23 ธ.ค.63 - เวลา 17.42 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ไปพระราชทานน้ำหลวงสรงศพ สมเด็จพระญาณวชิโรดม (วิริยังค์ สิรินฺธโร) ณ อาคารบุญญาวาส วัดธรรมมงคลเถาบุญนนทวิหาร เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร
ในการนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงวางพวงมาลาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และพวงมาลาส่วนพระองค์ วางที่หน้าหีบศพด้วย
สมเด็จพระญาณวชิโรดม เดิมชื่อ วิริยังค์ บุญฑีย์กุล เป็นบุตรของขุนเพ็ญภาษชนารมย์ กับนางมั่น บุญฑีย์กุล (หรืออุบาสิกามั่น; ถึงแก่กรรมปี พ.ศ.2520) เกิดเมื่อวันศุกร์ แรม 13 ค่ำ เดือนอ้าย ปีวอก ตรงกับวันที่ 7 มกราคม พ.ศ.2463 (แบบสากลคือ พ.ศ.2464) ณ สถานีรถไฟปากเพรียว จังหวัดสระบุรี ต่อมาย้ายมาตั้งหลักปักฐานที่บ้านใหม่สำโรง อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา มีพี่น้อง 7 คน ได้แก่ กิมลั้ง ชูเวช, ฑีฆายุ บุญฑีย์กุล, สุชิตัง บุญฑีย์กุล, สัจจัง บุญฑีย์กุล, สมเด็จพระญาณวชิโรดม, ไชยมนู บุญฑีย์กุล, สายมณี ศรีทองสุข
สมเด็จพระญาณวชิโรดม (วิริยังค์ สิรินฺธโร) อุปสมบทเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ.2484 ขณะอายุ 20 ปี อุปสมบท ณ วัดทรายงาม บ้านหนองบัว อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี โดยพระปัญญาพิศาลเถร (หนู ฐิตปญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดปทุมวนารามราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร เป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงปู่กงมา จิรปุญฺโญ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระมหาทองสุข สุจิตโต เป็นพระอนุสาวนาจารย์ หลวงพ่อได้เดินธุดงค์ติดตามพระอาจารย์กงมาไปในที่ต่างๆ เป็นเวลา 8 ปี วันหนึ่ง พระอาจารย์กงมาพาท่านเดินธุดงค์จากจังหวัดจันทบุรีไปจังหวัดสกลนคร เพื่อไปพบพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต หลวงพ่อวิริยังค์ได้รับเลือกให้เป็นอุปัฏฐากอยู่ในพรรษา 4 ปี นอกพรรษา 5 ปี รวมเป็น 9 ปี ได้เดินธุดงค์ร่วมกับพระอาจารย์มั่น เรียนธรรมะอันลึกซึ้ง ได้จดคำสอนของหลวงปู่มั่นบางตอนไว้ (ปกติท่านห้ามผู้ใดจดเด็ดขาด เมื่ออ่านให้ท่านฟังภายหลังท่าน กลับรับรองว่าใช้ได้) ต่อมาท่านได้เผยแพร่คำสอนนี้แก่สาธารณชน ในหนังสือที่ชื่อว่า "มุตโตทัย"
การศึกษา เมื่อปี พ.ศ.2477 ขณะอายุ 13 ปี ได้บวชเป็นชีปะขาว เนื่องจากการบวชศึกษาตั้งแต่อายุยังน้อย จบชั้นประถมปีที่ 4 หลังจากนั้นบรรพชาแล้วศึกษาจบนักธรรมชั้นตรี นอกจากนั้นเป็นเวลาปฏิบัติกรรมฐาน เดินธุดงค์ตลอดระยะเวลาบรรพชาและอุปสมบท
ผลงานของท่านที่เป็นถาวรวัตถุ มีอาทิ สร้างวัด 15 แห่งในประเทศไทย สร้างวัดไทยในประเทศแคนาดา 6 แห่ง สร้างวิทยาลัยสงฆ์ 2 แห่ง สร้างสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ที่จังหวัดนครราชสีมา สร้างศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก (โครงการประทีปเด็กไทย) กว่า 5,000 แห่งทั่วประเทศ สร้างโรงพยาบาลจอมทอง สร้างพระมหาเจดีย์ที่สูงที่สุดในประเทศไทย วัดธรรมมงคลเถาบุญญนนทวิหาร สร้างพระหยกที่ใหญ่ที่สุดในโลก วัดธรรมมงคล เถาบุญญนนท์วิหาร สร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรม วัดธรรมมงคล กรุงเทพมหานคร สร้างมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ศูนย์ให้การศึกษาวัดธรรมมงคล กรุงเทพมหานคร นอกจากนี้ยังประพันธ์หนังสือไว้ส่วนหนึ่ง และได้รับปริญญากิตติมศักดิ์จากหลายสถาบัน
พ.ศ.2562 ได้รับพระราชทานโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรอง ชั้นหิรัญบัฏ ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ที่ พระพรหมมงคลญาณ ปูชนียฐานประยุต วิสุทธิญาณโสภณ โกศลวิเทศศาสนดิลก สาธกวิปัสสนาธุราทร ธรรมยุติกคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี
ต่อมาวันที่ 2 พฤศจิกายน 2563 เว็บไชต์ราชกิจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศสถาปนาสมณศักดิ์ ระบุว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดี ศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมณศักดิ์ “พระพรหมมงคลญาณ” (หลวงพ่อวิริยังค์) พระนักปฏิบัติชื่อดัง เจ้าอาวาสวัดธรรมมงคล เป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ “สมเด็จพระญาณวชิโรดม” หลวงพ่อวิริยังค์ เจ้าอาวาสวัดธรรมมงคล ละสังขารในวัย 100 ปี
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |