สสส.ส่งมอบหลักสูตรพัฒนาสมรรถนะ พชอ.งานป้องกันและแก้ไขปัญหาเด็กวัยใส 3 ระยะ ขับเคลื่อนงานป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส “ป้องกัน-ตั้งครรภ์คุณภาพ-ไม่ท้องซ้ำ” ลดท้องวัยรุ่น พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ชื่นชม สสส. ไม่ทิ้งพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ หวังลดตั้งครรภ์วัยรุ่นได้จริงทั่วเขตสุขภาพที่ 12
สสส.ให้ความสนใจแม่วัยใสหรือปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ทั้งนี้เพราะการตั้งครรภ์ไม่พร้อมมีแนวโน้มที่จะสร้างปัญหาทางสังคม เศรษฐกิจ การศึกษา สาธารณสุข เผชิญอุปสรรคทางการเรียน หน้าที่การงานและยังถูกตีตราจากสังคม บางครั้งยังถูกกดดันให้ทำแท้ง ในช่วงสถานการณ์หนึ่งแม่วัยใสอายุต่ำกว่า 20 ปีคลอดลูกวันละ 355 คน โดย 1 ใน 3 เกิดจากการตั้งท้องโดยไม่ตั้งใจ ขณะนี้วัยรุ่นไทยมีความรู้ความเข้าใจในการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการตั้งครรภ์โดยไม่พร้อมมากยิ่งขึ้น แต่ในขณะที่อัตราการคลอดในวัยรุ่นลดลง สิ่งที่เพิ่มขึ้นกลับเป็นการติดโรคทางเพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะ 5 โรคที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในกลุ่มวัยอายุช่วงอายุ 15-24 ปี ทั้งซิฟิลิส หนองใน หนองในเทียม แผลริมอ่อน ฝีมะม่วงที่ต้องตระหนักควบคู่กับปัญหาตั้งท้อง
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนการดำเนินงานโครงการพัฒนาหลักสูตรการเสริมสร้างสมรรถนะคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) ต่อการขับเคลื่อนงานป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ที่ห้องประชุมสำนักงานสาธารณสุขอำเภอบาเจาะ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส วันที่ 14 ธันวาคม 2563 เพื่อติดตามการออกแบบหลักสูตรพัฒนาสมรรถนะ พชอ. ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ของวัยรุ่นในพื้นที่นำร่อง
ชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวว่า จากข้อมูลล่าสุดปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นของประเทศไทยพบว่า แม้อัตราการคลอดของวัยรุ่นหญิงจะลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่สถานการณ์ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ยังน่าเป็นห่วง โดยอัตราการคลอดในวัยรุ่นอายุ 15-19 ปีต่อประชากรหญิงอายุ 15-19 ปี 1,000 คน ในปี 2562 จ.ยะลาอยู่ที่ 28.5 จ.นราธิวาส 28.4 จ.ปัตตานี 23.5 ตามลำดับ
แต่เมื่อคำนึงถึงเป้าของยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นระดับชาติ พ.ศ.2560-2569 ที่มีเป้าหมายในการลดอัตราการคลอดในวัยรุ่นให้เหลือไม่เกิน 25 คนต่อวัยรุ่นหญิง 1,000 คน ในปี 2569 จะมีเพียง จ.ปัตตานีเท่านั้นที่มีอัตราการคลอดลดลงมาอยู่ในเกณฑ์ของประเทศแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถนิ่งนอนใจได้ เพราะการลดอัตราการคลอดของแม่วัยรุ่นควรลดลงครึ่งหนึ่งของอัตราที่เคยเป็น baseline ของจังหวัดนั้นๆ
ชาติวุฒิกล่าวต่อว่า จากการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นของ สสส. ที่ร่วมกับภาคีเครือข่ายต่างๆ มาตั้งแต่ปี 2555 พบว่าศักยภาพทางวิชาการ การประสานงาน และการบริหารจัดการของบุคลากรที่ทำงานเป็นกลไกในระดับพื้นที่มีความสำคัญไปสู่ความสำเร็จ ดังนั้น สสส.จึงมีแนวคิดพัฒนาศักยภาพบุคลากรของคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) ให้พร้อมเป็นกลไกที่เข้มแข็งในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ จึงให้การสนับสนุนมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ใช้กลไกระดับอำเภอในการขับเคลื่อนร่วมกับทีมระดับตำบล นำร่องใน 4 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองปัตตานี อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส และ อ.รามัน จ.ยะลา
ดร.ซอฟียะห์ นิมะ สถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นำเสนอโครงการการพัฒนารูปแบบในการเสริมสร้างสมรรถนะของ พชอ. ต่อการขับเคลื่อนงานป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เปิดเผยว่า สสส.ได้สนับสนุนการออกแบบหลักสูตรพัฒนาสมรรถนะ พชอ. ด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น บนพื้นฐานของบริบทพื้นที่ สถานการณ์ปัญหาในอำเภอนำร่อง เป้าหมายเพื่อต้องการให้เกิดรูปแบบการดำเนินงานของ พชอ. ในการจัดการและควบคุมปัญหาการตั้งครรภ์วัยรุ่นในพื้นที่ และเกิดความยั่งยืนต่อการทำงานในอนาคต ทั้งนี้ ได้เริ่มดำเนินการออกแบบหลักสูตรมาตั้งแต่เดือนมกราคม 2563 ล่าสุดอยู่ในระหว่างการทดลองใช้ในพื้นที่นำร่องและจะประเมินผลการทดลองใช้ในเดือนมกราคม-มีนาคม 2564 เพื่อเป้าหมายในการขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ
ดร.ซอฟียะห์กล่าวเพิ่มเติมว่า เนื้อหาของหลักสูตรประกอบไปด้วย 3 ระยะ ระยะที่ 1 การป้องกันและเฝ้าระวังการเกิดรายใหม่ การสร้างให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเกิดความตระหนัก และหาแนวทางในการป้องกันการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ระยะที่ 2 การตั้งครรภ์คุณภาพ คือการดูแลสุขภาพครรภ์ของมารดาและทารกที่เกิด รวมทั้งการสนับสนุนการศึกษาต่อของมารดา และการสร้างอาชีพให้เกิดรายได้ และระยะที่ 3 การป้องกันให้ไม่เกิดการตั้งครรภ์ซ้ำ การพัฒนาคุณภาพชีวิตของแม่และเด็ก รวมทั้งสภาพแวดล้อมครอบครัว และการสร้างทักษะให้เกิดการจัดการตนเองได้
พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา หรือฉายาเจ้าหญิงสันติสุขชายแดนภาคใต้ เลขานุการคณะกรรมาธิการการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติและสาธารณภัย สภาผู้แทนราษฎร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย (หมอเพชรดาว ทายาทนักการเมืองดังปัตตานี เด่น โต๊ะมีนา-พัชราภา ฤทธิเดช) กล่าวแสดงความชื่นชม สสส.และภาคีเครือข่ายที่สามารถขยายพื้นที่การขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพมายังสามจังหวัดชายแดนใต้ โดยคาดหวังว่าเมื่อหลักสูตรดังกล่าวผ่านการทดลองในพื้นที่นำร่อง จนกระทั่งเห็นผลลัพธ์ที่เปลี่ยนแปลงในเชิงสถิติหรืออัตราการคลอดของแม่วัยรุ่นที่ลดลงแล้ว จะสามารถนำไปสู่การต่อยอดการแก้ไขปัญหาในระดับจังหวัด และในระดับเขตสุขภาพที่ 12 ซึ่งประกอบไปด้วย จังหวัดสงขลา สตูล ตรัง พัทลุง ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ทั้งนี้การจะแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพควรคำนึงหลายๆ มิติ ทั้งมิติของศาสนาและสภาพความเป็นจริงของวัยรุ่นยุคใหม่ ดังนั้นคนที่ทำงานเรื่องนี้จึงต้องคิดหาเทคนิคและกลยุทธ์การสื่อสารต่างๆ ที่มีประสิทธิภาพในการเข้าถึงการเปลี่ยนด้านความคิดและพฤติกรรมของเด็กและเยาวชนได้
พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา จบปริญญาวิทยาศาสตร์บัณฑิต วิทยาศาสตร์การแพทย์และแพทยศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยแห่งชาติมาเลเซีย ประกาศนียบัตรโรคผิวหนังจาก St John’s Institute of Dermatology มหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ ประกาศนียบัตรชั้นสูงทางจิตวิทยาจากสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ก่อนจะลาออกจากตำแหน่ง ผอ.ศูนย์สุขภาพจิตที่ 12 ดูแลพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง เพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ
ในการนำเสนอการดำเนินงานพัฒนาสมรรถนะของ พชอ.ต่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ของวัยรุ่นในพื้นที่นำร่อง มีการแสดงความคิดเห็นพบว่ามีปัญหาในพื้นที่ มีสิ่งเสพติด เด็กติดเกม เด็กติดการพนัน บอลออนไลน์ เด็กติดโทรศัพท์ เมื่อพิจารณากันถึงสถาบันครอบครัว ความสัมพันธ์กับผู้ปกครอง มีปัญหาการหย่าร้าง พ่อหรือแม่เลี้ยงลูกเดี่ยว ปัญหาเด็กหนีออกจากบ้าน มีปัญหาทางเศรษฐกิจ ปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม เรียน รร.สามัญไม่ได้เรียน รร.สอนทางศาสนา ปัญหาท้องก่อนวัยอันควร ติดเพื่อน คนเพื่อนต่างเพศ
ความรู้ที่เกี่ยวกับตัวเองในการดูแลสุขภาพ เมื่อรู้ตัวว่าขาดประจำเดือนควรรีบพามาหาเจ้าหน้าที่เพื่อตรวจสุขภาพ เห็นความสำคัญในการฝากครรภ์ ให้มาตามนัดหมาย ปฏิบัติตัวในขณะท้องและหลังคลอดได้อย่างถูกต้อง ขณะเดียวกันผู้ปกครองควรทราบช่วงอายุที่ลูกท้องได้รับวัคซีน เห็นความสำคัญของการฉีดวัคซีนเพื่อมาตามนัดหมาย เปิดใจรับฟังคำแนะนำ
ครอบครัวมีบทบาทสำคัญในการร่วมมือและช่วยกันดูแลสุขภาพของบุคคลในครอบครัวของทุกคน มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเรื่องสุขภาพของแต่ละครอบครัว ครอบครัวต้องช่วยกันสอดส่องดูแลสมาชิกภายในบ้านเพื่อไม่ให้บุตรหลานมีพฤติกรรมที่เสี่ยง ขณะเดียวกันภายในชุมชนก็ต้องใช้มาตรการในชุมชนดูแลห้ามสูบบุหรี่ภายในมัสยิด ผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชนต้องให้ความร่วมมือกันจัดการปัญหา
เนื่องจาก จ.นราธิวาสเป็นหนึ่งใน จ.ชายแดนใต้สุดของประเทศไทย มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศมาเลเซีย ตั้งอยู่บนชายฝั่งทะเลตะวันออกของแหลมมลายู อ.บาเจาะเป็นอำเภอหนึ่งของ จ.นราธิวาส อ.บาเจาะมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 8 แห่ง มีคำขวัญ “ปาโจแดนดินถิ่นสาวสวย สุดร่ำรวยสีทองอันสดใส มัสยิดโบราณแหล่งรวมใจ เลื่องลือไกลหลวงพ่อแดงแรงศรัทธา”
อนึ่ง คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) อ.รามัน จ.ยะลา ข้อมูลทั่วไป อ.รามัน 16 ตำบล 90 หมู่บ้าน รพ.สต. 16 แห่ง ประชากร 83,300 คน เป็นชายจำนวน 41,331 คน หญิง 41,969 คน นับถือศาสนาอิสลาม 96.68% นับถือพุทธศาสนา 3.32% ฐานข้อมูลประชากรจาก HOC วันที่ 2 ก.ย.2563.
สสส.เจาะลึกต้นทางปัญหา เหล้า-ยาเสพติด ลดท้องไม่พร้อม3จังหวัดชายแดนใต้
นับตั้งแต่มีการใช้ พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559 และยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2560-2569 ทำให้อัตราการคลอดของวัยรุ่นไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อเจาะตัวเลขรายจังหวัด พบว่าวัยรุ่นหญิงอายุ 15-19 ปี 1,000 คน อันดับ 1 คือ จ.ตาก (47.4) อันดับ 2 จ.นครนายก (47.1) อันดับ 3 จ.ระยอง (45.9) ในขณะที่พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ใน พ.ศ.2562 ที่ยะลา 28.5 นราธิวาส 28.4 ปัตตานี 23.5 จ.นครศรีธรรมราช 27.0 หากคำนึงถึงเป้าหมายการลดอัตราการคลอดในวัยรุ่น (อายุ 15-19 ปี) ให้เหลือไม่เกิน 25 คน:วัยรุ่นหญิง 1,000 คนในปี 2569 มีเพียง จ.ปัตตานีที่อัตราการคลอดของวัยรุ่นอายุ 15-19 ปีลงมาอยู่ในเกณฑ์ของประเทศแล้ว
ปัจจัยสำคัญของการตั้งครรภ์ของวัยรุ่นเกิดจากตัววัยรุ่นเองมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกัน เนื่องจากใช้แอลกอฮอล์และสารเสพติด การไม่ได้รับรู้เกี่ยวกับอนามัยเจริญพันธุ์ การเข้าไม่ถึงอุปกรณ์คุมกำเนิด อีกทั้งยังมีปัจจัยจากความยากจน ขาดโอกาสทางการศึกษา มีข้อสังเกตว่าพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้มีความแตกต่างกันด้วยหลักการทางศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องในการจัดการความสัมพันธ์ระหว่างวัยรุ่นหญิงและชาย เพื่อการป้องกันไม่ให้เกิดการชีนา (การละเมิดประเวณี)
จากการทำงานของสายด่วน 1663 สายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม ได้รับการสนับสนุนจาก สสส. พบว่ามีผู้โทร.เข้ามาขอคำปรึกษาเรื่องท้องไม่พร้อมสูงขึ้นทุกปี สถิติปี 2558-2561 มีผู้ขอรับคำปรึกษาเรื่องท้องไม่พร้อม 50,926 ราย เป็นเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 20 ปี 16,497 ราย หรือร้อยละ 32.40 ของผู้รับบริการทั้งหมด จำนวน 7,099 ราย หรือร้อยละ 43.03 ของเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 20 ปี ระบุว่าการตั้งครรภ์เป็นอุปสรรคต่อการศึกษา
ในปี 2564 การขับเคลื่อนแผนงานสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ เน้น 2 ประเด็นหลักที่มีผลกระทบสูงต่อสุขภาวะประชากรไทย สอดคล้องกับนโยบายของรัฐ และตอบสนองการบรรลุเป้าหมายระยะ 10 ปีของ สสส. 1.ป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น และ 2.ป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ทั้งนี้จะต้องมีการปรับปรุงและออกแบบการดำเนินงานให้มีบูรณาการทำงานร่วมกัน ด้วยการสนับสนุนทางเลือก การเข้าถึงถุงยางอนามัย การคุมกำเนิดชนิดอื่นๆ เน้นการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย มีระบบรองรับแม่วัยรุ่นอย่างเป็นระบบ เมื่อท้องต้องได้เรียน ได้รับการดูแล มีบ้านพักฉุกเฉิน คุ้มครอง เพื่อรักษาสิทธิของตัวเอง
พื้นที่ อ.เมืองปัตตานี จ.ปัตตานี สถานการณ์การตั้งครรภ์วัยรุ่นในพื้นที่ อัตราการคลอดของหญิงอายุ 15-19 ปีในปี 2562 จำนวน 26 ราย คลอดซ้ำ 4 ราย หญิงตั้งครรภ์มีการฝากครรภ์ก่อน 12 สัปดาห์ จำนวน 16 ราย พบภาวะโลหิตจางในหญิงตั้งครรภ์ จำนวน 3 ราย หญิงตั้งครรภ์ได้รับการดูแลก่อนคลอด 5 ครั้ง จำนวน 13 ราย ทารกแรกคลอดน้ำหนักต่ำกว่า 2,500 กรัม จำนวน 3 ราย
พื้นที่ อ.เมืองปัตตานีเป็นที่ตั้งของสถานศึกษา มีหอพัก นศ. บ้านเช่า รีสอร์ตมากมายรอบบริเวณสถานศึกษา ผู้เข้าพักส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่น นักศึกษามาเช่าห้องพักอยู่ด้วยกัน สาธารณสุข อ.เมืองปัตตานีรับผิดชอบกลุ่มเป้าหมาย วัยรุ่นที่ตั้งครรภ์และยังไม่ตั้งครรภ์ ในระบบและนอกระบบการศึกษา และครัวเรือนที่มีวัยรุ่น เน้นทำงานป้องกันและเยียวยา ป้องกันการตั้งครรภ์และป้องกันการตั้งครรภ์ซ้ำอีก มี ต.รูสะมิแล (6 หมู่บ้าน) นำร่องขับเคลื่อนงานและขยายไปยังตำบลอื่นๆ ด้วย มุ่งเน้นสื่อสารไปยังผู้ปกครอง โรงเรียน ที่พัก ศาสนา วิถีชีวิต เพิ่มช่องทางการสื่อสารเข้าถึงเพจวัยรุ่น พัฒนาหลักสูตรเพศวิถีด้วยบริบททางศาสนาอิสลาม และเสริมสร้างทักษะชีวิตเพื่อการตั้งครรภ์ที่มีคุณภาพ
พื้นที่ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี มีหญิงวัยเจริญพันธุ์ 6,365 คน มีการตั้งครรภ์วัยรุ่นในช่วงอายุ 15-19 ปี จำนวน 58 คน (คลอดที่ รพ.) หญิงอายุ 10-14 ปี จำนวน 3,578 คน มีการตั้งครรภ์จำนวน 4 คน หญิงอายุต่ำกว่า 20 ปี ตั้งครรภ์ซ้ำจำนวน 6 คน ที่ ต.ตาแกะมีการคลอดในหญิงอายุน้อยกว่า 20 ปี จำนวน 7 ราย มีการตั้งครรภ์ซ้ำ ส่วนใหญ่เป็นหญิงตั้งครรภ์ที่ย้ายมาจากที่อื่น เพราะความไม่พร้อมจากการตั้งครรภ์ เนื่องจากถูกพ่อแม่บังคับให้แต่งงานตามหลักศาสนา เพื่อป้องกันการทำบาปที่เกิดขึ้นของหญิงชายที่อยู่ด้วยกัน
ที่ ต.บางปู มี 3 หมู่บ้าน 8 ชุมชน เยาวชนอายุ 10-24 ปี แบ่งเป็น ชาย 937 คน หญิง 882 คน วัยรุ่นตั้งครรภ์ในช่วงอายุ 15-19 ปีในปี 2563 จำนวน 6 ราย พบการตั้งครรภ์ซ้ำในปี 2562 จำนวน 2 ราย สาเหตุพ่อแม่ออกไปทำงาน ในช่วงกลางคืนไม่มีกิจกรรมฮาลาเกาะ (กิจกรรมให้ความรู้เรื่องหลักศาสนา) แต่เดิมเคยมีการจัดกิจกรรมฮาลาเกาะประจำมัสยิด
การแก้ไขปัญหาที่ ต.ตาแกะ ปลดล็อกประเด็นทางเพศและหลักการศาสนา อบรมคุณธรรม จริยธรรม การประพฤติผิดหลักศาสนา (ชีนา) การอยู่ด้วยกันโดยไม่แต่งงานถือเป็นบาปใหญ่ การส่งเสริมให้มีเพศสัมพันธ์ถูกหลักศาสนา ต้องทำการนิกะฮ์ตามหลัก การแก้ไขปัญหาที่ ต.บางปู มีศูนย์พัฒนาศักยภาพเยาวชนกลุ่มวัยรุ่นบางปู ภายใต้ฐานคิดขับเคลื่อน “พี่ช่วยน้องภายใต้ร่มมัสยิด” ส่งเสริมการศึกษา พัฒนาศักยภาพ จัดการสิ่งแวดล้อมและกีฬา การสร้างอาชีพ สร้างมัคคุเทศก์ สหกรณ์ออมทรัพย์ กิจกรรมฮาลาเกาะ พี่ ม.ปลายอดูแลน้อง ม.ต้น เยาวชนดูแลเยาวชน ผลักดันเด็กอุดมศึกษาเป็นกรรมการศูนย์ฯ การให้ความรู้กลุ่มสตรี แม่เปิดโอกาสให้แม่วัยรุ่นได้ใช้ความสามารถ
พื้นที่ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส วัยรุ่นอายุไม่เกิน 20 ปีตั้งครรภ์จำนวน 4 ราย ปัญหาเนื่องจากเศรษฐกิจ พ่อแม่ทำงานจนไม่มีเวลาดูแลลูก ฐานะยากจน เด็กไม่ได้เรียนหนังสือ เด็กบางคนเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด ดังนั้นต้องสร้างจิตสำนึกให้เด็กเป็นคนดี ห่างไกลยาเสพติด ดำเนินชีวิตตามหลักศาสนาอิสลาม พชอ.บาเจาะเน้นการสร้างวัยรุ่นคุณภาพขับเคลื่อนด้วย 3H Heart ทำงานด้วยหัวใจเพื่อนมนุษย์ Head ทำงานด้วยความรู้ และ Hand การลงมือทำ ดำเนินงานในระดับต้นน้ำ ทำกิจกรรมร่วมกับโรงเรียนและชุมชน สร้างแกนนำในโรงเรียน พัฒนาทักษะชีวิตกลางน้ำ ให้เกิดการตั้งครรภ์คุณภาพ คัดกรองความพร้อมในการตั้งครรภ์และคัดกรองการพิการแต่กำเนิด ปลายน้ำ ดูแลเด็ก แม่ของเด็ก และครอบครัว เพื่อลูกเกิดรอด แม่ปลอดภัย
ทีม พชอ.บาเจาะเลือก ต.บาเระใต้ เป็นพื้นที่นำร่อง มีภาคีร่วมขับเคลื่อนระดับตำบล กำนัน ต.บาเระใต้จัดเวทีให้กลุ่มวัยรุ่นชายหญิงพูดคุยแลกเปลี่ยน สื่อสาร จัดกิจกรรม การแข่งขันกีฬาช่วงเทศกาล ดูแลกลุ่มเพศทางเลือก อบต.บาเระใต้ จัดอบรมให้ความรู้ ทักษะการปฏิเสธเพศตรงข้าม อบรมเรื่อง พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นร่วมกับสาธารณสุขอำเภอ
พื้นที่ อ.รามัน จ.ยะลา มีอัตราการคลอดหญิงอายุ 10-14 ปี 0.27 ต่อแสนประชากร อัตราการคลอดในหญิงอายุ 15-19 ปี คิดเป็น 9.36 ต่อแสนประชากร อัตราการตั้งครรภ์ซ้ำในหญิงอายุต่ำกว่า 20 ปี คิดเป็นร้อยละ 24.32 เกินกว่าเกณฑ์เป้าหมาย และอัตราคุมกำเนิดในหญิงอายุน้อยกว่า 20 ปี ร้อยละ 13.16 ต่ำกว่าเกณฑ์เป้าหมายที่ร้อยละ 80 สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น เกิดจากพัฒนาการทางอารมณ์และสภาพจิตใจที่ส่งผลมาจากปัญหาครอบครัว การใช้สารเสพติด การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน
ที่ ต.โกตาบารูเป็นพื้นที่นำร่องในการป้องกันการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น เป็น 1 ใน 5 ตำบลที่ได้รับการคัดเลือก การตั้งครรภ์ของวัยรุ่นที่นี่ ประชากรอายุ 15-19 ปี จำนวน 352 คน ชาย 187 คน หญิง 165 คน วัยรุ่น 15-19 ปีคลอด 3 คนในปี 2562 ไม่มีการตั้งครรภ์ซ้ำ หญิงตั้งครรภ์นำมาฝากครรภ์ก่อน 12 สัปดาห์ จำนวน 48 คน หญิงตั้งครรภ์ได้รับการดูแลก่อนคลอด 5 ครั้ง จำนวน 41 คน ทารกคลอดน้ำหนักต่ำกว่า 2,500 กรัม จำนวน 6 คน
สถานที่เสี่ยงเด็กวัยรุ่นเข้าไปรวมกลุ่มในสวนสาธารณะ ปัญหาเด็กแว้นบนถนนใหญ่ พชอ.รามันดำเนินงานในสถานศึกษา สอนเพศวิถีศึกษาหรือหลักสูตรใกล้เคียง จัดกิจกรรมป้องกันด้านพฤติกรรมเสี่ยงด้านสุขภาพ บุหรี่ สุรา สารเสพติด สถานบริการสาธารณสุข โรงพยาบาล จัดบริการสุขภาพที่เป็นมิตรสำหรับวัยรุ่นและเยาวชนที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน YFHS ในส่วน รพ.สต.มีข้อมูล แผนงาน กิจกรรมป้องกันการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น การบริการเชิงรุก
แหล่งข้อมูล : โครงการพัฒนาหลักสูตรการเสริมสร้างสมรรถนะ คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) ต่อการขับเคลื่อนงานป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น กรณีสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ จ.นครศรีธรรมราช.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |