เลือกตั้ง อบจ. มีผลการเมืองระดับชาติ


เพิ่มเพื่อน    

ผลเลือกตั้ง อบจ.ก็จะเป็นใบเบิกทางต่อ ใครยึด อบจ.ไว้ได้ก่อน ก็มีโอกาสที่จะไปหนุนเทศบาล-อบต.ที่อยู่ในเครือข่ายเดียวกันให้ประสบความสำเร็จ ก็จะยิ่งง่าย  ยิ่งหากมีการแบ่งพื้นที่กันชัดเจนด้วยแล้ว มันก็จบเลย

 

ผลเลือกตั้ง อบจ. 20 ธ.ค.

บ้านใหญ่-คณะก้าวหน้าผงาดหรือดับ?

      วันอาทิตย์ที่ 20 ธ.ค. การเมืองตลอดทั้งวันเรื่องที่อยู่ในความสนใจและเฝ้าติดตามของคนจำนวนมาก ก็คือผลการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายก อบจ.) และสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) ที่แวดวงการเมืองย่อมสนใจว่าสุดท้ายแล้วผลที่ออกมา จังหวัดที่มีการแข่งขันชิงเก้าอี้นายก อบจ.อย่างเข้มข้น เช่นที่เชียงใหม่-ชลบุรี-สงขลา-นครศรีธรรมราช-นครราชสีมา ใครจะเข้าวิน โดยเฉพาะสุดท้ายแล้ว คณะก้าวหน้า โดยการนำของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ จะได้นายก อบจ.-ส.อบจ. กี่คน จากที่ส่งไปหลายสิบจังหวัด

      ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า ที่เฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวการเลือกตั้ง อบจ.รอบนี้มาตลอด อีกทั้งยังเคยศึกษาเรื่องตระกูลการเมืองในการเมืองไทยมาก่อนหน้านี้ มีมุมวิเคราะห์ต่อการเลือกตั้ง อบจ. 20 ธ.ค.นี้หลายแง่มุม โดยเฉพาะผลเลือกตั้ง อบจ.จะมีผลต่อการเมืองระดับชาติอย่างไร ก็เป็นประเด็นที่มีการให้ความเห็นเอาไว้

      โดยเมื่อถามความเห็นถึงโอกาสที่คณะก้าวหน้าโดยการนำของธนาธร จะปักธงสนามเลือกตั้งท้องถิ่นรอบนี้ได้มากน้อยแค่ไหน ดร.สติธร มองว่า โอกาสของคณะก้าวหน้าในสนามเลือกตั้ง อบจ.รอบนี้ หากคณะก้าวหน้ามาด้วยกระแสอย่างเดียว โอกาสที่คณะก้าวหน้าจะได้นายก อบจ.ดูแล้วน่าจะยาก เพราะการเมืองท้องถิ่นเป็นเรื่องของการช่วยเหลือเกื้อกูลกันของเครือข่าย ของระบบที่เรียกว่า บ้านใหญ่ของขั้วอำนาจเก่า ที่มีเสียงจัดตั้งอยู่พอสมควร ซึ่งการเลือกตั้งที่ผ่านมาในอดีต ท้องถิ่นไม่ค่อยถูกให้ความสำคัญมาก ไม่ค่อยเป็นกระแส คนก็ออกไปใช้สิทธิ์ไม่ค่อยมากถ้าเทียบกับการเลือกตั้งระดับชาติ เสียงจัดตั้งจึงเป็นตัวชี้วัด ที่ก็คือคนที่อยู่ในจังหวัด คนที่ใช้ชีวิตตามปกติ ที่ดีลกับหัวคะแนนซึ่งสามารถจัดการได้ ใครที่คุมเครือข่ายแบบนี้ในมือก็จะประสบความสำเร็จ

      การที่คณะก้าวหน้าเข้ามาใน อบจ.รอบนี้ ซึ่งหากสู้กันด้วยเสียงจัดตั้งเดิม โอกาสที่จะเข้าไปแทรกมันยากมาก นอกจากเช่นบังเอิญได้ผู้สมัครที่สามารถแข่งขันแบบพอฟัดพอเหวี่ยงกับกลุ่มเดิมอยู่แล้วมาเป็นผู้สมัครของตัวเอง แบบนี้อาจจะพอมีลุ้น เพราะต่อให้เขาไม่ได้ใส่เสื้อผู้สมัครคณะก้าวหน้าก็แข่งขันได้ด้วยตัวเองอยู่แล้ว แล้วคณะก้าวหน้าไปได้กลุ่มเหล่านี้มาจนส่งลงเลือกตั้ง แต่สิ่งที่เป็นภาพรวมเพื่อทำให้กลุ่มผู้สมัครกลุ่มนี้ชนะให้ได้ ก็คือการเติมกระแสเข้าไปด้วยการทำให้คนตื่นตัวเยอะกว่าเดิม เช่น เดิมคนออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งท้องถิ่นในพื้นที่อยู่ที่ประมาณ 40-50 เปอร์เซ็นต์ ก็ต้องสร้างกระแสทำให้คนออกมาใช้สิทธิ์ถึง 60-70 เปอร์เซ็นต์ เพื่อหวังว่าอีก 20 เปอร์เซ็นต์ที่เพิ่มขึ้นมาจะมาเลือกคนของคณะก้าวหน้า แล้วก็นำคะแนนเก่ามาบวกกัน

      ...หากเป็นแบบที่บอกข้างต้น ผู้สมัครของคณะก้าวหน้าก็จะมีโอกาส เขารู้อยู่แล้วว่าต้องเติมกระแสเท่านั้น ส่วนคะแนนจัดตั้ง ตัวผู้สมัครของคณะก้าวหน้าก็ต้องไปดึงมาเอาเอง แต่สภาพที่เห็นอยู่ ณ วันนี้ พวกขั้วอำนาจเก่าเองก็ไม่ได้อยู่นิ่ง ไม่ได้อยู่แบบตายซาก เพราะมีการปรับตัว ไม่ใช่เป็นบ้านใหญ่ แบบเจ้าพ่อโบราณ ไม่ได้เสนอนโยบายอะไรที่ขายไม่ได้ เห็นได้จากบางแห่งก็มีการใช้วิธีส่งรุ่นลูกรุ่นหลานมาลงสมัครรอบนี้ แล้วดูความต้องการของคนในจังหวัด ดูว่าวัยรุ่นในจังหวัดอยากได้อะไร บางแห่งก็มีการพูดเรื่องอีสปอร์ต ไม่ทำให้คนรู้สึกว่าอำนาจเก่ามันต้องโบราณ ล้าหลัง

      อำนาจเก่าก็มีการปรับตัว หลายที่มีการจัดตั้งสโมสรฟุตบอลเพื่อพยายามดึงดูดคนรุ่นใหม่ คือไม่ได้เป็นบ้านใหญ่แบบเจ้าพ่อ จึงเป็นโจทย์ว่าเมื่ออำนาจเก่าในจังหวัดปรับตัวแล้วอำนาจเก่าที่ต้องการจะเข้าไปท้าทาย จะมีการวิธีการทำอย่างไร โอกาสที่คณะก้าวหน้าจะได้นายก อบจ.  ผมว่าอาจจะไม่ได้ ลุ้นสุดก็บางจังหวัด เช่น นครปฐม

      เมื่อถามถึงกลุ่มผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่เป็นคนรุ่นใหม่-นักศึกษา พวกนิวโหวตเตอร์ จะมีผลต่อคะแนนที่ผู้สมัครของคณะก้าวหน้าจะได้มากน้อยแค่ไหน ผอ.สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า วิเคราะห์ว่า กลุ่มนิวโหวตเตอร์ ถ้าเป็นพวกเด็กเรียนมหาวิทยาลัย ช่วงนี้ก็อยู่ในช่วงปิดเทอม ถ้าเขากลับไปอยู่ที่ภูมิลำเนาในต่างจังหวัด กลุ่มนี้ก็อาจเป็นพลัง แต่กลับกันก็อาจจะเสียส่วนหนึ่ง เช่น เลือกตั้ง ส.ส.ปีที่แล้ว พรรคอนาคตใหม่ได้คะแนนเสียงจากพื้นที่ซึ่งมีมหาวิทยาลัยรัฐตั้งอยู่ แล้วเด็กนักศึกษามีการย้ายทะเบียนบ้านมาอยู่มหาวิทยาลัยเพื่อความสะดวก เลยใช้สิทธิ์ที่มหาวิทยาลัย ทำให้อนาคตใหม่ได้คะแนนไปเยอะมาก เพราะเด็กนักศึกษาย้ายทะเบียนบ้านมา

      ...อย่างไรก็ตาม มาเลือกตั้ง อบจ.รอบนี้ เมื่อทะเบียนบ้านนักศึกษาหากยังอยู่ที่มหาวิทยาลัย ทำให้เมื่อกลับไปบ้านตอนปิดเทอมและอยู่ในช่วง 20 ธ.ค. ก็ไม่สามารถลงคะแนนให้กับผู้สมัคร อบจ.ของคณะก้าวหน้าได้ ทำให้ฐานเสียงของคณะก้าวหน้าจากคนกลุ่มนี้ก็จะหายไป ทำให้เสียงก็จะแกว่ง เรียกได้ว่าการปิดเทอมรอบนี้ก็มีผลต่อคะแนนเสียงของคณะก้าวหน้าทั้งมีได้และมีเสีย ผมจึงคิดว่าสำหรับคณะก้าวหน้า การเลือกตั้ง 20 ธ.ค. จึงน่าจะมีแค่สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดที่มีลุ้นได้ เพราะแบ่งเป็นเขตเล็ก เขตเดียวคนเดียว ยิ่งบางเขตที่พื้นที่เลือกตั้งไปอยู่ในเมือง ที่ไม่ถูกยึดโยงด้วยเครือข่ายหัวคะแนนเท่าไหร่ แบบนี้คณะก้าวหน้าก็มีลุ้น

      ...อย่างพื้นที่ซึ่งน่าจับตาก็คือ ชลบุรี ซึ่งเลือกตั้ง ส.ส.ที่ผ่านมาก็มีการพลิกล็อก เพราะด้วยความเป็นจังหวัดเศรษฐกิจ ทำให้มีคนย้ายเข้ามาเยอะ ซึ่งไม่ใช่กลุ่มคนที่บ้านใหญ่จะเข้าไปคลุมได้หมด เพราะจู่ๆ ก็มีคนย้ายเข้ามาทำงานในพื้นที่ เช่น ในนิคมอุตสาหกรรม ที่กลุ่มแบบนี้ เครือข่ายหัวคะแนนคอนโทรลยาก เข้าไม่ถึง แล้วยิ่งหากจังหวัดไหนไม่ได้เป็นหน้าใหม่แท้ มีความเป็นคนที่เป็นขั้วอำนาจเก่าอยู่ แต่เป็นขั้วรองในจังหวัด แบบนี้ก็อาจพอแข่งขันได้ แต่หากเป็นผู้สมัครหน้าใหม่เอี่ยมเลย แล้วจะเข้าไปโค่นอำนาจเก่าเลย ผมก็ยังมองว่ายาก

      เต็มที่ซึ่งผมวิเคราะห์ว่าน่าจะพอเป็นไปได้ก็คือ ส.อบจ. ซึ่งหากคณะก้าวหน้าได้ ส.อบจ.ในทุกจังหวัดที่เขาส่ง เช่นที่ละหนึ่งแห่ง ก็จะบอกว่าเมล็ดพันธุ์ของคณะก้าวหน้าได้หว่านไปทั่วประเทศแล้ว มันก็ได้อยู่

      -ผลเลือกตั้ง อบจ.รอบนี้จะสะท้อนการเมืองระดับชาติอะไรได้หรือไม่ ?

      สำหรับคณะก้าวหน้า หากสมมุติว่าเขาไม่ได้นายก อบจ.เลย แต่ปรากฏว่ารวมคะแนนออกมาแล้ว พบว่าคะแนนรวมทั้งหมดของคณะก้าวหน้าที่ได้ในการเลือกตั้ง 20 ธ.ค.ออกมาเยอะ ก็สามารถนำมาเคลมทางการเมืองได้ คือผลอาจไม่ได้ชี้แบบตรงไปตรงมา แต่สามารถนำผลมาเป็นกระแส-ประเด็นทางการเมืองต่อได้ โดยคะแนนที่ได้ รวมถึง ส.อบจ.ที่อาจได้หลายที่ ยิ่งหากคณะก้าวหน้าได้มาเยอะก็จะยิ่งเป็นกระแส หรือหากได้ตัวนายก อบจ.มาสัก 1-3 คน ยิ่งเป็นพื้นที่แข็งๆ ที่คณะก้าวหน้าพอคาดหวังได้ มันจะนำไปสู่การสร้างกระแสทางการเมืองระดับชาติต่อได้ในนามคณะก้าวหน้าและพรรคก้าวไกล

      ขณะที่ในส่วนของ อำนาจเก่า อย่าง พรรคเพื่อไทย ผลการเลือกตั้ง อบจ.ที่จะออกมาก็จะเป็นตัวชี้วัดได้เหมือนกัน เช่น บางจังหวัดส่งในนามพรรคเพื่อไทยแล้วเกิดแพ้ แล้วอำนาจในจังหวัดไปตกอยู่กับคนที่แม้ไม่ได้ลงในนามพรรคพลังประชารัฐ แต่ก็เป็นที่รู้กันว่าคือคนของพรรคพลังประชารัฐ มันก็จะเป็นตัวบ่งชี้ได้เหมือนกันว่าขนาดสนามเลือกตั้งท้องถิ่น เขายังคุมได้ แล้วหากมีการเลือกตั้งระดับชาติที่อาจจะมีขึ้นในอนาคต ก็จะยิ่งมั่นใจว่าสิ่งที่ฝ่ายพลังประชารัฐพยายามทำมา 6-7 ปี มันน่าจะผลิดอกออกผลแล้ว

หากผลการเลือกตั้งนายก อบจ.ออกมาแล้ว ปรากฏว่าคนจากสายพลังประชารัฐ ภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ เกิดได้มาจำนวนมากกว่าสายของฝ่ายค้าน ซึ่งแนวโน้มก็น่าจะเป็นแบบนั้นเพราะมีการแพ็กกัน แต่เมื่อฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาลหลายแห่งไม่ได้ส่งในนามพรรค เขาก็อาจไม่ได้อยากเคลมทางการเมืองมาก ก็จะทำให้ฝ่ายที่ต้องเริ่มรู้สึกว่าได้เวลาที่ต้องปรับตัวครั้งใหญ่ก็คือ พรรคเพื่อไทย ถ้าผลออกมาแล้วไปเข้าทางฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาลมากกว่า ก็อาจทำให้เพื่อไทยอาจคิดว่ามันจะมีเอฟเฟ็กต์ไปถึงการเลือกตั้งระดับชาติด้วยหรือไม่ จะแสดงว่าโครงข่ายหัวคะแนนมีการล้างไพ่กันใหม่แล้วใช่หรือไม่ มีการย้ายขั้วจากเพื่อไทยไปอยู่ฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาลไปแล้วหรือไม่ แล้วเพื่อไทยจะไปดึงกลับมาได้หรือไม่ ทั้งหมดก็พอบ่งชี้ทางการเมืองได้อยู่

บ้านใหญ่ยังสำคั

สำหรับการเมืองท้องถิ่น

 

        ดร.สติธร-ผอ.สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย  สถาบันพระปกเกล้า ยังกล่าวถึงบทบาทของระบบบ้านใหญ่ในแต่ละจังหวัด รวมถึงกลุ่มหัวคะแนนในพื้นที่ที่จะสนับสนุนกลุ่มบ้านใหญ่ด้วยว่า เรื่องบ้านใหญ่ หัวคะแนน ตระกูลการเมืองยังมีความสำคัญอยู่ เพราะเรื่องการเมืองท้องถิ่นเป็นเรื่องที่คนที่อยู่ในจังหวัด ที่มีการอุปถัมภ์เกื้อกูลกัน ทำงานกันอย่างใกล้ชิด ยังทำงานได้ดีอยู่ตราบใดที่เสียงอิสระยังไม่เข้าไปในพื้นที่มาก ฝ่ายบ้านใหญ่ ตระกูลการเมืองก็จะเป็นตัวชี้ทางการเมืองได้อยู่ แล้วก็จะมีผลไปถึงท้องถิ่นอื่นๆ ต่อไป  เพราะผลเลือกตั้ง อบจ.หากออกมาก็จะเป็นใบเบิกทางต่อ  ใครยึด อบจ.ไว้ได้ก่อนก็มีโอกาสที่จะไปหนุนเทศบาล-อบต.ที่อยู่ในเครือข่ายเดียวกันให้ประสบความสำเร็จ ก็จะยิ่งง่าย ยิ่งหากมีการแบ่งพื้นที่กันชัดเจนด้วยแล้ว มันก็จบเลย

      ดร.สติธร กล่าวต่อไปว่า การเลือกตั้ง อบจ.รอบนี้ ที่บางพรรคการเมืองส่งคนลงในนามพรรคอย่างเป็นทางการ แต่บางพรรคการเมืองเลี่ยงที่จะส่ง ก็มองว่ารอบนี้จริงๆ แล้วพรรคการเมืองอย่าง "เพื่อไทย" มีแผนที่จะส่งคนลงสมัครรับเลือกตั้งท้องถิ่นอยู่แล้วแบบชัดๆ มากกว่าที่แถลง (25 คน) ปรากฏการณ์นี้ก็ไม่น่าแปลกอะไร ตรงที่เมื่อก่อนเราอาจไม่ได้เห็นภาพแบบนี้ เพราะว่าฝ่ายปีกพรรคเพื่อไทยสมัยก่อนหน้านี้เป็นฝ่ายรัฐบาล เมื่อเป็นรัฐบาลทำให้มีสิ่งที่ต้องแลก นั่นก็คือหากส่งคนลงสมัครรับเลือกตั้งในระดับจังหวัด สิ่งที่ต้องแลกก็คือก็มีโอกาสที่จะเสียพวก มันก็มีเยอะ เพราะในระดับจังหวัดก็จะมีกลุ่มที่สนับสนุนพรรคหลายกลุ่มอยากลง พวกนี้ก็ต้องไปแข่งกันเอง ซึ่งหากสมมุติว่ามีสามกลุ่ม แล้วทุกกลุ่มก็วิ่งไปขอกับพรรคเพื่อขอหาเสียงในพื้นที่ในนามพรรค เอาโลโก้พรรคไปใช้ในการหาเสียง ซึ่งหากพรรคเลือกกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง อีกสองกลุ่มก็จะรู้สึกว่าพรรคไม่ให้ความสำคัญ จนทำให้อาจแตกคอกันเอง

      ...เลยทำให้เพื่อไทยสมัยเป็นรัฐบาลเลยหลีกเลี่ยงการเข้าไปในการเมืองท้องถิ่น เพราะไม่อยากทำให้ฐานเสียงในจังหวัดแตกคอกันเอง เพื่อไทยเขาคิดแบบนี้ตั้งแต่ยุคอดีตสมัยไทยรักไทย เลยทำให้ที่ผ่านมาไม่มีแนวคิดอยากส่งคนลงสมัครท้องถิ่นในนามพรรค ที่จะส่งแค่ทีมเดียว จะมีก็แค่กรุงเทพมหานครที่เดียว ที่ส่งในนามพรรค เพราะ กทม.เป็นสมรภูมิใหญ่ แต่สนามท้องถิ่นไม่ได้เป็นตัวชี้มากขนาดนั้น เลยทำให้เพื่อไทยไม่อยากเสี่ยง แต่มารอบนี้เพื่อไทย เป็นฝ่ายค้าน พรรคก็คงหวังว่าสนามท้องถิ่นจะเป็นตัวพิสูจน์ความนิยมของพรรคเพื่อไทย ว่าแม้ไม่ได้เป็นรัฐบาล แต่ก็สามารถปักหมุดปักธงในบางจังหวัดเพื่อให้เห็นว่าทีมของเพื่อไทยจะเข้าไปบริหารจังหวัดนั้น เพื่อให้เห็นผลงาน ทำให้จากเดิมที่ไม่อยากส่งในนามพรรคเพื่อไทย เพราะกลัวแตกคอกันเอง แต่มารอบนี้เพื่อไทยไม่กลัวแตกคอแล้ว ต้องเลือกมาสักกลุ่มแล้วส่งลงในนามพรรคเพื่อไทย แต่เท่าที่ดูก็พบว่าเพื่อไทยก็ไม่ได้ส่งคนลงครบทุกจังหวัด จะส่งแต่เฉพาะจังหวัดที่คุยกันลงตัวเท่านั้นที่จะส่งในนามเพื่อไทย ส่วนจังหวัดไหนที่เคลียร์กันไม่ลงตัวก็ปล่อยให้แต่ละกลุ่มแข่งกันเองโดยธรรมชาติไป แต่ก็ยังคงเป็นเครือข่ายเพื่อไทยเช่นเดิมอยู่

      ส่วน พรรคพลังประชารัฐ จริงๆ ก็สภาพคล้ายกัน พอมีแต่ละกลุ่มในแต่ละจังหวัดเสนอตัวให้พรรคส่งในนามพรรคที่มีมากกว่าหนึ่งกลุ่ม ก็ทำให้พรรคก็ไม่อยากเลือก ยิ่งพลังประชารัฐเป็นพรรคแกนนำรัฐบาล เลยทำให้พรรคก็ไม่อยากเสียความสัมพันธ์ทางการเมืองกับกลุ่มต่างๆ ในแต่ละจังหวัด  ก็เลยเลือกที่จะไม่ส่งเลยในนามพรรคพลังประชารัฐ เลยใช้ข้ออ้างทางกฎหมายมาเป็นเหตุผล เช่นเกรงว่าหากผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเช่น ส.ส.ไปช่วยหาเสียง ที่เป็นข้อห้าม ก็อาจเสี่ยงโดนยุบพรรคได้ ก็เลยใช้ข้อกฎหมายมาอ้างในการไม่ส่ง แต่จริงๆ สิ่งที่พลังประชารัฐกลัวมากกว่า คือพรรคไม่อยากเลือกที่จะต้องส่งกลุ่มหนึ่งจากที่เสนอตัวเข้ามาสามกลุ่ม  แล้วอีกสองกลุ่มต้องอกหัก ซึ่งก็เช่นเดียวกับ ประชาธิปัตย์  บางจังหวัดที่คุยกันลงตัวก็ส่งในนามพรรค (สงขลา-สตูล เป็นต้น) แต่บางจังหวัดคุยไม่ลงตัวก็ไม่ได้ส่งในนามพรรค

      ...หากวิเคราะห์กัน สนามการเมืองท้องถิ่น อบจ.การ return มันน้อย อำนาจและผลประโยชน์มันไม่ได้สูงมาก ถ้าเทียบกับกรุงเทพมหานคร ที่ทำให้พรรคการเมืองกล้าเปิดตัวส่งคนในนามพรรค เพราะ กทม.งบเป็นหมื่นล้านบาทและเป็นกรุงเทพฯ ทำให้ยังไงพรรคก็ต้องตัดสินใจส่งคนในนามพรรคลงไปหนึ่งคน ส่วนคนอื่นที่เสนอตัวแล้วไม่ได้รับเลือกก็อาจมีการต่อรอง เช่นให้มาร่วมทีมเป็นรองผู้ว่าฯ กทม. แต่ อบจ.งบไม่ได้เยอะ อย่างหากเสนอตัวไปสามกลุ่มกับพรรคแล้วจะมีการต่อรองกับบางกลุ่มว่า จะให้คนที่จะลงนายก อบจ.มาเป็นรองนายก อบจ.แทนหากชนะการเลือกตั้ง คนคนนั้นก็อาจไม่ยอมเพราะเขาคิดว่าเขาก็สู้ได้ ทำไมต้องไปยอม พอผลประโยชน์กับอำนาจหน้าที่ของ อบจ.มันไม่ได้ใหญ่พอที่จะไปต่อรองให้กลุ่มทุกกลุ่มมารวมตัวกัน แล้วลงสมัครในทีมเดียวกัน ก็เลยต้องปล่อยให้แข่งกันตามธรรมชาติ

      ผมประเมินว่าการตัดสินใจเลือก อบจ.ที่จะมีขึ้น  ประชาชนเขาก็คงไม่ได้ใช้เหตุผลเดียวกันกับการเลือกตั้ง ส.ส. เพราะท้องถิ่นจะมีเรื่องของท้องถิ่นในพื้นที่อยู่ค่อนข้างเยอะ เพราะท้องถิ่นจะดีลตรงกับคนในพื้นที่เลย เช่น งบประมาณการพัฒนาจังหวัด ความช่วยเหลือส่วนตัว ส่วนกระแสพรรคก็อาจมีบ้างส่วนหนึ่ง ก็มาเติมได้บ้าง

      ...การเลือกตั้ง อบจ.ครั้งนี้มันเหมือนฟื้นกลับมาใหม่  หายไปนานจนคนลืมเรื่องการเมืองท้องถิ่นแบบ อบจ.ไปแล้ว  จนประชาชนบางส่วนคิดว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นสิ่งใหม่ ยิ่งเมื่อมีการให้เลือกตั้งนายก อบจ.พร้อมกันทั่วประเทศ 76  จังหวัด ที่ถือเป็นครั้งแรกที่เลือกพร้อมกันทีเดียว คนก็เลยรู้สึกว่าเป็นเรื่องแปลกใหม่ ทั้งที่ผู้สมัครนายก อบจ.ในรอบนี้ บางคนเป็นอดีตนายก อบจ.มาแล้วร่วมสามสมัย เป็นมาสิบกว่าปีแล้ว เมื่อไม่มีการเลือกตั้งมาหลายปี ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้ประชาชนคาดหวังกับการเลือกตั้งรอบนี้มาก

      ...ซึ่งบางทีผมยังคิดว่าคาดหวังมากเกินไปด้วย ทั้งที่ อบจ.บางทีไม่ได้ทำอะไรได้มากในพื้นที่อย่างที่ประชาชนคาดหวัง หรือการที่ผู้สมัครนายก อบจ.บางกลุ่มบางพรรคที่หาเสียงในช่วงที่ผ่านมา บางทีดูแล้วบางคนก็ไปสร้างฝันให้ประชาชนเกินไปหรือไม่ เช่นไปหาเสียงว่าเลือกตั้งนายก อบจ.-ส.อบจ.รอบนี้แล้ว จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับจังหวัดได้ ทั้งที่หากดูอำนาจหน้าที่แล้วก็ไม่ได้มีมากถึงขนาดนั้น เช่นที่ไปหาเสียงกันว่าเป็นนายก อบจ.แล้วจะเข้าไปแก้ปัญหาจราจรของจังหวัด-จึงไม่ใช่ เพราะ อบจ.ถูกออกแบบมาให้เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในลักษณะแบบพี่เลี้ยง  ไม่ได้เป็น อปท.แบบให้บริการตรงกับประชาชน เพราะหน้าที่ดังกล่าวจะทำโดยเทศบาล-อบต.ที่ใกล้ชิดประชาชนในระดับตำบล

 

แผนสองยึดเทศบาล-อบต.

หลังชนะเลือกตั้ง อบจ.

        -คนมองว่า อบจ.มีงบประมาณเยอะ ผลประโยชน์จำนวนมาก จึงทำให้การแข่งขันสูง เลยต้องพยายามทำบางอย่างเพื่อให้ชนะเลือกตั้ง เช่นซื้อเสียง?

      งบของ อบจ.ไม่ได้เยอะอะไรมาก แต่สภาพที่คนแข่งขันกันในสนาม อบจ. เพราะ อบจ.มีลักษณะเป็นแบบพี่เลี้ยงให้กับ อปท.อื่น มันคลุมพื้นที่ทั้งจังหวัด ที่ก็มีทั้งเทศบาลและ อบต. หน้าที่ของ อบจ.คือไปเติมเต็มกับประสาน เมื่อ อบจ.มีอำนาจหน้าที่แบบนี้ ทำให้ในแง่ของการไปสร้างสัมพันธ์เครือข่ายเชิงอำนาจมันเลยมีความสำคัญ เพราะถ้าใครเป็นนายก อบจ.ได้ ก็หมายถึงไปอุ้มทั้งเทศบาลและ อบต.ได้ ทำให้เวลาคนพูดถึงเรื่องการเลือกตั้งท้องถิ่น มันจึงเป็นการสร้างเครือข่ายกันในพื้นที่ ระหว่างนายก อบจ.กับนายกเล็กต่างๆ ยิ่งถ้าเป็นพวกเดียวกันก็จะมีการแท็กทีมคอยหนุนกัน

      ...ตรงนี้เลยเป็นที่มาว่า เหตุใดรัฐบาลถึงจัดการเลือกตั้งแบบนี้ คือจัดเลือกตั้ง อบจ.ก่อนรอบแรก แล้วจากนั้นก็จะเป็นการจัดเลือกตั้งระดับเทศบาลและตามด้วย อบต. ทั้งที่สามารถจัดเลือกตั้งพร้อมกันวันเดียวกันก็ได้เพื่อประหยัดงบประมาณ ซึ่งที่เป็นแบบนี้เพราะ อบจ.มันใหญ่จึงต้องจัดเลือกตั้งก่อนเพื่อให้เครือข่ายลูกมาหนุนลูกพี่ ห้ามทิ้งลูกพี่ ถ้าลูกพี่ได้รับเลือกตั้ง ก็หมายถึงว่าโอกาสต่อไปลูกพี่ก็จะกลับมาช่วยคุณต่อไปในการเลือกตั้งสนามเทศบาลและ อบต.ที่จะมีต่อมา  เพราะเขาเกื้อกูลกันอยู่ แต่หากไปจัดเทศบาลหรือ อบต.ก่อน  พวกนั้นได้รับเลือกเข้าไปหมดแล้ว ถึงเวลาลูกพี่มาลงสนาม อบจ. พวกนี้ (เทศบาล-อบต.) อาจจะเกียร์ว่างก็ได้ หรืออาจถูกอีกขั้วอำนาจหนึ่งซื้อไปก็ได้ เลยต้องล็อกให้ลูกพี่ได้ก่อน  แล้วพอลูกพี่ชนะเลือกตั้ง ก็จะกลับมาหนุนลูกน้องเพราะอยู่ในจังหวัดเดียวกัน ก็จะเกื้อหนุนกัน

      ส่วนโจทย์ที่สองคือ บางจังหวัดจะมีการแบ่งขั้วอำนาจกันในจังหวัด หลายจังหวัดเราจะเห็นได้ว่าสนาม อบจ.เป็นฐานเสียงของพรรคการเมืองบางพรรค แต่ทำไมไม่เปิดตัวออกมาชัดๆ แต่คนที่ลงสมัครรอบนี้ที่เหมือนว่าอยู่กับพวกนี้  ทำไมมาลงสมัครในนามกลุ่มแทน เหตุก็เพราะว่ามันมีการแบ่งแยกพื้นที่กัน เช่นสนาม อบจ.ฝ่ายนี้ ขั้วนี้ในจังหวัดเอาไป แต่เทศบาลนครในเมืองใหญ่ๆ ที่งบเยอะ อีกฝ่ายหนึ่งบอกขอจอง เลยมีการหลีกให้กัน

        "มันจึงมีสองระบบในจังหวัดคือ ขั้วอำนาจบ้านใหญ่คุมหมดในจังหวัด แล้วก็ใช้ อบจ.คุมลูกน้องที่อยู่ในเทศบาล อบต. กับอีกระบบที่ขั้วอำนาจในจังหวัดมีมากกว่าหนึ่งกลุ่ม ซึ่งหากแข่งกันเอาแพ้เอาชนะมันก็เจ็บทั้งคู่ เลยมีการหลีกให้กัน ฝ่ายหนึ่งเอา อบจ.ไป อีกขั้วหนึ่งเอาเทศบาลไป"

        ผอ.สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย กล่าวปิดท้ายว่า ผลการเลือกตั้ง อบจ.รอบนี้จะทำให้เราเห็นว่า ขั้วอำนาจในแต่ละจังหวัดหน้าตาเป็นยังไง รอบนี้จะเห็นชัด เช่นบางจังหวัดบ้านใหญ่ยังคงรักษาพื้นที่ไว้ได้ ก็เป็นไปได้ที่การเลือกระดับเทศบาล-อบต. ผลที่ออกมาก็อาจสอดคล้องกันกับการเลือก อบจ. หรือหากบางจังหวัดมีการเปลี่ยนแปลง ก็น่าติดตามว่าการเลือกลำดับต่อไปในเทศบาล จะมีการเปลี่ยนแปลงขั้วอำนาจตามไปด้วยหรือไม่

      ...สนาม อบจ.คุยกันในเชิงทางการเมือง ก็คือการที่ขั้วอำนาจต่างๆ มาแข่งขันกัน โดยเฉพาะการเลือกนายก อบจ.โดยตรง เพราะขนาด ส.ส.ยังแบ่งเป็นเขต แต่นายกฯ พื้นที่เลือกตั้งคือทั้งจังหวัด มันจึงเห็นชัด โดยในแง่ของ อบจ.ก็ถือว่ามีความสำคัญอยู่แล้ว เพราะหากใครเข้าไปบริหารงบประมาณและบุคลากรของ อบจ.ได้ ก็จะเป็นฐานสำคัญทางการเมืองให้กลุ่มอำนาจนั้นๆ และด้วยการแข่งขันในพื้นที่ ก็ทำให้ อบจ.มีการตอบสนองความต้องการการพัฒนาในจังหวัด จึงได้เห็นบางจังหวัดมีโครงการใหญ่ๆ ที่เป็นโครงการดีๆ ซึ่งคิดโดยจังหวัดมากขึ้น

      ...ดังนั้น ยิ่งประชาชนสนใจออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง อบจ.กันมากเท่าไหร่ การแข่งขันยิ่งเข้มข้น สุดท้ายประชาชนได้ประโยชน์แน่นอน เพราะคนที่ชนะเข้าไป พอไปทำหน้าที่ก็คงไม่ได้ทำแบบนิ่งนอนใจ หรือทำตัวเป็นเสือนอนกินเพียงแค่จะอยู่ให้ครบเทอม เพราะยังไงก็ต้องเร่งสร้างผลงาน ยิ่งปัจจุบัน มีการนำเรื่องงบประมาณของจังหวัดออกจากตัว ส.ส.ไปหมดแล้ว ส.ส.ไม่มีงบพัฒนาจังหวัด จะไปแปรญัตติในสภาตอนพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบเพื่อเอาไปให้จังหวัดของตัวเองก็ทำไม่ได้ เลยยิ่งทำให้ท้องถิ่นที่มีงบประมาณยิ่งมีความสำคัญ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"