นักสังเกตการณ์ที่เฝ้ามองจีนอย่างใกล้ชิดกำลังวิเคราะห์ยุทธศาสตร์ใหม่ที่ใช้ชื่อ “Dual Circulation Strategy” (双循环) กันอย่างคึกคัก
เป็นแนวทางใหม่ของผู้นำจีนที่ได้บทสรุปจากโควิด-19 และสงครามการค้ากับสหรัฐ
และบทเรียนใหญ่นั้นคือจะต้องลดการพึ่งพาตลาดและเทคโนโลยีต่างประเทศให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
หันมาสร้างอำนาจซื้อและตลาดภายในให้แข็งแกร่งที่สุดเท่าที่จะทำได้
คำว่าโมเดล Dual Circulation ปรากฏครั้งแรกจากคำประกาศของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
ต่อมาก็ได้รับคำอธิบายว่ายุทธศาสตร์ใหม่นี้คือการหันมาพึ่ง “ระบบหมุนเวียนภายใน”
นั่นหมายรวมถึงวงจรการผลิตในประเทศ, การกระจายสินค้าและการบริโภคของคนจีนในประเทศเองทั้งหมดเพื่อการพัฒนาของจีนเอง
และสนับสนุนโดยนวัตกรรมของจีนเอง
กับยกระดับมาตรฐานเศรษฐกิจของตัวเอง
ในขณะเดียวกับ “การหมุนเวียนภายใน” ก็จะถูกหนุนเนื่องโดย “การหมุนเวียนภายนอก”
นั่นแปลว่าขณะที่จีนจะหันมาให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจในประเทศอย่างจริงจัง แต่ก็จะยังเชื่อมโยงกับตลาดโลก ซึ่งยังมีความหมายต่อการสร้างชาติไม่น้อย
ในทางปฏิบัติ ยุทธศาสตร์นี้คือการสร้างดุลที่เหมาะสมระหว่างเศรษฐกิจในประเทศกับต่างประเทศ
ในตลาดต่างประเทศนั้น จีนมองว่าจะมีการ “แบ่งหน้าที่กันทำ” ระหว่างประเทศต่างๆ ในระบบเศรษฐกิจโลก
อีกทั้งปักกิ่งก็ยังจะให้ความร่วมมือกับตลาดโลกอย่างต่อเนื่อง เพราะจีนย่อมได้ประโยชน์จากโลกไม่น้อย
แต่ต้องไม่พึ่งพาโลกภายนอกมากถึงขั้นที่พอเกิดเหตุการณ์เช่นโควิด-19 แล้วจะต้องกลายเป็นอัมพาตไปอย่างที่ประสบครั้งนี้
พอได้ข่าวเรื่องยุทธศาสตร์ “การหมุนเวียนคู่” ของสี จิ้นผิง ก็ทำให้คิดถึงแนวทาง “ระบบหมุนเวียนระหว่างประเทศ” (Great International Circulation) ของเติ้ง เสี่ยวผิง เมื่อประมาณ 30 ปีก่อน
ตอนนั้นเติ้งต้องการเปิดประตูจีนเพื่อเข้าไปมีส่วนร่วมกับเศรษฐกิจโลก
แต่วิกฤติเศรษฐกิจโลกปี 2008-2009 (วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์) ทำให้ผู้นำจีนเห็นถึงความเปราะบางของโมเดลที่จีนต้องพึ่งพาตลาดส่งออกเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจของตัวเอง
พูดง่ายๆ คือปักกิ่งเห็นแล้วว่าการเติบใหญ่ทางเศรษฐกิจของตัวเองต้องอาศัยตลาดข้างนอกมากเกินไป
พอเกิดเรื่องที่ไม่คาดฝันและนอกเหนือการควบคุมของจีนเองก็มีผลทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจของจีนเองต้องมีอันชะงัก
ผู้นำจีนจึงหันมาปรับนโยบายใหม่
นั่นคือการมาเน้นความต้องการและตลาดภายในของตัวเอง
เพราะจีนมีประชากรกว่า 1,400 ล้านคน และมีชนชั้นกลางที่มีอำนาจซื้อขยายตัวขึ้นตลอดเวลา
เมื่อถูกโรคระบาดโควิด-19 ครั้งนี้ซ้ำเติมด้วยแล้ว ยิ่งทำให้ผู้นำจีนหันมาทบทวนยุทธศาสตร์ของตัวเองอย่างจริงจัง
เป็นที่มาของคำว่า “Dual Circulation” ซึ่งอาจจะกลายเป็นนโยบายหลักของแผนพัฒนาเศรษฐกิจ 5 ปีที่ 14 ของจีนที่จะเริ่มในปี 2021 นี้
หากเป็นไปตามความคาดการณ์ แผน “ยุทธศาสตร์หมุนเวียนคู่” นี้ก็จะถูกเปิดตัวในการประชุมใหญ่ของสภาประชาชนครั้งหน้าในต้นปี 2021
การที่จะกระตุ้น “การหมุนเวียนภายใน” ก็จะต้องมีมาตรการเพิ่มรายได้ครัวเรือนของคนจีน
เมื่อมีรายได้เพิ่มก็สามารถดันการบริโภคในประเทศ
หัวใจของแนวทางนี้ก็คือการทำให้คนงานที่มาจากต่างจังหวัดหลายล้านคนกลายเป็นคนในเมือง
ตามแผนงานสร้างเมืองใหม่ของจีน
เป็นไปตามแผนการขยายจำนวนและฐานของ “ชนชั้นกลาง”
ณ วันนี้ประชากรจีนราว 60% อาศัยอยู่ในตัวเมือง เพราะคนจากชนบทได้อพยพมาหากินในเมืองมากขึ้นทุกที
เมื่อชนชั้นกลางจีนมีประมาณ 400 ล้านคน ก็ย่อมจะมีอำนาจซื้อเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
เมื่อคนมีสตางค์ใช้มากขึ้นก็จะกระตุ้นให้เกิดการผลิต และอุตสาหกรรมต่างๆ ก็จะคึกคัก
เมื่อตลาดภายในคึกคักขึ้นก็พึ่งพาตลาดต่างประเทศน้อยลง
วิกฤติระดับโลกครั้งต่อไปก็จะไม่กระทบจีนเท่ากับทุกครั้งที่ผ่านมา
ยุทธศาสตร์ใหม่นี้ของจีนน่าศึกษาน่าวิเคราะห์มาปรับใช้กับประเทศไทยในบางด้าน พรุ่งนี้ว่าต่อครับ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |