แรงงานต่างด้าวจำนวนมากใน จ.สมุทรสาคร ปัญหาสำคัญในการพัฒนาเมือง
จังหวัดสมุทรสาคร กำลังเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์หลังพบการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่สมุทรสาครจากเคสตลาดกลางกุ้งมหาชัย แรงงานต่างด้าวและกลุ่มคนที่ไปซื้อกุ้ง ปลาที่ตลาด ติดเชื้อพุ่งทะลุ 1,000 ราย ลุกลามสู่การเป็นต้นตอของการระบาดรอบใหม่ของโควิด-19
ตอนนี้นอกจากการค้นหาผู้ติดเชื้อโดยพุ่งเป้าไปที่แรงงานต่างด้าวทั้งหมด ยังมีเสียงเรียกร้องให้ภาคส่วนต่างๆ หาทางแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวจำนวนมากในสมุทรสาครที่ยากแก่การจัดการและควบคุม ซึ่งเป็นหนึ่งในประเด็นปัญหาที่สำคัญของการพัฒนาเมืองสมุทรสาคร รองจากปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในอากาศ ปัญหาน้ำเสีย ทางออกต้องเหมาะสมกับสถานการณ์วิกฤติเศรษฐกิจ และไม่ซ้ำเติมปัญหาให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและธุรกิจรายเล็ก
จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งมี 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองสมุทรสาคร อำเภอกระทุ่มแบน และอำเภอบ้านแพ้ว ถือเป็นเมืองเศรษฐกิจที่มีศักยภาพทั้งด้านอุตสาหกรรม การประมง และเกษตรกรรม พร้อมทั้งมีประวัติศาสตร์ยาวนานตั้งแต่สมัยอยุธยา
ภาพมุมสูงเมืองสมุทรสาคร สะท้อนเมืองประมง
บริเวณปากแม่น้ำที่อุดมสมบูรณ์ซึ่งไหลลงสู่อ่าวไทยนี้ มีเรือสำเภาจากจีนและมลายูเข้ามาเทียบท่าค้าขาย จนเกิดเป็นชุมชนขนาดใหญ่ มีชาวจีนมาอาศัยจำนวนมาก เรียกว่า บ้านท่าจีน ต่อมาตั้งขึ้นเป็นเมืองสาครในสมัยอยุธยา แล้วเจริญขึ้นเป็นจังหวัดสมุทรสาครในปัจจุบัน มีแม่น้ำท่าจีนไหลผ่าน คำขวัญประจำจังหวัดให้ภาพชัดๆ “เมืองประมง ดงโรงงาน ลานเกษตร เขตประวัติศาสตร์”
ความเคลื่อนไหวในการพัฒนาเมืองสมุทรสาครอย่างยั่งยืน ล่าสุดสะท้อนภาพเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิจัย และหน่วยงานภาคีเครือข่ายการพัฒนาเมือง ซึ่งหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ จัดให้เมืองต่างๆ เสนอผลงาน “กลไกการพัฒนาเมืองและพัฒนาศูนย์กลางทางเศรษฐกิจในพื้นที่” ณ สวนเสียงไผ่ ทาวน์อินทาวน์ กรุงเทพฯ เมื่อวันก่อน
ภาพท่าเรือมหาชัย-ท่าฉลอม จากเพจ Color of Samut Sakhon
เป้าหมายสูงสุด “สมุทรสาคร” สู่เมืองน่าอยู่ น่าเที่ยว น่าลงทุน ละทิ้งโจทย์ใหญ่เรื่องแรงงานต่างด้าวไม่ได้
ดร.สุวันชัย แสงสุขเอี่ยม ประธานบริษัท สมุทรสาครพัฒนาเมือง (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด และนักวิจัยโครงการการสำรวจและสังเคราะห์ข้อมูลด้านประวัติศาสตร์และการท่องเที่ยวในการพัฒนาเมืองสมุทรสาคร ได้รับทุนวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) สะท้อนภาพแรงงานต่างด้าวในพื้นที่ให้ฟังว่า สมุทรสาครมีแรงงานต่างด้าวที่เข้าสู่ระบบ ลงทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมายประมาณ 2-3 แสนคน แต่ตัวเลขที่แท้จริงมีมากกว่านั้น ทั้งครอบครัวแรงงานเมียนมาที่เข้ามา แรงงานต่างด้าวลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายอีกจำนวนมาก
“สมุทรสาครเป็นเมืองที่ทำการประมง มีอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากประมง อุตสาหกรรมอาหาร ธุรกิจเหล่านี้ต้องใช้แรงงานเยอะ ไทยขาดแคลนแรงงาน งานเหล่านี้คนไทยไม่ทำ ส่วนใหญ่เป็นแรงงานพม่า แรงงานต่างด้าวส่วนมากอาศัยอยู่ที่อำเภอเมืองสมุทรสาคร มหาชัย ซึ่งเป็นเมืองเศรษฐกิจของจังหวัด และมีอีกกลุ่มอยู่ท่าฉลอม ชุมชนประมงที่สำคัญของจังหวัด แรงงานต่างด้าวจำนวนมากยากแก่การจัดการและควบคุม” ดร.สุวันชัยย้ำปัญหาสำคัญ
ดร.สุวันชัย แสงสุขเอี่ยม นักวิจัยพัฒนาเมืองสมุทรสาคร
นักวิจัยระบุว่า โควิดระบาดรอบแรกผู้ติดเชื้อในสมุทรสาครน้อยมาก อีกทั้งจังหวัดใช้กลุ่มอาสาแรงงานต่างด้าวช่วยกันดูแล เฝ้าระวังโควิด แต่การแพร่ระบาดรอบสองผลจากแรงงานเมียนมาทะลักเข้ามา และสภาพความเป็นอยู่ของแรงงานต่างด้าวนั้นแออัด มีหอพักแรงงาน อยู่ร่วมกัน 4-8 คนในห้องขนาดเล็ก และเวียนกันพักอาศัย เพราะทำงานเป็นกะ ใช้พื้นที่อาศัยร่วมกัน ภาชนะร่วมกัน ทำให้การแพร่ระบาดโรคโควิดเกิดขึ้นได้ง่าย บวกกับผู้ติดเชื้อเป็นวัยทำงาน พวกเขาไม่แสดงอาการ ฉะนั้นเชื้อไวรัสแพร่ไปได้รวดเร็ว
“วิกฤติโควิดระลอกนี้ถือเป็นโอกาสในการพัฒนาเมืองสมุทรสาคร ปรับมาตรฐานความเป็นอยู่ของแรงงานต่างด้าว การจัดการแรงงานต่างด้าวต้องปรับทัศนคติใหม่ คนเหล่านี้มาช่วยธุรกิจของประเทศ ทำให้เศรษฐกิจเดินไปได้ เราขาดเขาไม่ได้ แต่บางคนคิดว่าเขาเป็นภาระและสร้างปัญหา” ดร.สุวันชัยแสดงทัศนะ
นักวิจัยที่คลุกคลีกับงานพัฒนาเมือง แนะให้รัฐบาลและจังหวัดดูแลแรงงานต่างด้าวในประเทศไทย จะช่วยลดความเสี่ยงต่อสังคมในด้านต่างๆ ทั้งปัญหาด้านสาธารณสุข ยาเสพติด อาชญากรรม และปัญหาคุณภาพชีวิต โดยพัฒนาที่อยู่อาศัยที่จังหวัดสมุทรสาคร จัดแบ่งเป็นโซน ทำให้รัฐเข้าถึงและควบคุมได้ง่ายขึ้น อีกทั้งส่งเสริมจิตอาสาแรงงานต่างด้าวในชุมชนให้มากขึ้น รวมถึงปรับยุทธศาสตร์การอนุญาตทำงานของคนต่างด้าว สัญญาจ้างมีระยะเวลา 2 ปี ซึ่งนายจ้างส่วนหนึ่งเสนอให้ขยายเวลาจ้างงานให้เพิ่มขึ้นเพื่อวางแผนดูแลได้
ส่วนในระยะยาว แน่นอนว่าต้องลดการพึ่งพาแรงงานต่างด้าว ต้องยกระดับเศรษฐกิจให้มีการใช้แรงงานคนน้อยลง ใช้ทักษะ นวัตกรรม และเทคโนโลยีมากขึ้น ขณะเดียวกันประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนจะพัฒนาขึ้น แรงงานต่างด้าวจะกลับไปทำงานที่บ้านเกิดของตนเอง
ติดตั้งเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศ PM 2.5 ในเมืองสมุทรสาคร เฝ้าระวังมลพิษอากาศ
อีกประเด็นปัญหาท้าทายในการพัฒนาสมุทรสาคร คือ มลพิษฝุ่นจิ๋วภัยร้ายต่อสุขภาพ สร้างความเสียหาย สิ่งที่กำลังทำเวลานี้มีโครงการเครื่องมือวัดคุณภาพอากาศเพื่อการเฝ้าระวังและวิเคราะห์ปัญหาฝุ่น PM 2.5 เครื่องมือนี้พัฒนาขึ้นโดยบริษัท สมุทรสาครพัฒนาเมือง (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด ขณะนี้ติดตั้งแล้ว 6 จุด ในอำเภอเมืองสมุทรสาคร และบ้านท่าฉลอม เห็นค่าฝุ่นแบบเรียลไทม์ นอกจากนี้มีแผนประสาน อปท. นำเครื่องไปใช้วัดฝุ่นพิษในพื้นที่ ช่วยแจ้งเตือน คนได้เตรียมพร้อม ป้องกัน ใส่หน้ากากกันฝุ่นได้ทันท่วงที อีกทั้งกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนจัดการลดปริมาณฝุ่นหากเกินค่ามาตรฐาน สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน Airsense ดูค่าฝุ่นผ่านมือถือ
สืบเนื่องจาก PM 2.5 ยังปลูกต้นไม้ตามถนนลดฝุ่นเป็นอีกแนวทางคู่กัน นำร่องที่ถนนเอกชัย และขยายปลูกต้นไม้ตามถนนสายอื่นๆ ชนิดพันธุ์ที่ปลูกจะดักฝุ่นได้ มีต้นไม้สูงใหญ่ดักจับฝุ่นในอากาศ และต้นไม้พุ่มดักฝุ่นตามพื้นผิวถนน ต้นไม้เหล่านี้มีการศึกษาใบดักฝุ่นได้ดี ถือเป็นโมเดลที่จังหวัดอื่นๆ นำไปใช้พัฒนาเมืองได้ ลดฝุ่น เพิ่มความสวยงามของภูมิทัศน์ด้วย
“ทุกปีช่วงหน้าหนาว จ.สมุทรสาคร จะเผชิญปัญหาฝุ่นพิษ มีพื้นที่สีแดง PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานกระทบสุขภาพประชาชน ริมถนนพระราม 2 อ.เมืองสมุทรสาคร ค่าฝุ่นพุ่ง แต่ทั้งจังหวัดมีเครื่องวัดคุณภาพอากาศเพียง 2 เครื่อง เครื่องแรกอยู่ที่ศาลากลางจังหวัด อีกเครื่องติดที่กระทุ่มแบน มันไม่สามารถเป็นตัวแทนจังหวัดได้ ไม่รู้พื้นที่ไหนค่าฝุ่นสูง แต่ปัญหาที่ทำแล้วเกิดยาก อปท.กลัวว่าถ้าตัวเลขสีแดง ชาวบ้านจะต่อว่า ต้องปรับทัศนคติ เป็นหน้าที่ อปท.แจ้งเตือน และให้ข้อมูลที่แท้จริงเพื่อป้องกันตัวเอง” ดร.สุวันชัยกล่าว
ทุกปัญหาของเมืองมีทางแก้ ดร.สุวันชัยทิ้งท้ายว่า เราอยากให้สมุทรสาครเป็นเมืองน่าอยู่ น่าเที่ยว และน่าลงทุน การพัฒนาไม่มีที่สิ้นสุด แต่สมุทรสาครจะพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ต้องเกิดจากชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม เห็นคุณค่าและความสำคัญ ลุกขึ้นมาช่วยกันพัฒนา มีตัวอย่างที่ตนทำการพัฒนาเมืองผ่านการท่องเที่ยวโดยชุมชนที่ตำบลท่าฉลอม เริ่มปี 60 นำมาสู่การจัดตั้งบ้านท่าฉลอม ศูนย์การท่องเที่ยวและกิจกรรมชุมชน เป็นพื้นที่กลางให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม จัดฝึกอบรมให้ความรู้ เพิ่มศักยภาพชุมชน พัฒนาพื้นที่ เพิ่มจุดถ่ายภาพสตรีทอาร์ต เพิ่มพื้นที่สีเขียว เกิดผลสำเร็จจุดประกายให้เทศบาล, อบจ.สมุทรสาคร, ชุมชน ร่วมพัฒนาชุมชน เพราะการพัฒนาเมือง ไม่ใช่พัฒนาแต่โครงสร้างพื้นฐานหรือสิ่งปลูกสร้าง สุดท้ายก็ทิ้งร้างไม่ได้ใช้ประโยชน์ มีบทเรียนให้เห็นตามเมืองต่างๆ มากมาย