มิติ 'กัญชา' พืชเศรษฐกิจ


เพิ่มเพื่อน    

    คำสั่งกระทรวงสาธารณสุข ที่ ๕๓๐/๒๕๖๑ ลงวันที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๖๑
    นั่นคือ "ก้าวแรก"...........
    ของการนำประเทศก้าวข้าม "โอฆสงสาร"
    สู่ฝั่งวิทยาการและงานวิจัยใน "พืชต้องห้าม" ของไทย ที่มีนัยสำคัญต่อ "อนาคตสังคมชาติ" มาก
    หวังกันมา เรียกร้องกันมา ตราบอายุคนไทย จนคอแตกตายไปไม่รู้กี่ศพ?
    ที่หวัง ก็รำไร "ทางจริง" ครั้งนี้แหละ!
    ต้องบันทึกชื่อ "ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร" รมว.กระทรวงสาธารณสุข ไว้เป็นเกียรติประวัติ 
    ในฐานะ..........
    ผู้กระตุกผ้ายันต์ "เปิดปากหม้อ"
    นำประเทศสู่วิวัฒน์ด้วยการ "ตั้งคณะกำหนดกรอบ" ในความเป็น "พืชกัญชา" ใหม่
    ตั้งเข็มด้าน "พัฒนาทางวิชาการและงานวิจัย" สู่ความเป็น "สารสกัด" ทางยา ใช้ในวงการแพทย์
    นอกจาก "คุณหมอปิยะสกล" แล้ว ยังมีอีกสถาบันหนึ่งที่ต้องบันทึกไว้ด้วย 
    ในฐานะผู้ "ปิดทองหลังกัญชา" ถึงขั้นวิจัยนำร่อง ปรากฏผลเป็น "รูปธรรม" ไประดับหนึ่งก่อนแล้ว
    นั่นคือ.........
    "คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต" ของ "ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์"
    เคยแถลงความคืบหน้าการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ตัวอย่าง "ยาพ่นกัญชา" บรรเทารักษา "มะเร็ง" ฮือฮาไปก่อนหน้านี้
    และ ณ ขณะนี้..........
    ก็มาถึงจุดที่ "กัญชา" เข้าสู่ขั้นตอนปลดล็อกจาก "ยาเสพติดให้โทษ" ประเภท "ต้องห้าม" ทุกชนิด
    ถึงแม้ยังไม่มีผลในทางเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ใดๆ เกี่ยวกับกัญชาในขณะนี้  
    แต่จากคำสั่งนี้........
    กรอบที่มอบให้คณะกรรมการพิจารณา คือการ "ปลดล็อก" กัญชา ออกจากยาเสพติดให้โทษ
    เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ เมื่อกัญชาผ่านขั้นตอนวิจัย สู่การสกัดสารทางเป็นยาบรรเทาแล้ว
    นับเป็นการ "เจาะเปลือก" ออกสู่โลกใหม่ เป็นปฐมบทที่น่ายินดีและต้องบันทึก 
    ฉะนั้น วันนี้.........
    จะหนักไปทางเอกสารสาระทางราชการ ไม่ใช่เรื่องคุยสนุก ท่านใดไม่อยากอ่าน ก็ผ่านไปเลย
    คำสั่งกระทรวงสาธารณสุข โดย "คุณหมอปิยะสกล" สรุปเนื้อหา ดังนี้ 
    แต่งตั้ง "คณะกรรมการพิจารณาการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์" 
    ว่า มีข้อมูลการนำกัญชาซึ่งปัจจุบันจัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท ๕ ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒ มาใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์อย่างหลากหลาย ในต่างประเทศ 
    ขณะเดียวกัน ตอนนี้ ก็อยู่ระหว่างปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.ดังกล่าว 
    ให้ใช้ยาเสพติดให้โทษประเภท ๕ เพื่อ "การรักษาโรค" หรือเพื่อ "การศึกษาวิจัย" ได้ 
    ดังนั้น เพื่อรองรับการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์และการศึกษาวิจัยในประเทศ อย่างเป็นระบบ
    เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด "จากกัญชา" ทางการแพทย์ ให้เป็นไปตามหลักวิชาการและกฎหมาย ป้องกัน "มิให้รั่วไหล" ไปใช้ในทางที่ผิด
    จึงแต่งตั้ง.........
    "คณะกรรมการพิจารณาการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์" ประกอบด้วย 
    "รมว.สาธารณสุข" และปลัดกระทรวงฯ เป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการ 
    "นายโสภณ เมฆธน" เป็นประธาน 
    ส่วนคณะกรรมการประกอบด้วย ผอ.สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข/ผอ.องค์การเภสัชกรรม/
    ผอ.สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ/นายธเรศ กรัษนัยรวิวงศ์ รองปลัด สธ./อธิบดีกรมการแพทย์ 
    อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก/อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์/อธิบดีกรมสุขภาพจิต
    เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา/เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด 
    ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา/คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
    ผศ.วรัญญู พูลเจริญ/ผศ.วิเชียร กีรติณิชกานต์/นางสริตา ปิ่นมณี /นายอนันต์ชัย อัศวเมฆิน 
    รองเลขาธิการ ที่ เลขาฯ อย.มอบหมาย เป็นกรรมการและเลขานุการ 
    ผอ.กองควบคุมวัตถุเสพติด อย.เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขาฯ 
    ผอ.สถาบันวิจัยและพัฒนา อภ.เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขาฯ
    คณะกรรมการ มีอำนาจหน้าที่ดังนี้ 
    ๑.เสนอแนะนโยบาย, แผนการพัฒนา, การนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์, การศึกษาวิจัยภายในประเทศ ต่อกระทรวงสาธารณสุข 
    ๒.พัฒนาและวางระบบการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ให้ครบวงจร 
    ตั้งแต่การปลูก, การปรับปรุงสายพันธุ์, การผลิตสาระสำคัญที่ได้จากกัญชา, การพัฒนาผลิตภัณฑ์, การนำไปใช้ประโยชน์ 
    รวมถึง "การวางระบบการควบคุม" 
    ๓.พัฒนาและวางระบบการศึกษาวิจัยเพื่อนำกัญชามาใช้ในทางการแพทย์ในประเทศ พร้อมทั้งเสนอความเห็นและคำแนะนำที่เกี่ยวข้อง 
    ๔.ตามดูแล ประสาน, สนับสนุน, เร่งรัดดำเนินการของหน่วยงานเกี่ยวข้อง, ประเมินผลปฏิบัติงานตามนโยบายและแผนการพัฒนา 
    ๕.แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาศึกษาหรือดำเนินการในเรื่องที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ 
    ๖.ปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ตามที่ รมว.สาธารณสุขมอบหมาย 
    ครับ..........
    เป็นปฐมบทแห่ง "ศักราชใหม่" ของกัญชา น่าเสียดายอยู่นิด 
    ไม่ได้กำหนดเวลา.........
    ว่า "คณะกรรมการฯ" จะต้องเสนอนโยบายและแผน ต่อท่านรัฐมนตรี เมื่อไหร่?
    คือ อะไรที่ "ไม่มีกรอบเวลา" ธนญชัยประเทศ จะตีความว่า "เมื่อไหร่ก็ได้ ข้าตั้งซื้อเวลา เอ็งไม่ต้องรีบ"
    ผมอยากเห็นในชาตินี้...........
    เพราะชาติหน้า ยังไม่รู้ว่าจะได้เกิด (เป็นคน) หรือเปล่า!?
    อ่านที่ "นพ.โสภณ เมฆธน" ผู้เป็นประธานบอก 
    จะประชุมคณะกรรมการ "นัดแรก" พรุ่งนี้เลย (๑๐ พ.ค.) หารือใน ๕ กรอบ 
    -ศึกษาสายพันธุ์กัญชาที่จะนำมาสกัดสาร
    -สกัดสารอย่างไรให้ได้คุณภาพนำไปทำยา 
    -รูปแบบการผลิตเป็นยา จะเป็นแบบไหน? 
    -ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ แบบใดบ้าง?
     ความหวังเบื้องต้น.........
     จะใช้รักษาอาการทางสมอง เช่น โรคลมชัก, พาร์กินสัน 
    รวมทั้ง บรรเทาเจ็บปวดจากโรคมะเร็ง 
    -แนวทางการควบคุม มาตรการทางกฎหมาย
    เอาเลยครับ...........
    นพ.โสภณ ท่านนี้ สังเกตแต่ครั้งเป็นปลัด สธ.การทำงานมีคุณภาพ เชื่อถือได้ 
    บวกความเป็น "สุภาพบุรุษ" ท่านรัฐมนตรีปิยะสกล คิดว่างานนี้ น่าจะก้าวหน้า ด้วยจริงใจ
    และแต่ละท่านที่คัดสรรมาเป็นคณะกรรมการ "รู้จริง-ทำจริง" ในภาคปฏิบัติการ จึง "อยากหวัง" เป็นพิเศษ
    "กัญชา" นั้น ในคุณมีโทษ/ในโทษมีคุณ 
    ในสังคม อันประกอบด้วย "มนุษย์ร้อยแปด"
    จะบริหารอย่างไร....?
    ในมาตรการ "ปลดล็อกกัญชา" ให้สนองตอบ "ทางแพทย์-ทางผ่อนคลาย" มากกว่า "ทางยาเสพติด"?
    ยอมรับว่า "ยากโคตรๆ"!
    แต่การอ้าง "ยาก" เพื่อไม่ถากถางวิวัฒน์สู่เส้นทางใหม่ การอ้างแบบนั้น...........
    "โคตรอันตราย" ยิ่งกว่ากัญชา!    
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"