เติมไฟให้วัยเกษียณ อายุเป็นเพียงตัวเลข


เพิ่มเพื่อน    

 

    “คำว่าหมดไฟ” ไม่ได้ใช้กับผู้สูงอายุเพียงอย่างเดียว เพราะหากวัยรุ่นรู้สึกท้อแท้และสิ้นหวังในชีวิต ก็จัดอยู่ในกลุ่มนี้ได้เช่นเดียวกัน ในมุมกลับกันชีวิตหลังวัยเกษียณ ไม่จำเป็นต้องอยู่อย่างหงอยเหงาเศร้าซึม แต่หากบางคนที่สามารถลุกขึ้นมาทำประโยชน์เพื่อสังคม ซึ่งไม่จำเป็นต้องโฟกัสเรื่องเงินทอง นั่นเท่ากับว่าลดปัญหาโรคซึมเศร้า และยังสื่อให้เห็นว่า อันที่จริงแล้วคนวัย 60 ปี ล้วนเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ หรือเป็นปูชนียบุคคลที่คนรุ่นใหม่ควรเอาเป็นแบบอย่าง 

    ในงานเสวนา “หมดไฟ” (ไม่ใช่สำหรับวัยเกษียณ) มีมุมมองของคนหลัก 6 ในสาขาต่างๆ มาร่วมแชร์ประสบการณ์การใช้ชีวิตหลังวัยทำงาน ที่ดีต่อใจและสร้างประโยชน์ให้สังคมมาเล่าสู่กันฟัง

(พรชัย ประมวลสุข)

    พรชัย ประมวลสุข ออร์กาไนเซอร์มือเก๋าวัย 60 ปี เล่าให้ฟังว่า จุดเริ่มต้นของการทำงาน ด้านผู้รับจัดงานนอกสถานที่ อาทิ งานอุ่นไอรัก และงานส่งเสริมการท่องเที่ยวในท้องถิ่นต่างๆ ตลอดจนการรับผลิตละครประวัติศาสตร์ เริ่มจากการเออร์ลี่ก่อนเกษียณอายุราชการก่อน 4 ปี จากอดีตอาจารย์สอนวิชาพลศึกษา จ.อ่างทอง 

    “เหตุผลที่ตัดสินใจมาทำงานด้านออร์กาไนเซอร์ เนื่องจากเราคิดว่าทำตรงนี้ได้ นอกเหนือจากการพัฒนาและส่งเสริมด้านพลศึกษาให้กับเด็กได้ติดทีมชาติ ในกีฬาเทนนิส ซึ่งตอนนี้ผมก็อายุ 60 ปี และภรรยาก็เห็นด้วย ที่สำคัญเรามองเห็นว่าปลายทางประสบความสำเร็จ แม้ว่างานนี้จะไม่ได้ให้เงินเยอะ แต่งานที่เราทำนั้น เราได้ลงพื้นที่ไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์พูดคุย ซักถามกับผู้สูงอายุในชุมชน ที่มีความรู้ในเรื่องต่างๆ จากความจำในอดีต นั่นจึงถือเป็นแหล่งความรู้ในการทำงานชั้นเลิศให้กับผม รวมถึงการที่ผมได้ร่วมงานกับเด็กยุคใหม่ ในการที่ให้เขาช่วยจัดการเรื่องกราฟฟิก หรือการใช้คอมพิวเตอร์ในการดีไซน์สร้างสรรค์ให้ออกมาสำเร็จ เป็นการเชื่อมต่อคนวัยรุ่นเข้ากับวัย 60 ปีของผม สิ่งต่างๆ เหล่านี้มันให้ประสบการณ์กับตัวเองหลายอย่าง ทำให้เรารู้สึกภูมิใจและมองว่าตัวเองมีคุณค่า”

(ธนาคม เย็นสบาย)

    ถัดมาที่ ธนาคม เย็นสบาย พนักงานซีเอ็ดบุ๊คเซ็นเตอร์ วัย 64 ปี ที่ก่อนหน้าเคยทำงานเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ ซึ่งจุดเริ่มต้นของการเป็นพนักงานร้านขายหนังสือ ย่านเดอะมอลล์งามวงศ์วาน คือต้องการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในบ้าน จากการที่ภรรยาประกอบอาชีพขายข้าวแกง ที่สำคัญเจ้าตัวถือเป็นพนักงานประจำร้านซีเอ็ดวัยเกษียณคนแรก และทำงานด้านนี้มาร่วม 1 ปีเต็ม โดยเริ่มงานตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน ปี 2560 ถึงปัจจุบัน 

    “อะไรที่ทำให้ผมยังหันมาทำงานทั้งที่อายุ 64 ปี นั่นเป็นเพราะว่าผมต้องการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในบ้าน เนื่องจากภรรยาผมประกอบอาชีพขายอาหาร ซึ่งก่อนหน้าหน้านี้ผมก็ช่วยภรรยาขายของ แต่ตอนหลังผมอยากทำงานอะไรที่เหมาะกับตัวเองมากที่สุด ประกอบกับลูกสาวผมเปิดร้านอินเทอร์เน็ต เจอว่าซีเอ็ดเปิดรับพนักงาน คำตอบจึงมาลงที่พนักงานร้านนี้ครับ สิ่งสำคัญสำหรับผม จะไม่ได้คิดว่าตัวเองเป็นลูกจ้าง แต่ผมมองว่าตัวเองเป็นเจ้าของ ดังนั้นผมจึงตั้งใจทำงานอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจเช็กหนังสือ การตอบคำถามของลูกค้า ตลอดจนการทำความสะอาดร้าน สำหรับผมเงินไม่ได้เป็นสิ่งสำคัญ แต่ขอให้เป็นงานที่ทำแล้วสบายใจ ผมว่าเป็นสิ่งที่มีค่าที่สุดครับ เพราะความภูมิใจเล็กๆ นี้ แน่นอนว่าจะทำให้ผมอายุยืน เพราะตอนนี้ผมรู้สึกร่างกายแข็งแรงขึ้น น้ำหนักลดลงไปเยอะมากครับ จากแต่ก่อนที่กินและนอนอยู่บ้านอย่างเดียวครับ”

(สุภนันท์ แก้วรุ่งเรือง)

    ไม่แตกต่างจาก พี่ต้อย-สุภนันท์ แก้วรุ่งเรือง วัย 53 ปี ที่เจ้าตัวฝันไว้ว่าอยากทำงานเป็นจิตอาสา สมัยที่ยังทำงานเป็นพยาบาล กระทั่งได้มีโอกาสเป็นผู้แทนยา แต่ปัจจุบันเกษียณอายุการทำงานออกมาก่อนในวัยหลัก 5 จึงได้มีโอกาสทำตามฝัน โดยปัจจุบันได้ทำงานเป็นคอลเซ็นเตอร์ที่ บริษัท young happy จำกัด หรือคอมมูนิตี้สำหรับผู้สูงอายุ โดยทำหน้าที่เป็นจิตอาสาตอบคำถามให้กับคุณตาคุณยาย เนื่องจากเป็นพยาบาลมาก่อน 

    “ความภูมิใจของการได้เป็นคอลเซ็นเตอร์ พี่ประทับใจคุณยายท่านหนึ่ง ที่ท่านเสียใจมาก เนื่องจากสุนัขที่เลี้ยงไว้หลายปีตายไป คุณยายเลยโทรศัพท์มาที่คอลเซ็นเตอร์ที่พี่ทำงานอยู่ พี่ก็ได้ปลอบโยนแกไป จนทุกวันนี้แกโทร.หาพี่ทุกวัน เหมือนกับเราเป็นญาติกันเลย ซึ่งวันไหนที่แกไม่โทร.มา พี่ก็จะไลน์ไปถามแกว่าสบายดีหรือเปล่า 

    นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งเคส อย่างคุณป้าท่านหนึ่งที่อาศัยอยู่บ้านเพียงลำพัง และป่วยเป็นโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน ท่านก็โทร.มาปรึกษาพี่ว่า อยากหาคนไปซื้อของให้ พี่ก็ได้แนะนำท่านไปว่า ที่คอมมูนิตี้ของเรายังไม่มีบริการดังกล่าว พี่จึงแนะนำท่านเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติตัว คือเวลาจะทานข้าวก็ให้สั่งแบบเดลิเวอรี่มาส่งให้ และเวลาจะลุกไปไหนมาไหน ก็ให้ท่านนั่งก่อน ถ้านั่งได้เป็นเวลานานแล้ว จึงค่อยๆ ลุกเดิน หรือหากมีอะไรฉุกเฉิน ก็สามารถโทร.มาที่คอมมูนิตี้ของ young happy ได้ สิ่งที่เกิดขึ้นก็ทำให้พี่ภูมิใจมาก จากการได้เป็นพี่ปรึกษาและให้คำแนะนำผู้สูงวัย เนื่องจากเราเคยทำงานด้านพยาบาลมาก่อน เรียกได้ว่าเป็นความสุขทางใจที่ได้เป็นผู้ให้คำปรึกษากับผู้อื่นค่ะ”

(ณฎา ตันสวัสดิ์)

    ขยับมาที่ ณฎา ตันสวัสดิ์ บริษัท young happy จำกัด คอมมูนิตี้สำหรับสังคมและผู้สูงอายุในรูปแบบต่างๆ อาทิ การผลิตแอปพลิเคชันเรียกแท็กซี่สำหรับคนสูงวัย โดยมีจุดเริ่มต้นที่ทางบริษัทได้สำรวจว่าเด็กยุคใหม่จะช่วยผู้สูงอายุได้อย่างไรบ้าง

    “จุดเริ่มต้นก่อนที่คอมมูนิตี้ของเราได้จัดทำแอปพลิเคชันเรียกแท็กซี่ และแอปผู้ช่วยส่วนตัวให้ผู้สูงอายุแล้ว เริ่มจากณฎาได้สอนให้คุณแม่เล่นเฟซบุ๊ก กระทั่งคุณแม่จำไม่ค่อยได้ ท่านจึงได้ถามซ้ำบ่อยๆ และบอกกับณฎาว่า ทำไมตอนที่ยังเล็กเวลาลูกถามอะไรแล้วแม่ก็ไม่เคยบ่น กระทั่งวันหนึ่งได้มีโอกาสเป็นจิตอาสาไปสอนผู้ป่วยอัลไซเมอร์เล่นไอทีต่างๆ ส่วนตัวรู้สึกมีความสุขมาก เนื่องจากคุณลุงคุณป้าจับมือ และบอกกับณฎา ว่าเป็นคนใจเย็น ไม่เหมือนกับลูกหลานที่บ้านเลย สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ตัวเองมองเห็นกลไกบางอย่างที่สามารถเชื่อมคนโดยอาศัยเทคโนโลยี กระทั่งเกิดเป็นแอปที่กล่าวไว้ข้างต้น 
นอกจากนี้การเติมเทคโนโลยีเข้าไป เพื่อทำให้เกิดสิ่งใหม่ในชีวิตผู้สูงอายุ ผ่านอาชีพที่เรียกกันว่า “ยูทูปเบอร์” ก็เป็นการยกระดับชีวิตผู้สูงวัยเช่นกัน เช่น หากคุณยายมีความสามารถเรื่องการทำแกงมัสมั่น ก็สามารถอัดคลิปวิธีทำ และให้ลูกหลานไปอัพโหลดลงในยูทูบ หากมียอดกดติดตามเป็นจำนวนมาก ก็จะทำให้สร้างรายได้ และความภาคภูมิใจให้กับผู้สูงวัยได้”
ทว่าข้อจำกัดที่ว่าคนอายุ 60 ปี จะต้องทำตัวหง่อมหรือนั่งนิ่งอยู่กับเพื่อน ซึ่งนั่นอาจทำให้ชีวิตเหี่ยวเฉาและอายุสั้นในที่สุด นี่จึงเกิดเป็นการเปิดรับสมัครพนักงานร้านหนังสือซีเอ็ดวัยเกษียณเป็นเจ้าแรก

(ดร.วิโรจน์ ลักขณาอดิสร)

    ดร.วิโรจน์ ลักขณาอดิสร เจ้าของบริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด บอกว่า “ส่วนตัวผมมองว่าคนอายุเท่าไรก็สามารถที่จะแอคทีฟได้ ที่สำคัญเราอยากรู้ว่าถ้าเรามีพนักงานอายุ 60 ปีขึ้นไป ประสิทธิภาพในการทำงานจะเป็นอย่างไร สิ่งที่ได้เห็นคือเวลาที่มีปัญหา หรือลูกค้าโกธรไม่พอใจในการบริการต่างๆ เช่น การห่อปกหนังสือช้า พนักงานสูงวัยมักเลือกที่จะเงียบ ซึ่งตรงนี้จะทำให้สามารถระงับความขัดแย้ง หรือลดการโต้เถียงระหว่างลูกค้ากับพนักงานได้ ส่วนหนึ่งมันเกิดจากการที่ผู้สูงอายุ มีไฟหรือแรงบันดาลในการทำงานนั่นเอง ดังนั้นผมจึงอยากเห็นคนหลายรุ่นทำงานร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นคนหนุ่มสาวกับคนสูงอายุ ดังนั้นหากคนวัยเกษียณอยากทำงาน ก็ไม่ควรเอาข้อจำกัดที่ไม่มีเหตุผลมาเป็นข้ออ้าง”.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"