ควันหลงประชุม กมธ.แก้ รธน.ล่ม เพื่อไทยได้ทีขย่มรัฐบาล-ส.ว. ฟังคำว่าสืบทอดอำนาจแล้วแสลงใจ ขู่ถ้าใช้หลักพวกมากลากไปจะเป็นชนวนให้ม็อบเพิ่มมากขึ้น ด้าน "เสรี" สวนกลับ สาเหตุมาจาก ส.ส.ฝ่ายค้านพูดต่อว่าเรื่องที่มา ส.ว.วนเวียนซ้ำซาก เสียดสีใส่ร้ายเหมือนต้องการให้เกิดความขัดแย้ง
เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางการประชุมคณะ กมธ. เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์การประชุมปิดกะทันหันว่า อยู่ที่ประธานควบคุมและ กมธ.เคารพสิทธิซึ่งกันและกัน ไม่มีใครทราบหรอกว่าจะเกิดปัญหาอะไร เพราะแต่ละคนพูดก็ไม่มีการบอกล่วงหน้า ฉะนั้นการประชุมครั้งต่อไปประธานก็ควบคุมการประชุม ซึ่งจะมีการประชุมครั้งหน้าในวันพฤหัสบดีที่ 24-25 ธันวาคมนี้
ประธาน กมธ.กล่าวว่า ประเด็นการหาข้อตกลงร่วมกันเรื่องความคิดเห็นต่างกันนั้น บางประเด็นก็สามารถตกลงกันได้ แต่บางประเด็นก็ไม่สามารถตกลงกันได้ หากตกลงกันไม่ได้ทาง กมธ.ก็จะแขวนความเห็นไว้ในมาตรานั้น แต่ยังไม่มีการลงมติ ซึ่งจะมีการลงมติก็ต้องพิจารณาให้ครบมาตราแล้ว เมื่อจบการพิจารณาแล้วก็จะย้อนมามาตราต่างๆ หากใครเห็นด้วย-ไม่เห็นด้วยอย่างไรก็ให้ยกมือ จะได้รวดเร็วขึ้น ผลสุดท้ายก็ต้องมาตัดสินที่เสียง กมธ. ซึ่งหาก กมธ.ไม่เห็นด้วย ก็สงวนความเห็นไว้เพื่อที่จะนำไปอภิปรายในรัฐสภา เพื่อจะแจ้งสมาชิกรัฐสภาให้ทราบว่าไม่เห็นด้วยอย่างไร
เขากล่าวว่า กรอบระยะเวลาจะยังไปเป็นตามที่กำหนดไว้อยู่ ยังไม่ได้มีแนวคิดที่จะขยายเวลา ซึ่งหากเวลาไม่ทันก็จะมีการเพิ่มวันประชุม แต่ต้องดูวันที่ 25 ธันวาคมนี้ก่อน หลังปีใหม่ก็จะเพิ่มวันเท่านั้นเอง แต่ตอนนี้ยังยืนยันว่าจะเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้อยู่ เพราะยังเดินไปได้อยู่
ด้าน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม ออกมาปกป้อง ส.ว. โดยระบุการประชุมคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ล้มไปวันที่ 17 ธ.ค. เพราะมีการพูดก้าวล่วงกันและขอให้พูดให้อยู่ในกรอบว่า การอภิปรายในชั้นกรรมาธิการเป็นสิทธิที่กรรมาธิการแต่ละคนแสดงความคิดเห็นในมุมของตัวเอง โดยวันดังกล่าวตนไม่ได้อยู่ในที่ประชุม เนื่องจากติดภารกิจกระทู้ถามสดในห้องประชุมสภาฯ แต่จากการสอบถามกรรมาธิการในห้องประชุม มีการพูดถึงที่มาของรัฐธรรมนูญที่ไม่ชอบแล้วไปแต่งตั้ง ส.ว. จึงทำให้ ส.ว.ไม่พอใจ แต่ความคิดเห็นที่แตกต่างลักษณะนี้มีอยู่ประจำ ขึ้นอยู่กับประธานในที่ประชุมจะทำให้ไม่ลุกลามได้อย่างไร
"ประธานต้องควบคุมไม่ให้เหตุการณ์บานปลาย แต่ทราบว่าวันนั้นประธานคุมไม่ได้ จึงใช้อำนาจปิดประชุม ซึ่งสิ่งที่นายกฯ พูดนั้นทั้งผมและ พล.อ.ประยุทธ์ต่างไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์"
นพ.ชลน่านกล่าวว่า การประชุมมีเรื่องเห็นต่างเป็นธรรมดา ถกเถียงกันได้ แต่ไม่ถึงขั้นจะล้มการประชุม ดังนั้นหลังจากนี้ถ้าการอภิปรายอยู่ในประเด็นพิจารณา ก็ต้องให้กรรมาธิการพูดแล้วควบคุมให้อยู่ในประเด็น ที่สำคัญอย่าปิดกั้นการแสดงออก และตัวประธานต้องมีข้อวินิจฉัยที่ดีว่าจะควบคุมให้การประชุมเดินหน้าอย่างไร สมควรหรือไม่ที่จะปิดประชุม เพราะหน้าที่ของประธานต้องทำให้การประชุมเดินหน้า ไม่เช่นนั้นจะตรงกับที่เขากล่าวหาว่ามีเจตนาไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญ
คำว่าสืบทอดอำนาจแสลงใจ
ด้านนายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การประชุมในชั้นกรรมาธิการต้องเข้าใจว่าจะให้ทุกฝ่ายเห็นตรงกันทุกเรื่องเป็นไปไม่ได้ และ ส.ส.มาจากการเลือกตั้งของประชาชนการแสดงความเห็นก็ต้องยึดโยงกับประชาชน แต่กรรมาธิการในส่วน ส.ว. ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสืบทอดอำนาจ ถ้าไม่เปิดใจกว้าง ไม่รับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างจากกรรมาธิการเสียงข้างน้อย ไม่อดทนต่อสภาพโครงสร้างของปัญหาที่แท้จริง ยึดเอาแต่ความคิดเห็นหรือเดินตามธงของฝ่ายสืบทอดอำนาจที่ไม่มีความจริงใจ จะแก้ไขรัฐธรรมนูญก็จะเป็นปัญหา
"ถ้าฟังคำว่าสืบทอดอำนาจแล้วแสลงใจบรรยากาศการประชุมจะดำเนินต่อได้อย่างไร ที่ประชุมกรรมาธิการต้องเปิดให้มีการอภิปรายอย่างกว้างขวาง และยึดหลักว่าผู้ใดอภิปรายเรื่องใด ต้องพร้อมรับผิดชอบและผู้ถูกพาดพิงย่อมมีสิทธิ์ชี้แจงด้วยเหตุผล"
เขากล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์จะเลือกรับฟังแต่ความเห็นของเครือข่ายสืบทอดอำนาจไม่ได้ ต้องแสดงความจริงใจให้ได้เห็นว่ามีความพยายามจะแก้ไขรัฐธรรมนูญจริง ไม่ใช่ซื้อเวลาแล้วซุกปัญหาไว้ใต้พรมไปเรื่อยๆ ประชาชนที่ติดตามอยู่มีเวลาที่จะพิสูจน์ความจริงใจของรัฐบาลอีกไม่มาก ดังนั้นการใช้เวทีกรรมาธิการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องไม่ใช้หลักพวกมากลากไป แล้วถ้าเพลี่ยงพล้ำแล้วชิงปิดประชุมไปเรื่อยๆ ประชาชนเห็นว่าไม่เกิดประโยชน์จะเป็นชนวนให้ม็อบเพิ่มมากขึ้น
เมื่อถามว่า การที่ประธานในที่ประชุมซึ่งเป็น ส.ว.ปิดประชุมเช่นนี้ สะท้อนว่าไม่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายอนุสรณ์ ตอบว่า ใช่ เพราะเราเห็นความจริงใจของรัฐบาลหลายครั้งแล้วว่าต้องการซื้อเวลา ครั้งนี้ก็ตอกย้ำความพยายามที่จะซื้อเวลาแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมรัฐสภา กล่าวว่า เหตุการณ์ดังกล่าวมาจากกรณีที่ ส.ส.บางพรรคพูดต่อว่าเรื่องที่มา ส.ว.อยู่นาน ถ้าเป็นการพูดด้วยเหตุผลก็ไม่เป็นไร แต่เป็นการพูดวนเวียนซ้ำซากไปมา ใช้ถ้อยคำเสียดสีใส่ร้ายเหมือนต้องการให้เกิดความขัดแย้ง แม้นายมหรรณพ เดชวิทักษ์ รองประธาน กมธ.ที่ทำหน้าที่ประธานการประชุมในขณะนั้น จะพยายามไกล่เกลี่ย แต่ ส.ส.บางพรรคก็ไม่หยุดพูดจนเริ่มมีการโต้เถียงกับฝ่าย ส.ว. ทำให้นายมหรรณพเกรงจะควบคุมการประชุมไม่อยู่จึงสั่งปิดประชุม แต่ฝ่ายค้านกลับถือโอกาสไปแถลงข่าวเหมือน ส.ว.เป็นฝ่ายผิด ไม่ยอมรับฟังความเห็นต่าง ทั้งที่ข้อเท็จจริงไม่เป็นเช่นนั้น
ยืนยัน ส.ว.มีความจริงใจ
ส.ว.ผู้นี้กล่าวว่า สมาชิกวุฒิสภาพร้อมรับฟังความเห็นต่าง ถ้าพูดด้วยหลักการและเหตุผลบนข้อเท็จจริง ไม่ใช่พูดให้เกิดความขัดแย้ง เรื่องการแก้รัฐธรรมนูญนั้น กมธ.ยังไม่มีการลงมติในมาตราใดๆ ขณะนี้เป็นการเปิดโอกาสให้ กมธ.แสดงความเห็นเรื่องจำนวนเสียงที่ต้องใช้ในการแก้รัฐธรรมนูญที่ยังเห็นต่างกันอยู่ ฝ่ายค้านต้องการใช้เสียงกึ่งหนึ่งของรัฐสภา ส่วน ส.ว.เห็นว่าควรใช้ 3 ใน 5 ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์เสนอให้ใช้เสียง 2 ใน 3 เรื่องนี้กำลังถกเถียงกันอยู่ ยังไม่มีการลงมติการทำงานใน กมธ. หลังจากนี้เชื่อว่ายังทำงานร่วมกันได้ แต่ทุกคนต้องไปทบทวนวิธีคิดการโต้ตอบกันให้อยู่ในลิมิตที่เหมาะสม รู้จักยับยั้งอารมณ์ไม่ให้นำไปสู่ความขัดแย้งต่อว่ากันได้ แต่ต้องเป็นด้วยเนื้อหาเหตุผล ไม่ใช่มีเจตนาสร้างความขัดแย้ง
"ยืนยันว่า ส.ว.มีความจริงใจแก้รัฐธรรมนูญ แต่ถ้าฝ่ายค้านมีความจริงใจ ก็ต้องพูดให้ชัดเจนต้องการแก้รัฐธรรมนูญประเด็นใดเรื่องใดที่ควรแก้ไข เพื่อให้รู้ถึงความต้องการ ไม่ใช่ไปติดหล่มอยู่กับการตั้ง ส.ส.ร. เอาใครก็ไม่รู้มาแก้ไขโดยที่ไม่รู้ว่าจะแก้อะไร และเมื่อแก้ไขแล้วจะตรงความต้องการที่อยากได้หรือไม่ ถ้าไม่ตรงความต้องการก็อาจมีปัญหาตามมาอีก
เขายืนยันว่า ส.ว.ไม่ได้ตั้งธงคัดค้านการแก้รัฐธรรมนูญ แต่อยากให้พูดให้ชัดต้องการแก้ไขเรื่องใด นี่คือความจริงใจที่ต้องพูดให้ชัด ไม่ใช่คอยต่อว่าคนอื่นไม่จริงใจ แต่ตัวเองกลับไม่บอกว่าอยากแก้อะไร เช่น อยากได้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบกลับมาเหมือนเดิม ต้องบอกมา แม้บางพรรคจะได้อานิสงส์จากบัตรเลือกตั้งใบเดียวได้ ส.ส.เข้ามาจำนวนมากก็ตาม
ขณะที่นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ ส.ส.ฝ่ายค้านออกมาเปรียบที่มาสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เหมือน 250 ส.ว. แต่งตั้งโดย คสช.ว่า ในฐานะอดีตโฆษก กมธ.พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมก่อนรับหลักการ ตนคิดว่าจะนำที่มา ส.ว.กับที่มา ส.ส.ร.มาเปรียบเทียบกันไม่ได้ เพราะที่มา ส.ส.ร.ตามร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาลนั้น มีที่มาจากการเลือกตั้งถึง 150 คน มีการสรรหามาเพียง แค่ 50 คนเท่านั้น เรื่องนี้จึงเปรียบเทียบกันไม่ได้ อีกทั้ง 50 คนที่แม้จะมาจากการสรรหาก็มีที่มาหลากหลายถึง 3 ส่วน ส่วนแรก เปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษา 10 คน, ส่วนที่สอง ผู้ทรงคุณวุฒิจากที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัย 20 คน และส่วนที่สาม มาจากการคัดเลือกจากสมาชิกรัฐสภา 20 คน ซึ่ง ส.ส.ทั้งฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และ ส.ว. เป็นผู้ร่วมกันพิจารณา
"ผมคิดว่าทั้ง 3 ส่วนนี้จึงตอบโจทย์สถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน มีการเปิดโอกาสให้ผู้ชุมนุมเข้ามามีส่วนร่วม มีผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ที่มีความเป็นกลางจากรั้วมหาวิทยาลัยเข้ามาช่วยเพื่อให้การร่างรัฐธรรมนูญมีความสมบูรณ์ วันนี้จึงอยากเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยึดเรื่องส่วนรวมเป็นหลัก อย่าใช้อารมณ์หรือความต้องการของตัวเองเป็นที่ตั้ง เพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเดินหน้าจนสำเร็จตามที่พี่น้องประชาชนอยากเห็น" นายอัครเดชกล่าว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |