กรรมการสิทธิฯ กังวลโควิดส่งผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนต่อประชาชนในหลายมิติ การกักตัวแรงงานต่างด้าวในพื้นที่แออัดอาจทำให้ยากต่อการเข้าถึงการรักษาพยาบาล จี้รัฐหามาตรการเพื่อลดความเสี่ยง ให้กำลังใจ เคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิมนุษยชนของคนทุกคน
เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม นางประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ทำหน้าที่แทนประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) มีความห่วงกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ ซึ่งได้ส่งผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนต่อประชาชนในหลายมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนในพื้นเสี่ยงเช่นจังหวัดสมุทรสาคร ที่มีคนไทยและแรงงานต่างด้าวได้รับผลกระทบโดยตรง ทั้งในมิติสุขภาพ เศรษฐกิจ การจ้างงาน และการถูกเลือกปฏิบัติหรือถูกตีตราทางสังคม
"ขอขอบคุณรัฐบาลที่ได้เร่งสั่งการและยกระดับการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคอย่างรวดเร็ว เช่น การเร่งตรวจหาผู้ติดเชื้อในวงกว้าง การแยกกักผู้ติดเชื้อด้วยการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามตามขีดความสามารถในพื้นที่การระบาด และเปิดโอกาสให้แรงงานต่างด้าวที่เข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายได้ลงทะเบียนเพื่อรับการตรวจหาเชื้อและรักษาพยาบาล โดยยุติการจับกุมชั่วคราวเพื่อป้องกันการเคลื่อนย้าย"
อย่างไรก็ดี กสม.ยังมีความกังวลต่อการเข้าถึงการรักษาพยาบาลและมาตรการป้องกันด้านสาธารณสุขอย่างทั่วถึงของประชาชนทั้งคนไทยและแรงงานต่างด้าวในพื้นที่การระบาดสูง โดยเฉพาะในกรณีที่มีการใช้มาตรการควบคุมการเข้า-ออกและการเคลื่อนย้ายที่ทำให้แรงงานต่างด้าวในพื้นที่ดังกล่าวอาจต้องถูกกักตัวอยู่ในสภาพแออัด และยังไม่สามารถแยกบุคคลที่อาจติดเชื้อและไม่ติดเชื้อออกจากกันได้
นางประกายรัตน์แนะนำว่า รัฐควรหามาตรการเพื่อลดความเสี่ยงดังกล่าว รวมทั้งจัดให้มีช่องทางการสื่อสารเพื่อประชาสัมพันธ์ความรู้เรื่องการป้องกันโรคและมาตรการที่รัฐดำเนินการให้เป็นไปอย่างทั่วถึง และในรูปแบบที่สามารถเข้าใจได้ พร้อมสนับสนุนปัจจัยที่เพียงพอต่อการดำรงชีพแก่ประชาชนทุกคนในเขตพื้นที่การควบคุมสูงสุดโดยไม่มีความแตกต่าง
ผู้ทำหน้าที่แทนประธาน กสม.กล่าวว่า การประกันสิทธิในสุขภาพ (right to health) และการให้ประชาชนสามารถดำรงชีวิตได้ตามมาตรฐานขั้นต่ำ เป็นสิ่งสำคัญที่รัฐต้องให้ความคุ้มครองแก่คนทุกคนในยามนี้ ไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือแรงงานต่างด้าว ทั้งในแง่การมีอยู่หรือจัดหาให้มี (availability) การเข้าถึง (accessibility) การปรับให้เข้ากับสถานการณ์ (adaptability) และการเป็นที่ยอมรับ (acceptability) เช่น ให้การดูแลรักษาพยาบาลที่เหมาะสมและสอดคล้องกับวิถีวัฒนธรรม เป็นต้น นอกจากนี้ ขอเรียกร้องให้สังคมเข้าใจ ให้ความช่วยเหลือกัน ไม่ตีตรา เหมารวม และเลือกปฏิบัติต่อผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรค
"ไม่ว่าจะเป็นผู้ติดเชื้อทั้งคนไทยและคนต่างด้าว หรือแม้แต่บุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องตรวจรักษาผู้ป่วยในพื้นที่ และขอให้ร่วมกันส่งกำลังใจให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน และผู้ป่วยหรือผู้ติดเชื้อ ให้สามารถก้าวผ่านวิกฤติระลอกนี้ไปได้ด้วยกัน ด้วยความเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิมนุษยชนของคนทุกคน” นางประกายรัตน์กล่าว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |