ครม.เอาใจ “อีสานใต้” ไฟเขียวโครงการน้ำทันที 40 โครงการ งบกว่าพันล้านบาท ส่วนที่เหลือให้หน่วยงานเกี่ยวข้องรับข้อเสนอไปดูความเหมาะสม พร้อมรับทราบข้อเสนอด้านโครงสร้างพื้นฐาน 14 โครงการ ทั้งทางบก น้ำ อากาศ รวมกว่า 5.2 หมื่นล้าน
พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) ที่จังหวัดบุรีรัมย์ เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ปรารภในตอนต้นของการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 (นครชัยบุรินทร์: นครราชสีมา-ชัยภูมิ-บุรีรัมย์-สุรินทร์) ที่มีทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดและภาคประชาชนเข้าร่วมประชุมว่า ความตั้งใจในการลงพื้นที่ จ.สุรินทร์และบุรีรัมย์ เพื่อรับทราบปัญหาจากต้นทางว่านโยบายที่ส่งลงมาได้รับการปฏิบัติมากน้อยแค่ไหน และประสบปัญหาอะไรบ้างหรือไม่
พล.ท.สรรเสริญกล่าวว่า การนำเสนอข่าวการลงพื้นที่ถูกสื่อออกไปใน 2 ลักษณะ ลักษณะแรกคือเข้าใจว่ารัฐบาลมีความตั้งใจเข้ามาแก้ไขปัญหาในพื้นที่ อีกลักษณะคือพยายามนำเสนอเรื่องนัยทางการเมือง เช่น การดูด ส.ส.หรือทุ่มงบประมาณหลายหมื่นล้าน เพื่อแลกกับผลทางการเมือง ซึ่งนายกฯ ได้ให้สติกับที่ประชุมว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะควบคุมความคิดของคน พูดไปมีทั้งคนเชื่อและไม่เชื่อ จึงไม่จำเป็นต้องพิรี้พิไรเพื่อชี้แจงเรื่องนี้ เพราะสิ่งที่จะพิสูจน์การทำงานของรัฐบาลได้คือ เมื่อประชาชนได้เปรียบเทียบระหว่างเรื่องที่มีคนขอจากรัฐบาลกับเรื่องที่รัฐบาลให้ไป ซึ่งรัฐบาลไม่สามารถให้ได้ทุกเรื่อง เนื่องจากต้องพิจารณาถึงความสอดคล้องของแผนงานและความพร้อมของพื้นที่ ทั้งนี้ นายกฯ ยังย้ำถึงความสำคัญของการกระจายอำนาจ และขอให้ ครม.มุ่งมั่นทำงานตามแผนงานทั้งแผนปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาประเทศของสภาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และแผนพัฒนาจังหวัด ให้สอดรับกับความต้องการของประชาชนพื้นที่
โฆษกประจำสำนักนายกฯ แถลงด้วยว่า ครม.เห็นชอบผลการประชุมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 (นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์) ทั้งนี้ ในข้อเสนอทั้งหมดแยกออกเป็นเรื่องสำคัญ 5 ด้าน ประกอบด้วย ด้านการเกษตรและแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร ที่ประชุมได้เห็นชอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินโครงการสำคัญเร่งด่วนที่มีความพร้อมและทำได้ทันทีรวม 40 โครงการ วงเงิน 1,015 ล้านบาท จากที่เสนอมา 84 โครงการ วงเงิน 3,476 ล้านบาท ครอบคลุมเรื่องการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อแก้ปัญหาอุทกภัย พัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร การจัดทำแก้มลิงในลุ่มน้ำชีและลุ่มน้ำใกล้เคียง ขณะที่โครงการที่เหลืออีก 44 โครงการ ขอให้ไปจัดลำดับความสำคัญเพื่อเสนอขอใช้งบประมาณในปี 62-64 ต่อไป
พล.ท.สรรเสริญกล่าวว่า ด้านการท่องเที่ยว ที่ประชุมได้รับทราบข้อเสนอการดำเนินโครงการสนับสนุนการท่องเที่ยวในพื้นที่ที่สำคัญ คือ โครงการสร้างพิพิธภัณฑ์ช้างดึกดำบรรพ์เฉลิมพระเกียรติ นครราชสีมา โครงการโลกของช้าง หรืออีเลฟเฟนท์เวิลด์ จังหวัดสุรินทร์ โดยมอบหมายให้กระทรวงการท่องเที่ยวฯ รับข้อเสนอไปพิจารณาอีกครั้ง ขณะที่โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์อ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก จ.บุรีรัมย์ และโครงการพัฒนาเส้นทางคมนาคมเพื่อการท่องเที่ยวรอบบึงละหาน ซึ่งที่มีการทำทางจักรยานนั้น ให้รับข้อเสนอไปพิจารณาเช่นกัน
ทั้งนี้ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬาได้ชี้แจงว่า ได้มอบหมายหน่วยงานด้านการท่องเที่ยวหาทางส่งเสริมให้มีนักท่องเที่ยวเดินทางมายังอีสานใต้มากขึ้น เพราะปัจจุบันพื้นที่ภาคอีสานมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเพียง 3% เมื่อเทียบกับจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งประเทศ ส่วนใหญ่เป็นคนอีสานเที่ยวกันเอง จึงต้องการส่งเสริมการท่องเที่ยวมากขึ้น โดยดึงชุมชนที่มีความพร้อมก่อน 20 ชุมชน มานำร่องจัดโปรแกรมร่วมกับบริษัททัวร์ เพื่อดึงคนเข้ามาในพื้นที่
โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า ส่วนการจัดงานโมโตจีพี เดือน ต.ค.61 ที่บุรีรัมย์นั้น เห็นว่าปัจจุบันได้มีการเตรียมความพร้อมไปแล้วหลายส่วน โดยภาครัฐจะเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทาง เช่น การจัดรถชัตเติลบัสจากสนามบินบุรีรัมย์มายังสนามแข่งขันด้วย
ด้านคุณภาพชีวิต ที่ประชุมเห็นชอบข้อเสนอโครงการจัดตั้งคณะพยาบาลศาสตร์ และคณะด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ เพื่อสร้างบุคลาการทางการแพทย์ในพื้นที่ ซึ่งจากการสำรวจความต้องการของเด็กที่เรียนจบมัธยมปลาย 80% ต้องการเรียนในด้านนี้เป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกัน ยังเห็นชอบโครงการก่อสร้างความเป็นเลิศทางการแพทย์ และโครงการก่อสร้างอาคารรองรับการให้บริการผู้ป่วยโรงพยาบาลนางรอง จ.บุรีรัมย์
ขณะที่นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุมได้รับทราบข้อเสนอด้านโครงสร้างพื้นฐาน 14 โครงการ โดยในด้านถนนนั้น ได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมไปพิจารณาความเหมาะสม และจัดลำดับความสำคัญ ซึ่งในปี 57-61 มีการโครงการด้านนี้ รวมกว่า 52,876 ล้านบาท ส่วนปี 62 มีโครงการเบื้องต้นรวม 14,588 ล้านบาท ทางด้านอากาศ ได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมไปศึกษารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมในโครงการพัฒนาสนามบินบุรีรัมย์ ซึ่งเสนอขอสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ 2 ชั้น และขยายความยาวทางวิ่งจาก 2,100 เมตร เป็น 3,000 เมตร
นายณัฐพรกล่าวว่า ส่วนด้านการค้าและการลงทุนมีโครงการก่อสร้างศูนย์รวบรวมตู้คอนเทนเนอร์ และเปลี่ยนโหมดการขนส่ง หรือไอซีดี ที่นครราชสีมา เพื่อทำให้นครราชสีมาเป็นศูนย์กลางของการขนส่งสินค้าทางรถไฟไปท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งที่ประชุมให้ไปดูความเหมาะสมของโครงการก่อน พร้อมกันนี้ยังให้คมนาคมไปศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการก่อสร้างสนามบินสุรินทร์เพื่อการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยว อีกทั้งยังรับทราบข้อเสนอของโครงการก่อสร้างศูนย์ประชุมและจัดแสดงนิทรรศการที่นครราชสีมา และการศึกษาแผนแม่บทการพัฒนาเมืองใหม่นครราชสีมา รองรับเมืองอัจฉริยะด้วย
นายหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฐ ประธานอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า ในการประชุมครั้งนี้ ภาคเอกชนมีความพอใจที่รัฐบาลได้รับข้อเสนอของภาคเอกชนและหน่วยงานในพื้นที่ เพราะจะช่วยพัฒนาพื้นที่ให้รองรับการค้าการลงทุน และส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ได้มากขึ้น.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |