แฟ้มภาพ ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 สะสมในสภาพอากาศปกคลุมกรุงเทพฯ
ช่วงสองสัปดาห์มานี้คนกรุงตื่นมาพบกับฝุ่นพิษคลุมเมือง สภาพอากาศเลวร้าย หลายเขตในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน เกินค่ามาตรฐาน ความหนาแน่นของฝุ่นที่เรากำลังเผชิญมีหลักฐานจากวิวทิวทัศน์ตึกระฟ้าที่เคยเห็นชัดเจน เวลานี้พร่าเลือนจากฝุ่นละอองที่สะสมในบรรยากาศเหมือนเมืองในหมอก
ขณะที่แอปพลิเคชัน Air Visual รายงานการจัดอันดับค่าฝุ่นแบบ Realtime หลายเมืองใหญ่รอบโลก รายงานผลการจัดอันดับค่ามลพิษทางอากาศระดับสูง ช่วงเวลาเช้าวันที่ 15 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา พบว่า พื้นที่กรุงเทพฯ ประเทศไทย ภาพรวมมีปริมาณฝุ่น 178 US AQI ส่งผลให้ฝุ่นพิษคลุมกรุงเทพฯ ติดอันดับ 4 เมืองอากาศแย่ของโลก อันดับ 1 ธากา บังกลาเทศ 244 US AQI อันดับ 2 บิชเคก คีร์กีซสถาน 241 US AQI ส่วนที่ 3 โกลกาตา อินเดีย 182 US AQI
ฝุ่นจิ๋วอันตรายมาก จัดเป็นมลพิษทางอากาศ สูดดมเข้าไประยะยาวก่อให้เกิดโรคมากมาย ถ้าใครต้องเผชิญฝุ่นพิษขณะเดินทาง หรือใช้ชีวิตทำมาหากินอยู่ภายนอกอาคาร พื้นที่กลางแจ้งนานๆ ไปจนถึงคนที่เป็นโรคภูมิแพ้ ช่วงนี้ควรหาหน้ากาก N95 ใส่ป้องกันถ้าหาซื้อได้ แต่ถ้าไม่มี ใช้หน้ากากอนามัยแทนไปก่อน
เด็กเยาวชน หนึ่งในกลุ่มเสี่ยงได้รับผลกระทบจากฝุ่นพิษ
แต่เชื่อว่า หลายคนยังไม่อิน ไม่คิดว่าฝุ่นจิ๋วเป็นเรื่องใหญ่ อันตรายร้ายแรงขนาดนั้น เพราะยังหายใจได้ปกติ แต่อาการไอ จาม น้ำมูกไหล แสบจมูก หายใจไม่สะดวก แน่นหน้าออก หรือหัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นสัญญาณที่ร่างกายเตือนว่าเริ่มไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพแล้ว
หน่วยงานราชการเองอย่างกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ก็สื่อสารเตือนให้ประชาชน โดยเฉพาะที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยง และกลุ่มเสี่ยง ทั้งเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคหืด โรคภูมิแพ้ ถ้าสูดมลพิษจากฝุ่นละอองขนาดเล็กสู่ร่างกาย จะทำให้ป่วยหรือกระทบสุขภาพรุนแรงกว่าคนทั่วไป
โดยเฉพาะคนที่มีสมาชิกในครอบครัวป่วยด้วย 4 กลุ่มโรคสำคัญ เสี่ยงอาการกำเริบ ได้แก่ กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น เหนื่อยง่าย หัวใจเต้นเร็ว แน่นหน้าอก กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น คัดจมูก น้ำมูกไหล แสบจมูกและลำคอ กลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ เช่น คันตามร่างกาย มีผื่นแดงตามร่างกาย และกลุ่มโรคตาอักเสบ เช่น อาการแสบตาหรือคันตา น้ำตาไหล และตาแดง 4 กลุ่มโรคนี้ ไกล PM 2.5 ไว้จะดีที่สุด ถ้ามีอาการผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว
แฟ้มภาพ หมอกควันปกคลุมกรุงเทพมหานคร ค่าฝุ่นพิษเกินค่ามาตรฐาน
ฝุ่นพิษมองไม่เห็น แต่มีอยู่จริง รศ.ภญ.รท.หญิง ดร.ภัสราภา โตวิวัฒน์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน เกินมาตรฐาน มีผลกระทบต่อสุขภาพ ที่ส่งผลทันที อาจมีอาการไอ จาม คนที่เป็นโรคภูมิแพ้อาการจะกำเริบเพิ่มมากขึ้น คนที่เป็นโรคทางเดินหายใจ หอบ หืดกำเริบ แล้วที่เห็นได้ชัด เมื่อฝุ่นสัมผัสกับผิวหนังจะเกิดอาการคันยิบๆ ระคายเคือง บางคนที่แพ้พิษฝุ่นรุนแรงจะมีอาการลมพิษขึ้นตามร่างกาย ที่สำคัญทำลายเซลล์ผิวหนัง ทำให้ผิวหนังอ่อนแอ เหี่ยวย่นก่อนวัยอันควร
“มลพิษฝุ่นอันตรายร้ายแรง กระทบสุขภาพระยะยาว ฝุ่นจิ๋วสามารถผ่านการกรองของขนจมูก และทะลุทะลวงเข้าสู่ชั้นในสุดของปอด ก่อนจะเข้าสู่กระแสโลหิต ฝุ่น PM 2.5 ที่สะสมในร่างกายทุกวันๆ จะไปทำลายอวัยวะต่างๆ มีผลทำให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง และที่ร้ายแรงสุด คนเจ็บป่วยด้วยโรคปอดอักเสบและมะเร็งปอด ทั้งส่งผลกระทบต่อเด็กในท้อง ทำลายพัฒนาการ” รศ.ภญ.รท.หญิง ดร.ภัสราภา ย้ำพิษฝุ่น
พื้นที่เสี่ยงฝุ่นพิษ โดยเฉพาะริมถนนสายหลักๆ ที่มีการจราจรคับคั่ง พื้นที่ที่มีก่อสร้าง ยิ่งน่าวิตกกังวลสำหรับผู้ที่อยู่อาศัยย่านนั้น ต้องทำงานกลางแจ้ง หรือมีไลฟ์สไตล์ที่ต้องเผชิญกับปริมาณฝุ่นละอองที่เกินค่ามาตรฐาน นักวิชาการ จุฬาฯ แนะนำให้สวมหน้ากาก N95 และหน้ากากอนามัยตลอดเวลาดีกว่าไม่ใส่อะไรเลย หากจำเป็นต้องทำกิจกรรมในพื้นที่ค่าฝุ่นสูง หรือเส้นทางที่มีฝุ่นหนาแน่น ให้ลดระยะเวลาการเผชิญมลภาวะให้น้อยที่สุด
หรือแม้แต่อยู่ในบ้านก็ยังไม่ปลอดภัยจากฝุ่นพิษ เพราะจากการศึกษาฝุ่นในอาคารปิดจะลดลงร้อยละ 50 จากปริมาณฝุ่นภายนอก ในบ้านก็ต้องป้องกัน เช่น ปิดประตู หน้าต่างให้มิดชิด ติดตั้งเครื่องฟอกอากาศลดฝุ่น รวมถึงดูแลทำความสะอาดบ้านให้ปลอดฝุ่น
“ ทุกคนรู้แหล่งกำเนิดฝุ่นพิษของกรุงเทพฯ มาจากการจราจรที่หนาแน่น ควันไอเสียรถยนต์ ควันจากโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ที่สำคัญการเผาวัสดุเหลือใช้ในการเกษตรในที่โล่งปล่อยมลพิษสู่คนกรุงเทพฯ หากรณรงค์ร่วมมือกันลดปริมาณฝุ่นที่ต้นเหตุในทุกบริบท จัดการกับรถควันดำ สนับสนุนการใช้เครื่องยนต์ไฟฟ้า ลดการใช้รถยนต์ รถที่มีควันดำ หันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น จะช่วยให้สภาพอากาศกรุงเทพฯ ดีขึ้นได้” นักวิชาการรั้วจามจุรี บอก
แฟ้มภาพ ฝุ่นควันพิษปกคลุมพื้นที่ฝั่งตะวันตกของกรุงเทพฯ
ในฐานะพลเมืองกรุงเทพฯ ที่กระอักจากฝุ่นพิษ และอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตคนเมือง ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เสนอทางออกแก้ PM 2.5 มุ่งเน้นจัดการกับรถยนต์ แหล่งกำเนิดฝุ่นในกรุงเทพฯ ว่า ต้องจัดการกับรถบรรทุกปล่อยควันดำ ห้ามเข้ากรุงเทพฯ เร่งปรับปรุงรถประจำทาง ขสมก. รถร่วมบริการ รถสองแถวให้ดีขึ้น เพื่อลดปริมาณฝุ่น หน่วยงานราชการเป็นต้นแบบปรับเปลี่ยนรถราชการ ใช้รถไฟฟ้า EV จะทำให้ราคาถูกลง จูงใจประชาชนกันมาใช้
“สร้างมาตรการทางภาษี ประกาศบังคับใช้ ใครอยากใช้รถเก่าต้องมีความรับผิดชอบ จ่ายภาษีปรับเอาเงินมารักษาคนป่วยจากฝุ่นพิษ เพื่อความยุติธรรม นอกจากนี้ โครงการก่อสร้างทั้งของรัฐและเอกชนในกรุงเทพฯ ต้องมีมาตรการลดฝุ่นพิษทั้งจากการก่อสร้างและการขนส่งวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง นอกจากนี้ตามสี่แยกมีป้ายแสดงปริมาณฝุ่นพิษ PM 2.5 เพื่อให้ชาวบ้านได้รู้ ป้องกัน ใส่หน้ากาก” ศ.ดร.สุชัชวีร์ยืนยันฝุ่นพิษแก้ไขได้
รถควันดำแหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 ในเมืองกรุงเทพฯ
สภาพคนเมืองคลุกฝุ่น เผชิญกับมลภาวะ ไร้ความปลอดภัย อุปกรณ์ป้องกันอย่างหน้ากากคงยังไม่พอ หลายหน่วยงานเร่งคิดค้นนวัตกรรมเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 ช่วยชีวิตคน กทม. ล่าสุดมีผลิตภัณฑ์ลดฝุ่นพิษ “ไฟท์ฝุ่น สเปรย์” ที่พัฒนาจากผลงานวิจัยคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ของแบรนด์ ไฟท์ฝุ่น (Phytfoon) ภายใต้ความร่วมมือกันของบริษัท เฮิร์บ การ์เดียน จำกัด บริษัท สตาร์ทอัพภายใต้การบ่มเพาะขององค์กรที่รวบรวมนวัตกรรมทางสุขภาพ โดยคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ และโครงการศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัท เพนทา อินโนเทค จำกัด
เจ้าไฟท์ฝุ่น สเปรย์นี้ผ่านการพิสูจน์ฉีดพ่นแล้ว ลดมลพิษทางอากาศในอาคาร ที่อยู่อาศัย หรือในบริเวณพื้นที่ปิดได้สูงสุดถึง 80% และสามารถใช้ร่วมกับเครื่องฟอกอากาศได้ ตอนนี้วางจำหน่ายทั้งออฟไลน์และช่องทางออนไลน์
ไฟท์ฝุ่น สเปรย์ นวัตกรรมดักจับฝุ่น PM 2.5 ภายในอาคาร บ้าน หรือพื้นที่ปิด
คิดค้นวิจัยกว่าหนึ่งปี จนได้ ไฟท์ฝุ่น สเปรย์ จุดเด่นของนวัตกรรมนี้ รศ.ภญ.ร.ต.อ.หญิง ดร.สุชาดา สุขหร่อง จากบริษัท เฮิร์บ การ์เดียนฯ โดยคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ บอกว่า ฝุ่นเป็นอนุภาคของแข็งที่แขวนลอยอยู่ในอากาศ เกิดไอเดียคิดค้นวิธีที่จะทำให้ฝุ่นตกลงมาสู่พื้น เราร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ คิดกลไกทำให้ฝุ่นขนาดเล็กมากๆ ตกลงมา
“เราใช้เทคโนโลยีทางเภสัชกรรมคิดค้นสารผสมจากธรรมชาติที่ดักจับฝุ่น PM 2.5 ด้วยกลไกจำเพาะ มุ่งเน้นประสิทธิภาพ มีความปลอดภัยต่อคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญได้ผลในการลดปริมาณฝุ่นพิษได้จริง สารผสมที่ผลิตขึ้นมานี้ทำให้ PM 2.5 เกาะรวมตัวกัน มีการพิสูจน์ลักษณะของฝุ่นที่ตกลงมาสู่พื้นด้วยกล้องจุลทรรศน์หลังใช้ไฟท์ฝุ่น สเปรย์ ฉีดพ่น พบว่า ฝุ่นมีน้ำหนักมากขึ้น ตกลงมา แล้วไม่ฟุ้งกระจายลอยกลับขึ้นไปในอากาศนานถึง 7 ชั่วโมง ในส่วนผสมไม่มีแอลกอฮอล์ ไม่ระคายเคืองเมื่อสัมผัส ลดปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคภูมิแพ้ได้ด้วย” รศ.ภญ.ร.ต.อ.หญิง ดร.สุชาดา ยืนยัน
นักวิจัยหญิงคณะเภสัชฯ ยังแง้มอีกว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างวิจัยต่อยอดนวัตกรรมไฟท์ฝุ่น สเปรย์ ให้สามารถดักจับเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 หากสำเร็จจะเป็นผลิตภัณฑ์ตัวต่อไปของแบรนด์ไฟท์ฝุ่น อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ เพิ่มความถี่ฉีดพ่นละอองน้ำในอากาศ ช่วยลดปริมาณฝุ่นพิษได้เล็กน้อย ฝุ่นตกลงพื้นก็จริงแต่กลับมาฟุ้งกระจายในอากาศ คนหายใจเข้าไปเหมือนเดิม หากรัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงหน่วยงานท้องถิ่นสนใจนวัตกรรมลดฝุ่นนี้ของคณะเภสัชศาสตร์ ก็พร้อมให้ความร่วมมือและพัฒนาไปด้วยกัน เพื่อลดมลพิษของประเทศ แก้ปัญหาฝุ่นในพื้นที่เปิด รวมถึงฝุ่นพิษหมอกควันจากไฟป่าในพื้นที่ภาคเหนือ
รศ.ภญ.ร.ต.อ.หญิง ดร.สุชาดา สุขหร่อง และรศ.ภญ.รท.หญิง ดร.ภัสราภา โตวิวัฒน์
ปัญหาฝุ่นพิษกระทบสุขภาพยังเป็นปัญหาสำคัญ คนกรุงจะต้องเฝ้าระวัง ปฏิบัติตัวให้ถูกต้อง ตรวจสอบคุณภาพอากาศในพื้นที่อย่างใกล้ชิดได้ที่แอปพลิเคชัน Air4Thai จะได้ไม่เสี่ยงตายผ่อนส่ง ที่สำคัญอย่าลืมสวมใส่หน้ากากให้ถูกวิธี ส่วนใครพบเห็นรถปล่อยควันดำเพิ่ม PM 2.5 รัฐให้ประชาชนแจ้งสายด่วน 1650.