เรื่องเล่า‘ห้องประชุม ครม.ตู่’ กับอีกมุมชิลๆที่เพิ่งจะรู้


เพิ่มเพื่อน    

 

            การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในมุมมองภายนอก ฟังดูแล้วคงมีแต่บรรยากาศเครียดๆ ที่ต้องนั่งถก นั่งตัดสินใจเรื่องสำคัญๆ ของประเทศ 

            ยิ่งหากนึกหน้า ‘บิ๊กตู่’ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม บุคคลที่หางคิ้วแทบจะชนกันตลอดเวลามากกว่ารอยยิ้มแล้ว บรรยากาศการประชุม ครม.ยุคนี้คงดูตึงเครียดเป็นไหนๆ 

            ไหนจะต้องร่วมประชุมกับรัฐมนตรีที่มาจากฝ่ายการเมือง ที่ขึ้นชื่อลือชาเรื่องความเขี้ยว-ความเคี่ยว มีมิติของการพึ่งพิงอาศัยเพิ่มเข้ามา ต่างจากยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ ‘บิ๊กตู่’ ทุบโต๊ะได้เลย มันคงเป็นบรรยากาศที่คุกรุ่นน่าดู 

            ขณะเดียวกัน เราอาจเคยเห็นนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กันอยู่ด้านนอกห้องประชุม ครม. แต่เมื่อต้องอยู่ในห้องประชุม ครม. คนเหล่านี้เป็นคนคนเดียวกับที่เราเคยเห็นหรือไม่ 

            หลายคนอยู่ข้างนอกอาจไม่เคยให้สัมภาษณ์ หรือถูกจัดอยู่ในประเภท ‘รัฐมนตรีโลกลืม’ แต่เมื่ออยู่ข้างในห้องอาจพูดเป็นฟืนเป็นไฟก็ได้  

            น้อยคนที่จะได้เห็น เพราะห้องประชุม ครม.ไม่ใช่สถานที่ที่ทุกคนจะเข้ามาได้ แต่มีการกำหนดไว้ชัดเจนว่าใครบ้างที่จะมีสิทธิ์เข้ามา 

            สำหรับผู้ที่เข้าร่วมการประชุม ครม.ได้ถูกกำหนดไว้ 3 กลุ่มคือ 1.คณะรัฐมนตรี อันประกอบด้วย นายกฯ รองนายกฯ และรัฐมนตรีทุกคน รวมถึงผู้ที่อยู่นอกสถานที่ แต่สามารถปรึกษาหารือกันโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ      

            และ 2.ข้าราชการการเมือง และข้าราชการระดับสูง ที่ได้รับอนุญาตจากนายกฯ โดยฝ่ายข้าราชการการเมือง ได้แก่ เลขาธิการนายกฯ โฆษกประจำสำนักนายกฯ รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ

            ฝ่ายข้าราชการระดับสูง ได้แก่ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ นอกจากนี้ยังมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายเลขานุการของสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีตามที่เลขาธิการคณะรัฐมนตรีกำหนด โดยจำกัดจำนวนเท่าที่จำเป็น

            การประชุม ครม.ในยุค ‘บิ๊กตู่’ โดยเฉพาะหลังย้ายห้องประชุม ครม.มาตึกสันติไมตรี ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าตึกบัญชาการ 1 สามารถเว้นระยะห่างตามมาตรการป้องกันโควิด-19 ได้นั้น ก่อนการประชุม พี่น้อง 3 ป. ได้แก่ ป.ประยุทธ์ ป.ป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ ป.ป๊อก พล.อ.อนุพงษ์  เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย มักจะนั่งจิบกาแฟ หารือเรื่องต่างๆ ในห้องเหลืองก่อนแทบทุกครั้ง ขณะที่บางสัปดาห์ หากมีวาระและประเด็นร้อนๆ เกี่ยวกับรัฐมนตรีคนใดก็จะเข้าไปแจมในห้องนั้นด้วย  

            ในส่วนการประชุมจะเริ่มต้นด้วยการที่ ‘บิ๊กตู่’ เล่าเรื่องต่างๆ ในช่วงสัปดาห์ให้ ครม.ฟัง โดยจะมีทีมงานคอยปรินต์ข้อมูลเอาไว้ให้ ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ทั่วไป สถานการณ์เศรษฐกิจ หรือเวลามีต่างชาติชื่นชมประเทศไทย 

            โดยในระยะหลังๆ กระทรวงต่างๆ จะนำวีดิทัศน์รวบรวมผลงานของตัวเองมาฉายในห้องประชุม ซึ่งเป็นอะไรที่ ‘บิ๊กตู่’ แฮปปี้มากกับการพรีเซนต์รูปแบบนี้ และมักจะกล่าวชื่นชม พร้อมกับสั่งให้มีการไปเผยแพร่ให้ประชาชนรับรู้รับทราบ  

            บรรยากาศการประชุม ครม.ยุคนี้ไม่ค่อยเครียดอย่างที่ทุกคนเข้าใจ ไม่ได้มีการถกเถียงกันดุเดือดเลือดพล่าน แต่หากมีอะไรที่ไม่เห็นด้วย ต่างฝ่ายต่างจะใช้ข้อมูลที่ตัวเองเตรียมมาอ่านให้ที่ประชุมฟัง

            อย่างไรก็ดี เรื่องการใช้น้ำเสียงของ ‘บิ๊กตู่’ ที่ดูห้วนๆ บางครั้งคนที่ไม่คุ้นชินฟังแล้วรู้สึกเหมือนโดนดุ จนเดี๋ยวนี้เวลาปรารภหรือพูดอะไรเสร็จสิ้น มักจะจบด้วยคำยอดฮิตว่า “ผมไม่ได้ตำหนิ-ไม่ได้ต่อว่าใครนะ” เพื่อป้องกันการเข้าใจผิด

            เคยมีครั้งหนึ่ง หลังจาก ‘มนัญญา ไทยเศรษฐ์’ รมช.เกษตรและสหกรณ์ รายงานเรื่องที่ตัวเองรับผิดชอบเสร็จ ‘บิ๊กตู่’ ได้แสดงความเห็นต่อเรื่องดังกล่าวด้วยน้ำเสียงที่ ‘มนัญญา’ ฟังแล้วรู้สึกเหมือนโดนดุเข้าอย่างจัง จนแกล้งหยอกนายกฯ ว่า “ทำไมต้องดุด้วยคะ” ทำให้ ‘บิ๊กตู่’ ต้องรีบชี้แจง “ฉันไม่ได้ดุ ฉันแซวเธอ ในห้องประชุมนี้จะมีผู้หญิงสักกี่คน เธอไม่ได้แก่ เธอห้ามน้อยใจ” 

            และหากบรรยากาศช่วงใดเครียด ‘เสี่ยหนู’ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข มักจะรับบทเป็นคนที่คอยผ่อนคลายบรรยากาศ โดยการเล่นมุก-ตบมุก หรือหากสถานการณ์เอื้อและประจวบเหมาะ ก็มักจะเล่นมุกกับ ‘บิ๊กตู่’ ตลอดจนคณะรัฐมนตรีคนอื่นๆ ประหนึ่งว่าเข้าได้กับทุกฝ่าย 

            นอกจากนี้ยังมีเรื่องเล่าว่า เวลา ครม.จะเห็นชอบมติใด ‘บิ๊กตู่’ จะถามความเห็นคนอื่นๆ ในห้องก่อนว่ามีใครจะเสนอแนะอะไรเพิ่มเติมหรือไม่ ซึ่ง ‘ขาประจำ’ ที่ยกมือแสดงความเห็น ทั้งในแง่เสนอแนะและทักท้วงทุกสัปดาห์คือ ‘เสี่ยไก่’ จุติ ไกรฤกษ์ รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จนครั้งหนึ่ง ‘สมศักดิ์ เทพสุทิน’ รมว.ยุติธรรม เคยทักสวนไปว่า “ไม่ใช่อะไรก็ค้านไปเสียหมด”

            ส่วนคนที่พูดแล้วรัฐมนตรีตั้งใจฟังมากที่สุด หนีไม่พ้น ‘วิษณุ เครืองาม’ รองนายกรัฐมนตรี ที่มักจะใช้เวลาอธิบายและเล่าเรื่องราวต่างๆ ที่เข้าใจ หรือมีความสลับซับซ้อนให้กับรัฐมนตรีฟัง แม้บางครั้งจะใช้เวลานานเกือบชั่วโมง แต่ทุกคนจะนั่งฟังกันอย่างเพลิดเพลิน ไม่มีเบื่อ

            ในช่วง ‘พักเบรก’ ประชุม ‘บิ๊กตู่’ มักจะเดินไปรอบๆ ห้องประชุม ครม.เพื่อทักทาย พูดคุยกับบรรดารัฐมนตรีต่างๆ แทบจะทุกคน ทั้งเรื่องงานและสารทุกข์สุกดิบ นอกจากนี้ยังเคยบอกกับ ครม.ว่า ในช่วงกลางวันหากใครมีอะไรสามารถมาพูดคุยได้ “เพราะผมคุยกับทุกคน”

                ‘บิ๊กตู่’ ยังได้ชื่อว่าเป็นคนที่ให้ ‘ความเป็นกันเอง’ กับรัฐมนตรี ทุกครั้งที่มีวันเกิดของรัฐมนตรีไม่ว่าคนใด จะมีการ์ดอวยพร ของขวัญ วางอยู่บนโต๊ะ และกล่าวอวยพรรัฐมนตรีคนนั้นๆ ซึ่งวันเดือนปีเกิดของทุกคนจะถูกสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเก็บบันทึกไว้ทั้งหมด

            นอกจากนี้ยังมีรัฐมนตรีหลายคนที่ ‘บิ๊กตู่’ เรียกด้วย ‘ชื่อเล่น’ แม้แต่ในที่ประชุมเอง เช่น เรียก พล.อ.ประวิตร ว่า ‘พี่ป้อม’ เรียก พล.อ.อนุพงษ์ ว่า ‘พี่ป๊อก’ เรียก นายอนุทิน ว่า ‘หนู’ เรียก นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ว่า ‘ท็อป’

            คนที่แสดงความเห็นในที่ประชุมบ่อยๆ หลักๆ จะเป็นรัฐมนตรีว่าการ ขณะที่รัฐมนตรีช่วยว่าการนานครั้งถึงจะพูด ยกเว้นเรื่องที่ตัวเองมีความรู้และเชี่ยวชาญ อาทิ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศึกษาธิการ ที่มักจะแสดงความเห็นทุกครั้งหากมีการพิจารณาเรื่องสิ่งแวดล้อม เพราะขับเคลื่อนและต่อสู้เรื่องนี้มานาน หรือคนที่ประหยัดคำพูดอย่าง ‘กำนันป้อ’ วีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รมช.พาณิชย์ ก็เคยแสดงความเห็นเรื่องแป้งมัน เนื่องจากเคยทำกิจการดังกล่าวมาก่อน 

            ส่วน ‘นฤมล ภิญโญสินวัฒน์’ รมช.แรงงาน และอดีตโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มีเสียงเล่าว่า นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรียังไม่เคยพูดในที่ประชุม ครม.เลย     

            การประชุมส่วนใหญ่มักจะเบรกแค่ครั้งเดียว แต่หากวันใดมีวาระเยอะจะมีการ ‘พักเบรก’ หลายครั้ง เพื่อให้ไปจิบกาแฟ รีแล็กซ์กันตามประสา  

            ด้าน ‘เมนูอาหารกลางวัน’ นั้นจะสลับกันไป บางวันเป็นแกงเขียวหวาน บางวันเป็นข้าวหมูแดง หมูกรอบ ราดหน้า ฯลฯ โดยจะมีการขึ้นป้ายว่าเป็นอาหารมาจากร้านใด แต่เมนูที่ต้องมีประจำทุกครั้งคือของหวานอย่าง ‘ไอศกรีมกะทิ’ เจ้าดัง ที่เป็นของโปรดของ ‘บิ๊กตู่’  

            ก่อนปิดประชุม ‘บิ๊กตู่’ จะปรารภปิดท้ายหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงาน เรื่องการเมือง เศรษฐกิจ และประเด็นที่สังคมกำลังให้ความสนใจ โดยจะพูดปนกันไปในคราเดียว    

            เหล่านี้เป็น ‘เรื่องเล่า’ บางส่วนจากห้องประชุม ‘ครม.บิ๊กตู่’ ที่ใครหลายคนยังไม่รู้มาก่อน.

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"