ก่อนโควิดมาเยือนก็มีคนถามผมเสมอว่า อาชีพในอนาคตในยุคความปั่นป่วนแห่งดิจิทัลจะเปลี่ยนไปอย่างไร
หลายคนถามว่าจะให้ลูกเรียนวิชาอะไรจึงจะรอดจาก Digital Disruption
อีกบางคนก็ถามว่า ถ้าชีวิตคนจะยืนยาวขึ้นเพราะสุขอนามัยดีขึ้น ตอนแก่เฒ่าจะยังหารายได้ด้วยอาชีพอะไร
ยิ่งเมื่อเจอกับพิษโควิดก็ยิ่งมีคำถามเรื่องงานการหนักขึ้นไปอีก
เพราะก่อนโควิดและหลังโควิด (ห่างกันแค่ไม่กี่สิบเดือน) หลายปัจจัยก็เปลี่ยนไปอย่างฉับพลัน
อาชีพอะไรที่อยู่รอด อาชีพอะไรที่ไม่รอด และอาชีพอะไรจะเป็นสิ่งใหม่ที่ต้องเรียนรู้และฝึกฝนตัวเอง
ผมเชื่อว่าคนไทยต้องเอาจริงเอาจังในการปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้อย่างยิ่ง เพราะ "ความอยู่รอด" จะขึ้นอยู่กับความพร้อมปรับตัวของแต่ละคนในแต่ละอาชีพอย่างเป็นกิจจะลักษณะเท่านั้น
วันก่อนผมเห็นข่าวว่าด้วย "10 ธุรกิจดาวรุ่ง-ดาวร่วง" ของปี 2564 ที่ประเมินและวิเคราะห์โดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แล้วเห็นว่าน่าสนใจ
เป็นหนึ่งในแนวทางที่ควรจะได้รับการพิจารณาสำหรับคนไทยและรัฐบาลเพื่อวางแนวทาง RUN (Reskill, Upskill และสร้าง New skills) ให้ประชาชนคนไทยในทุกภาคส่วนให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงให้จงได้
รายงานนี้บอกว่าธุรกิจ "ดาวรุ่ง" ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบเชิงบวกจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19
ขณะที่ธุรกิจ "ดาวร่วง" เป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบเชิงลบจากวิกฤติดังกล่าว
บทวิเคราะห์นี้บอกว่าเป็นการมองจากเกณฑ์การพิจารณา 5 ส่วน ได้แก่
ยอดขาย, ต้นทุน, กำไรสุทธิ, ผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงและภาวะการแข่งขัน และความต้องการ ความสอดคล้องกับกระแสนิยม
เขาสรุปว่าธุรกิจดาวรุ่งในปี 2564 ได้แก่
อันดับที่ 1 ธุรกิจบริการทางแพทย์และความงาม และธุรกิจอีคอมเมิร์ซ
อันดับที่ 2 ธุรกิจแพลตฟอร์ม, จัดทำคอนเทนต์, กลุ่มยูทูเบอร์และผู้รีวิวสินค้า
อันดับที่ 3 ธุรกิจประกันภัยและประกันชีวิต
อันดับที่ 4 ธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับเครื่องมือแพทย์ และธุรกิจเวชภัณฑ์ยา
อันดับที่ 5 ธุรกิจเกี่ยวกับเทคโนโลยีวิเคราะห์และจัดการข้อมูล
อันดับที่ 6 ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม, ธุรกิจอาหารเสริมและสุขภาพ
อันดับที่ 7 ธุรกิจ Street Food และ Food Truck
อันดับที่ 8 ธุรกิจขนส่งโลจิสติกส์และเดลิเวอรี, ธุรกิจด้านฟินเทคและธุรกิจพลังงาน
อันดับที่ 9 ธุรกิจตู้หยอดเหรียญ อาทิ ร้านสะดวกซัก, เครื่องเติมเงินและน้ำ
อันดับที่ 10 ธุรกิจที่ปรึกษาด้านกฎหมายบัญชีและออกแบบแพ็กเกจจิง บรรจุภัณฑ์
ส่วนธุรกิจดาวร่วงในปี 2564 ได้แก่
อันดับที่ 1 ธุรกิจเช่าหนังสือ
อันดับที่ 2 ธุรกิจผลิตโทรศัพท์พื้นฐาน เครื่องโทรสาร
อันดับที่ 3 ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์และวารสาร
อันดับที่ 4 ธุรกิจร้านอินเทอร์เน็ตและคนกลาง
อันดับที่ 5 ธุรกิจดั้งเดิมที่ไม่มีดีไซน์และใช้แรงงานมาก (เฟอร์นิเจอร์และของเล่น)
อันดับที่ 6 ธุรกิจผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ใช้แรงงานเยอะ และธุรกิจหัตถกรรม เฟอร์นิเจอร์ไม้
อันดับที่ 7 ธุรกิจซ่อมรองเท้า
อันดับที่ 8 ธุรกิจการค้าแบบเดิม และธุรกิจเครื่องปั้นดินเผา เซรามิก
อันดับที่ 9 ธุรกิจผลิตผักและผลไม้อบแห้ง
อันดับที่ 10 ธุรกิจร้านถ่ายรูป
ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย อธิบายว่า
ธุรกิจดาวรุ่งส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบเชิงบวกจากการปรับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เกิดจากการระบาดของโควิด-19 เช่นเดียวกับธุรกิจดาวร่วงได้รับผลกระทบเชิงลบจากการเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เกิดจากวิกฤติดังกล่าวเช่นกัน
สำหรับกลุ่มธุรกิจที่โดดเด่นในปี 2563 แต่ไม่ติด 10 อันดับในปี 2564 นี้ ได้แก่ ธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยว, ธุรกิจความเชื่อ, ธุรกิจก่อสร้างและโครงสร้างพื้นฐาน, ธุรกิจเกมและพัฒนาแอป, ธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศ ผู้ให้บริการโครงข่าย และกลุ่มธุรกิจเครื่องสำอาง ครีมบำรุงผิว
นี่เป็นเพียงการวิเคราะห์แนวโน้มเฉพาะหน้าเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงของโลกแห่งความผันผวนนั้นยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นได้อีกในอนาคตที่คาดไม่ถึงวันนี้
ดังนั้น สิ่งที่คนไทยทุกวัยทุกอาชีพและทุกภาคส่วนจะต้องทำก็คือ การเรียนรู้และฝึกฝนให้ตื่นตัว ปรับเปลี่ยน และที่สำคัญที่สุดคือ
เรียนรู้ตลอดชีวิต!
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |