วิเคราะห์เจาะลึกประมวลผล เลือกตั้งสนามเล็ก'เพื่อไทย'


เพิ่มเพื่อน    

      เสร็จศึกเลือกตั้งนายกและสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ไปแล้วเมื่อวันที่ 20 ธ.ค. พรรคการเมือง นักการเมือง กลุ่มการเมืองเฝ้ารอคอยมานาน งานนี้มีทั้งคนสมหวัง คนผิดหวัง ผู้ชนะหน้าใหม่ ผู้ชนะหน้าเดิม คละเคล้าปะปนกันไป 

            แม้จะเป็นเพียงสนามท้องถิ่น แต่หลายพรรคการเมือง หลายกลุ่มการเมือง ต่างตั้งเป้าเอาไว้เป็นอย่างสูง โดยเฉพาะในสายพรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่ตั้งเป้าขอแก้มือหลังจากสนามใหญ่พลาดไปหลายเขต มาถึงสนามเล็กเลยขอพิสูจน์ฝีมือ วัดกระแสความนิยมกันอีกรอบ 

            พรรคเพื่อไทย มีมติส่งผู้สมัครในนามพรรคทั้งสิ้น 25 จังหวัด มุ่งเน้นฐานเสียงหลักภาคอีสาน 10 จังหวัด ชัยภูมิ มหาสารคาม หนองคาย หนองบัวลำภู กาฬสินธุ์ นครพนม อุดรธานี อุบลราชธานี ยโสธร มุกดาหาร

            มีเพียง 4 จังหวัดเข้าวิน วิเชียร ขาวขำ จ.อุดรธานี, นายกานต์ กัลป์ตินันท์ จ.อุบลราชธานี, นายวิเชียร สมวงศ์ จ.ยโสธร, พ.ต.ท.จิตต์ ศรีโยหะมุกดาธนพงศ์ จ.มุกดาหาร 

            ภาคเหนือ 6 จังหวัด เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน น่าน ลำปาง แพร่ พลาดเป้าแค่เชียงราย อีก 5จังหวัด ได้รับชัยชนะ นายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร จ.เชียงใหม่, นายอนุสรณ์ วงศ์วรรณ จ.ลำพูน, นายนพรัตน์ ถาวงศ์ จ.น่าน, น.ส.ตวงรัตน์ โล่ห์สุนทร จ.ลำปาง, นายอนุวัธ วงศ์วรรณ จ.แพร่

            ขณะที่ภาคกลาง 9 จังหวัด สุพรรณบุรี ระยอง นครนายก ปราจีนบุรี นครปฐม สมุทรสงคราม สมุทรสาคร ประจวบคีรีขันธ์ สิงห์บุรี ‘แพ้เรียบ ไม่ได้แม้แต่ที่นั่งเดียว’

            ตามหลักคณิตศาสตร์ ส่ง 25 จังหวัด ชนะ 9 แพ้ 16 คิดเป็นเพียง 40 เปอร์เซ็นต์ ได้ไม่ถึงครึ่งหนึ่งจากที่ส่ง ในแง่ตัวเลขถือว่าสอบตก แต่ในแง่กลยุทธ์การเมือง ตามหลักรัฐศาสตร์ น่าคิดตามไม่น้อย ในกระบวนยุทธ์ที่เพื่อไทยเลือกเดิน ปรับใช้ในสนามเล็ก ว่ากันว่าก่อนการคัดรายชื่อส่งผู้สมัครยังมีการเจรจากับพรรคข้างบ้าน ขอเว้นบางพื้นที่เพื่อไม่ให้ตัดคะแนนกันเอง เจรจาพูดคุยจนเป็นที่น่าพอใจ ทำให้บางจังหวัดสำคัญ เพื่อไทยไม่ต้องกังวลในการสู้กับพรรคพวกตัวเอง  

            ส่ง 25 ชนะแค่ 9 กลายเป็นเครื่องหมายคำถาม กระแสความนิยมเพื่อไทย คนทางไกล ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เสื่อมมนต์ขลังไปแล้วหรือไม่ เลือกมองในทางตัวเลขก็คงใช่ แต่ถ้ามองให้ลึกถึงพื้นที่ สนามใหญ่กับสนามเล็กมีความแตกต่างที่สลับซับซ้อนต่างกัน สนามใหญ่การเลือกตั้ง ส.ส. ว่ากันด้วยความนิยมของผู้สมัคร กระแสพรรค นโยบาย การเลือกเชิงยุทธศาสตร์เพื่อจะให้ขั้วตัวเองไปอยู่ฝ่ายค้าน ไปเป็นผู้นำฝ่ายค้าน หรือหัวหน้ารัฐบาล นายกรัฐมนตรี 

            ในแง่ของท้องถิ่น ความสัมพันธ์ระดับชาวบ้านเปรียบเหมือนกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ที่ชาวบ้านมักเลือกตามความใกล้ชิด สิ่งที่เคยช่วยเหลือ เกื้อกูลกันมานาน ในหลายจังหวัด ภาคเหนือ ภาคอีสาน บางจังหวัดเพื่อไทยเป็น ส.ส.ยกจังหวัด หรือเกือบยกจังหวัด แต่กับสนามเล็ก นายก อบจ.เป็นคนของอีกพรรค อีกขั้วการเมือง มีให้เห็นหลายจังหวัด 

            ประกอบกับการส่งผู้สมัครครั้งนี้ปล่อยให้ทางจังหวัดตกลงกันเอง หากจังหวัดไหนผู้แทนเห็นพ้องต้องกัน สนับสนุนผู้สมัครคนเดียวกัน ส่งมาให้ทางพรรคพิจารณา ออกเป็นมติรับรองผู้สมัครในนามพรรค สามารถนำโลโก้ นโยบายจากส่วนกลางที่ปรับให้เข้ากับท้องถิ่นไปใช้หาเสียงได้ แต่ในจังหวัดผู้แทนแตกแยกทางความคิด คนละความเห็น เมื่อถึง ฤดูเลือกตั้งท้องถิ่น ผู้แทนหันไปช่วยผู้สมัครรายอื่นตามที่มีความผูกพันกันมา เพื่อไทยก็ต้องบริหารไม่ให้เกิดความขัดแย้ง ปล่อยให้สู้กันอย่างอิสระ แต่ห้ามนำโลโก้ สัญลักษณ์ นโยบายพรรคไปหาเสียงอย่างเด็ดขาด 

            นอกจากนี้ ผู้สมัครนายก อบจ.ที่ลงสมัครในนามพรรค หลายคนถือเป็นผู้สมัครหน้าใหม่ แม้เป็นคนพื้นที่ แต่ยังไม่มีผลงานจับต้องได้เป็นที่ประจักษ์ จึงไม่ผิดความคาดหมายที่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง 

            แม้บางจังหวัด ส.ส.ในจังหวัดเห็นเป็นคนละทิศละทาง แต่ผู้สมัครบางคนที่มีความสัมพันธ์อันดีกับคนทางไกลบิ๊กๆ ในเพื่อไทย ได้รับอนุญาตเป็นกรณีพิเศษให้บุคลากรของพรรคไปช่วยปราศรัย นำโลโก้พรรคไปหาเสียงประกอบในนามกลุ่มการเมืองของตัวเองได้ อาทิ จังหวัดสกลนคร-ชูพงษ์ คำจวง ที่ฝ่าด่าน ขับเคี่ยวกับตัวเต็งในพื้นที่จนได้รับการเลือกตั้งเข้ามา ปทุมธานี บิ๊กแจ๊ด-พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ทีมคนรักปทุม ในฐานะน้องรักทักษิณ โค่นแชมป์เก่า ชาญ พวงเพ็ชร์ ไปได้ เช่นเดียวกับ นครสวรรค์ พล.ต.ท.สมศักดิ์ จันทะพิงค์ อดีตรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เจ้าตัวลาออกไปร่วมงานกับกลุ่มพลเมืองร่วมใจ ที่มีอ้าย ยุทธ-ยงยุทธ ติยะไพรัช เป็นแกนนำกลุ่ม และยังเป็นหนึ่งในคีย์แมนพรรคเพื่อชาติ เมื่อย้อนไปดูปูมหลังเก่า ยงยุทธ ทักษิณ ลูกน้อง-นาย สัมพันธ์แนบแน่น ที่ในวันนี้ก็ยังจับมือกันต้านเผด็จการ ยืนในซีกประชาธิปไตย

            ถือเป็น 2+1 นำมาบวกเป็นแต้ม เข้ามาในสนามเล็กได้ เมื่อหันไปมองเพื่อนบ้าน ผู้เข้ามาใหม่ในทางการเมืองอย่างคณะก้าวหน้า สาขาของพรรคก้าวไกลส่งผู้สมัครนายก อบจ. 42 คน ไม่ได้รับเลือกตั้งแม้แต่คนเดียว  

            จะมีที่น่าผิดหวังเล็กๆ หญิงหน่อย-คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หลังจากลาออกจากสมาชิกพรรคเพื่อไทยไปแล้ว แต่ยังยืนข้างฝั่งประชาธิปไตย เมื่อได้รับการร้องขอจึงเดินทางไปช่วยผู้สมัครนายก อบจ.ที่มีความผูกพันกับผู้สมัคร บางคนก็ผูกพันมาตั้งแต่รุ่นพ่อ จึงลงพื้นที่ช่วยผู้สมัครหาเสียงทั้งใน จ.นครพนม หนองบัวลำภู กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด น่าน จาก 5 จังหวัด มีเพียง จ.น่าน ฝ่าด่านกำชัยเข้ามาได้เพียงคนเดียว 

            เลือกตั้ง (สนามเล็ก) เพื่อไทย ในแง่คณิตศาสตร์สอบตก ถ้ามองในแง่รัฐศาสตร์ ถือว่าพอถูๆ ไถๆ ไปได้ วางหมาก กำหนดกลยุทธ์รองรับไว้หลายชั้นแล้วแต่สถานการณ์ ตามประสาพวกเขี้ยวลาก กรำศึกมานาน.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"