คลังเผยผู้ลงทะเบียนคนละครึ่งไม่สำเร็จ ยังมีสิทธิ์ลงอีกรอบหากเปิด คาดมีไม่เกิน 5 แสนราย “ตำรวจ” ประเดิมเชือดโกงโครงการแล้ว 4 ราย ชี้มีประชาชนร่วมขบวนการอีก 200 ราย เล็งขยายผลอีกกว่า 700 ร้านค้าที่เข้าข่าย
เมื่อวันศุกร์ที่ 18 ธ.ค. น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีผู้ลงทะเบียนโครงการคนละครึ่งเฟส 2 ที่ได้รับ SMS มีข้อความว่าลงทะเบียนไม่สำเร็จ เนื่องจากข้อมูลไม่ถูกต้อง โปรดลงทะเบียนใหม่ ว่าผู้ได้รับข้อความดังกล่าวถือว่าไม่ผ่านการตรวจสอบข้อมูล เพราะระหว่างลงทะเบียนอาจพิมพ์ข้อมูลไม่ตรงกับที่มีอยู่ในระบบ เช่น พิมพ์ชื่อ-นามสกุลผิด กรอกตัวเลขบัตรประชาชนหรือรหัสหลังบัตรไม่ถูกต้อง รวมถึงอาจใส่วันเดือนปีเกิดไม่ตรงกับข้อมูลที่ระบุไว้ในบัตรประชาชน ซึ่งผู้ได้รับ SMS ดังกล่าวยังไม่เสียสิทธิ์ และมีโอกาสลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการอีกครั้ง หากมีการเปิดให้ลงทะเบียนเพิ่ม
"ต้องรอมาลงทะเบียนใหม่ในรอบถัดไป ซึ่งยังไม่ได้กำหนดว่าจะเปิดเมื่อไหร่ หรือจำนวนแค่ไหน เพราะต้องรอพิจารณารายละเอียดก่อน ส่วนของคนที่ได้รับ SMS ยืนยันว่าได้รับสิทธิแล้วต้องดาวน์โหลดพร้อมติดตั้งแอปพลิเคชันเป๋าตัง และยืนยันตัวตนเพื่อรับสิทธิ์ตามโครงการ และเริ่มต้นใช้สิทธิ์ได้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.- วันที่ 31 มี.ค.2564” น.ส.กุลยากล่าว
น.ส.กุลยากล่าวต่อว่า ปัญหาการลงทะเบียนไม่ถูกต้องไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะในการลงทะเบียนโครงการคนละครึ่งเฟสแรก 10 ล้านคน ก็มีผู้ลงทะเบียนไม่ถูกต้องรวมกับที่ใช้สิทธิ์ไม่ทันกว่า 2.4 ล้านคน
รายงานข่าวจากธนาคารกรุงไทยระบุว่า การลงทะเบียนคนละครึ่งเฟส 2 ที่ 5 ล้านคน คาดว่ามีผู้ลงทะเบียนไม่ถูกต้องประมาณ 8-10% หรือไม่เกิน 5 แสนคน
วันเดียวกัน ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) และคณะ ร่วมกันแถลงผลการตรวจสอบการดำเนินคดีการทุจริตโครงการคนละครึ่ง
โดย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์กล่าวว่า สศค.และธนาคารกรุงไทยได้ตรวจสอบเบื้องต้นพบความผิดปกติในการใช้จ่ายที่ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขโครงการคนละครึ่ง มีผู้กระทำความผิดอยู่ 2 แบบ คือ 1.ร้านแลกหรือรับเงินเป็นผู้ดำเนินการ และ 2.แบบมีเจ้ามือเป็นผู้ดำเนินการจำนวนหลายราย จึงได้ระงับการใช้แอปพลิเคชันถุงเงิน และระงับการจ่ายเงินให้แก่ร้านค้าดังกล่าว และได้จัดส่งข้อมูลร้านค้าและผู้เกี่ยวข้องที่กระทำผิดเงื่อนไขให้ตำรวจดำเนินการ มีผลการดำเนินคดี 1 ราย ผู้ต้องหา 4 คน
พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ยังกล่าวถึงรูปแบบการทุจริตว่ามี 2 วิธี รูปแบบแรกร้านค้าคนละครึ่งที่รับแลกเงินสดมีการโอนเงินให้ประชาชนที่ใช้แอปพลิเคชันเป๋าตังโดยตรงผ่านโมบายแบงกิ้ง, เอทีเอ็ม และเงินสด ซึ่งรูปแบบนี้ไม่ได้ซื้อ-ขายสินค้าจริง แต่ไปรับเงินโดยตรง ส่วนรูปแบบที่ 2 ลักษณะเป็นเจ้ามือ ประชาชนที่ต้องการแลกเงินมีการให้ข้อมูลการล็อกอินเข้าแอปพลิเคชันเป๋าตังแก่ร้านค้าเพื่อใช้สิทธิคนละครึ่งแทน โดยวิธีนี้ร้านค้าจะหาลูกค้าผ่านช่องทางออนไลน์ เช่น ไลน์ และเฟซบุ๊ก เป็นต้น ซึ่งหากมีประชาชนสนใจตกลงแบ่งผลประโยชน์ โดยจะกระทำการเสมือนมีการค้าขายแต่ไม่มี ซึ่งประชาชนได้รับโอนเงินส่วนต่างจากเจ้ามือจำนวน 80-100 บาท ต่อการทำธุรกรรมใช้จ่ายผ่านร้านดังกล่าว ทั้งนี้ ผู้ต้องหาจะแสดงตนเป็นทั้งร้านค้าและประชาชนผู้ใช้สิทธิ์ โดยกรณีนี้ตำรวจได้สืบสวนพบว่าที่อยู่ร้านค้าและผู้ใช้สิทธิ์อยู่ต่างภูมิลำเนา และคนละจังหวัด ทั้งเชียงใหม่ สงขลา ฯลฯ
“ได้แจ้งข้อหาผู้ต้องหาทั้ง 4 คนแล้ว ในข้อหาฉ้อโกง และข้อหาฉ้อโกงโดยการแสดงตนเป็นบุคคลอื่น พร้อมเรียกสอบปากคำประชาชน 14 คน ที่นำข้อมูลส่วนตัวเกี่ยวกับรหัสเข้าแอปพลิเคชันเป๋าตังส่งให้กับร้านค้าผู้กระทำความผิด โดยหลังจากนี้ก็จะพิจารณาว่าต้องแยกการดำเนินคดีต่อไปอย่างไร โดยร้านค้าผู้กระทำความผิดพบว่ามีประชาชน 200 รายที่เข้าข่ายร่วมกระทำความผิด โดยรัฐได้โอนเงินให้ร้านค้าไปแล้วกว่า 220,000 บาท ในจำนวนนี้มีทั้งการซื้อ-ขายแบบสุจริต และการกระทำทุจริตโดยลูกชายของเจ้าของร้านเป็นหนึ่งในผู้หาวิธีฉ้อโกง เนื่องจากทราบช่องโหว่เชิงเทคนิค เช่น การไม่สแกนก็ซื้อสินค้าได้ ส่วนสามี-ภรรยาทำหน้าที่เป็นนายหน้า พบว่าได้เงินส่วนต่างจากการกระทำผิด 10 วันประมาณ 10,000 บาท”
ด้าน พ.ต.อ.ภาดล จันทร์ดอน ผกก.5 บก.ปอศ. กล่าวว่า เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.2563 ตำรวจร่วมกับ สศค.และผู้แทนจากธนาคารกรุงไทย ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบร้านค้าขายของชำที่ ต.คอกระบือ อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร พบ น.ส.สมปอง (สงวนนามสกุล) อายุ 62 ปี แสดงตนเป็นเจ้าของร้านขายของชำ และพบนายสรัล (สงวนนามสกุล) อายุ 25 ปี บุตรชายเจ้าของร้าน จากการตรวจสอบพบโทรศัพท์มือถือที่ใช้ในระบบ G Wallet จำนวน 5 เครื่อง, ไอแพด 1 เครื่อง, คอมพิวเตอร์ 1 เครื่อง และบัญชีเงินฝากธนาคาร 6 เล่ม จึงได้ตรวจยึดไว้เป็นของกลางในคดี
จากการสอบสวน น.ส.สมปอง เจ้าของร้าน ทราบว่าการดำเนินการทั้งหมดนายสรัลเป็นผู้ดำเนินการ โดยนายสรัลยอมรับว่าได้ตกลงร่วมมือกับผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อสาวิตา รักชีพชอบ และใช้ไลน์ชื่อ Jeerapot ในการติดต่อ และเมื่อได้รับเงินจากรัฐบาล ได้โอนเงินคืนให้กับเจ้ามือ ผ่านบัญชีธนาคารชื่อนายจีรพจน์ โดยทางร้านค้าจะได้ผลประโยชน์ 30 บาทต่อราย ส่วนผู้ใช้ไลน์ชื่อ Jeerapot ได้ 30 บาทต่อราย คนที่มาขายสิทธิ์จะได้เงิน รายละ 90 บาท และตำรวจได้ลงพื้นที่สอบสวนปากคำประชาชนที่ใช้สิทธิ์ผ่านร้านค้าดังกล่าวจำนวน 14 จุด ซึ่งกระจายอยู่ทั่วประเทศ เช่น จังหวัดลพบุรี, ชลบุรี, ชัยภูมิ, บุรีรัมย์, สุรินทร์, เชียงใหม่ และสงขลา ฯลฯ
พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์กล่าวเสริมว่า ยังไม่สามารถสรุปความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมดได้ เพราะอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริง แต่เชื่อว่าความเสียหายนั้นจะไม่สูง เนื่องจากธนาคารได้เฝ้าระวังและสั่งหยุดจ่ายเงินทันทีเมื่อพบความผิดปกติ สำหรับข้อมูลพบว่ามีร้านค้าที่กระทำความผิดจำนวนอีกกว่า 700 ร้านค้า หลังจากนี้ตำรวจจะตรวจสอบและจับกุมดำเนินคดีต่อไป และฝากเตือนถึงประชาชนว่า แม้คดีฉ้อโกงจะมีอัตราโทษไม่มาก จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือ 5 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือ 100,000 บาท แต่การกระทำความผิดในแต่ละครั้งจะถือว่าเป็นการกระทำความผิดต่างกรรมต่างวาระ หากทำผิดในลักษณะดังกล่าวซ้ำๆ หลายครั้ง ก็จะได้รับโทษษแต่ละครั้ง เมื่อรวมแล้วอาจจะได้รับโทษสูง จึงขออย่าได้เข้าร่วมในการกระทำการทุจริตในโครงการดังกล่าว
ส่วน พล.ต.ต.สุวัฒน์ แสงนุ่ม ผู้บังคับการกองปราบปราม กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบโรงแรม ที่พัก ร้านอาหาร จำนวน 515 แห่ง ที่ต้องสงสัยทุจริตฉ้อโกงเงินของรัฐจากโครงการเราเที่ยวด้วยกันว่า กองปราบฯ จะเร่งดำเนินการเต็มที่ แต่เนื่องจากกองปราบฯ เพิ่งจะได้รับมอบหมายมาไม่นาน ทำให้ความคืบหน้าทางคดีขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการสอบสวนสืบสวนหาพยานหลักฐานเกี่ยวกับการกระทำผิดต่างๆ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |