ซูเปอร์โพลเผยผลสำรวจ ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยสหประชาชาติจุ้นไทย เชื่อแก้ไขกันเองได้ "นิพิฏฐ์" ชำแหละ กกต.-ป.ป.ช. มีปัญหา ไม่เป็นมืออาชีพ
เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) นำเสนอผลสำรวจภาคสนามเรื่อง สหประชาชาติ อย่าจุ้น ยุ่งไทย กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ โดยดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) จำนวน 1,328 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 21-25 ธันวาคม ที่ผ่านมา
เมื่อถามถึงความมั่นใจในการแก้ปัญหาความขัดแย้งของคนในชาติของไทยแก้ไขกันเองได้ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 92.2 มั่นใจว่าแก้ไขกันเองได้ ในขณะที่ร้อยละ 7.8 ไม่มั่นใจ นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 92.4 เห็นด้วยว่าสหประชาชาติควรปล่อยให้ประเทศไทยจัดการความขัดแย้งภายในประเทศเองได้ เช่น เรื่อง การใช้กฎหมายมาตรา 112 สหประชาชาติไม่ควรมายุ่ง ควรไปดูแลประเทศอื่นที่ขัดแย้งรุนแรงกว่าจะดีกว่า ในขณะที่ร้อยละ 7.6 ไม่เห็นด้วย
ที่น่าพิจารณาคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 94.4 เห็นด้วยว่า ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐอเมริกาควรวางตัวเป็นกลางในเรื่องความขัดแย้งภายในของประเทศไทย ถ้าจะยุ่งให้เข้ามาช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจจะดีกว่า ในขณะที่ร้อยละ 5.6 ไม่เห็นด้วย
ที่น่าสนใจคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 93.0 เห็นด้วยว่าประเทศจีนแสดงบทบาทที่ดี ไม่เข้าแทรกแซงความขัดแย้งภายในประเทศไทย ในขณะที่ร้อยละ 7.0 ไม่เห็นด้วย อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 94.3 ระบุมีความจำเป็นรักษาความสัมพันธ์ มหามิตรประเทศ กับสหรัฐอเมริกาและจีน ในขณะที่ร้อยละ 5.7 ระบุไม่มีความจำเป็น
นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 95.1 เห็นด้วยว่าสหประชาชาติ สหรัฐอเมริกา และจีน ช่วยจัดหาวัคซีนโควิดและช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจให้คนไทยจะดีกว่ามายุ่งเรื่องความขัดแย้งภายในของประเทศไทย ในขณะที่ร้อยละ 4.9 ไม่เห็นด้วย
ผอ.ซูเปอร์โพลกล่าวว่า คนไทยทุกคนลองคิดดูว่าทำไมต่างชาติจึงเข้ามาแสดงบทบาทต่างๆ บนเวทีในประเทศไทย ที่มันต้องมีอะไรดึงดูดให้ต่างชาติเหล่านั้นเข้ามาปฏิบัติการต่างๆ ในประเทศไทย ประเทศไทยมีผลประโยชน์ชาติที่คนไทยทุกคนต้องช่วยกันรักษาไว้ในหลายด้าน และคนไทยต้องรู้จักประเทศไทยของตนเองว่ามีทรัพยากรธรรมชาติที่ดีที่สุดอยู่ในพิกัดไหน มีตำแหน่งภูมิศาสตร์ตำแหน่งไหนที่ดีที่สุดในด้านยุทธศาสตร์ความมั่นคง ไม่ใช่ปล่อยให้ต่างชาติรู้ เหมือนกับว่าพวกเขามีภาพเอกซเรย์ประเทศไทยไป แต่คนไทยไม่รู้ตนเอง สิ่งสำคัญที่คนไทยต้องช่วยกันรักษาปกป้องไว้จึงเป็นเรื่องผลประโยชน์ชาติที่ต้องทำให้เป็นเนื้อเดียวกันกับเรื่องสังคม วัฒนธรรม เพื่อป้องกันไม่ให้เสาหลักของชาติล้มและประเทศชาติราษฎรล่มสลาย
"ในสถานการณ์วิกฤติโควิดรอบใหม่นี้ คนไทยทุกคนต้องเรียกร้องให้ต่างชาติมายุ่งในเรื่องที่คนไทยต้องการคือ วัคซีนและแก้เศรษฐกิจ ไม่ใช่มาจุ้นเรื่องความขัดแย้งของคนในชาติที่คนไทยแก้กันเองได้" ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดลกล่าว
วันเดียวกันนี้ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊กเรื่อง “ความเป็นมืออาชีพขององค์กรอิสระ กกต. และ ป.ป.ช.” ว่าผมเกี่ยวข้องกับองค์กรอิสระ กล่าวคือ ป.ป.ช.และ กกต.ในระดับหนึ่ง เพราะเคยเป็นทั้งผู้ร้องและเคยเป็นทั้งพยานในองค์กรอิสระเหล่านี้ เห็นความเป็นมืออาชีพของเจ้าพนักงานสืบสวนหรือไต่สวนของทั้ง กกต.และ ป.ป.ช. เห็นว่า ความเป็นมืออาชีพของพนักงานสืบสวนและไต่สวนของ กกต. สู้พนักงานไต่สวนของ ป.ป.ช.ไม่ได้ ในการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ผมเห็นว่าผู้ร่างรัฐธรรมนูญต้องทบทวนเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยมีความเห็นว่า
1.บุคลากรในองค์กรอิสระเหล่านี้ ต้องเข้าใจว่าหัวใจขององค์กรอิสระคืออะไร เขามีองค์กรอิสระไว้เพื่อคุ้มครองเสียงข้างน้อย มีไว้คุ้มครองบุคคลที่เป็นเสรีนิยมประชาธิปไตย มิใช่คุ้มครองเสียงข้างมากในระบอบประชาธิปไตย อันนี้เป็นปรัชญาในทางการเมืองที่เขาบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ หากบุคลากรใน กกต.หรือ ป.ป.ช. หรือองค์กรอิสระใดไม่เข้าใจเรื่องนี้ แทนที่ท่านจะเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับระบอบประชาธิปไตย ท่านกลับทำลายประชาธิปไตยให้ย่อยยับด้วยมือของท่านเอง ผมผ่านการเป็นกรรมาธิการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผ่านการเป็นกรรมาธิการพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญมาตลอดชีวิตของการเป็นนักการเมือง ก็พอจะซึมซับแก่นในเรื่องนี้มาบ้าง
2.การชั่งน้ำหนักคำพยานของเจ้าพนักงานในองค์กรอิสระเหล่านี้น่าจะมีปัญหา ยกตัวอย่างเรื่องของ กกต.บางคดี แม้พยานรับว่าเป็นคนจ่ายเงินซื้อเสียงจริงๆ แต่หลังจากนั้น (หลายวัน บางคนก็เป็นเดือน) พยานจะมาขอกลับคำให้การเดิมว่าไม่ได้ซื้อเสียง แต่เงินที่ให้ในการเลือกตั้ง เป็นเงินให้เด็กไปซื้อน้ำมันพืชบ้าง เป็นค่าหน่วยกิตให้นักศึกษาบ้าง เป็นค่าเลี้ยงไก่บ้าง เจ้าพนักงานสืบสวนของ กกต.กลับไปเชื่อคำให้การที่กลับคำในภายหลังเสียทั้งสิ้น (ทั้งที่ให้การหลังจากครั้งแรกเป็นเวลานาน) ก็น่าสงสัยวิธีชั่งน้ำหนักคำพยานอยู่ไม่ใช่น้อย การชั่งน้ำหนักคำพยานเหล่านี้ควรศึกษาดูแนวคำพิพากษาศาลฎีกาว่าศาลมีวิธีชั่งน้ำหนักคำพยานอย่างไร เพื่อเอาเป็นตัวอย่างในการทำงาน
ประการสำคัญ ในการชั่งคำพยานขององค์กรอิสระนั้น กฎหมายบัญญัติเพียง "น่าเชื่อว่า" เท่านั้น มิได้บัญญัติว่าต้องรับฟังอย่าง "ปราศจากข้อสงสัย" องค์กรอิสระ จึงต้องเข้าใจเรื่องเหล่านี้อย่างถี่ถ้วน หากข้อเท็จจริง "น่าเชื่อว่า" ท่านก็ต้องส่งสำนวนไปที่ศาล มิใช่ยุติเรื่องเสียเอง
3.ทุกเรื่องที่สืบสวนไต่สวนองค์กรอิสระทั้งหลายไม่ระบุว่า องค์กรไหน อย่า "ตั้งธง" ไว้ล่วงหน้า และที่สำคัญต้องอย่าให้มีการ "วิ่งเต้น" เพราะนั่นคือการทำลายประชาธิปไตยอย่างร้ายแรงที่สุด
และ 4.ผมว่าบุคลากรขององค์กรอิสระทุกองค์กรต้องเข้มแข็ง ทำงานอย่างมืออาชีพ อย่าทระนงตัวว่าเป็นเจ้าพนักงานในองค์กรอิสระ ต้องมีศักดิ์ศรีของข้าราชการ เดินไปดื่มน้ำชากาแฟ แล้วบอกชาวบ้านว่าเราเป็นข้าราชการของ กกต., ป.ป.ช. หรือผู้ตรวจการแผ่นดินดูว่าชาวบ้านจะลากเก้าอี้ให้ข้าราชการหน่วยงานไหนนั่ง หรือหน่วยงานไหนที่ชาวบ้านเขาปฏิเสธไม่ยอมนั่งด้วย
"ผมนั่งอ่านสำนวนสืบสวนไต่สวนของ กกต.มา 2-3 วันแล้ว ผมต้องเบรกการอ่านทุก 3 ชั่วโมงเพื่อออกไปสูดอากาศบริสุทธิ์ บอกตรงๆ ว่าในความเห็นของนักกฎหมายด้วยกัน ผมหงุดหงิดมากกับความเป็น "มืออาชีพ" ขององค์กรอิสระนี้ ฝากผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการแก้ไขรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญช่วยดูเรื่องนี้อย่างจริงจังด้วย ถ้าสงสัยมาถามผม เพื่อช่วยกันปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |