ใครที่เป็นแฟนวรรณคดีต่างประเทศ โดยเฉพาะเคยอ่านงานเขียนของลีโอ ตอลสตอย (Leo Tolstoy) นักเขียนระดับอัจฉริยะชาวรัสเซียที่เขียนเรื่องเกี่ยวกับวิถีชีวิตคนรัสเซียสมัยศตวรรษที่ 19 คงจะจำท่อนคำพูด "ฤาเราจะใช้ชีวิตผิดมาตลอด" (What if my whole life has been wrong) ได้ว่ามาจากหนังสือ "มรณกาลของอีวาน อิลิช" (The Death of Ivan ILyich) วรรณกรรมเรื่องสั้นที่ตอลสตอยเขียนปี 1886 เป็นคำพูดที่อีวานตัวเอกของเรื่องรำพึงรำพันกับตัวเองช่วงที่เขาป่วยหนักอยู่ที่บ้านก่อนตายว่า เขาอาจใช้ชีวิตผิดมาตลอดเพราะความสำเร็จที่เขาได้ทุ่มเทให้มาตลอด ไม่ว่าจะเป็นหน้าที่การงาน ฐานะในสังคม หรือความรุ่งโรจน์ของครอบครัว ดูจะไม่มีความหมายเลย เมื่อเขาต้องมานอนรอความตายอย่างทรมานด้วยโรคที่หมอรักษาไม่ได้ เป็นความว่างเปล่าที่ตัวเขาไม่เคยคาดคิดมาก่อน และไม่มีใคร ไม่ว่าจะเป็นภรรยา ลูก เพื่อน หรือหมอ ที่จะเข้าใจว่าเขาต้องการอะไรในช่วงสุดท้ายของชีวิต มีแต่กาซิม คนรับใช้จากชนบทที่มีน้ำใจต่อเขา สงสารเขา และพร้อมช่วยเขาทุกอย่างด้วยความเมตตา เพื่อให้เขารู้สึกดีขึ้นในวาระสุดท้ายของชีวิต ทำให้เขาตั้งคำถามกับตัวเองว่าที่ทำมาทั้งชีวิตนี้เพื่ออะไร อะไรคือความสำเร็จ อะไรคือชีวิต เป็นหนังสือผลงานชิ้นเอกของตอลสตอยและเป็นหนึ่งในสามงานเขียนที่ดีที่สุดของเขารองจาก สงครามและสันติภาพ (War and Peace) และอันนา คาเรนินา (Anna Karenina)
ลีโอ ตอลสตอย เกิดวันที่ 9 กันยายน คศ.1828 หรือ พ.ศ. 2371 ตรงกับรัชสมัยพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่สาม เกิดในครอบครัวฐานะดี ตอนใต้ของกรุงมอสโคว เขากำพร้าพ่อและแม่ตั้งแต่เด็ก และโตมาด้วยการเลี้ยงดูของญาติ ชีวิตวัยหนุ่มของตอลสตอยค่อนข้างระเกระกะ จนได้แต่งงานเริ่มใฝ่หาความรู้ด้วยตัวเองและเขียนหนังสือ เขาเขียนสงครามและสันติภาพ เมื่ออายุ 41 เขียนอันนา คาเรนินา ตอนอายุ 49 ซึ่งทั้งสองเล่มประสบความสำเร็จมาก ตอลสตอยมองงานเขียนไม่ใช่เป็นเพียงศิลปะ แต่ต้องเป็นสื่อที่จะทำให้มนุษย์นำสิ่งที่ดีที่สุดในตนเองออกมา เช่น ศีลธรรม และมีความเมตตา ตอนมีชีวิตอยู่ ตอลสตอยได้รับการเสนอชื่อเพื่อรับรางวัลโนเบิล สาขาวรรณกรรมถึงห้าครั้ง ช่วงปี 1902-06 และด้านสันติภาพสามครั้ง แต่ก็ไม่เคยได้รับรางวัล
ในหนังสือมรณกาลของอีวาน อิลิช ตอลสตอยชี้ให้เห็นถึงภัยของสังคมชนชั้นกลางที่ชีวิตหมกมุ่นอยู่กับการแสวงหาตำแหน่ง ชื่อเสียง เงินทอง และฐานะทางสังคม โดยเข้าใจว่าสิ่งเหล่านี้คือความสำเร็จของชีวิต แม้ลึก ๆ แล้วอาจไม่ตรงกับใจของตน อีวานตัวเอกของเรื่องก็เช่นกัน ชีวิตอีวานไต่เต้าตามระเบียบของสังคม ระมัดระวังที่จะทำแต่ในสิ่งที่ "ถูก" เพื่อความก้าวหน้าในหน้าที่การงานและสังคม แม้กระทั่งแต่งงานกับหญิงในครอบครัวดีที่เขาไม่ได้รัก อีวานเติบใหญ่จนได้เป็นผู้พิพากษาหัวหน้าศาล แต่ก็ล้มป่วยลงกะทันหันโดยตัวเขาเองไม่คาดคิด และเมื่อความตายใกล้เข้ามา เขาก็เข้าใจว่าชีวิตที่ผ่านมาจริง ๆ คือโลกมายา คนตีหน้าเข้าหากัน ไม่มีใครกล้าพูดความจริง หรือจริงใจต่อกัน แม้แต่คนรอบข้างเขาคือ ครอบครัว และเพื่อนสนิท ก็ไม่ตระหนักว่ากำลังอยู่ในโลกมายาเช่นกัน จนลืมว่าวันหนึ่งทุกคนก็ต้องตาย
ผมรู้จักหนังสือเล่มนี้ไม่ใช่จากการอ่าน แต่จากภาพยนตร์ญี่ปุ่นเรื่อง Ikiru กำกับโดย อาคิระ คูโรซาว่า เป็นหนังขาวดำถ่ายทำปี 1952 ที่เนื้อเรื่องได้รับแรงบันดาลใจมาจากหนังสือมรณกาลของอีวาน อิลิช ผมดูหนังเรื่องนี้ครั้งแรกสมัยเรียนปริญญาตรีที่อังกฤษ เป็นเรื่องของข้าราชการเทศบาลระดับหัวหน้างานในญี่ปุ่นที่ใกล้เกษียณชื่อ วาตานาเบ้ (Watanabe) ที่วัน ๆ พยายามไม่ทำอะไร ไม่ติดสินใจอะไรแบบข้าราชการ ไม่ตอบรับที่จะแก้ไขปัญหาที่ชาวบ้านมี วาตานาเบ้ล้มป่วยลงกะทันหันด้วยโรคมะเร็งที่หมอบอกว่าเขาจะมีชีวิตอยู่ได้ไม่ถึงปี หลังลาป่วยและพยายามใช้ชีวิตอย่างสนุกสนานเพื่อลืมความทุกข์ เขาก็ได้ข้อคิดว่า ยังไม่สายเกินไปที่จะทำอะไรที่มีความหมาย จากนั้นเขาก็เปลี่ยนไป กลับมาทำงาน และตอบรับที่จะแก้ไขปัญหาที่ชาวบ้านมีอย่างจริงจัง คือสร้างสนามเด็กเล่นที่ชาวบ้านร้องขอ ซึ่งเขาก็ทำสำเร็จแม้จะต้องคุกเข่าฝ่าด่านความไม่รู้ร้อนรู้หนาวของระบบราชการ
ฉากตอนจบของหนังเรื่องนี้คือตัวเอกของเรื่อง วาตานาเบ้นั่งเล่นชิงช้าเด็กอยู่คนเดียวในความมืดในสนามเด็กเล่นที่เขาผลักดันให้สร้างจนสำเร็จ ท่ามกลางหิมะที่ตกลงมาและอากาศที่หนาวเย็นพร้อมฮัมเพลงญี่ปุ่น Gondola no Uta เสมือนจะพึงพอใจในสิ่งที่ตนเองได้ทำ ด้วยเสียงที่โหยหวลและก็สิ้นใจอยู่ตรงนั้น วันนั้น
สิ่งที่ตอลสตอยพยายามสื่อผ่านตัวเอกของเรื่องทั้ง อีวาน และวาตานาเบ้ ก็คือชีวิตคนเป็นสิ่งที่มีศักยภาพมาก สามารถทำประโยชน์ได้มากต่อสังคมและมนุษย์ชาติ เพียงแต่เราจะต้องรู้สึกตัวคือ "ตื่น" และตระหนักในศักยภาพที่มี ก่อนที่จะสายเกินไป
ทำไมผมถึงเขียนเรื่องนี้วันนี่
เรื่องของเรื่องก็คือ อาจมีคนจำนวนมากในบ้านเราในวัยเกษียณอย่างผมคือ รุ่นเบบี้บูมเมอร์ เกิดระหว่างปี 2489-2507 ทั้งในภาคราชการและภาคเอกชนที่อาจตั้งคำถามแบบนี้กับตัวเอง คือ รู้สึกว่าตนเองประสบความสำเร็จ มีตำแหน่งหน้าที่ดีตอนทำงาน มีชื่อเสียง มีฐานะที่ดีในสังคม และสามารถอยู่ได้อย่างสบายในวัยเกษียณ แต่ก็ไม่มีความสุข และที่ไม่มีความสุขไม่ใช่จากเรื่องส่วนตัว แต่ไม่สบายใจมาก ๆ กับสภาพและสถานการณ์ของประเทศขณะนี้ ที่ประเทศที่เป็นบ้านเกิดเมืองนอนที่เคยภูมิใจได้กลายเป็นประเทศที่มีปัญหามาก ไม่ว่าจะเรื่องการบริหารราชการ การทุจริตคอร์รัปชั่น ปัญหาความเหลื่อมล้ำ การบังคับใช้กฎหมาย ความยากจน คุณภาพการศึกษา การเมือง และความแตกแยกของคนในสังคม สิ่งเหล่านี้สวนทางกับความพยายามและความตั้งใจของคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์ที่เป็นกำลังสำคัญขับเคลื่อนประเทศช่วง 40 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงการทำงานทั้งหมดของพวกเขา
คำถามคืออะไรเกิดขึ้น ทำไมประเทศเราจึงเป็นแบบนี้ ทำไมประเทศไม่สามารถก้าวไปข้างหน้าได้ตามศักยภาพที่มีทัดเทียมหรือแซงหน้าประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคที่เริ่มการพัฒนามาพร้อม ๆ กับเรา แต่เรากลายเป็นประเทศที่มีปัญหามาก หรือคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์จะสร้างบ้านเมืองได้เพียงแค่นี้และทิ้งปัญหาไว้มากให้กับคนรุ่นหลัง
เรื่องนี้เคยมีนักการทูตต่างประเทศวิเคราะห์ว่า ที่ประเทศเรามาถึงจุดนี้คือ มีปัญหามากก็เพราะกลุ่มคนที่มีความรู้ของประเทศไม่ทำหน้าที่ (Thai Intelligensia has failed Thailand) คือ สอบตกในการทำหน้าที่สาธารณะที่จะนำพาประเทศไปในทางที่ดี ตรงกันข้ามกลับยอมรับความไม่ถูกต้องต่าง ๆ ง่ายเกินไปจนทุกอย่างสะสมและกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่บั่นทอนประเทศในที่สุด
ฟังแล้วผมว่าหลายคนคงไม่ปฏิเสธข้อสังเกตุนี้ และคำตอบส่วนหนึ่งอาจมาจากหนังสือที่ผมเขียนถึงวันนี้ของตอลสตอยที่เรา หมายถึงรุ่นเบบี้บูมเมอร์และคนรุ่นต่อมาที่กำลังทำหน้าที่และมีตำแหน่งขณะนี้ อาจทุ่มเทกับการแสวงหาเพื่อตนเองมากเกินไปจนลืมทำหน้าที่สาธารณะในฐานะพลเมืองของประเทศที่จะดูแลให้สิ่งที่ถูกต้องเกิดขึ้น เราอาจยอมหรือ Compromise กับสิ่งที่ไม่ถูกไม่ควรง่ายเกินไปจนปัญหาต่าง ๆ บานปลาย และเราอาจมุ่งแต่การทำหน้าที่เพื่อส่วนตน โดยไม่สนใจสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับส่วนรวม เหล่านี้คือข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น
คำถามคือแล้วเราจะทำอะไรได้หรือไม่ตอนนี้ ที่ไม่มีหัวโขนแล้ว เป็นพลเมืองเต็มตัว ที่จะช่วยทำให้บ้านเมืองดีขึ้น
เรื่องนี้ ผมเคยพูดหลายครั้งว่าบ้านเมืองหรือสังคมคือ สิ่งมีชีวิต เปรียบได้เหมือนร่างกายมนุษย์ เมื่อร่างกายเจ็บป่วย ร่างกายคนเราก็จะมีกลไกในตัวเองที่จะรักษาซ่อมแซมให้ร่างกายหายจากการเจ็บป่วย สังคมก็เช่นกัน เมื่อสังคมมีปัญหา สังคมก็จะมีกลไกในตนเองที่จะแก้ปัญหา ใช้ความรู้ความสามารถที่สังคมมีร่วมกันแก้ปัญหา แต่การแก้ปัญหาจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อคนในสังคมสามารถร่วมมือกันได้ ใช้ความรู้ความสามารถที่สังคมมีช่วยกันแก้ปัญหา โดยไม่มีใครหรือกลไกใดเข้ามาปิดกั้นการร่วมมือกันของคนในสังคม
ดังนั้นอย่างที่ตอลสตอยบอก ถ้าเรา "ตื่น" และยังไม่ตาย ก็ยังไม่สายไปที่จะทำอะไร เรามีเวลาที่จะทำอะไรได้อีกมาก มีเวลาที่จะทำหน้าที่พลเมืองของเราให้ถูกต้อง ไม่ยอมอะไรง่าย ๆ กับสิ่งที่ไม่ดี ช่วยกันแก้สิ่งที่ผิดให้เป็นถูก ทำเท่าที่ทำได้ แม้จะไม่มีตำแหน่งอะไรในสังคม เช่น หนึ่ง อยู่อย่างง่าย ๆ ประหยัด ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่เป็นภาระให้กับใคร สอง เคร่งครัดที่จะทำแต่ในสิ่งที่ถูกต้องให้เป็นแบบอย่างแม้จะเพื่อตัวเอง สาม สนใจเหตุการณ์บ้านเมืองและใช้ชีวิตให้เป็นประโยชน์ต่อคนอื่นและส่วนรวม
สามเรื่องนี้ถ้าเราทำได้ในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ เราก็จะสบายใจได้มากขึ้น ใจสงบขึ้น จะภูมิใจในสิ่งที่ได้ทำ และจะไม่ตั้งคำถามกับตัวเองในช่วงท้ายของชีวิตว่า เราได้ใช้ชีวิตอย่างถูกต้องหรือไม่ ซึ่งจะตรงกับใจของตอลสตอย ที่ลึกๆคิดว่า ชีวิตที่มีความหมาย คือ ชีวิตที่อยู่เพื่อคนอื่น เหมือน อดัม สมิธ ผู้บุกเบิกวิชาเศรษฐศาสตร์เมื่อเกือบสามร้อยปีก่อนที่คิดเหมือนกัน
ดร.บัณฑิต นิจถาวร
ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |