"บิ๊กตู่" สั่งปลูกป่าพื้นที่บ้านพักตุลาการ ลั่นไม่ให้ใครเข้าอยู่แน่ กำชับคณะทำงานหาที่สร้างใหม่ทดแทน ย้ำต้องไม่กระทบสิ่งแวดล้อม ฮึ่ม! ใส่กลุ่มพีมูฟ เคลื่อนม็อบระวังผิดกฎหมาย ยันรัฐบาลแก้ปัญหาที่ดินทำกินเต็มที่ "ครม." ยืดอายุ กก.กองทุนฟื้นฟูฯ 180 วัน "รมว.เกษตรฯ" รับปากนายกฯ สางหนี้เกษตรกรจบภายใน 6 เดือน
เมื่อวันที่ 8 พ.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงการแก้ปัญหาบ้านพักตุลาการ จ.เชียงใหม่ ว่าวันนี้ได้ข้อสรุปหลังหารือร่วมกัน คือให้มีการปลูกป่า โดยมีแผนงานที่ชัดเจน ตนได้มอบหมายกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้ว่าฯ เชียงใหม่ ทหาร กอ.รมน. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปร่วมในแผนงานดังกล่าวให้ทันฤดูฝนนี้ ซึ่งจะพยายามหาต้นไม้ที่โตเร็วและกลมกลืนกับภูมิประเทศ
"ผมมีคำสั่งว่าไม่ให้อยู่โดยแน่นอน แน่ชัด ได้ให้คณะกรรมการฯ ไปจัดหาพื้นที่ใหม่ เพราะเป็นสิทธิของข้าราชการที่ต้องมีบ้านพักอาศัยตามกฎหมาย รัฐบาลมีหน้าที่ดูแลสวัสดิการตรงนี้ อย่าไปมองว่าชาวบ้านยังไม่มีเลยแล้วข้าราชการต้องมี ก็เขาเป็นข้าราชการ ไม่เช่นนั้นทุกคนถ้าอยากมีต้องสอบให้ได้เป็นข้าราชการ แล้วโตขึ้นมาก็จะมีบ้าน แต่บางคนก็ยังไม่มีด้วยซ้ำ รัฐบาลสร้างให้หมดไม่ได้ต้องเสียค่าเช่าบ้าน" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
นายกฯ กล่าวว่า ในการหาพื้นที่ใหม่กำลังพิจารณาพื้นที่ที่ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งหายาก แต่ต้องหาให้ได้ ขณะเดียวกันต้องพิจารณาแบบก่อสร้างให้อยู่ในกรอบกติกาที่กำหนด ถือเป็นการแก้ปัญหาอย่างถูกวิธี คือแก้ปัญหาด้วยหลักรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์
"ผมไม่อาจจะรับเรื่องร้องเรียนอื่นๆ ขึ้นมาอีก เรื่องเก่าแก้ให้ได้เสียก่อน ขอให้ไว้เนื้อเชื่อใจ ในเมื่อผมไม่ให้ใครอยู่ก็ไม่ให้ใครอยู่ เรื่องจะรื้อ-ไม่รื้อคณะกรรมการฯ ไปว่ากันมา ถ้าจะรื้อต้องหาผู้รับผิดชอบมาให้ได้ เพราะเป็นงบประมาณของแผ่นดิน อาจจะบานปลายสู่การตรวจสอบย้อนหลังไปอีกเยอะ ก็ต้องทำต่อไป" นายกฯกล่าว
ด้านนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ได้รายงานให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทราบการแก้ไขปัญหาบ้านพักตุลาการที่จังหวัดเชียงใหม่เมื่อวันที่ 7 พ.ค.ที่ผ่านมา และมีความคืบหน้าในเรื่องการพิจารณาตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัดขึ้นมา โดยประกอบด้วยหลายฝ่าย ทั้งภาครัฐ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเครือข่ายประชาชน เพื่อทำหน้าที่อำนวยการแก้ไขปัญหา
"เรายังจะมีคณะทำงานอีก 2 ชุด ประกอบด้วยการวางแผนฟื้นฟูระบบนิเวศเพื่อฟื้นฟูพื้นที่ และอีกชุดหนึ่งเป็นคณะทำงานเพื่อพิจารณาดำเนินการเกี่ยวกับสิ่งปลูกสร้าง และการทำป่าให้สมบูรณ์ต่อไป ทั้งนี้ ทุกอย่างให้ดำเนินการในพื้นที่และเป็นไปตามที่เจรจาตกลงกันเอาไว้" นายสุวพันธุ์กล่าว
ซักว่า การแก้ไขปัญหาครั้งนี้จะต้องพิจารณายกเลิกมติ ครม.เก่าที่ให้ปลูกสร้างบ้านดังกล่าวหรือไม่ รมต.ประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า ขณะนี้ยังตอบอะไรในเรื่องดังกล่าวไม่ได้ แต่เมื่อมีคณะกรรมการชุดที่กำลังจะตั้งขึ้น แล้วก็ให้เขาดำเนินการต่อไปว่าจะมีแนวทางอย่างไร
"มีหลายเรื่องที่จะต้องเข้ามาเกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ เช่น ต้องมีพื้นที่รังวัดให้ชัดเจน แล้วจะทำอย่างไรต่อไปกับพื้นที่นั้น ทุกอย่างมีกลไกทั้งหมดอยู่แล้ว เชื่อว่าทุกอย่างจะเรียบร้อย" รมต.ประจำสำนักนายกฯกล่าว
ส่วนความคืบหน้ากรณีกลุ่มขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ปักหลักชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาที่ดินทำกินให้คนจนบริเวณหน้ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์นั้น
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า แนวทางการแก้ปัญหาที่ทำกินมีอย่างเดียว โดยคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) จัดหาพื้นที่ให้มีบ้านที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน ซึ่งมีการมอบเอกสารสิทธิที่ไม่สามารถขายต่อได้ไปบ้างแล้วจำนวนล้านกว่าไร่ ตอนนี้ทำไปกว่า 60 จังหวัด แต่จะทำให้มากที่สุด ทั้งในที่ดินที่หมดจากสภาพป่า ที่ราชพัสดุ ที่สามารถทำได้ตามกฎหมาย เมื่อถึงจุดอิ่มตัวถ้าเรายังคงมุ่งมั่นทำการเกษตรอย่างเดียว 5-15 ไร่ ปัญหาจะให้ทุกคนได้อย่างไร ในเมื่อมีเป็นล้านคน ซึ่งต้องถามข้าราชการระดับล่างด้วย ที่ทำงานมาทั้งหมดก็ต้องการมีที่ดินเหมือนกัน เกษียณไปแล้วไม่มีเงินทองปลูกบ้านด้วยซ้ำไป รัฐบาลก็ต้องดูแลส่วนนี้ด้วย ถ้าเราเรียกร้องอย่างเดียว อะไรๆ จะขอฟรีทุกเรื่องคงลำบาก เป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจกับสังคม
"เรื่องการแก้ปัญหาพีมูฟวันนี้ย้ายไปกระทรวงโน้นกระทรวงนี้ ก็ระมัดระวังด้วยก็แล้วกัน ทำให้มันถูกต้องตามกฎหมาย การจะไปชี้ตรงโน้นตรงนี้เอาเองไม่ได้หรอก แล้วถ้าทุกคนทั้งประเทศลุกขึ้นมาชี้แล้วจะไปกันอย่างไร สื่อกรุณาไปสร้างความเข้าใจด้วย รัฐบาลก็รับไปพิจารณาในกลุ่มคณะทำงานอนุกรรมการในเรื่องของการจัดหาพื้นที่ให้อยู่แล้ว ก็ต้องอดทน เราอยากจะทำให้ดีที่สุด ไม่เช่นนั้นก็ต้องเอาป่าอุทยาน ป่าต้นน้ำมาแจกกันหมด มันก็เป็นไปไม่ได้ ที่ของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) บางพื้นที่น่าจะจัดได้ก็บุกรุกเต็มพื้นที่ ส.ป.ก.เข้าไปอีก ผมถามว่าการสู้รบกับคนที่มีรายได้น้อยมันยากง่ายเพียงใด ถ้าง่ายทุกรัฐบาลคงทำสำเร็จไปแล้ว แต่รัฐบาลนี้ต้องหาหนทางปฏิบัติให้ได้โดยที่ไม่มีปัญหาต่อไปในอนาคต” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
นายกฯ กล่าวถึงการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชนของ ครม.ว่า เรื่องนี้ ครม.มีมติรับทราบไปก่อน เพราะต้องรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ทั้งนี้ บางพื้นที่ที่ประชาชนเรียกร้องมาอาจจะไปทับซ้อนกับเอกสารสิทธิ ที่ดินของกรมธนารักษ์ หรือที่ของทางราชการ ซึ่งต้องไปดูแยกแยะให้ชัดเจน ในเรื่องกฎระเบียบ กฎกระทรวงต่างๆ ด้วย ถ้าตรงไหนทำได้ตนก็จะให้ทำ เร่งรัดดำเนินการให้โดยเร็ว คงใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ในการนำกลับมาเสนอเข้าหารือในที่ประชุม ครม.อีกครั้ง
นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เรื่องข้อเรียกร้องของกลุ่มพีมูฟเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน ได้รายงานความคืบหน้าการทำงานของคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้ที่ประชุม ครม.ทราบแล้ว และได้เสนอให้ ครม.มีมติมอบให้กระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการไปตามอำนาจหน้าที่ และแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนนำไปแก้ไขโดยเร็ว
"ผมจะหารือกับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ที่เป็นฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการฯ ที่แก้ไขปัญหาพีมูฟ เพื่อเรียกประชุมคณะอนุกรรมการฯ โดยเร็ว ถ้าสามารถทำได้ในสัปดาห์นี้จะทำเลย" นายสุวพันธุ์กล่าว
ขณะที่ นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (รมว.เกษตรและสหกรณ์) แถลงผลการประชม ครม.ว่า ครม.เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเฉพาะกิจ ครั้งที่ 2 ไปอีก 180 วัน นับแต่วันที่ 13 พ.ค.-12 พ.ย.นี้ ต่อเนื่องจากการขยายระยะเวลาการปฏิบัติหน้าที่ระยะแรกที่เริ่มเมื่อวันที่ 14 พ.ย.2560 และจะสิ้นสุดลงในวันที่ 12 พ.ค. โดยการขอขยายระยะเวลาปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูฯ ครั้งนี้ เพื่อให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาการดำเนินงานของกองทุนฟื้นฟูฯ ได้แล้วเสร็จ
นายกฤษฎากล่าวว่า การปฏิบัติหน้าที่ในช่วงที่ผ่านมา กองทุนฟื้นฟูฯ ได้ให้ความช่วยเหลือเกษตรกรสมาชิกไปแล้ว 1,670 ราย วงเงิน 481.79 ล้านบาท และอยู่ระหว่างการเจรจากับสถาบันการเงินเจ้าหนี้ 9,009 ราย
"ในที่ประชุม ครม. นายกฯ สั่งกระทรวงเกษตรฯ ให้เร่งดำเนินการสะสางปัญหาหนี้สินกองทุนให้เสร็จเป็นครั้งสุดท้าย เพราะมีการขยายเวลาดำเนินการมาหลายครั้ง โดยผมได้ประกาศในที่ประชุม ครม.ต่อหน้านายกฯจะดำเนินการให้เสร็จภายใน 6 เดือน หรือภายใน 12 พ.ย.นี้" นายกฤษฎากล่าว
รมว.เกษตรฯ ยอมรับว่าการดำเนินการที่ผ่านมากองทุนฟื้นฟูฯ ไม่อาจบริหารจัดการได้ เนื่องมาจากปัญหาความไม่โปร่งใสในการบริหารจัดการกองทุน ความเป็นเอกภาพในการปฏิบัติงานของคณะกรรมการฯ รวมไปถึงปัญหาการแต่งตั้งคณะกรรมการที่ไม่อาจดำเนินการได้ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ทำให้การแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรหยุดชะงัก ไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ จึงได้มีการออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 26/2560 กำหนดให้มีคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูฯ ขึ้นมา
พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกฯ ได้สอบถามทำไมต้องขอขยายเวลาถึง 2 รอบ และขยายแล้วทำไมไม่สำเร็จ ซึ่งนายกฤษฎาชี้แจงว่า ที่ผ่านมาคณะกรรมการฯ และเลขาธิการกองทุนฟื้นฟูฯ อาจจะมีความเห็นไม่สอดคล้องกับเกษตรกร เป็นการขัดกันเล็กๆ แต่ไม่ถึงกับขัดแย้งกัน เมื่อความเห็นไม่ตรงกัน จึงเกิดความไม่ไว้วางใจต่อกัน จึงขับเคลื่อนไม่ได้ ทำให้มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเสนอขยายเวลาเป็นครั้งที่ 2
"นายกฯ ได้สั่งการเพิ่มเติมว่า ประเด็นที่เป็นปัญหาตามที่กรรมการชุดที่ผ่านมาแก้ไขปัญหาหนี้ให้เกษตรกรไม่สำเร็จ ให้ตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง หากพบมีความผิดเกิดขึ้น ให้ดำเนินการตามที่ คสช.เคยมีคำสั่ง โดยให้ดำเนินการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงภายใน 7 วัน ตรวจสอบให้เสร็จภายใน 30 วัน หากไม่แล้วเสร็จให้ขยายได้อีก 30 วัน และหากพบข้อมูลความผิดชัดเจน ก็ให้ดำเนินการทางอาญาและส่วนที่เกี่ยวข้องตามกฎหมาย" โฆษกประจำสำนักนายกฯ ระบุ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |