DTAC- TRUE เตรียมเปิดให้บริการคลื่นความถี่ ย่าน 700 MHz


เพิ่มเพื่อน    

24 ธ.ค. 2563 นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รักษาการแทน เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่า ใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ ย่าน 700 MHz ของบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด เริ่มตั้งแต่วันที่ 24 ธ.ค. 2563 และบริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ตั้งแต่วันที่ 27 ธ.ค. 2563 ก่อนระยะเวลาที่กำหนดไว้ตามประกาศสำนักงาน กสทช. เรื่อง การอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคม ย่าน 703 – 733 / 758 – 788 MHz (ฉบับที่ 3) ที่กำหนดไว้เป็นวันที่ 15 ม.ค. 2564 เพื่อให้สอดคล้องกับการเคลื่อนย้าย MUX ของผู้ให้บริการกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ซึ่งเป็นผู้ที่ใช้คลื่นความถี่ย่าน 700 MHz เดิม ซึ่งเมื่อ DTAC และ TRUE เปิดให้บริการกิจการโทรคมนาคมบนคลื่นความถี่ย่าน 700 MHz ก่อนวันที่ 15 ม.ค. 2564 อาจทำให้การให้บริการโทรคมนาคมภายใต้คลื่นความถี่ดังกล่าวของ DTAC และ TRUE นั้น ผู้ใช้บริการอาจจะยังไม่สามารถใช้งานคลื่นความถี่ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพในบางพื้นที่ (ได้แก่ ภาคกลาง ภาคตะวันตก และภาคตะวันออก) เนื่องจากอยู่ระหว่างการปรับปรุงหรือปรับเปลี่ยนอุปกรณ์โทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล โดยจะสามารถใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพในทุกพื้นที่ หลังจากวันที่ 15 ม.ค. 2564 เป็นต้นไป ระหว่างนี้ บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด และบริษัท ทรู มูฟ เอชยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด จะต้องประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใช้บริการของตนทราบเงื่อนไขของการให้บริการดังกล่าว เพื่อประกอบการพิจารณาใช้บริการของบริษัท

นายชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า “ดีแทคให้ความสำคัญในการเชื่อมต่อการใช้งานของลูกค้า โดยความต้องการใช้งานดาต้าเพิ่มสูงขึ้นเกือบเท่าตัวในปีนี้ เราดำเนินการเร่งขยายคลื่น 700 MHz เพื่อการใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงบนมือถือของลูกค้าทั่วประเทศ”

ทั้งนี้ คลื่นความถี่ต่ำ 700 MHz จะเพิ่มสัญญาณอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงครอบคลุมพื้นที่มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล และอาคารสูงสำหรับพื้นที่ในเมือง กล่าวคือ คลื่น 700 MHz จะเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการนอกเหนือจากความสำเร็จที่ดีแทคได้เปิดให้บริการบนคลื่น 2300 MHz ของทีโอที พร้อมเร่งขยาย Massive MIMO เทคโนโลยีความเร็วสูงอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ใช้งานหนาแน่นทั่วประเทศให้รับส่งข้อมูลดีขึ้นถึง 3 เท่า อีกด้วย

นายจักรกฤษณ์ อุไรรัตน์  ผู้อำนวยการด้านรัฐกิจสัมพันธ์ บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น  ได้นำเงินค่าประมูลงวดที่ 1 จำนวน 1,881.488 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว) พร้อมกับหนังสือค้ำประกันจากสถาบันการเงินเพื่อค้ำประกันการชำระเงินค่าคลื่นความถี่ในส่วนที่เหลือวงเงิน 16,933.392 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) มาชำระให้กับสำนักงาน กสทช. ตามเงื่อนไขของการชำระเงินประมูล โดยเงินค่าประมูลดังกล่าว สำนักงาน กสทช. จะรีบนำส่งกระทรวงการคลังเพื่อเป็นรายได้ของแผ่นดินต่อไป

ทั้งนี้ ทรู 5G พร้อมเพิ่มสัญญาณบริการ 5G บนคลื่นความถี่ 700 MHz ทันทีหลังได้รับใบอนุญาตฯ ในพื้นที่ที่ กสทช. ได้ดำเนินการปรับปรุงสัญญาณทีวีดิจิทัลเพื่อใช้ในงานด้านโทรคมนาคมแล้ว ได้แก่ กรุงเทพฯและปริมณฑล ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ซึ่งจะทำให้ ทรูมูฟ เอช เป็นผู้ให้บริการรายเดียวในไทยที่มีคลื่นย่านความถี่ต่ำครบทั้ง 3 ย่านความถี่ คือ 700 MHz, 850 MHz และ 900 MHz เพิ่มศักยภาพการให้บริการที่ครอบคลุมและสามารถทะลุทะลวงเข้าถึงภายในอาคารได้ดีกว่า ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อผสานการให้บริการบนคลื่นครบทั้ง  7 ย่านความถี่ โดยเฉพาะคลื่น 2600 MHz ที่เปิดให้บริการ ทรู 5G อยู่แล้ว จะช่วยเสริมความเร็วแรงตอบโจทย์ทุกรูปแบบการใช้งาน พร้อมมอบประสบการณ์การใช้งาน 5G ที่ดีที่สุดให้แก่ลูกค้า อีกทั้งยังเสริมให้บริการ 3G และ 4G ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นอีกด้วย 
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"