นายกฯ หัวโต๊ะถก 4 หน่วยงานเศรษฐกิจ เคาะกรอบงบปี 65 วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท กู้ชดเชยขาดดุล 7 แสนล้าน ชงครม.เห็นชอบ 5 ม.ค.64 กำชับสำนักงบฯ ปรับลดรายจ่ายประจำให้เหมาะสม
ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เปิดเผยภายหลังการประชุมพิจารณากำหนดวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ว่าการประชุมคณะกรรมการฯ เป็นไปตามขั้นตอนกฎหมายเรื่องการจัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 2565 โดยนำทุกประเด็นมาหารือร่วมกัน และเมื่อวันที่ 22 ธ.ค. ได้นำเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปแล้ว และได้รับความเห็นชอบจากประชุมครั้งนี้ด้วย เพื่อที่จะเดินหน้าต่อไปในเรื่องขั้นตอนการจัดทำงบประมาณในปี 2565 ซึ่งคาดการณ์ว่าสถานการณ์น่าจะดีขึ้นในปี 2564-2565 หากเรื่องของวัคซีนยุติได้ หากสามารถเพิ่มเติมในเรื่องการค้าการลงทุน รายได้ของภาครัฐจะเพิ่มมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ช่วงนี้ต้องยอมรับว่าลดลงมากพอสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคการท่องเที่ยว ซึ่งได้ใช้งบประมาณส่วนหนึ่งไปดูแลผู้มีรายได้น้อย เกษตรกรจำนวนมากพอสมควร ฉะนั้นต้องทบทวนทั้งหมด ทั้งงบรายจ่ายการลงทุน เพราะวันนี้การลงทุนโดยภาครัฐอย่างเดียวคงไม่พอ จะต้องมีการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (พีพีพี) ในบางกิจกรรม ซึ่งได้มอบหมายให้คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ไปหาวิธีการดำเนินการเพื่อสนับสนุนให้มีการลงทุนในประเทศ หรือการลงทุนในต่างประเทศ จะได้ช่วยค่าเงินบาทไปด้วย ทั้งนี้ ศักยภาพการเงินของไทยถือว่าแข็งแกร่งมากที่สุดในขณะนี้ ทำให้เงินอยู่ในระบบจำนวนมาก ดังนั้นต้องสนับสนุนเรื่องการลงทุนไปยังต่างประเทศ เพราะวันนี้ในต่างประเทศยังมีปัญหาอยู่เหมือนกันในเรื่องการเข้า-ออก ซึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้เป็นปัญหาทั้งหมด
ด้านนายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ แถลงว่า ที่ประชุมเห็นชอบกรอบงบประมาณประจำปี 2565 ตามผลการหารือของคณะกรรมการ 4 ฝ่ายที่มีสำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) โดยมีวงเงินงบประมาณรายจ่าย 3.1 ล้านล้านบาท ลดลงจากปี 2564 จำนวน 1.859 แสนล้านบาท หรือลดลง 5.66% เป็นไปตามประมาณการจัดเก็บรายได้ที่ลดลงเหลือ 2.4 ล้านล้านบาท ภายใต้สมมุติฐานเศรษฐกิจขยายตัว 3.5%
นายเดชาภิวัฒน์กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2565 ยังมีความจำเป็นต้องกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 7 แสนล้านบาท ซึ่งรายละเอียดทั้งหมดสำนักงบประมาณจะนำเสนอที่ประชุม ครม.เห็นชอบในวันที่ 5 ม.ค.2564 โดยนายกฯ ได้มอบหมายให้สำนักงบประมาณไปดูเรื่องของงบรายจ่ายประจำที่จำเป็นต้องปรับลดลงตามความเหมาะสม แต่ต้องชั่งน้ำหนักเรื่องของการใช้เพื่อดูแลกลุ่มเปราะบางด้วย โดยเฉพาะกองทุนที่ดูแลผู้มีรายได้น้อยและผู้ด้อยโอกาสต่างๆ ตามนโยบายของรัฐบาล
สำหรับโครงสร้างงบประมาณปี 2565 มีกรอบวงเงินที่ลดลงจากปีงบประมาณก่อน ส่วนใหญ่กว่า 75% เป็นงบประจำ โดยมีกรอบวงเงินอยู่ที่ 2.354 ล้านล้านบาท ลดลงจากปีงบ 2564 ที่ตั้งเอาไว้ที่ 2.537 ล้านล้านบาท หรือ 77% ของวงเงินงบประมาณ ส่วนงบลงทุนลดลงจากปีก่อนที่มี 6.49 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 19% ของวงเงินงบประมาณรวม เหลือ 6.2 แสนล้านบาท ซึ่งยังมีสัดส่วนอยู่ภายใต้กรอบ 20% ของวงเงินงบประมาณรวม หรือเป็นไปตามกรอบวินัยทางการเงินการคลังของประเทศ ขณะที่กรอบงบประมาณที่ใช้ชำระคืนต้นเงินกู้ได้ตั้งไว้สูงกว่าปีก่อน คือประมาณ 1 แสนล้านบาท
ผอ.สำนักงบประมาณกล่าวว่า สำนักงบประมาณมีนโยบายที่จะลดสัดส่วนวงเงินงบประจำมาโดยตลอด โดยดูผลการเบิกจ่าย และประสิทธิภาพการใช้จ่ายงบประมาณ รวมทั้งผลสัมฤทธิ์ของการใช้งบประมาณ ทั้งงบลงทุนและงบประจำ ซึ่งในปี 2565 แม้จะยังมีสัดส่วนที่สูงถึง 75% ส่วนใหญ่จะเป็นเงินเดือนข้าราชการและค่ารักษาพยาบาล ที่มีวงเงินมากถึง 1.2 ล้านล้านบาท ส่วนค่าใช้จ่ายด้านสังคมยังคงไว้ไม่ได้ปรับลด แต่จะไปดูค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่พอจะปรับลดได้ เช่น การเดินทางไปต่างประเทศ ขณะที่งบลงทุนจำเป็นต้องรักษาสัดส่วนไว้ช่วยดูแลเศรษฐกิจ ซึ่งเลขาธิการ สศช. บอกในที่ประชุมว่าขอให้ทุกรัฐวิสาหกิจเร่งลงทุนเพิ่ม
ในส่วนของงบประมาณที่ใช้สำหรับการสู้วิกฤติโควิด-19 นั้น เบื้องต้นยังมีพระราชกำหนดการกู้เงิน 1 ล้านล้านบาทที่ใช้ดูแลอยู่ ซึ่งได้มีการใช้ไปแล้วบางส่วน แต่หากมีความจำเป็นจริงๆ สามารถใช้งบกลางได้ ซึ่งกันไว้ที่ 3% ของกรอบงบประมาณรวม โดยในปีงบ 2564 ตั้งงบกลางไว้ดูแลเรื่องเกี่ยวกับโควิดไว้ที่ 4 หมื่นล้านบาท และยังมีวงเงินสำรองจ่ายในกรณีฉุกเฉินและจำเป็นอีก 9.9 หมื่นล้านบาท รวมเป็นเงินประมาณ 1.3 แสนล้านบาท.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |