ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดโควิด-19 รอบใหม่ อาจสร้างมูลค่าความสูญเสียในกรอบเวลา 1 เดือน ราว 45,000 ล้านบาท ขณะที่ "ส.อ.ท." เกาะติดสถานการณ์ หวังรัฐออกมาตรการสามารถควบคุมได้ หวั่นกระทบเศรษฐกิจปี 64
เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. รายงานข่าวศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า จากการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รอบใหม่ ซึ่งเริ่มต้นจากตลาดกุ้งในสมุทรสาครเมื่อต้นเดือน ธ.ค.2563 จนกระทั่งนำมาสู่การล็อกดาวน์ชั่วคราวจังหวัดสมุทรสาครตั้งแต่ 19 ธ.ค.2563 ถึง 3 ม.ค.2564 ขณะเดียวกันก็ยังพบจำนวนผู้ติดเชื้อที่กระจายตัวไปยังพื้นที่ต่างๆ ในหลายจังหวัดของประเทศไทย ในเบื้องต้น ภายใต้กรณีที่ไม่พบจำนวนผู้ติดเชื้อในจังหวัดอื่นหรือเหตุการณ์ไม่ลุกลามจนนำมาสู่การล็อกดาวน์เป็นวงกว้าง ทางศูนย์ประเมินว่าภาคเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทยอาจได้รับความสูญเสียคิดเป็นมูลค่าราวๆ 45,000 ล้านบาท ในกรอบเวลา 1 เดือน โดยจำแนกผลกระทบได้ดังนี้
ความสูญเสียที่เกี่ยวเนื่องกับสินค้าประมงและอาหารทะเล ที่มีมูลค่ารวมกันประมาณ 13,000 ล้านบาท จากความเป็นไปได้ที่อาจจะเกิดการชะลอการบริโภคสินค้าประมงและอาหารทะเลในระยะสั้น นอกจากนี้ การส่งออกสินค้ากลุ่มดังกล่าวในระยะถัดไปก็อาจจะได้รับผลกระทบบ้าง โดยเฉพาะในด้านขั้นตอนการตรวจสอบและกระบวนการต่างๆ ที่คู่ค้าอาจหยิบยกให้ผู้ประกอบการไทยมีการดำเนินการเพิ่มเติม ถึงแม้ขณะนี้จะยังไม่มีการยกเลิกคำสั่งซื้อสินค้าล่วงหน้าก็ตาม
อย่างไรก็ดี การสร้างความเชื่อมั่นต่อความปลอดภัยของสินค้าและกระบวนการผลิตโดยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน คงจะช่วยบรรเทาผลกระทบได้ นอกจากนี้ ผลกระทบดังกล่าวยังนับว่าอยู่ในขอบเขตที่ค่อนข้างจำกัด จากการที่ผู้บริโภคและผู้ใช้วัตถุดิบยังมีทางเลือกในการซื้อและจัดหาสินค้าจากแหล่งอื่น อีกทั้งมีประเภทอาหารที่หลากหลายและเพียงพอ ขณะที่โดยปกติประชาชนส่วนใหญ่ก็นิยมบริโภคสินค้าประมงและอาหารทะเลในสัดส่วนที่น้อยกว่าเนื้อสัตว์อย่างหมูและไก่อยู่แล้ว
ความสูญเสียจากการที่ประชาชนชะลอการทำกิจกรรมในช่วงเฉลิมฉลองปีใหม่ โดยเฉพาะคนที่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ คิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 15,000 ล้านบาท ได้แก่ การเลี้ยงสังสรรค์ การจัดกิจกรรมต่างๆ การลดความถี่ในการใช้จ่ายที่ร้านค้าปลีก เป็นต้น (ไม่รวมการเดินทางท่องเที่ยว) ขณะที่ประชาชนอาจมีการจัดหาหรือสำรองสินค้าจำเป็น เช่น หน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ อาหารพร้อมปรุง/พร้อมทาน เป็นต้น เพิ่มเติมจากช่วงก่อนหน้านี้บ้าง รวมทั้งคงจะหันไปทำกิจกรรมผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้นแทนการออกมาทำกิจกรรมนอกบ้าน
ความสูญเสียจากการชะลอการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ คิดเป็นเม็ดเงินที่หายไปประมาณ 17,000 ล้านบาท หรือราว 30% ของรายได้ท่องเที่ยวในช่วงเวลา 1 เดือน ภายใต้กรณีที่ยังไม่ได้มีประกาศห้ามการเดินทางข้ามจังหวัด โดยพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ ได้แก่ จังหวัดในภาคตะวันตกและภาคกลาง รวมกรุงเทพฯ ตลอดจนจังหวัดรอยต่อชายแดนระหว่างไทยและเมียนมา อย่างไรก็ดี ประชาชนบางส่วนที่ยังต้องการเดินทางท่องเที่ยวในระยะเวลาใกล้ๆ นี้ อาจจะมีการปรับเปลี่ยนจุดหมายปลายทางไปยังพื้นที่หรือจังหวัดที่ไม่พบจำนวนผู้ติดเชื้อทดแทนได้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม นอกจากความสูญเสียทั้ง 3 ด้านแล้ว สถานการณ์โควิดรอบใหม่นี้ ยังอาจสร้างผลกระทบด้านอื่นๆ ที่ไม่สามารถประเมินมูลค่าได้อย่างชัดเจนด้วย อาทิ ผลกระทบต่อรายได้ของผู้ประกอบการที่ค้าขายสินค้าอื่นๆ ในตลาด จากการที่ผู้คนหลีกเลี่ยงการสัญจรโดยเฉพาะการสัญจรไปในพื้นที่ที่มีการระบาดหรือพบผู้ติดเชื้อ เป็นต้น
ทั้งนี้ ผลกระทบจากการระบาดรอบใหม่ของโควิด-19 ที่สร้างความสูญเสียต่อเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมข้างต้น เป็นกรอบการประเมินเบื้องต้นจนถึง ณ ขณะนี้เท่านั้น ซึ่งคงจะต้องมีการทบทวนและปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ขณะที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องคงจะต้องร่วมมือกันในการดูแลและจำกัดผลกระทบทั้งในมิติด้านสาธารณสุขและด้านเศรษฐกิจ เพื่อให้เหตุการณ์ค่อยๆ คลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า หากการระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ สามารถควบคุมได้ และภาครัฐมีมาตรการที่สร้างความมั่นใจให้กลับมาได้อย่างรวดเร็ว ก็มีโอกาสที่มูลค่าความสูญเสียจะต่ำกว่าตัวเลขที่ประเมินไว้
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ภาคเอกชนกำลังติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 รอบใหม่อย่างใกล้ชิด เนื่องจากหากมีการแพร่ระบาดจำนวนมากและขยายเป็นวงกว้างอาจจะนำไปสู่การล็อกดาวน์พื้นที่เพิ่มขึ้น หรืออาจจะทั้งประเทศเพื่อควบคุมสถานการณ์ โดยเอกชนยังคาดหวังว่าหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องจะเร่งแก้ไขอย่างทันท่วงที เพราะหากไม่เช่นนั้น ภาพผลกระทบเช่นที่ผ่านมาจะกลับมาอีกครั้ง และจะทำให้เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่มีผลให้เศรษฐกิจไทยในปี 2564 ที่เคยคาดการณ์ไว้ว่าจะขยายตัว 3-4% จากปีนี้อาจต้องชะลอตัว
“ที่สุดจะมีการล็อกดาวน์หรือไม่ภาครัฐน่าจะเป็นผู้ที่ตัดสินใจได้ดีสุด และเอกชนเองก็ต้องปฏิบัติตาม ซึ่งเอกชนเองก็กังวลและกำลังติดตามใกล้ชิด เพราะหากเอาไม่อยู่ มีการขยายวงกว้างและต้องยกระดับการล็อกดาวน์เพิ่มภาพเดิมๆ ก่อนหน้าที่โควิดระบาดรอบแรกจะกลับมา ทั้งโรงงานอาจจะต้องลดกำลังผลิตลง หรือปิดชั่วคราว ก็จะกระทบการจ้างงาน ธุรกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) จะขาดสภาพคล่อง ฯลฯ เหล่านี้จะซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยในปี 2564 แน่นอนทั้งที่สัญญาณต่างๆ กำลังมาดี แต่หากล็อกดาวน์เพิ่มแล้วสามารถเร่งแก้ไขได้ทันก็จะทำให้สถานการณ์กลับมาพลิกฟื้นได้” นายเกรียงไกรกล่าว
ทั้งนี้ ในปี 2563 มาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะโครงการคนละครึ่ง ที่ได้รับการตอบรับจากประชาชนและสามารถสร้างเศรษฐกิจให้หมุนเวียนในระดับฐานรากได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งหากโควิด-19 รอบใหม่บานปลายจนต้องล็อกดาวน์หลายพื้นที่อาจทำให้เม็ดเงินเหล่านี้จะเข้าไม่ถึงคนกลุ่มเดิม เพราะผู้คนจะหันไปสั่งสินค้าออนไลน์มากขึ้นแทน และที่น่ากังวลรัฐบาลจะหาเงินงบประมาณมาดูแลปัญหาเศรษฐกิจที่อาจชะงักงันที่มากขึ้นได้อย่างไร
นายเกรียงไกรกล่าวว่า เศรษฐกิจปี 2564 จึงต้องติดตามใกล้ชิด เพราะปัจจัยโควิด-19 รอบใหม่ได้เปลี่ยนไปจากเดิมที่หลายฝ่ายไม่ได้คาดคิดว่าจะกลับมาระบาดหนักรอบใหม่ในช่วงท้ายปี ซึ่งถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ต้องระมัดระวังอย่างมาก นอกเหนือจากนี้ยังมีในเรื่องของภาวะค่าเงินบาทที่แข็งค่า ซึ่งจะกระทบส่งออกในปี 2564 ที่ต้องติดตามใกล้ชิดอีกปัจจัยหนึ่ง เนื่องจากกระทรวงการคลังสหรัฐประกาศขึ้นบัญชีไทยเป็น 1 ใน 10 ประเทศในบัญชีประเทศต้องจับตาอย่างใกล้ชิดในฐานะที่อาจแทรกแซงค่าเงิน ซึ่งจะทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไม่อาจออกมาตรการดูแลในลักษณะแทรกแซงค่างินบาทได้ ซึ่งอาจส่งผลต่อค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น นอกจากนี้ยังมีปัจจัยด้านการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งล่าสุดรัฐได้เร่งหาทางแก้ไขแล้ว คาดว่าในอีก 3-4 เดือนข้างหน้าปัญหาจะทุเลาลง.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |