ประสานเสียงส่ง "บิ๊กช้าง" คุม กก.สมานฉันท์ ชี้ต้องมีมั่นคงนั่งด้วย-คุยกันรู้เรื่อง ขณะที่ "ชวน" ไม่มั่นใจประชุมนัดแรกทันปีนี้ ด้าน "บิ๊กตู่" โอดประชุมวุ่นแก้ รธน. นึกถึงหัวอกคนไทยทั้งประเทศบ้าง ด้าน "สุรชัย" เปิดไทม์ไลน์ กม.ประชามติเสร็จสิ้นม.ค.64 เพื่อให้ทันแก้ รธน. "วันชัย" โวประวัติศาสตร์เสียงของประชาชนเป็นเสียงสวรรค์แก้วิกฤติ
เมื่อวันศุกร์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวถึงรายชื่อคณะกรรมการสมานฉันท์ที่มีข่าวจะเสนอชื่อ พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม และนายเทอดพงษ์ ไชยนันทน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ว่า ก็ตามนั้น ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอะไรตั้งแต่ต้น ตนคิดว่าต้องมีฝ่ายความมั่นคงเข้าไปด้วย จึงมอบหมายให้ พล.อ.ชัยชาญเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการฯ เชื่อว่าไม่ได้เข้าไปสร้างความขัดแย้งอะไร
ผู้สื่อข่าวถามว่า คิดว่าจะสำเร็จหรือไม่ เพราะฝ่ายที่เห็นต่างไม่ได้ส่งตัวแทนเข้าร่วมในคณะกรรมการชุดนี้ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ต้องไปถามฝ่ายเห็นต่างว่าทำอย่างไรถึงจะหาวิธีการที่ทำงานร่วมกันได้ โดยไม่ฝ่าฝืนกฎระเบียบ กฎหมาย และรัฐธรรมนูญมากนัก
“ไม่อยากให้ทุกอย่างขัดแย้งกันไปเรื่อยๆ เมื่อวานในที่ประชุมการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ประชุมเพียงชั่วโมงเดียว ผมได้รับรายงานว่ามีอีกฝ่ายไปก้าวล่วงมากมายในที่ประชุม เหตุการณ์จะไม่ดี ไม่เหมาะสม จึงต้องให้หยุดไปก่อน เพราะฉะนั้นต้องพูดให้อยู่ในกรอบ อะไรควรทำก่อนหรืออะไรที่ไม่ควรทำต้องรู้ ขอให้นึกถึงหัวอกคนไทยทั้งประเทศบ้าง" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
เมื่อถามว่า มีการตั้งเป้าหรือไม่ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญใช้เวลาเท่าไหร่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ก็เป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งมีการกำหนดระยะเวลาไว้อยู่แล้ว จะใช้วิธีไหนก็ทำไป ตนเองไม่ได้ขัดข้องอะไรอยู่แล้ว กฎหมายเขียนไว้อยู่แล้วว่ากี่วัน ไม่มีเจตนาไปดึงอะไร ทุกอย่างเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รายชื่อดังกล่าวไม่ได้มีการปรับ เป็นเรื่องของคนที่เสนอเข้ามา และเป็นเรื่องของการตัดสินใจในคณะรัฐมนตรี ผู้สื่อข่าวถามว่า สองรายชื่อดังกล่าวจะทำให้การปรองดองสมานฉันท์ไปได้สวยใช่หรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า เราต้องเอาคนที่ดีๆ เข้าไป คาดหวังว่าจะคุยกันรู้เรื่อง
ด้านนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา กล่าวว่า ยืนยันว่าไม่ได้รังเกียจสองบุคคลที่ ครม.ส่งมาก่อนหน้านี้ และไม่ได้มีปัญหาใดๆ มั่นใจว่าทุกคนมีประสบการณ์ สามารถให้ความเห็นสร้างความปรองดองสมานฉันท์ได้ ส่วนกรณีที่นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เตรียมหารือกับพรรคร่วมฝ่ายค้านเพื่อพิจารณาทบทวนส่งบุคคลเข้าร่วมคณะกรรมการสมานฉันท์ประธานรัฐสภานั้น ไม่ต้องกังวล เพราะการส่งผู้แทนร่วมเป็นกรรมการเพื่อระดมความเห็นแก้ปัญหาบ้านเมืองเท่านั้น ไม่ต้องลงมติ
นายชวนระบุด้วยว่า นอกจากนี้ การประชุมนัดแรกต้องรอให้ได้รายชื่อจากฝ่ายที่เสนอตัวแทนเข้าร่วมคณะกรรมการฯ พร้อมก่อน แต่ไม่มั่นใจว่าจะสามารถประชุมนัดแรกทันปีนี้หรือไม่ ซึ่งในวันที่ 20 ธันวาคมนี้ ที่ประชุมอธิการบดีสถาบันการศึกษาจะประชุมคัดเลือกผู้เข้าร่วมคณะกรรมการสมานฉันท์ตามสัดส่วน
วันเดียวกันนี้ ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตรถึงเป้าหมายของพรรคพลังประชารัฐในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะใช้เวลาเท่าใด ว่า ไม่รู้ แล้วแต่คณะกรรมาธิการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนระยะเวลาคงต้องดูไทม์ไลน์ที่เขากำหนด ผู้สื่อข่าวถามว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะนำไปสู่ความสงบหรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า เราคิดอย่างนั้น เมื่อถามว่าต้องส่งสัญญาณอะไรไปยังสภาหรือไม่ เพราะวันที่ 17 ธ.ค. คณะกรรมาธิการฯ ประชุมได้เพียง 1 ชั่วโมงก็ต้องปิดประชุม
พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. คนไม่อยู่กันนี่ เขาก็ไปเลือกตั้ง อบจ.ก่อน เมื่อถามว่า แต่ข่าวที่ออกมาเป็นเพราะมีการถกเถียงกันเยอะในที่ประชุม จึงต้องปิดประชุม พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ไม่มีหรอก เป็นเรื่องของความคิด จะไปถกเถียงกันได้อย่างไร มันเป็นเรื่องความคิดของคน จะให้ไปเหมือนกันได้อย่างไร ความคิดของสื่อยังไม่เหมือนกับตนเลย
ด้านนายโกศล ปัทมะ ส.ส.นครราชสีมา พรรคเพื่อไทย ในฐานะคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า การประชุมที่ล้มเมื่อวันที่ 17 ธ.ค.นั้น ตนเห็นว่าการแสดงความคิดเห็นของสมาชิกสามารถทำได้ ต้องเปิดให้อภิปรายอย่างกว้างขวาง ใครคิดว่าถูกพาดพิงก็มีสิทธิ์ชี้แจงกันด้วยเหตุด้วยผล ไม่ใช่มาใช้อารมณ์กันเช่นนี้ ที่สำคัญรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด ต้องพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ อยากให้ ส.ว.เปิดใจกว้างรับฟังความคิดเห็นของคนอื่นด้วย เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเป็นการปลดล็อกความขัดแย้งทางการเมืองในสังคม ถ้ายังเอาตัวเองเป็นที่ตั้งเช่นนี้ ปัญหาต่างๆ ก็จะแก้ไขไม่ได้ และจะไม่มีทางออกไปจากความขัดแย้ง
ที่รัฐสภา นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ..... กล่าวว่า ตั้งใจว่าการพิจารณาของ กมธ.จะให้แล้วเสร็จในสิ้นเดือนมกราคม 64 เพื่อให้ทันต่อการรองรับการออกเสียงประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ เนื่องจากกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญเชื่อมโยงมาสู่เรื่องการทำประชามติ
ส่วนที่มีการเสนอให้ทำประชามตินอกราชอาณาจักรด้วยนั้น นายสุรชัยกล่าวว่า จะมีการเชิญกลุ่มนักเรียนไทยในต่างประเทศที่เสนอให้มีการจัดการออกเสียงประชามตินอกราชอาณาจักรมาให้ข้อมูลด้วย รวมถึงเรื่องการออกเสียงประชามติล่วงหน้า ซึ่งในร่างที่รัฐบาลส่งมาไม่มีเรื่องนี้ จึงต้องฟังความเห็นของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้วย จึงให้มอบหมายให้ กมธ.ที่เป็นผู้แทนจาก กกต.ไปศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อให้ข้อมูลรวมถึงรูปแบบการออกเสียงแบบอิเล็กทรอนิกส์ด้วย ซึ่งที่ผ่านมา กมธ.ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงอุปสรรคการออกเสียงประชามติที่ผ่านมา และเปรียบเทียบรูปแบบการออกเสียงประชามติของต่างประเทศด้วย
ด้านนายวันชัย สอนศิริ ส.ว. ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ แถลงผลการประชุมกรรมาธิการว่า นับว่าการทำประชามติครั้งนี้จะเป็นประวัติศาสตร์ของประชาชนคนไทยที่ได้ออกเสียงประชามติในสถานการณ์บ้านเมืองปกติ ยืนยันว่ากรรมาธิการชุดนี้จะพิจารณากฎหมายฉบับนี้ให้เป็นกฎหมายประวัติศาสตร์ และในการปฏิบัติจะปฏิบัติตามกฎหมายเพื่อให้พี่น้องประชาชนเห็นว่าครั้งนี้จะเป็นแนวปฏิบัติที่เห็นว่าเสียงของประชาชนที่นำมาตัดสินในเรื่องสำคัญๆ ของบ้านเมืองมากกว่าการโหวตกันในรัฐสภา และการตัดสินของประชาชนจะไม่เป็นที่ยอมรับหรือไม่ยอมรับเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งเป็นส่วนที่สนับสนุนให้เสียงของประชาชนที่ออกเสียงประชามตินั้นเป็นเสียงสวรรค์อย่างแท้จริงในการแก้ไขปัญหาของบ้านเมือง
ที่รัฐสภา นายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ออกเสียงประชามติ พ.ศ. แถลงกรณีนักเรียนไทยในต่างประเทศห่วงเรื่องการออกเสียงประชามติ โดยไม่มั่นใจว่าจะมีหลักประกันเรื่องการใช้สิทธิ์ของผู้มีสิทธิ์ที่เป็นนักเรียน นักศึกษา และผู้ที่อาศัยอยู่ต่างประเทศแบบใด ประการใด.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |