หลังจากเป็นฝ่ายพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 1 อาณาจักรออตโตมันสิ้นสลาย ตุรกีประกาศเป็นสาธารณรัฐเมื่อ ค.ศ.1923 รัฐบาลตุรกียุคใหม่พยายามเป็นมิตรกับชาติตะวันตก ในช่วงสงครามเย็น Truman Doctrine ชักนำเกิดสัมพันธ์ตุรกี-สหรัฐ (Turco-U.S.) ตุรกีเข้าร่วมเป็นสมาชิกนาโตเมื่อปี 1952 ความสัมพันธ์แนบแน่นขึ้นอีกเมื่อสหรัฐติดตั้งขีปนาวุธพิสัยกลางติดอาวุธนิวเคลียร์ Jupiter จำนวน 15 ชุดในตุรกีภายใต้การควบคุมและสั่งยิงจากสหรัฐโดยตรง
ภายใต้การเป็นสมาชิกนาโต ตุรกีให้ความร่วมมือและมีความขัดแย้ง ในที่นี้ขอยกตัวอย่างบางประเด็นล่าสุด ดังนี้
ในแง่ความร่วมมือ :
ประการแรก ตั้งฐานทัพสหรัฐ อาวุธนิวเคลียร์ ปิดล้อมรัสเซีย
ความร่วมมืออันเป็นรากฐานสำคัญคือให้สหรัฐ (นาโต) ตั้งฐานทัพของตน มีฐานทัพอากาศขนาดใหญ่และเป็นฐานปล่อยอาวุธนิวเคลียร์ของสหรัฐ
ประการที่ 2 นโยบายล้มอัสซาด
การล้มรัฐบาลอัสซาดแห่งซีเรียเป็นอีกวาระสำคัญของฝ่ายสหรัฐ พันธมิตรนาโตบางประเทศที่ดำเนินต่อเนื่องตั้งแต่สมัยรัฐบาลโอบามา
ประการที่ 3 ต่อต้านผู้ก่อการร้าย
เมื่อเกิดผู้ก่อการร้ายไอซิส (IS) รัฐบาลตุรกีต่อต้านไอซิสอย่างกระตือรือร้น เป็นประเทศแรกๆ ที่ส่งกองทัพเข้ารบทางภาคพื้นดินในซีเรียกับตอนเหนือของอิรัก
ไม่ว่าจะด้วยผลประโยชน์ประเทศหรือนาโตปฏิเสธไม่ได้ว่าตุรกีมีบทบาทไม่น้อยในตะวันออกกลาง
ประเด็นความขัดแย้ง :
ประการแรก กรณีผู้ก่อการร้าย เคิร์ดซีเรีย
ในสมรภูมิต่อต้านผู้ก่อการร้ายไอซิสมีประเด็นที่ตุรกีคิดต่างจากรัฐบาลสหรัฐ เช่น การโจมตีกลุ่มเคิร์ดซีเรียที่ตุรกีเห็นว่าเคิร์ดซีเรียสัมพันธ์กับกลุ่มก่อการร้ายเคิร์ดในตุรกี ในขณะที่รัฐบาลสหรัฐสนับสนุนกลุ่มเคิร์ดซีเรียเพราะเป็นกำลังหลักของตนในการต่อต้านไอซิส
หลายครั้งเกิดเหตุตุรกีเล่นงานเคิร์ดซีเรียในขณะที่สหรัฐให้ความช่วยเหลือทั้งอาวุธและอื่นๆ ถ้ามองจากมุมเป็นสมาชิกนาโตด้วยกันถือเป็นเรื่องตลกโดยแท้
ประการที่ 2 กบฏกรกฎาคม 2016
กลางเดือนกรกฎาคม 2016 เกิดกบฏ นายพล 40% จาก 358 คน ถูกจับกุมไต่สวน ประธานาธิบดีแอร์โดอานโทษว่าเป็นฝีมือของกลุ่มที่ทางการตุรกีให้ชื่อว่า Fethullah Gulen Terrorist Organization (FETO) นำโดย Fethullah Gulen ผู้นำศาสนาที่ตอนนี้ลี้ภัยอยู่สหรัฐ แอร์โดอานอ้างเสมอมาว่าเป็นพวกที่หวังล้มล้างรัฐบาลตน
ข้อมูลบางชิ้นจากแหล่งข่าวตุรกีชี้ว่าสหรัฐมีส่วนสนับสนุนกลุ่มกบฏ ประธานาธิบดีตุรกีกล่าวโทษว่าพลเอก Joseph Votel ผู้บัญชาการ US Central Command อยู่ฝ่ายเดียวกับกบฏ แต่สหรัฐปฏิเสธยกเหตุผลว่าสหรัฐกับตุรกีร่วมมือกันหลายด้าน
กรณี S-400 :
ไม่ว่ารัฐบาลสหรัฐสนับสนุนกบฏล้มล้างรัฐบาลแอร์โดอานหรือไม่ ผลที่ตามมาคือสัมพันธ์ทวิภาคีเสื่อมลงอย่างรวดเร็ว (จากเดิมที่มีเรื่องขัดแย้งกันอยู่แล้ว) ตุรกีหันไปผูกมิตรกับรัสเซียอย่างเปิดเผยและเป็นที่มาของข้อตกลงซื้อระบบขีปนาวุธพื้นสู่อากาศ S-400
ถ้ามองจากมุมการเป็นพันธมิตรนาโตถือเป็นตลกร้ายอีกแล้ว
มีนาคม 2017 Fikri Işık รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมตุรกีเผยว่าระบบขีปนาวุธพื้นสู่อากาศ S-400 ที่กำลังขอซื้อจากรัสเซียจะไม่ผนวกรวมเป็นส่วนหนึ่งของระบบป้องกันของนาโต
S-400 เป็นระบบขีปนาวุธพื้นสู่อากาศรุ่นล่าสุดของรัสเซีย ตุรกีเป็นประเทศที่ 2 ที่รัสเซียยอมขายให้ต่อจากจีนผู้เป็นลูกค้ารายแรก อินเดียเป็นรายที่ 3 แสดงถึงความสัมพันธ์อันแนบแน่น ประเทศที่รัฐบาลปูตินให้ความสำคัญ นักวิเคราะห์หลายคนสรุปตรงกันว่าเป็นผลจากความสัมพันธ์เสื่อมทรุดของตุรกีกับนาโต
ไม่นานหลังตุรกียืนยันซื้อ S-400 ทรัมป์คว่ำบาตรตุรกีเพิ่มเติม ขึ้นภาษีเหล็กกับอลูมิเนียม ค่าเงินลีราตุรกีอ่อนค่าอย่างหนัก (ช่วงมกราคมจนถึงสิงหาคม 2018 ค่าเงินตุรกีลดลง 40% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐด้วยหลายปัจจัย) รัฐบาลทรัมป์อ้างเหตุจากการจับกุมนักการศาสนาอเมริกันรายหนึ่ง ด้านผู้นำตุรกีไม่อ่อนข้อ กล่าวว่า “เรามีพระเจ้าของเรา” การคว่ำบาตรสะเทือนเศรษฐกิจที่อ่อนแออยู่แล้วให้ตกต่ำกว่าเดิม คนตุรกีได้รับผลอย่างรุนแรง รัฐบาลแอร์โดอานเห็นว่าสหรัฐทำสงครามเศรษฐกิจ จึงตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าสหรัฐหลายตัว บางรายการขึ้นกว่า 100 เปอร์เซ็นต์ อาทิ เหล้า ยาสูบ รถยนต์
ประธานาธิบดีตุรกีกล่าวว่า ในฐานะสมาชิกนาโต เราหวังการสนับสนุนจากพันธมิตรนาโตด้วยกัน เหมือนกับที่เราได้ต่อสู้ผู้ก่อการร้ายด้วยกัน ไม่ใช่มาคว่ำบาตรพวกเดียวกัน
แต่เมื่อต่างฝ่ายต่างยืนยันจุดยืนตน รัฐบาลทรัมป์ประกาศคว่ำบาตรเพิ่มเติมด้วย Countering America's Adversaries Through Sanctions Act (CAATSA) ไมค์ ปอมเปโอ (Mike Pompeo) รมต.ต่างประเทศอธิบายว่า สหรัฐพูดชัดและพูดหลายครั้งแล้วว่าการซื้อ S-400 เป็นภัยต่อความมั่นคงด้านเทคโนโลยีการทหารของสหรัฐ ต่อเจ้าหน้าที่อเมริกัน และเป็นการให้เงินอุดหนุนอุตสาหกรรมทหารรัสเซีย รัสเซียเข้าไปมีส่วนในอาวุธของกองทัพตุรกี อุตสาหกรรมอาวุธตุรกี
ด้านประธานาธิบดีแอร์โดอารกล่าวว่า ที่สหรัฐคว่ำบาตรก็เพื่อกีดกันไม่ให้ตุรกีพัฒนาระบบป้องกันประเทศ ทำให้ตุรกีต้องพึ่งพาสหรัฐด้านความมั่นคงต่อไป
เป็นความจริงที่ว่า ในยุคสงครามเย็นทั้งค่ายสหรัฐกับโซเวียตรัสเซียต่างเร่งพัฒนาอาวุธ แจกจ่ายแก่พรรคพวก เป็นประโยชน์ของตุรกีในขณะนั้นที่กองทัพพัฒนาอย่างรวดเร็วด้วยอาวุธ MADE IN USA และเป็นความจริงที่ว่า การซื้อใช้อาวุธของประเทศใดเท่ากับต้อง “พึ่งพา” ความมั่นคงทางทหารจากประเทศนั้น เปรียบเทียบง่ายๆ ว่าอาวุธเหมือนรถยนต์ที่ต้องใช้ชิ้นส่วนเฉพาะจากบริษัทผู้ผลิตเท่านั้น ชิ้นส่วนเหล่านี้จำต้องเปลี่ยนซ่อมบำรุงเป็นประจำ หากไม่มีแล้วอาวุธไม่ว่าจะกี่ร้อยกี่พันล้านจะกลายเป็นแค่เศษเหล็ก
ในฐานะรัฐอธิปไตยควรยืนบนขาตนเอง ไม่พึ่งจมูกคนอื่นหายใจ การซื้อ S-400 อาจตีความว่าคือก้าวเล็กๆ อีกก้าวที่ตุรกีสร้างความมั่นคงแก่ตนมากขึ้น รัฐบาลสหรัฐเข้าใจตรรกะเหล่านี้อย่างดี แต่ยืนกรานว่าต้องใช้อาวุธของนาโตซึ่งหมายถึงอาวุธของสหรัฐเป็นหลักนั่นเอง
อะไรคือความหมายของคำว่า “พันธมิตรนาโต”
พันธมิตรนาโต ความสัมพันธ์อันซับซ้อน :
ตุรกีเป็นอีกตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นความสัมพันธ์อันซับซ้อนของการเป็นพันธมิตรนาโต บทความนี้มุ่งพูดในกรอบแคบเน้นการเป็นพันธมิตรด้านความมั่นคงระหว่างตุรกีกับสหรัฐ เมื่อวิเคราะห์ให้ถ่องแท้จะเกิดคำถามว่าอย่างไรเรียกว่าพันธมิตร คือการร่วมหัวจมท้ายรักษาอธิปไตยของกันและกันจริงไหม การอยู่ร่วมกันเป็นอย่างไร บนความเท่าเทียมหรือการที่ประเทศหนึ่งเหนือกว่าชาติสมาชิกอื่นๆ ภายใต้ระบอบที่มหาอำนาจตั้งขึ้น
ในกรณี S-400 ถ้ามองว่าวัตถุประสงค์ของนาโตคือประโยชน์ร่วมของสมาชิก ตุรกีกำลังขัดขวางส่วนรวม แต่ถ้ามองว่าหลายอย่างที่นาโตทำเอื้อประโยชน์ให้สหรัฐเป็นหลัก เช่นนี้ เท่ากับรัฐบาลแอร์โดอานพยายามรักษาผลประโยชน์ประเทศตน.
--------------------
รูป : ระบบขีปนาวุธพื้นสู่อากาศ S-400
เครดิต : https://tass.com/world/1113113
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |