นับถอยหลังเตรียมเข้าสู่ช่วงเฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่ 2564 แต่ดูเหมือนปีนี้ความรื่นเริงสนุกสนานในบางจังหวัดอาจน้อยลงก็ได้ หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 สร้างความกังวลใจให้กับประชาชนจำนวนมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ใกล้เคียงจังหวัดสมุทรสาคร ที่พบการระบาดใหม่ ที่ก็รวมถึง "กรุงเทพมหานคร" ด้วย จนอาจทำให้การฉลองปีใหม่ในกรุงเทพฯ ปีนี้อาจไม่คึกคัก หากว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังไม่น่าไว้วางใจ หลังเมื่อวันเสาร์ที่ 19 ธ.ค.ที่ผ่านมา คนไทยทั้งประเทศต้องตื่นตระหนกกับการแถลงข่าวการพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในสมุทรสาครร่วม 576 ราย
ความชัดเจนอย่างเป็นทางการที่สุดจากฝ่ายรัฐ ก็ต้องฟังข้อมูลจากศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเมื่อวันอาทิตย์ที่ 20 ธ.ค.ที่ผ่านมา "น.พ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค." แถลงไว้เมื่อช่วงสายว่า ผู้ติดเชื้อยืนยันอยู่ที่ 576 ราย เป็นการติดเชื้อภายในประเทศ 19 ราย เป็นการคัดกรองจากเชิงรุกพบจากแรงงานต่างด้าว 516 ราย และสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้อีก 41 ราย ตัวเลขยืนยันสะสมอยู่ที่ 4,907 ราย
"จากผลการตรวจทั้งหมด 1,191 ราย พบผู้ติดเชื้อ จำนวน 519 ราย เท่ากับ 44 เปอร์เซ็นต์ เกือบๆ ครึ่งนี้ เราต้องตื่นตัวขึ้นมา เพราะว่ามีความเป็นไปได้ในการแพร่ระบาด แต่มีความโชคดีว่าเราทราบเร็วเข้าไปสแกนเร็ว เคสทั้งหลายที่ผลออกมายืนยันถ้าเป็นคนต่างด้าวให้อยู่กับพื้นที่ตรงนั้น จำกัดพื้นที่ไม่ให้ออกนอกบริเวณ เมื่อเกิดขึ้นต้องดูแลให้อยู่ในพื้นที่จำกัด ไม่ให้ไปแพร่กระจายเชื้อ ตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรคของจังหวัดสมุทรสาครที่ประกาศไปแล้วในการปิดสถานที่ต่างๆ ตระหนักแต่อย่าตระหนก ตื่นตัวแต่อย่าตื่นตูม แล้วเราจะผ่านไปด้วยกัน"
นพ.ทวีศิลป์ ที่บอกว่าการแพร่ระบาดของโควิดรอบนี้ ไม่น่าจะเรียกว่าระบาดรอบสอง แต่เป็นการติดใหม่ เพราะเกิดจากกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่เป็นกลุ่มก้อนมาจากแรงงานต่างด้าว
เรื่องที่หลายฝ่ายจับตาต่อจากนี้ ก็คือระบบการป้องกันการแพร่ระบาด เพื่อไม่ให้ขยายตัวออกไปสู่วงกว้าง โดยเฉพาะการป้องกันในพื้นที่เมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานครที่เป็นเมืองเศรษฐกิจ ที่รัฐบาลเคยใช้มาตรการเข้มในการป้องกันโควิดมาแล้วในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน หลังมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน และอีกหลายมาตรการ เช่น การประกาศเคอร์ฟิว ห้ามออกจากบ้านในยามค่ำ, การปิดห้างสรรพสินค้า สถานบันเทิง สถานบริการ, การไม่ให้ร้านค้าต่างๆ โดยเฉพาะร้านอาหาร ขายของในร้าน ฯลฯ จนสร้างผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนและระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างหนักหน่วง จนถึงทุกวันนี้ที่ภาคธุรกิจ-ประชาชนหลายภาคส่วนก็ยังไม่ฟื้นตัวจากวิกฤติสงครามโควิดรอบแรก
ด้วยเหตุนี้ก็อย่าได้แปลกใจ พอมีข่าวพบการระบาดใหม่ที่สมุทรสาคร ที่มีพื้นที่ติดกรุงเทพมหานคร จึงทำให้หลายคนอดเป็นห่วงไม่ได้ว่า จะส่งผลทำให้ต้องมีการล็อกดาวน์กรุงเทพมหานครอีกรอบหรือไม่ ยิ่งตอนนี้เป็นช่วงใกล้เทศกาลปีใหม่ ที่เป็นช่วงที่มีการจับจ่ายใช้สอย-เงินสะพัดมากที่สุดในรอบปีเลยก็ว่าได้ หลายภาคส่วนก็คาดหวังว่าช่วงตั้งแต่ตอนนี้ไปจนถึงต้นปีหน้า เม็ดเงินจากเทศกาลปีใหม่จะมาช่วยกระตุ้นและพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยให้กระเตื้องขึ้น แต่หากมาเจอโควิดระบาดใหม่ จนทำให้ประชาชนไม่กล้าออกมาจับจ่ายใช้สอย เดินทางท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลปีใหม่ ก็คงทำให้สภาพเศรษฐกิจไทยทั้งระบบ ไม่ใช่แค่ใน กทม. ได้รับผลกระทบไปตามๆ กันเป็นลูกโซ่
โดยท่าทีจากฝ่ายรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรุงเทพมหานครนั้นพบว่า ก็อยู่ระหว่างการรอประเมินสถานการณ์ในการรับมือกับการระบาดใหม่รอบนี้ แต่ดีที่ว่าจากการที่ไทยมีประสบการณ์รับมือกับโควิดมาแล้วตอนช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน เลยทำให้ การตั้งหลักของรัฐบาลรอบนี้น่าจะตัดสินใจได้ง่ายขึ้นว่าจะใช้มาตรการใด เพราะมีประสบการณ์มาแล้ว
ทาง "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม" แสดงท่าทีเรื่องนี้ผ่านการโพสต์เฟซบุ๊ก "ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha" ระบุว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในครั้งนี้เป็นการระบาดใหม่ ที่เราไม่พึงปรารถนา จะต้องตัดวงจรการแพร่ระบาดให้ได้โดยเร็ว ซึ่งเรามีประสบการณ์ในการรับมือมาแล้ว ด้วยความเข้มแข็งของระบบสาธารณสุข และความร่วมมือของทุกๆ คน ขอให้ไม่ประมาท การ์ดไม่ตก
ขณะเดียวกันก็มีข่าวว่า ในวันที่ 21 ธ.ค. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข จะเข้ารายงานสถานการณ์การระบาดของโควิดต่อนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อนำเสนอมาตรการการควบคุมโรคและป้องกันการระบาด ในสถานการณ์ที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก เนื่องจากมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอจะให้ฝ่ายความมั่นคงเข้ามาดำเนินการและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดมากขึ้น ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจ และบรรยากาศในช่วงเทศกาลปีใหม่ โดยเป็นเรื่องที่พลเอกประยุทธ์ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค.ต้องเคาะออกมา
สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดรอบนี้จะเป็นอย่างไร แต่หากคนไทยไม่ใช่เอาแต่คอยกล่าวโทษกันไปมา แต่หันมาร่วมมือกันในการป้องกันเฝ้าระวัง สุดท้ายแล้ว "ไทยชนะ" ก็จะกลับมาอีกครั้ง แบบที่ประเทศไทย เคยประสบความสำเร็จมาแล้วก่อนหน้านี้.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |