ถ้าหยุดโควิดไม่ได้ตอนนี้ไทยอาจกลายเป็นแบบเมียนมา
สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 กลับมาอยู่ในสภาวะน่าวิตกอีกครั้ง หลังเวลานี้เริ่มพบการระบาดที่เป็นลักษณะการติดเชื้อภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง จากผลพวงการติดเชื้อโควิดจากแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายชาวเมียนมาที่สมุทรสาคร จนพบคนติดเชื้อกระจายไปยังหลายจังหวัด รวมถึงกรุงเทพมหานคร
ความเห็นต่อสถานการณ์ไวรัสโควิดระบาดรอบนี้ มีความเห็นจากนักวิชาการ-บุคลากรทางการแพทย์ที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ให้ความเห็นเรื่องนี้ โดยเริ่มต้นปูพื้นสถานการณ์ปัจจุบันเชื่อมโยงไปถึงเหตุการณ์ระบาดใหญ่ไข้หวัดสเปนที่เคยทำให้ประชากรโลกเสียชีวิตจำนวนมากเมื่อนานมาแล้ว โดยเริ่มต้นกล่าวว่า เรื่องสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย ก่อนหน้านี้ได้เคยออกมาให้ความเห็นเมื่อช่วงตอนโควิด-19 ระบาดในไทยช่วงมีนาคม-เมษายน ว่าโอกาสที่จะเกิดการแพร่เชื้อของโควิดรอบ 2 ในประเทศไทยมีโอกาสเกิดขึ้นแน่ โดยไม่ใช่การคาดเดา แต่เป็นเรื่องของพฤติกรรมของคน ซึ่งเป็นเรื่องที่เราเรียนรู้มาตั้งแต่ 100 ปีที่แล้ว
หากเราได้ไปศึกษาประวัติศาสตร์ตอนที่เกิดไข้หวัดใหญ่สเปน ที่ประชากรโลกตายไปร่วม 50 กว่าล้านคน สิ่งที่เกิดเวลานั้นคือ พอมีไข้หวัดใหญ่สเปนเข้ามา ก็เกิดการแพร่เชื้อ-ติดเชื้อในประเทศต่างๆ คล้ายกับสถานการณ์ในช่วงเวลาปัจจุบัน ซึ่งเวลานั้นแต่ละประเทศ ก็พยายามควบคุมและป้องกัน เช่น การใส่หน้ากาก การมีระยะห่างของคนในสังคม โดยที่เวลานั้นเทคโนโลยียังไม่มีประสิทธิภาพมากเหมือนปัจจุบัน จนต่อมาตัวเลขการแพร่เชื้อ-ติดเชื้อก็เริ่มลดลง และสิ่งที่ตามมาก็คือเมื่อมีการควบคุมการแพร่เชื้อ มีการขอให้ประชาชนอยู่ในบ้านพัก แต่เศรษฐกิจก็ย่ำแย่ โดยสมัยนั้นเมื่ออัตราการติดเชื้อของประชากรเริ่มลดลง ประชาชนก็เริ่มกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ มีการทำกิจกรรมร่วมกัน จนตัวเลขการติดเชื้อก็เริ่มกลับมาใหม่อีกรอบ หลายประเทศก็เจอเหตุการณ์ลักษณะดังกล่าว โดยคิดว่าเมื่อประชาชนกลับมาได้รับเชื้อ แต่อีกสักระยะตัวเลขการติดเชื้อต่างๆ ก็จะลดลงไปเอง เพราะมองว่าตอนรอบแรก ตัวเลขต่างๆ ก็ยังลดลงได้เลย คนเลยเชื่อว่าทำแบบเดิมตัวเลขก็จะลดลงมาเอง
ยกตัวอย่าง ก็มาถึงตอนนี้แทนที่จะรีบตัดสินใจตอนนี้ว่าจะทำอย่างไร ก็บอกกันว่ารออีกสักระยะ ซึ่งการบอกว่ารออีกสักระยะ แต่ไวรัสมันไม่เหมือนน้ำท่วม เพราะน้ำท่วมยังรอ 1-2 วันให้น้ำลดลงได้ แต่ไวรัสจะมารออีก 1-2 วันไม่ได้ เพราะไวรัสจะกระจายตัวออกไป สุดท้ายก็เกิดเหตุการณ์คือพอเริ่มจะตัดสินใจทำอะไรก็สายเกินไป การระบาดมันระบาดเร็วเกินไปเกินกว่าที่จะควบคุมได้ เมื่อเป็นแบบนั้นก็ทำให้มีคนเจ็บป่วยมาก คนป่วยเยอะเกินศักยภาพของโรงพยาบาล-สถานพยาบาลที่จะดูแล ก็ปรากฏว่าคนไข้ไปโรงพยาบาลก็เข้าไปไม่ได้ เพราะมันทะลัก เนื่องจากการติดเชื้อมันเยอะ สุดท้ายคนก็ทยอยเสียชีวิต สิ่งนี้คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อ 100 ปีที่แล้ว
...ตอนที่ประเทศไทยเริ่มพบการแพร่ระบาดของโควิดรอบแรก ผมก็เชื่อว่ายังไงการแพร่ระบาดของรอบ 2 ยังไงก็มา เพราะนี่คือพฤติกรรมมนุษย์ เลยคาดการณ์ไว้ว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้น ซึ่งมันก็เป็นจริง
ตอนโควิดระบาดรอบแรกคงจำกันได้ พอตัวเลขผู้ติดเชื้อเริ่มลดลงมาเรื่อยๆ จนเราเริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ที่เริ่มเมื่อ 3 พ.ค.63 จากเดิมที่การพบตัวเลขผู้ติดเชื้อในประเทศ เราพบสูงสุดที่วันละ 188 รายต่อวัน ซึ่งพบเมื่อ 19 มี.ค.63 โดยตอนนั้นเมื่อเราควบคุมการแพร่เชื้อ จนตัวเลขผู้ติดเชื้อเริ่มลดลง เราคุมกันได้
ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวต่อไปว่า ที่เกิดขึ้นก็คือเริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ประชาชนก็เริ่มออกจากบ้านมาทำกิจกรรม แต่ก็ยังมีการคุมกันอยู่บ้าง ค่อยๆ คุม ซึ่งช่วงแรกๆ ประชาชนส่วนใหญ่ก็ยังใส่หน้ากากอนามัยอยู่-ล้างมือ-รักษาระยะห่าง แล้วก็มีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ เป็นระยะ จนหลายคนเริ่มจะชะล่าใจ เพราะคิดว่าไม่มีอะไร แต่ระหว่างนั้น สิ่งที่คู่ขนานกับไทยไปเรื่อยๆ ก็คือ ขณะที่ประเทศเรากำลังดีขึ้นเรื่อยๆ แต่เมื่อมองไปรอบๆ ประเทศเรา พบว่ามันไม่ใช่ หลายประเทศพบการติดเชื้อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มีการแพร่เชื้อรอบ 2 เกิดขึ้น ขณะที่เรากำลังสบายๆ แต่ประเทศรอบๆ ตัวเลขเริ่มเป็นสีแดง
ตอนนั้นผมก็เริ่มออกมาเตือนเป็นระยะว่า ไทยอย่าชะล่าใจ ไม่มีประเทศไหนในโลกจะปลอดภัย ถ้าประเทศอื่นยังมีการติดเชื้อมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะสุดท้ายจะทะลักเข้ามาได้ เพราะเป็นไปไม่ได้ที่เราจะปิดรูโหว่ต่างๆ ได้ทั้งหมด สำหรับประเทศไทย เป็นเรื่องดีที่คนไทยเราร่วมมือกัน จนผ่านมา 6 ระยะของการผ่อนคลาย จนเกือบจะเป็นปกติอยู่แล้ว แต่ช่วงตอนนั้นจะพบว่า การแพร่เชื้อกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในประเทศต่างๆ
...ซึ่งผมก็ได้ออกมาเตือนอีกครั้งหนึ่ง เพราะตอนที่ไข้หวัดสเปนระบาดรุนแรงมาก จะเกิดขึ้นช่วงฤดูใบไม้ร่วง-หน้าหนาวของทางตะวันตก ที่อากาศจะเย็นลง ที่ทำให้การติดเชื้อมากขึ้น จากปัจจัยต่างๆ เช่น เมื่ออากาศเย็น ไวรัสจะอยู่นอกตัวเราได้นานขึ้น และเมื่ออากาศเย็นลง คนก็จะอยู่แต่ในอาคาร มีการปิดหน้าต่าง เพราะอากาศหนาว ทำให้อยู่ในพื้นที่ปิด ซึ่งพื้นที่ปิดคือพื้นที่เสี่ยง และเมื่ออยู่ในอาคาร พฤติกรรมโดยทั่วไป คนก็จะไม่ใส่หน้ากาก ทำให้เมื่อมีใครสักคนติดเชื้อโควิดแล้วเข้ามาในอาคาร โอกาสที่จะมีการแพร่กระจายก็จะเยอะขึ้น
ที่ผ่านมาผม รวมถึงนักวิชาการจากประเทศต่างๆ เช่น ยุโรป-สหรัฐอเมริกา ก็มีการออกมาเตือนหลายครั้ง ให้ระมัดระวังการแพร่เชื้อ อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ทำให้คนก็กลับมาใช้ชีวิตสุขสบายมากขึ้น ไม่อยากยอมกลับไปอยู่ในลักษณะการถูกควบคุม อย่างจะเห็นได้ว่าในกลุ่มประเทศทางตะวันตก ที่โดยธรรมชาติของเขาจะไม่ยอมใส่หน้ากากอนามัยอยู่แล้ว เพราะแนวคิดเขาคือ คนใส่หน้ากากคือคนเจ็บป่วย และมองว่ายิ่งรัฐบาลมาบังคับให้ใส่ ก็ยิ่งเป็นการลิดรอนสิทธิ ทำให้ต่อมาในกลุ่มประเทศทางตะวันตกก็เริ่มกลับมาพบว่าตัวเลขการติดเชื้อเริ่มกลับมาเพิ่มสูงขึ้น
นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งเหตุการณ์เสริมเข้ามาคือเรื่องของ สายพันธุ์โควิด ที่เข้าไปในตะวันตก ที่พบว่าเริ่มเปลี่ยนไปจากสายพันธุ์เดิมที่อยู่ที่อู่ฮั่น ที่เป็นสายพันธุ์ D164 แต่สายพันธุ์ใหม่คือ G164 อันนี้คือการมองย้อนหลังกลับไป เพราะตอนนั้นเราก็ไม่รู้ว่าเป็นสายพันธุ์อย่างไร แต่พอถึงช่วง พ.ค.-ส.ค.63 ที่เริ่มเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง เราก็เริ่มเห็นแล้วว่าตัวเลขการติดเชื้อในกลุ่มประเทศทางตะวันตก ตัวเลขมันวิ่งขึ้นเร็ว และคนเริ่มล้มตาย ทางประเทศในยุโรปเริ่มผ่อนคลายมาตรการต่างๆ มีการเปิดให้นักท่องเที่ยวกลับเข้าไปเที่ยวในประเทศได้ ก็เลยกลายเป็นการเปิดให้เชื้อดังกล่าววิ่งเข้าประเทศตัวเอง ก็เริ่มเกิด WAVE2 ขึ้นในหลายประเทศ ซึ่งหลายประเทศกว่าจะตัดสินใจว่าจะควบคุมจัดการอย่างไร พบว่าก็เหมือนเมื่อร้อยปีที่แล้ว คือบอกกันว่ารอสักหน่อย แต่ระหว่างนั้นตัวเลขการติดเชื้อก็พุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ เพราะโควิดสายพันธุ์ดังกล่าวมีการแพร่กระจายพันธุ์ได้รวดเร็ว โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศในทวีปยุโรปและสหรัฐ
สำหรับประเทศไทย ในช่วงประมาณเดือนสิงหาคม-กันยายน ตัวเลขของเราต่างๆ อยู่ในเกณฑ์ดีมาก แต่ก็เริ่มเห็นแล้วถึงสถานการณ์ในประเทศรอบบ้านเรา ทั้งที่ภาคใต้ จนถึงแถบตะวันตกของไทย พบว่าตัวเลขเริ่มไม่ใช่แล้ว มันเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะแถบตะวันตก คือเมียนมา พบว่าวันที่ 16 ส.ค. ที่เมืองซิตตเว ที่อยู่ในรัฐยะไข่ของเมียนมา ที่เป็นเมืองซึ่งฐานะประชาชนจะยากจน เป็นเมืองที่มีชาวไร่ยะไข่กับโรฮีนจาอยู่ด้วยกัน ซึ่งส่วนใหญ่ฐานะไม่ดี ประกอบกับเชื้อพบว่ามาจากบังกลาเทศที่หลุดเข้าไปในอินเดีย
จนเมื่อ 16 ส.ค. พบว่ามีคนไข้เป็นผู้หญิง 2 คน ตรวจเจอติดเชื้อโควิดที่เมืองซิตตเว ซึ่งแม้เจอ 16 ส.ค. แต่อาจมีการติดเชื้อก่อนหน้านี้ โดยตัวเลขที่ผมย้อนกลับไปดูก็คือ 10-20 สิงหาคม มีคนประมาณ 5,000 คนที่เดินทางจากยะไข่เข้าสู่ย่างกุ้ง และต่อมาเมื่อ 17 ส.ค. ประเทศเมียนมาทั้งประเทศมีคนติดเชื้อโควิดแค่ 409 ราย แต่จากวันที่ 16 ส.ค.ที่มีคน 5,000 คนเดินทางเข้ากรุงย่างกุ้ง รัฐบาลเขาก็พยายามไปสอบสวนโรค แล้วก็หาตัวคนติดเชื้อได้ แต่ไม่ถึงครึ่ง โดยการหาตัวหากพบคนติดเชื้อ ก็มีการแยกตัวออกมา quarantine แต่พอหาไม่เจอ คนเหล่านี้ถ้าหากมีการติดเชื้อ เราก็จะตามตัวไม่เจอ คนเหล่านี้ก็จะไปแพร่เชื้อ โดยจากยะไข่ คนติดเชื้อก็เดินทางไปเมืองอื่นๆ สิ่งที่มันเริ่มเกิด ก็คล้ายกับของเราในเวลานี้คือ มันมีจุดหนึ่งที่มีการแพร่ระบาด แล้วกระจายไปโดยตามหาไม่ได้ ไม่สามารถสืบสวนโรคได้ ว่าใครไปเจอกับใคร แล้วเดินทางไปไหนบ้าง ซึ่งก็จะคล้ายของเราเวลานี้
คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ย้ำว่า สถานการณ์โควิดในเมียนมาก็คือ จาก 17 ส.ค.ที่มีแค่ 409 ราย จนถึง ณ วันนี้ที่ให้สัมภาษณ์ (23 ธ.ค.) พบผู้ติดเชื้อมีประมาณ 110,000 กว่าราย จาก 400 กลายเป็นแสนกว่ารายในเวลา 3 เดือนเล็กน้อย นี่คือสิ่งที่เราเรียนรู้คู่ขนานไปกับภาคใต้ของเรา ที่มาเลเซียพบว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อก็จะขึ้นสูงเป็นครั้งคราว เราก็จะพบตัวเลขคนติดโควิดขึ้นมาจากภาคใต้เข้ามาบ้าง แต่รอบสัปดาห์นี้ที่มาเลเซีย ตัวเลขคนติดเชื้อขึ้นตลอดเลย จนถึงตอนนี้ 23 ธ.ค. มาเลเซียก็พบผู้ป่วยใหม่ 2,000 กว่ารายต่อ 1 วัน ก็เป็นอีกหนึ่งศึก ลำพังแค่ฝั่งตะวันตกของเราก็เยอะอยู่แล้ว ซึ่งฝั่งนั้นมันน่ากลัวตรงที่ชายแดนไทยกับเมียนมา 2,401 กิโลเมตร มันเดินเข้ามาง่ายมาก ทำให้โอกาสที่คนจะหลบหนีเข้ามา เพราะเราจะไปกันชายแดน 2,401 กิโลเมตร เกือบจะเรียกได้ว่ามันเป็นไปไม่ได้ ตรงนี้ก็น่ากลัว
เมื่อประเทศเมียนมาคนติดเชื้อเยอะ อัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ คนจำนวนหนึ่งก็หลบหนีเข้ามาในไทย ก็ทำให้เรามีแรงงานต่างด้าวที่หลบเข้ามาในประเทศไทย ก็มาเกิดกรณีที่ ท่าขี้เหล็ก ที่เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญ เพราะเป็นพื้นที่ซึ่งมีการแพร่ระบาดโควิดมาก แล้วคนไทยไปเที่ยว พอมีการติดเชื้อขึ้น ก็หนีกลับเข้ามาโดยหลบไปจากระบบควบคุมโรค ตามจับไม่ทัน เราก็เห็นจุดโหว่ มันมีจุดอ่อนที่ระบบควบคุมสุดท้ายมันควบคุมไม่ได้ และจากท่าขี้เหล็ก ที่กระจายตัวไปยังเชียงใหม่-เชียงราย ก็มีการติดตาม จนควบคุมได้ระดับหนึ่ง แล้วก็มาเกิดเหตุที่สมุทรสาคร ที่แม่ค้าในตลาดแพกุ้งเกิดตรวจเจอติดเชื้อโควิด ที่ก็เชื่อว่าน่าจะติดจากแรงงานต่างด้าวชาวพม่าที่เข้ามา จนมีการสอบสวนโรค
กรณีของประเทศเมียนมา ผมดูจากเอกสารของรัฐบาลเขา พบว่าโควิดในเมียนมาเกือบ 60 เปอร์เซ็นต์เป็นโควิดสายพันธุ์ G164 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ระบาดง่าย โดยตอนแรกเราก็ไม่รู้ว่าโควิดที่ระบาดในไทยเป็นสายพันธุ์ไหน แต่ทั่วโลกตอนนี้โควิด G164 มามากกว่าสายพันธุ์เดิม D164 เราก็ต้องคิดเผื่อไว้ก่อนว่า หากสายพันธุ์ที่เข้ามาเป็นสายพันธุ์ระบาดเร็ว เราก็ต้องรีบจัดการเร็ว
สำหรับกรณีที่ สมุทรสาคร ที่เป็นแหล่งค้าส่งอาหารทะเลสด เราลองนึกภาพ การขนส่งที่เมื่อเรือประมงจับสัตว์ทะเลมาได้ แล้วส่งเข้าไปในตลาดที่จะแช่เย็นส่งเข้าไป และเพื่อให้ส่งไปถึงต่างจังหวัดได้ จึงมีการนำอาหารไปแช่ในตู้เย็น ซึ่งของเย็นๆ เหล่านี้เชื้อโควิดมันอยู่ได้ พวก Packaging คลุมสินค้าอาหารเหล่านั้นทำให้เชื้อยังอยู่
สมมุติเมื่อรถจากสมุทรสาคร สมมุติไปส่งสินค้าที่จังหวัดในภาคอีสาน พอไปถึงจุดรับสินค้า มีการเปิดรถออก เอาของลง ถึงตอนนั้นหากจังหวัดไม่เคยมีโควิด เขาก็ไม่ระวังตัว หรือถึงมีเชื้ออยู่ในจังหวัด แต่คนก็อาจไม่คิดอะไร ก็แกะของที่แพ็กส่งมา พวกกุ้งแช่แข็งอะไรต่างๆ ทำไปก็คุยไป เชื้อพวกนี้มันก็มีโอกาสเข้าไปในคนในตลาด คืออาหารพวกนี้หากทำสุกยังไงเชื้อก็ตายหมด ไม่ต้องห่วง แต่ที่สำคัญคือตอนที่มีการจัดการของในตลาด เชื้อมันจะเข้าไปในตัวคนแล้ว แล้วคนเหล่านี้ทำทุกอย่างเสร็จ ก็กลับบ้านไปอยู่กับครอบครัว ไปเจอเพื่อน ยิ่งจังหวัดไหนที่ตอนแรกยังไม่มีรายงานการติดเชื้อ คนก็อาจไม่ระวัง
ผมจึงพยายามบอกว่าครั้งนี้ต้องระวังเพราะมันจะคล้าย ๆ กับที่เมียนมา คือจากจุดหนึ่งที่พบแล้วมันจะกระจายออกไป ซึ่งจุดที่มันกระจายไปจากสมุทรสาคร คืออาหารทะเลที่ไปยังที่ต่างๆ บวกกับปัจจัยที่สอง คือในสมุทรสาคร มีแรงงานต่างด้าวเยอะ ถูกกฎหมายก็มาก ผิดกฎหมายก็เยอะ พวกแรงงานที่เข้ามาโดยถูกกฎหมายแล้วตรวจพบการติดเชื้อ กรมควบคุมโรคก็จะเข้าไปสอบสวนโรคทันที แต่สำหรับพวกแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาโดยผิดกฎหมาย ลองคิดดู หากเราไปเจอแรงงานต่างด้าวคนหนึ่ง ที่เข้ามาโดยถูกกฎหมายแล้วตรวจพบเชื้อบวก ก็จะมีการสอบสวนโรคว่าก่อนหน้านี้เดินทางไปยังสถานที่แห่งใดบ้าง ไปเจอใครมาบ้าง เพื่อจะได้ไปตาม แต่หากเป็นแรงงานเข้ามาโดยผิดกฎหมายแล้วตรวจพบการติดเชื้อ การสอบสวนโรคเขาก็จะไม่ค่อยให้ความร่วมมือเพราะเหตุผลต่างๆ เช่น เกรงเพื่อนที่เข้ามาโดยผิดกฎหมายด้วยจะโดนจับ ก็ทำให้การสอบสวนโรครอบนี้มันจะไม่สมบูรณ์แบบ แล้วอาจจะมีการเช่น แจ้งเพื่อนทันทีว่าจะมีเจ้าหน้าที่ของเราเข้าไปสอบสวน คนที่ได้รับแจ้งก็จะรีบหนีออกจากสมุทรสาคร ก็หนีไปจังหวัดอื่น เพราะยังไงเขาก็ไม่กลับไปเมียนมาอยู่แล้ว
....ทำให้จากนี้ไป คาดเดาได้เลยว่าจะพบการติดเชื้อเกิดขึ้นในจังหวัดต่างๆ ที่ตอนนี้ก็เริ่มพบการกระจายตัวออกไป จนตอนนี้มาถึงจุดที่ว่าตัวเลขการติดเชื้อโควิดในไทยที่เราเห็น มันไม่ได้เป็นตัวเลขการติดเชื้อจากแรงงานต่างด้าวแล้ว แต่กลายเป็นคนไทยที่ติดกันภายในเองแล้ว มันเข้าสู่รอบ การติดเชื้อกันภายในประเทศ ซึ่งการติดกันภายในแล้วหากกระบวนการสืบสวนโรคทำได้ไม่ดีพอ มันจะเริ่มเข้าสู่ภาวะ การแพร่ระบาด ซึ่งหากเข้าสู่สภาวะการแพร่ระบาดก็จะเข้าสู่เกณฑ์ที่เรียกว่า ระบาดรอบสอง เวลาที่เราพูดถึงการแพร่ระบาดรอบหนึ่งรอบสอง หากพบแค่การติดเชื้อจากแรงงานต่างด้าวอย่างเดียว แบบนี้ยังไม่เรียกว่าแพร่ระบาดรอบสอง เพราะเราไปตรวจและจับได้ แต่หากติดเชื้อกันภายในประเทศกันเอง แล้วสอบสวนโรคกันไม่ได้ แบบนี้ต้องระวัง เราต้องมองตัวอย่างของกรณีประเทศเมียนมา ที่ภายในเวลาแค่ 3 เดือนตัวเลขการติดเชื้อมันเพิ่มขึ้นถึง 250 เท่า เราก็ต้องระวัง
คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เสนอความเห็นว่า สำหรับการหยุดการแพร่เชื้อ การเฝ้าระวัง หลังจากนี้เห็นว่ามาตรการที่จะใช้ต้องเหมือนกับมาตรการตอนรอบแรก คือทำให้ผู้ป่วยติดเชื้อลดลงให้ได้ในเวลาอันรวดเร็ว เพราะหากผู้ป่วยติดเชื้อมีจำนวนมาก คนไข้เหล่านี้ก็จะทะลักเข้าไปในโรงพยาบาล ซึ่งหากทะลักเข้าไปมากจนเกินศักยภาพของโรงพยาบาล นั่นหมายถึงอัตราการเสียชีวิตที่จะค่อยๆ เพิ่มขึ้น โดยตอนนี้โรงพยาบาลไม่ว่าจะเป็นของกระทรวงสาธารณสุขหรือหน่วยงานอื่น การเตรียมพร้อมรอบนี้เราดีกว่ารอบแรก เพราะมีการเตรียมอุปกรณ์ต่างๆ เอาไว้แล้ว จากที่ตอนระบาดรอบแรกเราขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์เยอะมาก แต่รอบนี้มีการเตรียมการพอสมควรอยู่ แต่หากว่า เกิดมีคนไข้เยอะมากๆ การรองรับผู้ป่วยก็อาจไม่พอ ดังนั้น ตอนนี้ก็ต้องทำคู่ขนานกันไป คือพบคนไข้ ทางแพทย์ก็เตรียมการรักษา ขณะเดียวกันเนื่องจากตอนนี้รัฐบาลยังไม่มีนโยบายจะปิดการเดินทาง ก็ต้องระวังด้วยเพราะหากเริ่มพบในจังหวัดหนึ่ง คนก็อาจจะหนีไปอยู่อีกจังหวัดหนึ่ง ก็จะแพร่เชื้อไปยังจังหวัดนั้น สิ่งเหล่านี้ต้องระวัง ปรากฏการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นได้เสมอ คือไล่จับกัน แต่คนที่ถูกจับมีเชื้อก็ไปแพร่เชื้อในจังหวัดอื่นๆ เรื่อยๆ
-สถานการณ์โควิดในประเทศไทยเวลานี้ถือว่าโคม่า หรือเข้าขั้นวิกฤติแล้วหรือยัง?
ผมยังไม่อยากเรียกว่าโคม่า แต่ถ้าถามผม ก็วิกฤติ ความเห็นผมเป็นแบบนี้คือ หลายคนบอกว่าผมชอบมองโลกในแง่ร้าย แต่หากมองโลกในแง่ดีเกินไปแล้วเกิดร้ายขึ้นมาจริง เราจะทำอะไรไม่ทัน
อย่างตอนน้ำท่วมปี 2554 เราสามารถคาดการณ์ได้ว่า แต่ละจังหวัดน้ำจะลดลงไปในระดับใด แล้วก็เป็นไปตามนั้น แต่การติดเชื้อเราคิดไม่ได้ คนติดเชื้อโควิดหนึ่งคนไปคุยกับคนที่ยังไม่ติดเชื้อ 20 คน จับพลัดจับผลูติดกันหมด แล้ว 20 คนไปคุยกับคนอีก 200 คน โรคก็แพร่กระจายไปแล้ว เป็นเรื่องที่คาดการณ์ไม่ได้ อย่างเราคุยกันก็อาจจะติดเชื้อก็ได้ เพราะวันนี้ที่หน้าผากไม่มีใครติดป้ายว่า "ฉันไม่ติดเชื้อ" เพราะคนมีเชื้อโควิดแต่ไม่มีอาการตอนนี้ก็แพร่เชื้อได้
ดังนั้นตอนนี้ที่ดีที่สุดก็คือ เราก็ต้องใส่วัคซีนที่ดีที่สุดของประเทศไทยคือ "หน้ากากอนามัย" แล้วก็ล้างมือ รักษาระยะห่าง เป็นการป้องกันที่ดีที่สุด ไม่ว่าโควิดจะกลายพันธุ์หรือไม่กลายพันธุ์ สิ่งนี้คือการป้องกันที่ดีที่สุด
"ช่วงตอนนี้คือช่วงสำคัญ เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ เพราะช่วงนี้ทั่วโลกระบาดกันเยอะ อยู่ในช่วงขาขึ้น ระบาดกันมาก โดยของไทยเจอแล้ว ที่มาจากแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาจากเมียนมา จนตอนนี้เราเข้าสู่ระยะของแพร่ระบาดในประเทศ ซึ่งตอนนี้หากเราไม่ช่วยกันหยุดมัน เราอาจกลายเป็นเหมือนเมียนมา ถ้าแบบนี้เราจะเดือดร้อน ตอนนี้จึงอยู่ในช่วงที่ประเทศไทยเราต้องติดตามกำกับดูแลอย่างเข้มงวด อย่าชะล่าใจ หากพบมีผู้ติดเชื้อจังหวัดไหน จังหวัดนั้นต้องรีบ take action แล้วรัฐบาลก็ต้องมีมาตรการออกมา โดยหากสถานการณ์แย่ลง การใช้มาตรการที่เข้มงวดก็ต้องรีบนำออกมาใช้ จะชะลอไม่ได้ หากช้าอาจจะยิ่งแย่ลง"
...ตอนนี้อยู่ในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่คนอยากไปเที่ยว แต่ก็เชื่อว่าปีนี้หลายจังหวัดอาจจะปิดล็อก ธุรกิจหลายอย่างอาจทำไม่ได้ ทำให้ปีนี้การเดินทางออกต่างจังหวัดอาจจะลดน้อยลง
อยากฝากว่า ปีนี้ควรถือโอกาสปีนี้ให้เป็นช่วง ปีใหม่สร้างสายใยในครอบครัว โดยการฉลองปีใหม่ที่บ้าน อยู่บ้าน อยู่กับพ่อแม่พี่น้อง ลูกหลานก็อยู่บ้านดูแลพ่อแม่ที่บ้าน ทำอาหารกินกันที่บ้าน ก็ปลอดภัยด้วย ก็ทำให้สังคมไทยซึ่งที่ผ่านมาอาจมีความแตกแยกกันบ้างในช่วงที่ผ่านมา ก็ใช้โอกาสนี้เยียวยาดึงความสุขในครอบครัวกลับคืนมา ทั้งบ้านก็มาเคาต์ดาวน์ปีใหม่ตอนเที่ยงคืนด้วยกัน มันได้บรรยากาศอีกแบบหนึ่งที่ดีด้วยซ้ำ เราไม่มีบรรยากาศแบบนี้มานานแล้ว
-ฝ่ายภาคธุรกิจอาจไม่อยากให้มีมาตรการอะไรต่างๆ ออกมา เพราะเกรงจะได้รับผลกระทบแล้วอาจต้องใช้วิธีต่างๆ เช่น ปลดพนักงาน?
ก็ต้องบอกเขาว่า ถ้าปล่อยให้มีการติดเชื้อเยอะๆ ก็เจ๊งเลย หากพวกเราไม่ช่วยกันอดทน ผมก็รู้ว่าทุกคนเดือดร้อน อย่างตอนโควิดระบาดรอบแรก ก็ขอความร่วมมือให้อยู่กับบ้าน ตอนนั้นก็เดือดร้อนบ้าง แต่พอเราควบคุมกันได้ดี พอผ่านไป 6 สัปดาห์ก็เริ่มผ่อนคลายให้มีการทำกิจกรรมต่างๆ อย่างทุกวันนี้สหรัฐอเมริกา ผู้ป่วยโควิดเสียชีวิตวันละเฉลี่ยเกือบ 3,000 คน เราคงไม่อยากเห็นประเทศไทยเป็นแบบนั้น เพราะหากถึงตอนนั้นต่อให้มีการเปิดร้านอะไร คนก็ไม่เข้าไปกิน ก็แย่อยู่ดี สู้ตอนนี้เรามาช่วยกันดีกว่า หยุดมันให้ได้ เพราะถ้าเราหยุดมันได้ ทุกอย่างก็จะกลับมาแบบเดิม ก็ค่อยคลายให้ทำกิจกรรมต่างๆ ได้ แล้วถึงตอนนั้น ความเห็นผมอย่าให้รอบบ้านเข้ามาอีก แล้วทำให้เศรษฐกิจมันหมุน แต่ตอนนี้ต้องคิดเรื่องแรกก่อนคือ "หยุดมันให้ได้" ถ้าเราหยุดได้เร็ว เศรษฐกิจก็พังช้า พังน้อย แต่ถ้าเรามัวแต่เอาเรื่องเศรษฐกิจแล้วปัญหามันไม่หยุด มันยื้อไปเรื่อยๆ ถ้ายื้อไปอีกสักเดือน เราเดือดร้อนแน่
-หากสุดท้ายการแพร่ระบาดทำให้มีคนติดเชื้อจำนวนมากขึ้นมาจริง ความพร้อมของระบบสาธารณสุขประเทศไทยและบุคลากรทางการแพทย์รับมือได้เพียงใด?
ขึ้นอยู่กับจำนวน อย่างหากมีคนไข้หนักสัก 2,000-3,000 คนก็รับได้อยู่ แต่หากมีคนไข้หนักสัก 5,000-10,000 คน แล้วเข้ามาแบบอาการหนัก เข้ามาพร้อมกันหมด ถ้าแบบนี้ก็ไม่อยู่ อย่างหากมีคนป่วยจำนวนมากแบบพรวดๆ อย่างที่เมียนมาตอนนี้ก็ยาก ซึ่งถ้าไม่อยู่ก็คืออาจมีคนเสียชีวิต เพราะมันเกินศักยภาพ อย่างที่โอซากา ตอนนี้ไม่มีเตียงไอซียูรับคนไข้อาการหนัก หรือที่เกาหลีใต้ก็มีบางโรงพยาบาลไม่มีเตียงผู้ป่วยหนักแล้ว นี่ขนาดประเทศที่เคยเอาอยู่ ซึ่งการจะตอบว่าจะรับได้อยู่หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับจำนวนคนไข้.
โดย วรพล กิตติรัตวรางกูร
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |