หนุนไทยเพิ่มผลิตภาพการผลิต


เพิ่มเพื่อน    

 

     ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ได้เปิดเผยผลวิจัย “ผลิตภาพการผลิตขององค์กรในประเทศไทย” ซึ่งพัฒนาร่วมกับกรมนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยระบุว่า หากประเทศไทยต้องการที่จะบรรลุเป้าหมายตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศโดยการเปลี่ยนจากการเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับสูง เป็นประเทศที่มีรายได้สูงได้ภายในปี 2580 และฟื้นตัวจากผลกระทบทางเศรษฐกิจของการแพร่ระบาดของโควิด-19 จำเป็นต้องเร่งปฏิรูปโครงสร้างเพื่อกระตุ้นการลงทุนและเพิ่มผลิตภาพการผลิตในกลุ่มองค์กรในภาคการผลิต โดยจะต้องรักษาอัตราการเติบโตโดยเฉลี่ยในระยะยาวให้ได้มากกว่า 5% ไปจนถึงปี 2568

                ทั้งนี้ เพื่อให้การเติบโตเป็นไปตามเป้าหมายนี้ ประเทศไทยจำเป็นที่จะต้องเพิ่มการลงทุนจากภาครัฐและเอกชนเกือบ 2 เท่าของการลงทุนในปัจจุบันให้ถึง 40% ในขณะที่ยังคงรักษาอัตราการเติบโตของผลิตภาพการผลิตรวม (Total Factor Productivity) ซึ่งคล้ายกับกรณีของประเทศเกาหลีใต้ที่ต้องรักษาการเติบโตในอัตรานี้ในช่วงที่มีค่าจีดีพีต่อหัวเท่ากับของประเทศไทยในปัจจุบัน

                “ในการยกระดับมาตรฐานการครองชีพในประเทศใดก็ตาม ต้องเน้นที่การเพิ่มผลผลิตต่อคน หรือการผลิตสินค้าและบริการให้ได้มากขึ้นตามจำนวนชั่วโมงการทำงานที่กำหนดให้ได้เป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นประเทศไทยจำเป็นต้องเร่งการปฏิรูปโครงสร้างผ่านการส่งเสริมการย้ายแรงงานจากภาคธุรกิจที่มีผลิตภาพต่ำ เช่น ภาคเกษตรกรรม ไปยังภาคธุรกิจที่มีผลิตภาพสูง เช่น ภาคการผลิต รวมทั้งการเพิ่มผลิตภาพขององค์กรที่อยู่ในภาคการผลิตจะช่วยสร้างงานและทำให้ประเทศเติบโตแบบมีส่วนร่วมได้ โดยเฉพาะในระยะฟื้นตัวหลังโควิด-19” เบอร์กิท ฮานสล์ ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย (เวิลด์แบงก์) ระบุ

                โดยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ผลิตภาพการผลิตของประเทศไทยเติบโตในเกณฑ์ต่ำ ส่งผลให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทยอยู่ในภาวะถดถอย การเติบโตของเศรษฐกิจจากระดับเฉลี่ย 4.8% ในปี 2535-2551 และลดลงเป็น 3.3% ในปี 2551-2561 ขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ทำให้ปัญหาด้านผลิตภาพการผลิตของประเทศทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น โดยมีการคาดการณ์ว่าในปี 2563 เศรษฐกิจจะหดตัวลงประมาณ 6-7% ซึ่งมีโอกาสที่เศรษฐกิจจะได้รับผลกระทบในระยะที่ยาวนานขึ้น รวมถึงผลิตภาพที่ลดลงอย่างต่อเนื่องในระยะยาว

                ขณะที่ เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก ระบุว่า การเพิ่มผลิตภาพจะเป็นส่วนสำคัญของการปฏิรูปโครงสร้างในระยะยาวของประเทศไทย โดยผลการศึกษาชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของผลิตภาพที่ต้องมุ่งเน้นให้เกิดการแข่งขันภายในประเทศมากขึ้น เปิดกว้างต่อการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) มากขึ้น และส่งเสริมระบบนิเวศให้กับองค์กรในการสร้างนวัตกรรม

                โดยรายงานของธนาคารโลก ยังได้นำเสนอข้อเสนอแนะด้านนโยบาย ซึ่งรวมไปถึงการบังคับใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การแข่งขันทางการค้าฉบับใหม่โดยมีนโยบายเกี่ยวข้องกับรัฐวิสาหกิจกำกับไว้อย่างชัดเจน การควบคุมราคาและพฤติกรรมการผูกขาดทางการค้า การส่งเสริมให้การลงทุนเปิดกว้างมากขึ้นเพื่อช่วยดึงดูดการลงทุนและการสร้างองค์กรใหม่โดยการผ่อนคลายขอบเขตการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ยกเลิกข้อจำกัดในการให้บริการ และเสริมสร้างการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา นอกจากนี้ ควรมุ่งเน้นเพิ่มทักษะให้มากยิ่งขึ้นเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของเศรษฐกิจฐานความรู้เชิงนวัตกรรม (innovative knowledge-based economy)

            อย่างไรก็ดี ประเทศไทยอาจจะถึงเวลาที่ต้องปรับตัวเพื่อรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว การปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจเพื่อหาปัจจัยใหม่ๆ ในการสนับสนุนการเติบโตในอนาคตกลายเป็นเรื่องสำคัญที่ไทยต้องเร่งดำเนินการ ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลพยายามผลักดันให้เกิดการผลิตในอุตสาหกรรมใหม่ หรือ New S-curve ซึ่งเป็นรูปแบบการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ เพื่อพัฒนาหรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบสินค้าและเทคโนโลยี ซึ่งจะกลายมาเป็นหัวใจหลักของกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยทั้งหมดต้องควบคู่ไปกับการเพิ่มผลิตภาพการผลิตด้วย.

ครองขวัญ รอดหมวน


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"