นับถอยหลังอำลา2563 ส่องการเมืองร้อนปีฉลูไฟ64


เพิ่มเพื่อน    

           เข้าสู่ช่วงเตรียมนับถอยหลังอำลาปฏิทินปี 2563 กันแล้ว อันเป็นปีที่ทุกคนเห็นตรงกันว่าเป็นปีแห่งความยากลำบากของคนไทยและหลายประเทศทั่วโลก จากสงครามไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้ประชากรโลกติดเชื้อและล้มตายจำนวนมาก อีกทั้งยังส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจ-การดำเนินชีวิตของผู้คนทั่วโลก

            สำหรับปีหน้าที่จะมาถึง สภาพการเมืองไทยจะเป็นอย่างไร มีบริบทอะไรที่ต้องโฟกัสเพื่อประเมินสถานการณ์ ถึงตอนนี้พบเห็น 5 จุดสำคัญที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า ที่น่าจะมีผลต่อการเมืองไทยในภาพรวม ดังนี้

            1.ผลกระทบต่อเนื่องจากสงครามไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ

            ลำพังแค่โควิดระบาดในไทยรอบแรกช่วงมีนาคม-เมษายน ก็ยังทำให้เศรษฐกิจไทยล้มทั้งยืน และตอนนี้ก็อยู่ในช่วงกำลังเร่งฟื้นตัวที่เริ่มมีสัญญาณดีขึ้นเรื่อยๆ

            แต่พอมาล่าสุดในช่วงหลายวันที่ผ่านมา ไทยต้องมาเจอกับโควิด-19 ระบาดใหม่รอบสอง ที่มีจุดเริ่มต้นจากตลาดกลางกุ้งจังหวัดสมุทรสาคร และตอนนี้แพร่ระบาดจากแรงงานเมียนมา ไปจนพบการติดเชื้อในคนไทยที่กระจายไปหลายจังหวัด

            ประเมินสถานการณ์ ณ ตอนนี้ เห็นชัดว่าจะมีผลกระทบทางเศรษฐกิจมากพอสมควร และยิ่งหากการระบาดใหม่รอบนี้คุมสถานการณ์ได้ช้า ก็จะยิ่งทำให้เศรษฐกิจของประเทศฟื้นตัวยากขึ้นไปอีก

            การประเมินผลกระทบรอบนี้ เบื้องต้นเมื่อ 22  ธ.ค. ศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้ว่า จากการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รอบใหม่ ที่พบจำนวนผู้ติดเชื้อกระจายตัวไปยังพื้นที่ต่างๆ ในหลายจังหวัดของประเทศไทย ทางศูนย์ประเมินว่าภาคเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทยอาจได้รับความสูญเสียคิดเป็นมูลค่าราวๆ 45,000 ล้านบาท ในกรอบเวลา 1 เดือน แยกเป็น ความสูญเสียที่เกี่ยวเนื่องกับสินค้าประมงและอาหารทะเล ที่มีมูลค่ารวมกันประมาณ 13,000 ล้านบาท จากความเป็นไปได้ที่อาจจะเกิดการชะลอการบริโภคสินค้าประมงและอาหารทะเลในระยะสั้น รวมถึงผลกระทบด้านการส่งออก รวมถึงผลกระทบจากการชะลอการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ คิดเป็นเม็ดเงินที่หายไปประมาณ 17,000 ล้านบาท หรือราว 30% ของรายได้ท่องเที่ยวในช่วงเวลา 1 เดือน เป็นต้น

            อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า หากการระบาดของโควิด-19 รอบใหม่สามารถควบคุมได้ ภาครัฐมีมาตรการที่สร้างความมั่นใจให้กลับมาได้อย่างรวดเร็ว ก็มีโอกาสที่มูลค่าความสูญเสียจะต่ำกว่าตัวเลขที่ประเมินไว้ 

            และแน่นอนว่า ในทางการเมือง เมื่อประชาชนโดยส่วนใหญ่กลับมาได้รับผลกระทบจากโควิดอีก ก็ย่อมทำให้ประชาชนเกิดแรงเหวี่ยงไม่พอใจในตัวรัฐบาลตามมา โดยเฉพาะหากไม่สามารถทำให้สถานการณ์ดีขึ้นโดยเร็ว จนกลายเป็นประเด็นร้อนที่จะทำให้รัฐบาลเสียคะแนนนิยม และมีคนไม่พอใจมากขึ้น จนแสดงออกในรูปแบบต่างๆ ด้วยเหตุนี้รัฐบาลคงต้องเร่งคุมสถานการณ์ให้ได้โดยเร็ว 

            2.สถานการณ์ม็อบสามนิ้ว

            การเคลื่อนไหวของม็อบสามนิ้วที่พีกสุดช่วงตุลาคม-พฤศจิกายน ก่อนจะเริ่มแผ่วในช่วงต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ทำให้พลเอกประยุทธ์ นายกฯ หายใจคล่องขึ้น หลังก่อนหน้านี้กระแสม็อบทำเอารัฐบาลเจียนอยู่เจียนไป จนเกิดกระแสข่าวมากมาย เช่น นายกฯ ถอดใจ-ข่าวปล่อยรัฐประหาร อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ที่ผ่านมาก็ทำให้รัฐบาลและฝ่ายความมั่นคงได้เรียนรู้ในการรับมือกับม็อบฝ่ายตรงข้ามมากขึ้น ว่าจะรับมือด้วยวิธีใดเพื่อประคองสถานการณ์

            ซึ่งในปีหน้า แกนนำม็อบทั้งสายนักศึกษาและนักเคลื่อนไหวทางการเมือง บอกไว้แล้วว่าจะกลับมาอีกแน่นอน โดยระหว่างนี้แกนนำ-แนวร่วมก็อยู่ระหว่างเดินสาย ขึ้นโรงพักสู้คดีต่างๆ โดยเฉพาะคดีมาตรา 112

            เบื้องต้นมีข่าวว่า แกนนำและแนวร่วมมองว่ารูปแบบการเคลื่อนไหวในปีหน้าจะมีลักษณะเน้นการเคลื่อนที่เร็วแบบกลุ่มย่อย และนัดเคลื่อนไหวในรายประเด็น แต่จะเพิ่มดีกรีการเคลื่อนไหวให้แรงมากขึ้น โดยเน้นการนัดชุมนุมให้สอดคล้องกับสถานการณ์แต่ละช่วง รวมถึงเน้นการพยายามจะเข้าไปมีส่วนร่วมกับกลุ่มปัญหาต่างๆ เช่น กลุ่มแรงงาน เป็นต้น

            โดยคาดว่าการเคลื่อนไหวปีหน้าจะมีประเด็นอื่นๆ พ่วงเข้าไปตามสถานการณ์ นอกเหนือจากสามข้อเรียกร้องเดิม เช่น การปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยอาจมีการเพิ่มประเด็นการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการแก้ไขมาตรา 112 เป็นต้น

            3.กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

            ซึ่งขณะนี้อยู่ในชั้นคณะกรรมาธิการร่วมรัฐสภาพิจารณาร่างแก้ไข รธน. ที่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา ซึ่งก็คือร่างของพรรคร่วมรัฐบาลและฝ่ายค้าน ที่เสนอให้มีการแก้ไข รธน.มาตรา 256 ซึ่งในต้นปีหน้าเรื่องการแก้ไข รธน.น่าจะกลับมาพีกอีกรอบ เพราะ กมธ.ฯ จะต้องนำร่างที่พิจารณาเสร็จไปให้ที่ประชุมร่วมรัฐสภาโหวตเห็นชอบต่อไป ท่ามกลางความเห็นที่ยังแตกต่างกันอยู่มากในเรื่องที่มาของ ส.ส.ร.-กรอบเวลาการร่าง รธน. เป็นต้น

            4.การอภิปรายไม่ไว้วางใจ

            ที่ผ่านมากว่าหนึ่งปีกับการทำงานของพรรคร่วมฝ่ายค้านยุคปัจจุบันที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นหัวหอก กับการทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาล หลายคนเห็นตรงกันว่ายังสอบไม่ผ่าน ทั้งเรื่องประเด็นข้อมูลการอภิปรายและลีลาการอภิปรายซักฟอก สำหรับการอภิปรายไม่ไว้วางใจรอบนี้ ฝ่ายค้านโหมโรงไว้ว่าข้อมูลในหน้าตักของฝ่ายค้านจะสร้างความลำบากใจให้รัฐบาลระดับหนึ่ง และน่าจะยื่นใกล้ๆ ช่วงปิดสมัยประชุมสภาเดือนกุมภาพันธ์

            อย่างไรก็ตาม จากผลงานที่ยังไม่เข้าตา ทำให้คนไม่ค่อยให้ราคาการทำงานของฝ่ายค้านชุดนี้มากเท่าไหร่ ไม่เหมือนยุคก่อนๆ ซึ่งเท่าที่เห็นก็คาดได้ว่าประเด็นร้อนๆ ในประเทศหลายเรื่อง ฝ่ายค้านคงไม่พลาดในการนำไปซักฟอกรัฐบาล เช่น เรื่องโควิดระบาดใหม่ เป็นต้น ส่วนผลการซักฟอกจะสร้างแรงสั่นสะเทือนระดับทำให้เสถียรภาพรัฐบาลมีปัญหาตามมาหรือไม่ ดูจากสมการทางการเมืองเวลานี้ ปิดประตูไปไม่ได้เลย เพราะด้วยจำนวนเสียง ส.ส.รัฐบาลที่หมดปัญหาเสียงปริ่มน้ำมาร่วมปี มี ส.ส.มากกว่าฝ่ายค้านจำนวนมาก จึงทำให้รัฐบาลยังไงก็อยู่ได้ เพียงแต่ผลพวงการอภิปราย หากฝ่ายค้านชกเข้าเป้าก็อาจทำให้รัฐมนตรีบางคนมีปัญหาได้ 

            5.เลือกตั้งท้องถิ่น โดยเฉพาะศึกชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.

            ในปีหน้าการปลดล็อกให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นในระดับเทศบาล-อบต.ทั่วประเทศ จะเกิดขึ้นตามมาหลังการเลือกตั้ง อบจ.ที่ผ่านพ้นไป แต่การเลือกตั้งท้องถิ่นที่คนจับตามองมากสุดคงไม่พ้น "ศึกชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม." ที่คาดว่าจะขับเคี่ยวกันสนุก ทั้งผู้สมัครอิสระอย่างชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีต รมว.คมนาคม และอีกหลายคนที่กำลังซุ่มตัดสินใจ รวมถึงผู้สมัครสังกัดพรรค ที่ก็ยังไม่ชัดเจนว่าพรรคการเมืองที่มีฐานใน กทม.อย่าง ประชาธิปัตย์-พลังประชารัฐ-เพื่อไทย จะเอาอย่างไร มีการประเมินกันว่ารัฐบาลอาจปลดล็อกให้เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ในช่วงเร็วสุดก็ประมาณสิงหาคม เว้นแต่หากพลังประชารัฐมั่นใจว่ากระแสนิยมในตัวรัฐบาลมีสูง คน กทม.พอใจผลงานรัฐบาล หากพลังประชารัฐส่งคนแล้วมีสิทธิ์ชนะก็อาจให้มีการเลือกตั้งเร็วขึ้น

            การเมืองไทยปีหน้าจะมีประเด็นอะไรอื่นอีกหรือไม่ ที่จะสร้างอุณหภูมิการเมืองให้ร้อนฉ่า คงต้องรอติดตามกันต่อไป.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"