แพ้ศึก อบจ.แบบ ‘แลนด์สไลด์’ กระแส ‘ก้าวหน้า’ ไม่ถึงท้องถิ่น


เพิ่มเพื่อน    

 

      ผ่านไปแล้วสำหรับการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ภาพรวมผลการเลือกตั้งปรากฏว่า ผู้ชนะส่วนใหญ่เป็นอดีตแชมป์เก่า หรือเครือญาติแชมป์เก่า

                มีเพียงบางพื้นที่เท่านั้นที่มีการโค่นแชมป์เก่าหลายสมัยลง อย่างเช่นที่ จ.ปทุมธานี ‘บิ๊กแจ๊ส’ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง สามารถล้ม นายชาญ พวงเพ็ชร์ อดีตนายก  อบจ.ปทุมธานี 3 สมัย หรือที่ จ.เชียงใหม่ นายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร จากพรรคเพื่อไทย สามารถเอาชนะ นายบุญเลิศ บูรณปกรณ์ อดีตนายก อบจ.เชียงใหม่ 2 สมัยได้ หลังตระกูลชินวัตร และพรรคเพื่อไทย ทุ่มทุกสรรพกำลังเพื่อช่วยนายพิชัย

               ขณะที่ ‘คณะก้าวหน้า’ ที่มี นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นประธาน ซึ่งก่อนการเลือกตั้ง อบจ. หลายฝ่ายให้การจับตาเป็นอย่างมากว่า จะสามารถปักธงเลือกตั้งท้องถิ่นได้หรือไม่

                หลังเคยพาพรรคอนาคตใหม่ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้ง ส.ส.เมื่อปี 2562 ที่ผ่านมา ประกอบกับช่วงที่ผ่านมามีการออกมาเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับม็อบคณะราษฎร 2563

                แต่ปรากฏว่า ผู้สมัครนายก อบจ.จากคณะก้าวหน้า จำนวน 42 คน

                แพ้แบบ ‘แลนด์สไลด์’!!! 

                อย่างไรก็ดี แม้จะมีการออกมาระบุในทำนองปลอบใจตัวเองว่า พวกเขาประสบความสำเร็จแล้ว เพราะหลายพื้นที่ผู้สมัครจากคณะก้าวหน้าอยู่ในอันดับที่ 2 หากแต่เมื่อวัดจากกระแสในการเลือกตั้ง ส.ส.เมื่อปี 2562 ต้องถือว่าล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง เพราะไม่ได้ นายก อบจ.แม้แต่คนเดียว 

                หากย้อนกลับไป คณะก้าวหน้าให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งท้องถิ่นค่อนข้างมาก ถึงขนาดส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง อบจ.ในนามคณะก้าวหน้า แทนการส่งลงในนามพรรคก้าวไกล เพื่อเป็นการป้องกันการกลั่นแกล้งหรือถูกยุบพรรคอีกครั้ง

                คณะก้าวหน้ามีความตื่นตัวในการเลือกตั้งท้องถิ่นก่อนพรรคการเมืองอื่น นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ, นายปิยบุตร แสงกนกกุล และ นางสาวพรรณิการ์ วานิช ลงพื้นที่ต่างจังหวัดอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ยังไม่ได้มีการกำหนดวันเลือกตั้งท้องถิ่นด้วยซ้ำ 

                ขณะเดียวกัน คณะก้าวหน้ายังเลือกที่จะส่งผู้สมัครนายก อบจ.เฉพาะจังหวัดที่พวกเขาประเมินแล้วว่า มีลุ้นที่จะคว้าชัยชนะ และเคยประสบความสำเร็จมาแล้วในการเลือกตั้ง ส.ส. 42 คนที่ลงสมัครจึงเป็นพวกที่คัดมาแล้วเน้นๆ 

            ช่วงของการหาเสียง นายธนาธรและแกนนำคณะก้าวหน้าลงทุนลุยขอคะแนนประชาชนให้กับผู้สมัครด้วยตัวเอง

                แม้ในระยะหลังๆ จะถูกประชาชนขับไล่ เนื่องจากมองว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังม็อบคณะราษฎร 2563 

                ทว่า แม้จะถูกตะโกนด่าระหว่างหาเสียง จนบางครั้งต้องหลบๆ ซ่อนๆ แต่นายธนาธรยังเชื่อว่า คณะก้าวหน้าจะชนะแบบ ‘แลนด์สไลด์’ ได้ แบบที่พรรคอนาคตใหม่เคยพา ส.ส.ร่วม 80 ชีวิตเข้าสภาผู้แทนราษฎร

                แต่ ‘แลนด์สไลด์’ ที่นายธนาธรคาดหวัง กลับมาในรูปแบบของ ‘แลนด์สไลด์’ ที่ผู้สมัครนายก อบจ. 42 คน จากคณะก้าวหน้า ไม่มีใครเข้าเส้นชัยได้สักคนเดียว

                ความพ่ายแพ้ของคณะก้าวหน้าในการเลือกตั้ง อบจ.หนนี้ หลายฝ่ายมองว่า กำลังสะท้อนให้เห็นถึงกระแสของนายธนาธร และพรรคก้าวไกล (พรรคอนาคตใหม่เก่า) ไม่ได้มากเหมือนตอนเลือกตั้ง ส.ส.

                ขณะที่ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานยุทธศาสตร์กลุ่มไทยภักดี เห็นว่า ความพ่ายแพ้แบบราบคาบของคณะก้าวหน้าในศึก อบจ.กำลังสะท้อนให้เห็นว่า ประชาชนยังยึดมั่นการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไม่ต้องการสาธารณรัฐและคอมมิวนิสต์ 

                นอกจากนี้ยังเป็นตัวชี้วัดอีกว่า ประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศไม่ได้เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวของม็อบคณะราษฎร 2563 ในช่วงที่ผ่านมา อันสะท้อนผ่านผลการเลือกตั้งของคณะก้าวหน้าที่ถูกมองว่ามีความเชื่อมโยงกับม็อบในครั้งนี้

                อย่างไรก็ตาม สนามเลือกตั้งท้องถิ่นมีความแตกต่างจากการเลือกตั้ง ส.ส. เพราะมีความเป็นท้องถิ่นนิยมสูง ส่วนใหญ่ผู้ชนะมักจะเป็นบุคคลที่ทำงานในพื้นที่มานาน ที่ผ่านมาแต่ละคนจึงดำรงตำแหน่งนายก อบจ.กันมากกว่า 1 สมัย 

                นอกจากนี้ กระแสในโซเชียลมีเดียไม่ได้มีผลต่อการเลือกตั้งท้องถิ่นสักเท่าไหร่ เพราะสุดท้ายแล้วประชาชนมักจะเลือกคนที่รู้จักมักคุ้นและพึ่งหวังได้มากกว่า

                กระแสพรรค กระแสบุคคล อาจจะใช้ได้แค่ในบางพื้นที่ อย่างเช่น จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นฐานเสียงสำคัญของพรรคเพื่อไทยมาตั้งแต่พรรคไทยรักไทย เป็นบ้านเกิดของนายทักษิณ ชินวัตร น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อเปิดหน้าสนับสนุนใคร คนนั้นจะกุมความได้เปรียบ  

                ดังนั้นแม้นายธนาธรจะเป็นที่รู้จักของสังคมก็จริง แต่เรื่องการทำคุณประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้ยังไม่มี การจะเข้าไปล้มแชมป์เก่าในการเลือกตั้งท้องถิ่นจึงยากกว่าการล้มแชมป์เก่าในการเลือกตั้ง ส.ส. ที่กระแสพรรคและกระแสบุคคลเป็นตัวแปรสำคัญ  

                หากการเลือกตั้ง อบจ.ครั้งนี้ คณะก้าวหน้าได้นายก อบจ.มาสัก 1-2 คน ตรงนี้ยังจะถือเป็นนัยสำคัญ อันพออนุมานได้ว่า กระแสของพวกเขาแทรกซึมไประดับท้องถิ่นแล้ว แต่เมื่อพ่ายแพ้ยับเยิน มันเท่ากับว่า กระแสคณะก้าวหน้าไม่ได้ร้อนแรงขนาดนั้น และอาจจะรวมไปถึงกระแสม็อบคณะราษฎร 2563 ที่กำลังเคลื่อนไหวอยู่ขณะนี้ด้วย. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"