สถิติเด็กหายยังน่าเป็นห่วง พบมากถึงปีละ 400 คน!


เพิ่มเพื่อน    

  
มูลนิธิกระจกเงา เผยสถิติเด็กหายยังน่าห่วงปีละกว่า 400 คน เกิดจากความรุนแรงในครอบครัวและสื่อออนไลน์  นิติเวช รพ.ตำรวจเร่งเก็บดีเอ็นเอเด็กกลุ่มเสี่ยงนับพันราย คาดอาจเป็นเด็กหายที่พ่อแม่ตามหาอยู่  แต่ติดขัดกฎหมายและเอ็นจีโอ หาว่าละเมิดสิทธิเด็ก

11 ม.ค.61 -  ที่สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ นายเอกลักษณ์ หลุ่มชมแข หัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา พ.ต.อ.วาที อัศวุตมางกูร หัวหน้ากลุ่มงานตรวจเลือดชีวเคมีและเขม่าดินปืน สถาบันนิติเวชวิทยา และพ.ต.อ. ชัยวัฒน์ บูรณะ ผกก.2 กองทะเบียนประวัติอาชญากร สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่วมกันแถลงสถิติตัวเด็กหาย 2560 ปี รวมถึงแนวทางบการป้องกันและการติดตามเด็กคืนสู่ครอบครัว

นายเอกลักษณ์  กล่าวว่าสถิติรับแจ้งเด็กหาย ปี 2560 ทั้งสิ้น 402 ราย สาเหตุหลักกว่า 84% คือเด็กที่สมัครใจหนีออกจากบ้าน อายุเฉลี่ยระหว่าง 13-15 ปี โดยเด็กหญิงหายออกจากบ้านมากกว่าเด็กชายเกือบ 3 เท่า ทั้งนี้ พบว่า เด็กที่หายออกจากบ้านมีปมปัญหาความรุนแรงในครอบครัวเป็นปัจจัยในการตัดสินใจหนีออกจากบ้าน  โดยเฉพาะครอบครัวที่ลงโทษเด็กด้วยความรุนแรง ด่าทอ และการห้ามเด็กทำสิ่งต่างๆ โดยไม่อธิบายเหตุผล  นอกจากนี้ ยังพบว่า เด็กที่หายออกจากบ้าน มีแนวโน้มถูกชักชวนไปอยู่กับแฟนหรือคนที่รู้จักกันในโลกออนไลน์ และมีความเสี่ยงในการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่มีการป้องกันหรือป้องกันไม่ถูกวิธี

นายเอกลักษณะ กล่าวต่อว่าสำหรับแนวโน้มสถานการณ์เด็กหาย พบว่า 3 ปีที่ผ่านมา มีสถิติรับแจ้งเด็กหายลดลงทุกปี แต่ก็ยังถือว่ามีความรุนแรงของปัญหา เนื่องจากแต่ละปี มีเด็กหายออกจากบ้านเกินกว่า 400 คนทุกปี ทั้งนี้ ตัวเลขเด็กหายของทั้งประเทศ ซึ่งไม่ได้แจ้งมาที่มูลนิธิกระจกเงา อาจมีตัวเลขมากกว่านี้อีกหลายเท่า  โดยกลุ่มวัยรุ่นอายุ 11-15 ปี ถือว่ามีความเสี่ยงในการตัดสินใจหนีออกจากบ้านได้ง่าย โดยเฉพาะเด็กที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในครอบครัว ทำให้เด็กไปยึดเหนี่ยวเพื่อนหรือคนที่เพิ่งรู้จักในโลกออนไลน์มากกว่าคนในครอบครัวทำให้ตัดสินใจหนีออกจากบ้านได้โดยง่าย แม้ว่าเด็กจะสมัครใจหนีออกจากบ้านเอง แต่โลกภายนอกบ้าน มีอันตรายหลายอย่างสำหรับเด็ก ทั้งการคุกคามหรือหาประโยชน์ทางเพศกับเด็ก หรือมีความเสี่ยงในการถูกล่อลวง

หัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา  กล่าวด้วยว่าวันเด็กแห่งชาติ ที่จะถึงนี้ ขอแนะนำผู้ปกครองเตรียมตัวก่อนพาบุตรออกไปเที่ยวงานวันเด็ก ดังนี้  1.ผู้ปกครองต้องทราบรูปพรรณของลูก ส่วนสูง น้ำหนัก สีเสื้อผ้า 2.ถ่ายรูปล่าสุดพร้อมชุดที่สวมใส่ของลูก ก่อนออกจากบ้าน 3.ทำป้ายชื่อ เบอร์ติดต่อครอบครัว ติดตัวเด็กไว้ 4.สอนลูกว่าหากพลัดหลง นัดเจอกันจุดไหน ขอความช่วยเหลือได้กับใคร 5.สอนลูกว่าหากตกอยู่ในอันตราย มีคนจูงมือไป ให้ตะโกนขอความช่วยเหลือ

ด้าน พ.ต.อ.วาที กล่าวว่า สถาบันนิติเวชวิทยา ได้ดำเนินโครงการศูนย์กลางข้อมูลสารพันธุกรรม(เด็ก)ในประเทศไทย มาตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปัจจุบัน มีการเก็บข้อมูลสารพันธุกรรมเด็กไว้ในฐานข้อมูลประมาณ1,292 ราย ในจำนวนนี้เป็นข้อมูลที่ได้มาจากหลายหน่วยงาน   กล่าวคือเราได้รับการประสานขอความร่วมมือจากมูลนิธิกระจกเงาและมูลนิธิต่างๆในประเทศไทยที่ดูแลเด็กไร้ที่พึ่ง โดยเฉพาะเป้าหมายหลักเราต้องการเก็บข้อมูลของเด็กที่ไม่ทราบประวัติพ่อแม่ที่อยู่ในความดูแลของสถานสงเคราะห์ทั่วประเทศอีกจำนวนหลายพันคนแต่การเข้าถึงเด็กเหล่านั้นยังติดขัดในข้อกฎหมายซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่งเพราะเด็กเหล่านั้นจะไม่มีโอกาสได้พิสูจน์ทราบไปตลอดจนกว่าเจ้าตัวจะอายุครบ18 ปีบริบูรณ์ว่าใครเป็นพ่อแม่

พ.ต.อ.วาที กล่าวต่อว่าปีที่ผ่านมาพยายามของบประมาณ เพื่อเข้าไปเก็บตัวอย่างในสถานสงเคราะห์ เด็กในสถานสงเคราะห์แต่ละบ้านประมาณ 5-10 เปอร์เซ็นต์จะไม่รู้ว่าพ่อแม่เป็นใคร ส่วนอีก 90 เปอร์เซ้นต์รู้ เด็กกลุ่มนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะเอาเข้ามาในระบบฐานข้อมูลดีเอ็นเอ  เพื่อเปรียบเทียบเวลาพ่อแม่เด็กมาแจ้งความ ถ้าเด็กพลัดหลงไม่ต้องรอ 24 ชม.ให้ไปแจ้งความได้เลย เมื่อแจ้งความแล้วสามารถนำไปแจ้งความมาที่นิติเวชเพื่อตรวจดีเอ็นเอฟรี แล้วเปรียบเทียบกับดีเอ็นเอที่เรามีในสารระบบ 

"เด็ก5-10เปอร์เซ็นต์นี้เกรงว่าจะเป็นเด็กกลุ่มที่เราตามหาอยู่ แต่มีปัญหาที่หน่วยงานของรัฐกลัวจะเป็นการละเมิดสิทธิ กลัวเอ็นจีโอจะมาร้องเรียนหาว่าเราไปเก็บตัวอย่างเด็กมาไว้ในฐานข้อมูล นี้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมา ไม่ทราบว่าขัดข้องกฎหมายใด ถึงไม่สามารถเข้าถึงเด็กกลุ่มนี้ได้"พ.ต.อ.วาที ระบุ

ขณะที่ พ.ต.อ.ชัยวัฒน์ กล่าวว่า ฝ่ายทะเบียนประวัติอาชญากร 2 กองทะเบียนประวัติอาชญากร สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ถือว่าเป็นหน่วยงานแรกในประเทศไทยที่ใช้กระบวนการสร้างภาพสเก็ตช์เด็กหายให้มีอายุเทียบเท่าปัจจุบัน (Age Progression) โดยใช้หลักสากลคือเด็กหายที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ที่ยังตามหาไม่พบจะทำการสเก็ตช์ภาพเพิ่มอายุ ทุก 2 ปี ส่วนเด็กหายที่มีอายุเกิน 18 ปี จะทำการ   สเก็ตช์ภาพทุก 5 ปี ซึ่งช่วงเวลาเหล่านั้น จะเป็นช่วงเวลาที่ลักษณะใบหน้าจะมีการเปลี่ยนแปลง

พ.ต.อ.ชัยวัฒน์  กล่าววต่อว่าขั้นตอนการทำงานได้มีการประสานงานกับมูลนิธิกระจกเงาเพื่อร่วมกันลงพื้นที่ ไปพบกับครอบครัวของเด็กหายเพื่อเก็บข้อมูลภาพถ่ายลักษณะใบหน้าของเด็กหายที่ถ่ายไว้ครั้งสุดท้าย พร้อมรวบรวมภาพถ่ายบุคคลในครอบครัว คือ พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ภาพถ่ายพี่น้องในช่วงเวลาที่มีอายุวัยเดียวกัน แล้วทำการวิเคราะห์อย่างละเอียด เพื่อให้ได้ภาพสเก็ตซ์ที่มีความใกล้เคียงกับเด็กหายในช่วงอายุที่เป็นปัจจุบันมากที่สุด ซึ่งกองทะเบียนประวัติอาชญากรได้ร่วมมือกับมูลนิธิฯทำภาพสเก็ตช์ดังกล่าว มาแล้วจำนวน 7 ภาพ ภาพสเก็ตซ์ รายล่าสุดในวันนี้ คือ ด.ญ.พัทวรรณ อินทร์สุข หรือน้องดา อายุขณะหาย 4 ปีหายตัวไปจากบ้านที่ อ.เมือง จ.สระแก้ว ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2557ปัจจุบันน้องดาอายุ 7 ขวบจึงได้มีการทำภาพจำลองเพราะใบหน้าของน้องดาจะเปลี่ยนไป

ผกก.2 กองทะเบียนประวัติอาชญากร สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ  กล่าวด้วยว่าว่าข้อแนะนำของตำรวจในการป้องกันเด็กหาย  1. ผู้ปกครองต้องให้ความรัก ความอบอุ่น ดูแลเด็ก อย่างใกล้ชิดไม่ให้เกิดปัญหาในครอบครัว 2. รับรู้ข้อมูลเด็กอย่างต่อเนื่อง 3. สร้างเครือข่ายผู้ปกครองโดยสามารถติดต่อสื่อสารระหว่างกันได้เร็วที่สุด 4. อย่าปล่อยให้เด็กอยู่ในสถานการณ์ที่เสี่ยงหรืออยู่ตามลำพัง 5. ให้คำแนะนำเด็กให้รู้ถึงวิธีการล่อล่วงของคนร้ายฝึกให้เด็กได้มีทักษะการสังเกตจดจำเบื้องต้น.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"