กอ.รมน.ภาค 4 สน.ร่วมเฝ้าระวัง 6 เดือน เซฟตี้โซนเจาะไอร้อง พิสูจน์ตัวจริงเข้าร่วมพูดคุยสันติสุข ด้านหน่วยข่าวห่วงช่วงรอยต่อเข้าโรดแมปสันติสุขปี 63เยาวชนขยายแนวคิดผ่านโซเชียลมีเดีย สั่งเฝ้าระวังพบนักศึกษา 2 สถาบันกลางกรุงโพสต์โหมไฟใต้ ขณะที่ประธานสมาพันธ์ครูชายแดนใต้เรียกร้องเข้มรักษาความปลอดภัยครู หลังชีวิตแล้ว 184 คน
เมื่อวันที่ 8 พ.ค. ที่ค่ายสิรินธร จ.ยะลา พ.อ.วัฒนา กรมขันธ์ รองผู้อำนวยการศูนย์สันติวิธี กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) กล่าวถึงกรณีกำหนด อ.เจาะไอร้อง เป็นพื้นที่ปลอดภัยหรือเซฟตี้โซนว่า เป็นเพียงแนวคิดที่จะต้องมีอำเภอนำร่อง 1 อำเภอ เพื่อสร้างความปลอดภัย จึงมีการคิดว่าน่าจะลองใช้พื้นที่ อ.เจาะไอร้อง เพื่อดูเหตุการณ์ก่อน ส่วนการปฏิบัติยังคงใช้กำลังปกติ และกำลังจากภาคประชาชน ซึ่งต้องดูว่าจากนี้ไปอีก 6 เดือนจะมีอะไรเพิ่มเติมหรือไม่ โดยเริ่มตั้งแต่ปลายเดือนเม.ย.แบ่งเป็น 2 ช่วง คือ 3-6 เดือนแรก จะเป็นขั้นตอนการเตรียมพื้นที่ และช่วงหลัง 6 เดือน เป็นขั้นตอนนำไปสู่เป้าหมายการกำหนดเป็นพื้นที่ปลอดภัย
พ.อ.วัฒนากล่าวว่า แนวคิดกำหนด อ.เจาะไอร้องเป็นพื้นที่เซฟตี้โซน เราจะดูแลรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวดในทุกเรื่อง และเมื่อครบกรอบเวลาที่กำหนด จะเพิ่มเติมมาตรการต่างๆ ลงไปอย่างเต็มที่ ส่วนจะลดการก่อเหตุความรุนแรงเป็นศูนย์ได้หรือไม่นั้น ต้องเข้าใจว่าพื้นที่ดังกล่าวกำหนดขึ้นเพื่อแสดงความไว้วางใจทั้ง 2 ฝ่าย ในส่วนของรัฐ จะต้องไม่นำกำลังทหารหรือดำเนินการใดๆ เพื่อก่อให้เกิดปัญหา ในขณะที่กลุ่มผู้เห็นต่างจะต้องไม่ให้เกิดเหตุการณ์ใดๆ ด้วยเช่นกัน
ส่วนเหตุการณ์ทั่วไป ต้องสามารถพิสูจน์ทราบได้ แม้ว่าจะมีแนวคิดให้ อ.เจาะไอร้องเป็นพื้นที่เซฟตี้โซน แต่การดูแลรักษาความปลอดภัยยังคงจำเป็นต้องอาศัย พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 และ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ถือเป็นคนละส่วนกัน ทั้งนี้ พื้นที่นำร่องจะมาจากการกำหนดของคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น ซึ่งต้องนำไปทดลองก่อน
"กระบวนการพูดคุยอยู่ในขั้นตอนการสร้างความไว้วางใจ รวมถึงประชาชนทุกหมู่เหล่า และขณะนี้มีกลุ่มผู้เห็นต่างหลายกลุ่ม ยืนยันว่าเป็นตัวจริงเสียงจริง สามารถควบคุมการปฏิบัติการในพื้นที่ได้ ซึ่งเรื่องดังกล่าวหากขยายเวลาการพูดคุยออกไป จะทำให้เราเห็นว่ากลุ่มไหนเป็นตัวจริง กลุ่มไหนมีผลประโยชน์แอบแฝง ซึ่งยังต้องพิสูจน์กันต่อไป" พ.อ.วัฒนากล่าว
ขณะที่ พ.อ.สุภกิจ รู้หลัด รองผู้อำนวยการสำนักข่าว กอ.รมน.ภาค 4 สน. กล่าวว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงในห้วงที่จะเข้าสู่โรดแมปที่ 3 ในขั้นตอนการสร้างสันติสุข ที่ตั้งเป้าหมายไว้ในปี 2563 ถือเป็นช่วงรอยต่อ คือการที่ขบวนการก่อความไม่สงบจะใช้กลุ่มเครือข่ายเยาวชน เพื่อกระจายข่าวผ่านโซเชียลมีเดีย ที่อาจขยายผลก่อความรุนแรง โดยการข่าวพบว่าใน กทม.มีเยาวชนใน 2 สถาบันการศึกษาที่ต้องเฝ้าระวังใช้เป็นพื้นที่ปลุกระดมแนวร่วมและยังพบข้อมูลการโพสต์โซเชียลฯ ในเยาวชนในพื้นที่สามจังหวัดใช้ภาคใต้ หรือกลุ่ม Permas ซึ่งเป็น 1 ใน 28 กลุ่มเฝ้าระวัง โดยต้องใช้ยุทธวิธีทางด้านการข่าวที่ไม่เปิดเผยเข้าไปสร้างความเข้าใจกับเยาวชน เพราะไม่มีหลักฐานชี้ชัดในแง่ตัวบุคคลที่จะเรียกมาปรับทัศนคติ
พ.อ.สุภกิจกล่าวต่อว่า ส่วนความเป็นห่วงที่กลุ่มไอเอสจะใช้ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อขยายเครือข่ายนั้น ยืนยันว่าเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากเป้าหมายกลุ่มไอเอส คือตั้งรัฐอิสลาม และขณะนี้ก็มีการแบ่งแยกออกเป็นหลายกลุ่ม ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวคนไทยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาตใต้เข้าไปเกี่ยวข้องนั้น จากการตรวจสอบพบว่าเป็นการโพสต์ในเฟซบุ๊กเท่านั้น ยืนยันว่าประเทศไทยไม่ใช่พื้นที่สนับสนุน และไอเอสไม่มีโอกาสเข้ามาอิทธิพลเหนือ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ เนื่องจากเจ้าหน้าที่รัฐดูแลพื้นที่อย่างเข้มข้น
ด้าน พล.ต.วัลลภ ฐิติกุล รองแม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวถึงการดูแลแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า ขณะนี้คนในพื้นที่จังหวัดชายแดนยังใช้ชีวิตปกติ แต่ละวันมีคดีความมั่นคงเกิดขึ้นไม่มาก หรือเรียกได้ว่าน้อยมาก เพราะเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงและฝ่ายพลเรือนร่วมกันดูแลพื้นที่อย่างเข้มงวด เราทำงานร่วมกันอย่างเข้มข้น เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในพื้นที่ ประชาชนสามารถทำมาหากินได้ และลูกหลานได้รับการศึกษาอย่างดี ส่วนกรณีที่มีกระแสต่อต้านการแบ่งพื้นที่หมู่บ้านจุฬาภรณ์ 12 อ.สุคิริน จ.นราธิวาส ให้กลุ่มคนที่เข้าร่วมโครงการพาคนกลับบ้านนั้น เบื้องต้นเรื่องนี้ยังเป็นแนวความคิด แต่เหตุผลที่มีการเสนอหมู่บ้านจุฬาภรณ์ 12 นั้น เพราะมีพื้นที่เพียงพอ ส่วนใหญ่เป็นคนแก่ที่น่าสงสาร และเป็นคนไทยทั่วไปที่เคยหวาดระแวงเจ้าหน้าที่รัฐที่ไปอยู่ต่างถิ่น วันนี้รัฐมีช่องทาง ก็อยากกลับมาเพื่อออกบัตรเป็นคนไทย แต่เมื่อมาแล้วไม่มีที่ทำกิน และจะให้อยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี ไปตลอดก็ไม่ได้ เราต้องมีมาตรการดูแล และลูกหลานต้องได้รับการศึกษา ทั้งนี้เราต้องเห็นใจซึ่งกันและกัน
พ.อ.ธนาวีย์ สุวรรณรัฐ หัวหน้าศูนย์ประชาสัมพันธ์ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) กล่าวถึงการดำเนินงานในโครงการพาคนกลับบ้านว่า ในปี 61 พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 มีนโยบายคือไม่เน้นปริมาณ แต่เน้นคุณภาพ เพราะต้องการคนที่เป็นตัวจริงเสียงจริงเท่านั้น ซึ่งปัจจุบัน กองทัพภาคที่ 4 มีบัญชีรายชื่อผู้ก่อเหตุความรุนแรง จำนวน 7,300 คน แยกตามการกระทำความผิด 2 ลักษณะ คือกลุ่มมีหมาย ป.วิอาญา และกลุ่มสนับสนุนที่ถือเป็นกลุ่มเฝ้าระวัง ส่วนกลุ่มที่เข้าโครงการพาคนกลับบ้าน แบ่งเป็นเป้าหมายทั่วไป คือผู้ต้องหาที่กระทำความผิดสร้างความรุนแรงในประเทศ จำนวน 288 คน และกลุ่มนอกประเทศที่หลบหนีออกนอกประเทศไปเมื่อ 20-30 ปีแล้ว เพราะหวาดระแวงเจ้าหน้าที่รัฐ จำนวน 228 คน
พ.อ.ธนาวีย์กล่าวต่อว่า มีการคัดเลือกแล้ว เหลือเพียง 224 คน จากนั้นมีการฝึกอาชีพ พัฒนาคุณภาพชีวิต และจัดหาที่อยู่อาศัยถาวร รวมถึงพื้นที่ทำกินให้ ซึ่งตอนนี้มีคนยืนยันให้รัฐช่วยแล้วจำนวน 105 คน โดยเบื้องต้นรัฐมีแนวคิดใช้พื้นที่หมู่บ้านจุฬาภรณ์ 12 ส่วนที่เหลือจะกลับไปอาศัยบ้านญาติของตนเอง อย่างไรก็ตาม ขณะนี้แม่ทัพภาคที่ 4 ได้ตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาในเรื่องนี้ เนื่องจากมีกระแสข่าวคนในพื้นที่ต่อต้าน เพราะมีความเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัย แต่คนที่จะไปอยู่นี้มีแต่คนแก่และเด็ก และตอนนี้ยังไม่ได้ไปอยู่จริง
ที่ปัตตานี นายบุญสม ทองศรีพลาย ประธานสมาพันธ์ครูชายแดนใต้ กล่าวถึงการดูแลรักษาความปลอดภัยในช่วงเปิดเทอมว่า ขณะนี้ทั้งปัตตานี ยะลา นราธิวาส ได้ทยอยกันประชุมเกี่ยวกับมาตรการรักษาความปลอดภัยของแต่ละจังหวัดแล้ว สำหรับรูปแบบการกำหนดมาตรการในการรักษาความปลอดภัยทางครูเห็นว่าที่ผ่านมาทำให้สถานการณ์ลดลง เรื่องความปลอดภัยของบุคลากรทางการศึกษาดีขึ้น ทำให้มีความมั่นใจในมาตรการรักษาความปลอดภัย
อย่างไรก็ตาม การรักษาความปลอดภัยครู ถึงแม้นว่าสถานการณ์ปกติ แต่ขอให้ทางจังหวัด อำเภอ มีมาตรการสอดคล้องกัน มีการประชุมการทำงานในทิศทางเดียวกัน และปฏิบัติการอย่างต่อเนื่อง โดย 1.เรื่องการรับ-ส่งบุคลาการทางการศึกษาเข้ามาในโรงเรียนที่เป็นพื้นที่เสี่ยงภัย 2.ดูแลครูอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงที่มีกิจกรรม โดยสมาพันธ์ครูชายแดนใต้จะมีการประเมินอย่างต่อเนื่อง ขอให้เจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติอย่างจริงจังต่อเนื่องเหมือนที่ผ่านมา
ประธานสมาพันธ์ครูชายแดนใต้กล่าวด้วยว่า ปี 61 ทางคณะครูมีความมั่นใจต่อมาตรการรักษาความปลอดภัยในส่วนของครูนั้น ตนได้กำชับให้ครูฟังมาตรการรักษาความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่อย่างเข้มงวดเช่นกัน ส่วนทางโรงเรียน ต้องให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลเพื่อเพิ่มความเข้มข้นในการดูแลรักษาความปลอดภัย สำหรับที่ผ่านมา ครูเสียชีวิตแล้ว 184 คน ซึ่งทางสมาพันธ์ครูชายแดนใต้ยังคงต้องการการเยียวยา ทายาทของครูผู้เสียชีวิตที่ต้องการให้รัฐช่วยเหลือ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |