมนุษยชนที่สำคัญ มีการส่งมอบและเผยแพร่คู่มือจัดการเรียนรู้สิทธิมนุษยชนศึกษาขั้นพื้นฐาน 5 ช่วงชั้น สำหรับนักเรียนระดับปฐมวัย - มัธยมศึกษาตอนปลาย และหลักสูตรสิทธิมนุษยชนศึกษาสำหรับกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลายให้แก่หน่วยงานภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคการศึกษา และภาคประชาสังคมทั่วประเทศ รวมทั้งจัดทำโครงการเยาวชนคนรุ่นใหม่ใส่ใจและยืนเคียงข้างสิทธิมนุษยชนเพื่อให้เยาวชนเรียนรู้ เข้าใจ เท่าทันสิทธิมนุษยชนภายใต้บริบทของสังคมไทยและสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19
“และเพื่อให้การคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนของประชาชนสามารถดำเนินการได้อย่างครอบคลุม รวดเร็ว และทั่วถึงในทุกภูมิภาค ปลายปี 2563 นี้ กสม. ได้มีมติให้จัดตั้งสำนักงานภูมิภาคในพื้นที่ภาคใต้ ณ จังหวัดสงขลา เป็นพื้นที่นำร่อง รวมทั้งมีการดำเนินงานจัดตั้งศูนย์ศึกษาและประสานงานด้านสิทธิมนุษยชนร่วมกับมหาวิทยาลัยในภูมิภาคต่าง ๆ เพิ่มอีก 6 แห่งในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี กาญจนบุรี อุบลราชธานี ยะลา พะเยา และภูเก็ต เมื่อรวมกับศูนย์ศึกษาฯ ที่มีอยู่เดิม 6 แห่ง จะมีศูนย์ศึกษาฯ ทั้งสิ้นรวม 12 แห่งในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ เพื่อขยายพื้นที่ให้บริการและเพิ่มโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงกลไกด้านสิทธิมนุษยชนอย่างสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น” ผู้ทำหน้าที่แทน ประธาน กสม. กล่าว
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |