โควิด-19 ระบาดรอบสอง คุมพื้นที่-หยุดติดเชื้อในปท. "ไทยชนะ"อีกครั้งเกิดขึ้นแน่


เพิ่มเพื่อน    

 

                สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบใหม่ ยังคงน่ากังวลใจสำหรับคนไทยทุกคน แม้หลายคนยังมั่นใจว่าด้วยศักยภาพ-ความพร้อมของ บุคลากรทางการแพทย์-สาธารณสุขของประเทศไทย จะสามารถรับมือได้ ผนวกกับรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็มีประสบการณ์การรับมือกับโควิดฯ จนประสบความสำเร็จมาแล้วตอนโควิดระบาดรอบแรกเมื่อช่วงมีนาคม-เมษายน

                อีกทั้งที่ผ่านมา ด้วยข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับเรื่องโควิดฯ ทั้งการป้องกันตัวเอง-ข้อเท็จจริงทางการแพทย์ ที่ประชาชนมีความรู้มากขึ้นว่า โควิดฯ ถึงต่อให้ติดเชื้อ แต่หากดูแลตัวเองได้ดี ร่างกายปกติ ไม่ได้มีโรคประจำตัวร้ายแรง ต่อให้ไม่ต้องไปพบแพทย์ ไม่ต้องกินยา ร่างกายก็มีภูมิคุ้มกันในตัวเองอยู่แล้ว หากดูแลตัวเองดีๆ ก็สามารถหายได้เป็นปกติ เว้นแต่รับเชื้อโควิดฯ ไปโดยตรงและเข้าไปมาก ร่างกายไม่แข็งแรง ภูมิคุ้มกันต่ำ ก็อาจเสี่ยงอันตราย กรณีแบบนี้ก็ต้องไปรักษาตัว

                จากองค์ประกอบข้างต้นจะเห็นได้ว่า โควิดระบาดรอบนี้ ประชาชนแม้มีความกังวลเกรงจะติดเชื้อ แต่ก็ไม่ได้อยู่ในสภาพสังคม panic แตกตื่นเหมือนตอนโควิดรอบแรก พูดง่ายๆ ประชาชนเชื่อว่า เอาอยู่ แต่ก็ไม่ประมาท เพราะยิ่งตัวเลขการติดเชื้อในประเทศยังพบตัวเลขระดับสองหลักในแต่ละวันต่อเนื่อง มันก็ทำให้คนก็ย่อมวิตกกังวลพอสมควร

                โดยข้อมูลอย่างเป็นทางการล่าสุด เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) แถลงสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย

                นพ.ทวีศิลป์ให้ข้อมูลไว้ว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น 110 ราย ในสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ 16 ราย ผู้ติดเชื้อในประเทศ 64 ราย จากการคัดกรองเชิงรุกในแรงงานต่างด้าว 30 ราย ทำให้มียอดผู้ป่วยยืนยันสะสมรวม 6,020 ราย ทั้งนี้ ยอดการติดเชื้อในประเทศขณะนี้ 4,061 ราย ติดเชื้อในแรงงานต่างด้าวจากการคัดกรองเชิงรุกรวม 1,338 ราย

                "โดยวันนี้พบว่ามีผู้ป่วยเชื่อมโยงกับกรณีจังหวัดสมุทรสาคร 60 ราย อยู่ระหว่างการสอบสวนโรค 4 ราย และขณะนี้มีจังหวัดที่ผู้ติดเชื้อกระจายไปแล้ว 33 จังหวัด โดยมีอยู่ 2 จังหวัดอยู่ระหว่างการรอรายงานข้อมูล คือ จ.นครนายก และระยอง

                ส่วนผู้ป่วยหายเพิ่มขึ้นวันนี้ 15 ราย รวมหายป่วยสะสม 4,152 ราย มีผู้ป่วยรักษาในโรงพยาบาล 1,808 ราย ยอดผู้เสียชีวิตสะสมคงที่ 60 ราย สำหรับสถานการณ์ทั่วโลก ยอดผู้ติดเชื้อรวม 80,207,155 ราย อาการรุนแรง 105,785 ราย รักษาหายแล้ว 56,471,394 ราย เสียชีวิต 1,757,640 ราย" ข้อมูลจาก ศบค. เมื่อ 26 ธ.ค.อ้างอิงไว้  

                ขณะเดียวกัน ศบค.และรัฐบาลก็ขยับทำงานแบบ opperation plan มากขึ้น เห็นได้จากมีการให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาระดับพื้นที่ในรายจังหวัดมากขึ้น โดยมีการออกคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 39/63 เรื่องการจัดโครงสร้างของศูนย์ ศบค.เพิ่มเติม ฉบับที่ 5 โดยเพิ่มศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 กระทรวงมหาดไทย ที่มีปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นหัวหน้าศูนย์ เข้ามาอีก 1 ศูนย์ จากเดิมที่มีอยู่แล้ว 6 ศูนย์ รวมเป็น 7 ศูนย์ พร้อมกันนี้ยังมีการประกาศข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉบับที่ 15 มีข้อกำหนดทั้งสิ้น 8 ข้อ อาทิ การห้ามใช้หรือเข้าไปในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการติดโรค โดยห้ามประชาชนใช้ เข้าไป หรืออยู่ในพื้นที่ สถานที่ หรือยานพาหนะที่มีความเสี่ยงต่อการติดโรค ตามที่ผู้ว่าฯ กทม. ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อประกาศ การปิดสถานที่เสี่ยงต่อการติดโรค การห้ามชุมนุม มาตรการเดินทางและเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าว การปฏิบัติและบังคับใช้มาตรการป้องกันโรค เป็นต้น 

                ขณะที่ฝ่ายกระทรวงสาธารณสุข วันเดียวกันนี้คือ 26 ธ.ค. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงว่า ถึงเชื้อโควิด-19 จะแพร่กระจายได้เร็วขึ้นจากการกลายพันธุ์ แต่ความรุนแรงของโรคลดน้อยลง ทำให้มีผู้ที่ยังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 1,808 ราย ซึ่งเกือบทั้งหมดมีอาการไม่รุนแรง

                อธิบดีกรมควบคุมโรคให้ข้อมูลอีกว่า สำหรับ จ.สมุทรสาคร ตั้งแต่วันที่ 17 ธ.ค. พบผู้ป่วยติดเชื้อจำนวนมากในตลาดกลางค้ากุ้ง จากนั้นเกิดการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกในพื้นที่รอบๆ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีแรงงานต่างด้าวอยู่จำนวนมาก พบว่า บริเวณไทยยูเนี่ยน ตรวจ 2,060 ราย พบผู้ติดเชื้อ 134 ราย ตลาดทะเลไทยตรวจ 936 ราย พบผู้ติดเชื้อ 137 ราย

            "แม้ว่าอัตราการติดเชื้อจะน้อยลงเมื่อเทียบกับตลาดกลางค้ากุ้ง แต่ถือว่ายัง อยู่ในอัตราสูงอยู่ ดังนั้นกระทรวง​สาธารณสุข​จำเป็นต้องค้นหาเชิงรุกต่อไป อย่างไรก็ตาม ภาพรวมขณะนี้มีการตรวจเชื้อที่ จ.สมุทรสาคร 10,411 คน พบผู้ติดเชื้อ1,337 คน" อธิบดีกรมควบคุมโรคย้ำ

                ผลกระทบจากโควิดฯ รอบนี้ จนถึงขณะนี้พบว่า ได้เริ่มส่งผลกระทบทั้งทางด้านสังคม-เศรษฐกิจในวงกว้าง เพียงแต่อาจไม่รุนแรงเหมือนตอนรอบแรก เพราะรัฐบาลยังตัดสินใจไม่ Lockdown ประเทศเหมือนรอบแรก ที่ตอนนั้นมีการประกาศเคอร์ฟิว-ปิดห้างสรรพสินค้า-ปิดสถานบันเทิง สถานบริการ-ห้ามขายของในร้านอาหาร เป็นต้น ผลกระทบรอบนี้จึงยังอาจจำกัดอยู่แค่ในบางวงเท่านั้น เช่น การงดจัดงาน-อีเวนต์หลายอย่างในช่วงเทศกาลนับถอยหลังขึ้นปีใหม่ในบางจังหวัด โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร ที่เดิมบางห้างสรรพสินค้าในกรุงเทพมหานครจะมีการจัดงานเคาต์ดาวน์ปีใหม่อย่างยิ่งใหญ่ แต่ตอนนี้หลายแห่งก็ต้องงดไป หรือบางแห่งแม้จะยังไม่งด เช่น ที่ Icon Siam แต่การจัดงานก็ลดสเกลลงไประดับหนึ่ง ขณะเดียวกันประชาชนก็อาจไม่มั่นใจในความปลอดภัย เกรงจะติดเชื้อ ก็อาจทำให้มีคนไปร่วมงานปีใหม่ที่จัดตามสถานที่ต่างๆ ไม่มาก ทำให้ความคักคักในการจัดงานลดน้อยลง

                ยิ่งปัจจุบันนี้ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติในประเทศไทย ก็ยิ่งทำให้เศรษฐกิจการท่องเที่ยวยิ่งทรุดหนักลงไปอีก เช่นเดียวกับการจับจ่ายใช้สอยในช่วงเทศกาลปีใหม่ ประชาชนก็อาจงดการออกไปทำกิจกรรมปีใหม่นอกบ้าน

สุดท้ายก็มีผลทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจน้อยลงกว่าที่คาดการณ์ไว้ ไม่นับรวมกับผลกระทบด้านอื่นๆ เช่น ความตื่นกลัวของประชาชนต่อการบริโภคอาหารทะเลโดยเฉพาะกุ้ง ที่ส่วนใหญ่จะมาจากแหล่งจัดจำหน่ายใหญ่ที่สุดของประเทศคือ ตลาดกลางกุ้งที่มหาชัย สมุทรสาคร เพราะเกรงจะติดโควิด แม้จะมีการให้ข้อมูลทางการแพทย์แล้วว่า หากมีการประกอบอาหารจนสุก ก็ให้มั่นใจในความปลอดภัยได้ แต่ก็พบว่าประชาชนหลายส่วนก็ยังไม่มั่นใจในการบริโภคและซื้อสินค้า จนทำให้ประชาชนที่อยู่ในห่วงโซ่เกี่ยวกับอาหารทะเล-ค้ากุ้ง ตั้งแต่พ่อค้าแม่ค้าขายส่ง-ร้านค้าขายปลีก-ร้านอาหาร เช่น บุฟเฟต์ซีฟู้ด ได้รับผลกระทบไปตามๆ กัน

                ซึ่งทั้งหมดรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ต้องแก้ไขสะสางปัญหาแต่ละส่วนให้เร็วที่สุด เพื่อไม่ให้ปัญหาโควิดรอบนี้อยู่ในประเทศไทยยาวนานเกินไป เพราะหากปล่อยไว้แบบนี้เรื่อยๆ ผลกระทบต่างๆ จะตามมารุนแรงแน่นอน โดยเฉพาะผลกระทบทางเศรษฐกิจ ซึ่งวิธีการที่ดีที่สุดก็คือ

             "ต้องควบคุมพื้นที่-ควบคุมการแพร่เชื้อโควิดฯ ในประเทศไทย-ลดจำนวนผู้ติดเชื้อภายในประเทศให้ได้โดยเร็วที่สุด"            

                เพราะหาก ศบค.-กระทรวงสาธารณสุข-กระทรวงมหาดไทย-รัฐบาล สามารถควบคุมพื้นที่ได้ สอบสวนโรคได้รวดเร็วมีประสิทธิภาพ จนสถานการณ์เริ่มกลับเข้าสู่ปกติ ตัวเลขการติดเชื้อภายในประเทศลดลง อย่างน้อยทำให้เหลือเลขตัวเดียวในแต่ละวัน ขณะเดียวกันคนป่วยโควิดก็รักษาหายมากขึ้นเรื่อยๆ

ถ้าทำได้แบบนี้ สุดท้ายประสิทธิผลของการควบคุมโรคโควิดรอบนี้ ที่ทำจริง-ทำเร็ว ก็จะทำให้ภาคส่วนอื่นๆ เช่น เศรษฐกิจ-การท่องเที่ยว กลับมาฟื้นตัวได้เองโดยอัตโนมัติอยู่แล้ว

                อย่างทัศนะของนักวิชาการ-บุคลากรทางการแพทย์ที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ก็มองสถานการณ์โควิดฯ ในประเทศไทยเวลานี้ว่า มาตรการที่ต้องทำตอนนี้จะเหมือนกับการควบคุมโควิดรอบแรก คือทำให้ผู้ป่วยติดเชื้อให้มันลดลงได้ในเวลาอันรวดเร็ว  เพราะหากผู้ป่วยติดเชื้อมีจำนวนมาก คนไข้เหล่านี้ก็จะทะลักเข้าไปในโรงพยาบาล ซึ่งหากทะลักเข้าไปมากจนเกินศักยภาพของโรงพยาบาล นั่นหมายถึงอัตราการเสียชีวิตที่จะค่อยๆ เพิ่มขึ้น โดยตอนนี้โรงพยาบาลไม่ว่าจะเป็นของกระทรวงสาธารณสุขหรือหน่วยงานอื่น การเตรียมพร้อมรอบนี้เราดีกว่ารอบแรก เพราะมีการเตรียมอุปกรณ์ต่างๆ เอาไว้แล้ว จากที่ตอนระบาดรอบแรก เราขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์เยอะมาก แต่รอบนี้มีการเตรียมการพอสมควรอยู่ แต่หากว่าเกิดมีคนไข้เยอะมากๆ การรองรับผู้ป่วยก็อาจไม่พอ

                "สถานการณ์เวลานี้ ผมยังไม่อยากเรียกว่าโคม่า แต่ถ้าถามผม ก็วิกฤติ ความเห็นผมเป็นแบบนี้คือ หลายคนบอกว่าผมชอบมองโลกในแง่ร้าย แต่หากมองโลกในแง่ดีเกินไปแล้วเกิดร้ายขึ้นมาจริง เราจะทำอะไรไม่ทัน

                ตอนนี้คือช่วงสำคัญ เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ เพราะช่วงนี้ทั่วโลกระบาดกันเยอะ อยู่ในช่วงขาขึ้น ระบาดกันมาก โดยของไทยเจอแล้ว ที่มาจากแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาจากเมียนมา จนตอนนี้เราเข้าสู่ระยะของการแพร่ระบาดในประเทศ ซึ่งตอนนี้หากเราไม่ช่วยกันหยุดมัน เราอาจกลายเป็นเหมือนเมียนมา ถ้าแบบนี้เราจะเดือดร้อน ตอนนี้จึงอยู่ในช่วงที่ประเทศไทยเราต้องติดตามกำกับดูแลอย่างเข้มงวด อย่าชะล่าใจ หากพบมีผู้ติดเชื้อจังหวัดไหน จังหวัดนั้นต้องรีบ take action แล้วรัฐบาลก็ต้องมีมาตรการออกมา โดยหากสถานการณ์แย่ลง การใช้มาตรการที่เข้มงวดก็ต้องรีบนำออกมาใช้ จะชะลอไม่ได้ หากช้าอาจจะยิ่งแย่ลง" คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุ

                สุดท้ายแล้วจากสถานการณ์โควิดฯ รอบ 2 ในไทยเวลานี้ โดยภาพรวมยังต้องถือว่า การเตรียมพร้อมรับมือของภาครัฐและองค์ความรู้เกี่ยวกับโรคโควิดและการป้องกันตัวเองของประชาชนมีมากกว่ารอบแรกอย่างเห็นได้ชัด จึงทำให้ประชาชนยังไม่ถึงกับตื่นตระหนักมากเหมือนรอบแรก โดยหากประชาชนทุกภาคส่วนทั้งประเทศร่วมมือร่วมใจกันต่อสู้กับโควิดฯ รอบนี้อย่างแข็งขันและรับมืออย่างมีสติ

                ปรากฏการณ์ "ไทยชนะ" ที่เคยทำให้คนไทยทั้งประเทศยิ้มได้ และสามารถกลับมาใช้ชีวิตปกติหลังผ่านโควิดรอบแรกได้อย่างรวดเร็ว จนได้รับการกล่าวขานถึงไปทั่วโลก ถ้าทุกคนร่วมใจกันอีกครั้งในรอบนี้ คนไทยทุกคนก็จะได้เปล่งเสียงยินดีกับไทยชนะรอบสองในเวลาอันรวดเร็วแน่นอน.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"