เมื่อไทยเข้าข่ายถูกมะกัน จับตา ‘บิดเบือนค่าเงิน’


เพิ่มเพื่อน    


    ข่าวที่คนไทยควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์กับมหาอำนาจไม่ใช่มีแต่เรื่องการเมืองและความมั่นคงเท่านั้น เรื่องการเงินการทองก็กลายเป็นประเด็นร้อนได้เสมอ
    สัปดาห์ที่ผ่านมา กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ให้ไทยติด  "รายชื่อจับตาใกล้ชิด" ในประเด็น "ปั่นค่าเงิน" ต้องอ่านให้รอบด้านและละเอียดจึงจะมองเห็นภาพที่ชัดเจน
    แบงก์ชาติก็ออกมาชี้แจงอย่างว่องไว ตอกย้ำว่าสาเหตุที่สหรัฐฯ จับเป็นประเด็นนั้นมาจากเกินดุลการค้า-บัญชีเดินสะพัด 
    แบงก์ชาติยืนยันว่าเรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวกับการมีปัญหากับภาคธุรกิจแต่อย่างใด
    รายงานที่ว่านี้มีชื่อทางการว่า
    Report on Macroeconomic and Foreign Exchange Policies of Major Trading Partners of the  United States 
    รู้จักกันในนาม Currency Manipulation Report หรือ  "รายงานผู้บิดเบือน (ปั่น) ค่าเงิน"
    เป็นรายงานที่ทำตามกฎหมายของสหรัฐฯ ที่ให้เกาะติดหรือเฝ้ามอง (monitor) ประเทศคู่ค้าสำคัญของสหรัฐฯ ว่ามีพฤติกรรมบิดเบือนค่าเงินเพื่อสร้างความได้เปรียบให้ตัวเองในการค้าขายกับอเมริกาหรือไม่ 
    เขากำหนดตัวชี้วัดพฤติกรรมไว้ดังนี้
    1.มีการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ อย่างมีนัยสำคัญหรือไม่ (เกิน 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ)
    2.มีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างมีนัยหรือไม่  (เกิน  2% ของ GDP)
    3.มีการแทรกแซงค่าเงินด้านเดียวอย่างต่อเนื่องหรือไม่ (หมายถึงการซื้อสุทธิเงินตราต่างประเทศมากกว่า 6  เดือนใน 12 เดือน รวมกันมากกว่า 2% ของ GDP)
    ไทยเราต้องต่อสู้ในสามประเด็นหลักนี้เพื่อยืนยันว่าเราไม่เข้าข่าย "ผู้ร้าย" ของเขา
    คนที่เกาะติดเรื่องนี้ตั้งข้อสังเกตว่ารายงานฉบับนี้มีประเด็นน่าสนใจอยู่ 2 ข้อ คือ
    1.เป็นครั้งแรกที่รายงานฉบับนี้ชี้ว่ามีประเทศที่เข้าข่ายทั้งสามเงื่อนไข และอาจจะถูกดำเนินการตามกฎหมายต่อไป 
    ปีก่อนจีนถูกขึ้นบัญชี "บิดเบือนค่าเงิน" แม้จะโดนกล่าวหาความผิดข้อเดียวคือเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ เพราะตอนนั้นสงครามการค้ากำลังร้อนแรง จึงถูกรวบหัวรวบหางเข้าข่ายเสียเลย
    รายงานฉบับถัดมาก็เอาชื่อจีนออก
    ครั้งนี้เวียดนามและสวิตเซอร์แลนด์โดนเต็มๆ
    อีก 10 ประเทศที่โดนขึ้น "บัญชีที่ต้องติดตาม  (monitoring list)" เพราะครบเงื่อนไข 2 ใน 3 ข้อ คือ 
จีน (แม้จีนจะโดนข้อเดียวก็ไม่เว้น) ญี่ปุ่น เกาหลีใต้  เยอรมนี อิตาลี สิงคโปร์ มาเลเซีย ไต้หวัน อินเดีย และ ไทย!
    มีคำถามว่าเมื่อถูกขึ้นบัญชีอย่างนี้แล้ว ไทยจะโดนอะไรบ้าง
    ผู้รู้บอกว่าในระยะสั้นอาจจะไม่โดนอะไรหนักหนานัก  อาจจะเสียคะแนนและสร้างความวุ่นวายใจได้บ้าง
    เขาให้เวลา "แก้ไข" ประมาณหนึ่งปี
    ถ้าครบปีแล้วเขายังไม่เอาเราออกจากรายชื่อ เขาก็วางแนวทางการ "ลงโทษ" ไว้เช่น
    1.ห้าม Overseas Private Investment Corporation  อนุมัติเงินลงทุนใหม่ในประเทศนั้น
    2.ห้ามรัฐบาลสหรัฐฯ ทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้างกับประเทศนั้น
    3.ขอให้ IMF เกาะติดเรื่องนโยบายค่าเงินให้เข้มงวดขึ้น
    4.ให้ USTR นำประเด็นนี้พิจารณาก่อนจะตกลงทำสัญญาการค้ากับประเทศนั้น 
    ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย แห่งบริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด เขียนใน Facebook ของท่านตอนหนึ่งว่า
    "ผลทางตรงและผลระยะสั้นจึงอาจจะไม่แรงเท่าไร แต่เป็นแรงกดดันอยู่เรื่อยๆ และที่น่าห่วงคือบริษัทในสหรัฐฯ อาจจะใช้ประเด็นว่าการบิดเบือนค่าเงินเป็นการได้มาซึ่งความได้เปรียบทางการค้า และออกมาตรการตอบโต้ แบบที่เวียดนามโดนกับธุรกิจยางรถยนต์"
    นักเศรษฐศาสตร์ท่านนี้บอกด้วยว่า
    "ไทยรอดจากรายงานนี้ เพราะเราโดนสองข้อแรกแน่ๆ และเห็น reserves เพิ่มขึ้นอย่างมากในรอบปีที่ผ่านมา (รายงานใช้ข้อมูลจนถึงเดือนมิถุนายน) นึกว่าจะโดนครบสามข้อ 
    แต่ในรายงานเขียนไว้ชัดเจนว่า
    'The Thai authorities have conveyed credibly to  Treasury that net purchases of foreign exchange over the 12 months through June 2020 were 1.8% of GDP.  This figure is equivalent to almost $10 billion.'
    แต่ถ้าไปดูข้อมูล แค่ไตรมาสสองไตรมาสเดียว เราก็มีดุลชำระเงินเกินดุล (ที่น่าจะบอกว่า reserves เราเพิ่มขึ้น) มากกว่าหนึ่งหมื่นล้านเหรียญแล้ว และถ้าดูเงินสำรองสุทธิของเราในรอบสิบสองเดือนเพิ่มขึ้นมากกว่า 3 หมื่นล้านเหรียญ นั่น 6% ของ GDP เลย (แม้อาจจะมีบางส่วนมาจากค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนลง แต่ก็ยังเยอะอยู่ดี)! ไม่แน่ใจกล่อมยังไง แต่สุดยอดมากครับ..."
    ธนาคารแห่งประเทศไทยรีบออกคำชี้แจงทันทีเพราะไม่ต้องการให้กลายเป็นเรื่องค้างคาใจทั้งในและนอกประเทศ
    คุณจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการสายสื่อสารและความสัมพันธ์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)  บอกว่าสาเหตุน่าจะเป็นเพราะประเทศเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ มากกว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมีดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลมากกว่า 2% ของจีดีพี 
    แต่ ธปท.ย้ำว่า การที่ประเทศไทยถูกจัดอยู่ใน  monitoring list ไม่มีนัยสำคัญต่อธุรกิจที่มีการค้าการลงทุนกับสหรัฐฯ ซึ่งภาคธุรกิจไทยและสหรัฐฯ ยังคงดำเนินธุรกิจกันได้ตามปกติ 
    และย้ำว่าการประเมินดังกล่าวไม่กระทบต่อการดำเนินนโยบายของ ธปท.เพื่อดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินภายในประเทศ รวมถึงการดูแลเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งเป็นไปตามหน้าที่ของธนาคารกลางและความจำเป็นของสถานการณ์
    คุณจันทวรรณชี้ว่า ตลอดช่วงที่ผ่านมา ธปท.ได้สื่อสารและทำความเข้าใจกับทางการสหรัฐฯ เกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจและแนวทางการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจการเงินของไทย รวมถึงสร้างความมั่นใจกับสหรัฐฯ ว่า
ไทยดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนแบบยืดหยุ่นและจะเข้าดูแลค่าเงินบาทเมื่อมีความจำเป็นเพื่อชะลอความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนไม่ให้รุนแรงเกินไปทั้งในด้านแข็งค่าและอ่อนค่า
    และไม่มีนโยบายแทรกแซงค่าเงินเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการค้าระหว่างประเทศแต่อย่างใด
    โจ ไบเดนขึ้นมา รัฐมนตรีคลังคนใหม่เข้ารับตำแหน่งแล้ว จะมีอะไรปรับเปลี่ยนหรือไม่ต้องจับตากันทุกฝีก้าว!


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"