เรื่องเล่นๆ"แต่อย่าทำเล่น"


เพิ่มเพื่อน    

      วันนี้ อยากคุย "ภาพรวม" ในมาตรการควบคุมโควิด

                แต่ขอย้ำ....

                ไม่ใช่การเพ่งโทษหรือการโทษใคร กรณีโควิดแพกุ้งกลับมาทดสอบ "มาตรฐานโลก" ของสาธารณสุขไทย

                ผมว่าประชาชน "ในภาพรวม" การ์ดไม่ได้ตก

                แต่ "ภาครัฐ" เองนั่นแหละ "การ์ดตก"!

                เปิดช่องให้เชื้อโควิดเล็ดลอดเข้ามา ใช้คอมมิวนิตี้แรงงานพม่าที่สมุทรสาครเป็น "แหล่งฟักตัว"

                ก่อนแพร่จากตลาดกุ้งสู่ลูกค้า แล้วกระจายเชื้อส่งต่อไปอีกหลายสิบจังหวัดขณะนี้

                พูดให้แคบเข้า.....

                "ภาครัฐ" ที่หมายถึงในที่นี้คือ "ผู้ว่าราชการจังหวัด" แต่ละจังหวัด ผู้เป็นทั้งเจ้าเมืองและทั้ง "ประธานคณะกรรมการโรคติดต่อ"

                ในความเป็นจังหวัดหนึ่งๆ "ประเทศไทย" ย่อส่วนบริหารทั้งหมดอยู่ในนั้น ถ้าไม่ใช่ผู้ว่าฯ "โดยมหาดไทย" มีอำนาจเต็ม แล้วใครจะมี?

                ตอนนี้ รู้แค่ "จุดแพร่" มาจากตลาดกุ้งมหาชัย และแรงงานพม่าตรงนั้น เป็น "ตัวการ"

                การพิสูจน์ "ต้นตอโรค" ดูเหมือน (พยายาม) ตัดตอนจบอยู่ตรงนั้น ไม่มีคำตอบเพิ่มเติมว่า พบแรงงานพม่าที่เป็นตัวการโรคคนนั้นหรือไม่?

                และได้ขยายผลจนทราบถึง "ต้นตอ" ว่าแรงงานพม่าคนนั้น รับเชื้อมาจากใคร ที่ไหน หรือไม่อย่างไร ไปพบปะติดต่อใครที่ไหนมาบ้าง?

                ประเด็นสำคัญ เป็นแรงงานถูกต้องตามทะเบียน หรือเป็นแรงงานที่ลักลอบเข้ามา?       

                ที่มีตัวเลขติดเชื้่อพรวดเดียวเป็นพันคนขณะนี้ ก็ยังไม่มีคำอธิบายชัดเจนว่า เป็นแรงงานต่างชาติทั้งหมด

                หรือมีชาวบ้านทั่วไปที่มหาชัยรับเชื้อด้วย เป็นจำนวนหน่วยสิบหรือหน่วยร้อยขึ้นไปแล้ว?

                ที่ผมตั้งประเด็นเหล่านี้ เพื่อเป็นตัวอย่างสู่การบ่งชี้ว่า ผู้บริหารจังหวัดนั้นๆ "การ์ดตก" จริงๆ

                หรือทำเต็มที่แล้ว ที่ปะทุขึ้น นั่นเป็นเหตุ "เหนือวิสัย"?          กรณีที่สมุทรสาคร ในมุมมองผม ผู้ว่าราชการจังหวัด ตั้งใจ มุ่งมั่น การ์ด(อาจ) ไม่ตกก็จริง

                แต่ผู้จะมาเป็นเจ้าเมืองจังหวัดที่แรงงานต่างชาติมากกว่าคนในชาติ

                มาตรฐานวิสัยทัศน์ ควรต้องอีกระดับหนึ่ง!

                เพราะ "ทุกคนรู้-โลกรู้" ว่ามหาชัยเป็นศูนย์รวมแรงงานต่างชาติ โดยเฉพาะแรงงานพม่า รองจากกรุงเทพฯ

                พูดได้ว่า "มหาชัย" คือเมืองหลวงของแรงงานพม่าในไทย มีชาวพม่าทั้งในและนอกทะเบียน เฉียดๆ ๓ ล้านคนรวมกันอยู่

                และ "ทุกคนรู้-โลกรู้" ว่าขณะนี้ โควิดระบาดหนักในพม่า และคนพม่าส่วนหนึ่งพยายามหนีเข้ามาในไทย

                ด้วยที่ว่า "ชายแดนไทย-พม่า" จากเชียงรายยันระนอง เป็นแนวยาว ๒,๔๐๑ กิโลเมตร

                จึงเป็นช่องให้คนพม่าเล็ดลอดเข้ามาโดยไม่ผ่านด่าน หมายถึงไม่ผ่านการตรวจโควิด "มากต่อมาก" ช่วงนี้

                ขณะเดียวกัน ก็เป็นช่องให้เจ้าหน้าที่ไทยอ้างได้ เมื่อมีข่าว "แรงงานพม่า" ลักลอบเข้าไทยว่า "พื้นที่มันยาว" เจ้าหน้าที่ไม่พอ สุดวิสัยตรวจตราได้ตลอด

                ทางระนอง ประจวบฯ ราชบุรี เพชรบุรี เมืองกาญจน์ ปัญหาลักลอบเข้า เขาบริหาร-จัดการได้

                แต่ทางแม่สอด ตาก แม่สาย เชียงราย ดูจะไม่สามารถบริหาร-จัดการ ให้พ้นคำว่า "สุจริตต่ำมาตรฐาน" ได้

                บ่อยครั้ง จะเห็นข่าวประจำวัน.....

                จับรถตู้ "ขนแรงงานพม่า" เข้าเมืองบ้าง จับรถตู้ "ขนแรงงานพม่า" จากในเมืองส่งชายแดน ช่องทางธรรมชาติบ้าง

                การขนแรงงานลักลอบเข้าเมือง-ออกเมืองเช่นนี้ ทำให้เกิดอาชีพ ๓ ทาง คือ

                ๑.นายหน้าและค่าหัวนำคนเข้า-ออก ๒.การขนส่ง ถึงขั้น มีท่ารถ มีคิวเดินรถ เป็นที่รับรู้ทั่วไป ยกเว้นเจ้าหน้าที่รัฐ และ ๓.อาชีพ "เก็บส่วย"!

                แรงงานลักลอบเข้าเมืองได้แล้ว...ไปไหน?

                จำนวนมาก กระจายไป กทม. ไปมหาชัย ไปชลบุรี ไปปทุมธานี ไปสมุทรปราการ อันเป็นแหล่งงาน

                มหาชัย "สมุทรสาคร" เป็นศูนย์ใหญ่รองจาก กทม.เป็นชุมชนพม่า "ใหญ่ที่สุด" ในประเทศก็ว่าได้

                ภาพ "เส้นทางเดิน" ของแรงงานพม่า เหมือนผึ้่ง บินจากตรงโน้น-ตรงนี้ เราอาจไม่รู้ แต่มารวมจับเป็นรังอยู่ตรงไหนบ้าง เรารู้

                ถ้าพูดถึงความรับผิดชอบ จะพูดเหมือนม็อบ ๓ นิ้วก็ได้ ที่ว่า "ไม่มีใครเป็นแกนนำ" ทุกคนเป็นแกนนำ

                เพราะมันเกี่ยวพัน "หลายหน่วยงาน" มองรวมๆ ไม่รู้จะบอกว่าหน่วยงานไหน "เป็นเจ้าภาพ"

                ประเทศแบ่งพื้นที่ปกครองออกเป็น ๗๗ จังหวัด แต่ละจังหวัด(ยกเว้น กทม.) มีผู้ว่าฯ เป็นเจ้าเมืองในสังกัด "กรมการปกครอง"

                อำนาจรวมศูนย์ที่ "รัฐมนตรีมหาดไทย" เป็นผู้กำกับดูแล-สั่งการตามนโยบาย

                "กรมการปกครอง" มีหน้าที่บริหารการปกครองท้องที่ ในระดับอำเภอ ตำบล หมู่บ้าน รวมถึงทะเบียนราษฎร และการอนุญาตต่างๆ ตามกฎหมาย

                ถามว่า ได้ทำหน้าที่ "ปราการด่านหน้า" สกัดกั้น-คัดกรอง-ตรวจสอบ แรงงานลักลอบเข้าเมือง แข็งขัน-สุจริต ขนาดไหน?

                มหาดไทย ดูเหมือนคนชื่อ "ฉัตรชัย พรหมเลิศ" ทำหน้าที่ปลัดฯและพลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา ทำหน้าที่เสนาบดีใหญ่

                ขั้นต้น ก็ต้องถามคนทั้ง ๒ นี้ ในฐานะผู้กำกับ-สั่งการแต่ละท่านเจ้าเมือง ว่า......

                การลักลอบเข้า-ออกของแรงงานต่างชาติตามตะเข็บแดนจนเป็นอาจิณ ทั้งภาวะปกติ และไม่ปกติ               

                "มหาดไทย" ใช้นโยบาย "ทุกหน่วยงานเป็นแกนนำ" กรมการปกครอง "ลอยตัว" อย่างนั้นหรือ?

                ทุกวันนี้ พอเกิดเรื่อง คนจะเพ่งโทษไปที่ ตำรวจ-ทหาร-สาธารณสุข-ด่าน คนมหาดไทย รอด

                เพราะชาวบ้านเห็น "ตำรวจ-ทหาร-สาธารณสุข" ทำงานคนมหาดไทยปรากฏในภาพเจ้านาย คนทำงานเลยซวย เจ้านาย ลอยเหนือปัญหาสบายไป

                ย้อนกลับไปดูเคสสมุทรสาคร.......

                คนสำนึกในหน้าที่ต้องรู้ ตั้งแต่ข่าวว่า โควิดระบาดในพม่า คุมไม่ได้ ตามชายแดน ทั้่งพม่า ทั้งจีนในพม่า ต่างหนีโรคเข้ามาในไทย

                เข้าตามด่านไม่เป็นไร มีมาตรการคัดกรอง ประเด็นสำคัญ อยู่ที่พวกลักลอบเข้าตามช่องทางธรรมชาตินี่แหละ

                ใครเป็นผู้ว่าฯ จังหวัดไหนๆ โดยเฉพาะ ๕ จังหวัดที่แรงงานพม่าไปรวมกันอยู่ เช่น สมุทรสาคร ต้องตื่นตัวด้วยวิสัยทัศน์แล้ว

                ต้องใช้มาตรการเข้ม เหมือนยามศึก ป้องกันข้าศึกเล็ดลอดเข้าเมือง "ตรวจตรา-ควบคุม" แต่แรกๆ

                มีแรงงานนอกพื้นที่เข้ามาปะปน ต้องรู้ ต้องตรวจสอบว่าเป็นแรงงานลักลอบหรือแรงงานผ่านคัดกรองแล้ว

                เพื่อ "ป้องกัน" การนำเชื้อเข้ามาระบาด หรือจับพลัด-จับผลู มีเชื้อในตัว เกิดระบาดภายหลัง ก็จะได้ตามพิสูจน์โรคจากต้นตอได้ทันควัน

                แต่พิเคราะห์จากที่สมุทรสาคร ผู้ว่าฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อ

                ไม่ได้ตื่นตัวด้วยตระหนักรู้และตรวจสอบตามคอมมิวนิตี้แรงงานต่างชาติในมหาชัยสู่การป้องกันแต่แรกเท่าที่ควร

                เมื่อเชื้อแพร่ตูม.....

                จึงไม่รู้ว่า "ต้นตอ-ตัวการ" คือใคร-คนไหน รู้แบบรวมๆ ว่า มาจากแรงงานพม่า ระบาดสู่เจ้าของแพกุ้งและลูกค้าที่มาซื้อกุ้งเท่านั้น การควบคุมจึงเป็นแบบมะงุมมะงาหรา

                เห็นข่าวว่า "ย้ายด่วน" สาธารณสุขจังหวัด!

                โถ...เวร

                ถ้าจะย้าย มันต้อง "ย้ายด่วนผู้ว่าฯ" ในฐานะแม่ทัพใหญ่ถึงจะถูก

                "สาธารณสุขจังหวัด" แค่นายกอง จะอาศัยหัวเป็นเครื่องบัตรพลีแทนงั้นหรือ?

                พลเอกอนุพงษ์หรือนายฉัตรชัย สอบถามคนของท่านได้ความแน่แล้วหรือว่า ปัญหาโควิดแพกุ้ง เป็นผิดของสาธารณสุขจังหวัด

                อนุพงษ์ไม่ผิด ฉัตรชัยไม่ (เคยมีอะไร) ผิด และนายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าฯ สมุทรสาคร ก็ประสิทธิภาพเต็มร้อย?

                จริงๆ แล้ว ระดับเจ้าหน้าที่ หย่อนหรือตึง ขึ้นอยู่กับผู้ใหญ่ คือผู้ว่าฯ เป็นแบบไหน?"

                คนจะมาเป็นเจ้าเมืองมหาชัยได้ ที่จะจับฉลากหรือไหลมาเองตามอาวุโส ไม่มีหรอก?

                แล้วรู้ยัง คนไหนต้นตอ ไปนำเชื้อมาจากไหน และไปไหน-มาไหนบ้าง?

                ก็ยังไม่รู้และไม่มีทางรู้ เพราะไม่เข้มในมาตรการแต่ต้นในด้าน "ตรวจสอบ-คัดกรอง" ในแต่ละคอมมิวนิตี้แรงงานต่างชาติ

                ที่ทำขณะนี้ เอาลวดหนามล้อม "ชัตดาวน์" ห้ามเข้า-ออก นั่นมัน "วัวหายล้อมคอก" เฉพาะหน้า

                ตรวจคนหาเชื้อ ตรวจได้ แต่ห้องแล็บตรวจหาเชื้อคนเป็นแสนๆให้รู้ผลในวัน-สองวัน นอกจากทำไม่ได้ จะเอาเงินมหาศาลนั้นมาจากไหนกัน?

                ทางควรทำ เพื่อแยกแรงงานลักลอบซึ่งเปอร์เซ็นต์สูงว่าเป็นตัวนำเชื้อเข้ามา ให้ออกจากแรงงานตามทะเบียนเดิม       

                ประกาศให้เรียงแถวออกมาเลย.......

                ใครที่ลักลอบเข้ามา ไม่ถือโทษ-เอาความ ให้ออกมารายงานตัว เพื่อรับการตรวจสอบโรค สอบประวัติโรค จะตีทะเบียนให้ ในขั้นต่อไป

                ถ้าไม่ออกมารายงาน ระดมลุยค้นรายตัว "จับได้" ไม่ละเว้นโทษขั้นสูงสุด พ้นโทษวันไหน ส่งกลับประเทศต้นทางวันนั้น!

                ทำแบบนี้ เพื่อ "แยกปลา-แยกน้ำ" ให้ทันการณ์ ขืนปล่อยให้ปะปนกันอยู่อย่างนั้น เดือนเดียว ไม่แค่หมื่น

                ตัวเลขติดโรค เป็นแสนแน่!

                โควิด รอดูอาการ ๓ วัน ๗ วัน ไม่ได้หรอก ต้องตัดสินใจเฉียบขาดทันที

                หน้าสิ่ว-หน้าขวาน อย่ามัวโทษคน-ย้ายคน นั่นจะบ่อนทำลายกำลังใจคนในการทำงาน ต้องมองข้ามแล้วระดมกันช่วยให้เต็มที่

                นาทีนี้่ จังหวัดไหน โรงงานไหน คอมมิวนิตี้แรงงานต่างชาติมีอยู่ตรงไหน ต้องให้แต่ละจังหวัด-แต่ละพื้นที่ เข้ม ชนิด ๑๐๐%

                อย่าให้เสียชื่อ"ไทย-เวิลด์คลาส" มาตรฐาน WHO ได้เชียวนะ

                นายกฯ ควรถอยไปแถว ๒ เชิญทีมแพทย์ "อัศวินโต๊ะรูปไข่" มาเป็นแถวแรก บัญชาการ "ปิดจ๊อบโควิดแพกุ้ง" ครับ!

           

                               

               

               

               

               

               

               

               

 

 

               

22 ธ.ค.63 - นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสมุทรสาคร แถลงข่าวชี้แจงกรณีแรงงานเมียนมาทุบกำแพงหลบหนีออกจากอาคารที่กักกันโรค ซึ่งตั้งอยู่ด้านหลังตลาดกลางกุ้ง โดยนายวีระศักดิ์ ปฏิเสธว่า ภาพกำแพงดังกล่าวเป็นกำแพงเก่าที่พังอยู่แล้ว ไม่ได้พังเพราะถูกแรงงานต่างชาติพังหนีออกไป ซึ่งปัจจุบันมีลวดหนามและมีตำรวจเฝ้าดูแลจุดนั้นอยู่แล้ว ดังนั้น ยืนยันว่า ไม่มีแรงงานต่างชาติพังกำแพงหลบหนีออกไปตามที่เป็นข่าว และหากมีการหลบหนีไปช่องทางอื่นๆ ก็จะดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด

 

"ขณะนี้ทั้งทหารและตำรวจ ได้ดูแลพื้นที่ควบคุมบริเวณดังกล่าวตลอด 24 ชั่วโมง และยังมีเจ้าหน้าที่กระจายตัวดูแลรอบพื่้นที่ควบคุมทั้งหมดแล้ว ขอให้ประชาชนอย่าวิตกกังวลกับมาตรการควบคุมโรคของจังหวัด พร้อมฝากเตือนไปถึงผู้ฝ่าฝืน ไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับหรือมาตรการควบคุมโรค จะถูกดำเนินคดีสูงสุดตาม พ.ร.บ.ควบคุมโรคฯ และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง"ผู้ว่าฯสมุทรสาคร กล่าว

 

นายวีระศักดิ์  วิจิตร์แสงศรี  ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดฯ

                ชี้แจงกรณีมีการแชร์ภาพและข้อความ แรงงานต่างด้าวทลายกำแพงหนี จากพื้นที่ควบคุม ยันยันว่า

1) เป็นกำแพงที่พังอยู่เก่า ไม่ใช่พังเพราะแรงงานที่ถูกกักตัว ปัจจุบันมีลวดหนาม มีตำรวจดูแลอยู่

 

2) ไม่มีแรงงานหลบหนี ด้วยช่องทางดังกล่าว

 

3) หากมีการหลบหนีจริง จะดำเนินการตามกฎหมายโดยเคร่งครัด

ตอนนี้มีทั้งทหาร และตำรวจที่ดูแลอยู่พื้นที่ควบคุมบริเวณดังกล่าว ตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ยังกระจายเจ้าหน้าที่ดูแลรอบพื้นที่ควบคุมทั้งหมดแล้ว ขอให้ประชาชนอย่าวิตกกังวลเรื่องมาตรการควบคุมโรคของทางจังหวัดฯ อย่างไรก็ตาม ยังฝากแจ้งไปถึงผู้ฝ่าฝืนหากไม่ปฏิบัติตาม และหากคณะกรรมการควบคุมโรคตรวจพบ จะดำเนินคดีสูงสุดตาม พ.ร.บ.ควบคุมโรคฯ และกฏหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง

เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 63 นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศบค. กล่าวระหว่างการแถลงสถานการณ์โควิดระบาดว่า หลังจากนี้ จะมีการยกระดับการค้นหาผู้ป่วยในเชิงรุกตามพื้นที่ต่างๆ อีก 22 จังหวัด เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีความเชื่อมโยงกับตลาดกลางกุ้ง เพราะมีประชาชนในจังหวัดนั้นๆ เดินทางมาจับจ่ายซื้อสินค้าที่ตลาดกลางกุ้ง จ.สมุทรสาคร ประกอบด้วย เชียงใหม่, เพชรบูรณ์, นครราชสีมา, สมุทรปราการ, ปราจีนบุรี, ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี, ระยอง, สุพรรณบุรี, กาญจนบุรี, นครปฐม, สมุทรสงคราม, ราชบุรี, เพชรบุรี, ประจวบคีรีขันธ์, ชุมพร, สระบุรี, ปทุมธานี, พระนครศรีอยุธยา, นนทบุรี และกทม.

"ไม่ได้พูดให้ตกใจ แต่เป็นการพูดให้ระบบป้องกันควบคุมโรคจะได้มีการยกระดับการค้นหาผู้ติดเชื้อ ถ้าท่านไปที่ตลาดกลางกุ้ง ก็ขอให้ไปแสดงตัวกับโรงพยาบาล แล้วบอกว่าเกี่ยวโยงกับตลาดนี้ เคยเข้าไปซื้อของ และอยากจะมาขอตรวจ 22 จังหวัดนี้ แค่เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องเชื่อมโยง แต่ยังไม่ได้แปลว่าติดเชื้อ แค่มีความเชื่อมโยงกับคนค้าขายในตลาด เพื่อเตรียมพร้อมทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน" นพ.ทวีศิลป์กล่าว

1.มีประวัติเสี่ยงอย่างใดอย่างหนึ่งในช่วง 14 วันก่อนมีอาการ เช่น ได้เดินทางมาจากเขตติดโรค/พื้นที่ที่มีการระบาดต่อเนื่อง หรือประกอบอาชีพที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่เดินทางมาจากเขตติดโรค/พื้นที่ที่มีการระบาดต่อเนื่อง หรือสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยสงสัย/ผู้ป่วยยืนยัน หรือเป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่สัมผัสกับผู้ป่วยยืนยัน

2.มีอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ หายใจเหนื่อยหอบ จมูกไม่กลิ่น ลิ้นไม่รับรส

3.เป็นผู้ป่วยปอดอักเสบที่มีประวัติอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ใกล้ชิดกับผู้ป่วยสงสัยโควิด-19, เป็นบุคลากรทางการแพทย์, เป็นผู้ป่วยปอดอักเสบที่รักษาแล้วอาการไม่ดีขึ้น, เป็นผู้ป่วยปอดอักเสบที่หาสาเหตุไม่ได้

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"