"บิ๊กตู่" เผยรัฐบาลพร้อมเสริมการทำงานศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน ยันในหลวงไม่เคยยุ่งเกี่ยวกับการบริหารราชการ เพียงแต่มีอะไรให้ทรงช่วยได้ก็จะทรงช่วย “บิ๊กบี้”ลั่นแผ่นดินนี้มีความสงบร่มเย็นภายใต้พระบารมี ทุกคนต้องช่วยกันรักษาไว้ให้มั่นคง อย่าทำร้ายกัน เมินไม่รู้จักคำว่า "สาธารณรัฐ" กลุ่ม 3 นิ้วทยอยเข้ารับทราบข้อหา ม.112-พ.ร.บ.ชุมนุมฯ "เพนกวิน” อ่วม! โดนแล้ว 40 คดี เฉพาะ ม.112 รวม 12 คดี โวยไม่เป็นธรรม "แรมโบ้" ซัดกล้าทำต้องกล้ารับ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติออกแถลงการณ์ห่วงไทยใช้กฎหมายนี้
ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 18 ธันวาคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการจิตอาสาพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อความสุขของประชาชน ครั้งที่ 1/2563 ว่าวันนี้เป็นการประชุมคณะกรรมการจิตอาสาในส่วนของรัฐบาลในการบูรณาการร่วมกันกับศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เราต้องเสริมการทำงานที่พระองค์พระราชทานให้ ซึ่งเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ ในหลายกิจกรรมที่เรามีจิตอาสาอยู่ถึง 6.7 ล้านคนในปัจจุบัน
"พระองค์ท่านทรงบอกว่าทำงานร่วมกันเสริมกันได้ก็ดี ผมก็ได้เตรียมแผนว่าเอาแผนงานและโครงการที่รัฐบาลทำไปให้คณะกรรมการศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาได้รับทราบ เพื่อให้การทำงานรวดเร็วขึ้น ถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณ พระองค์ท่านไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับการบริหารราชการของเราอยู่แล้ว เพียงแต่ว่ามีอะไรให้พระองค์ทรงช่วยได้พระองค์ท่านก็จะช่วย" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
ที่กองบัญชาการกองทัพบก พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ. ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมหน่วยขึ้นตรงกองทัพบก (นขต.ทบ.) ถึงสถานการณ์บ้านเมืองหลังพนักงานสอบสวนใช้มาตรา 112 ดำเนินคดีกับผู้ที่หมิ่นสถาบันว่า เป็นเรื่องของกฎหมาย ตนไม่ใช่นักกฎหมาย แต่เป็นนักการทหาร มีหน้าที่ป้องกันประเทศ และช่วยเหลือประชาชน รวมถึงเทิดทูนสถาบัน ทั้งนี้ ทหารกับสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสิ่งที่อยู่คู่กันตั้งแต่ก่อตั้งประเทศนี้มา พระมหากษัตริย์คือผู้นำจอมทัพไทย และก็รบรา ป้องกันอริราชศัตรู สร้างอาณาเขต สร้างความมั่นคงให้แผ่นดินนี้ จนพวกเรามานั่งอยู่ตรงนี้ เรามีสิทธิ์ มีงานทำ มีบ้านอยู่ มีความสุขอยู่บนแผ่นดิน เนื่องจาก พระมหากษัตริย์ตั้งแต่ในอดีตที่ได้รวมชายไทยในอดีต ซึ่งต้องทำหน้าที่ทหารรักษาแผ่นดิน และความมั่นคงให้เราอยู่จนมาถึงทุกวันนี้ รวมถึงคนอื่นจากแผ่นดินอื่น ศาสนาอื่นมาอาศัยอยู่ร่วมกัน
“เพราะฉะนั้นพระมหากรุณาธิคุณนั้นจึงยิ่งใหญ่ไพศาล และมหาศาลเหลือเกิน หลายร้อยปีมาแล้ว ในส่วนของทหารจึงเป็นผู้ที่ต้องถวายความจงรักภักดี ผู้ที่ต้องมีความกตัญญูเป็นเลิศต่อผืนแผ่นดินไทย ที่จะต้องรักษาความมั่นคงที่บรรพชนรักษา และทำมาให้แผ่นดินนี้มีความสงบร่มเย็นภายใต้พระบารมีและบรมเดชานุภาพแห่งองค์พระมหากษัตริย์เจ้า และดูแลช่วยเหลือประชาชนให้อยู่เย็นเป็นสุข เพราะฉะนั้นเราควรช่วยรักษาความสงบร่มเย็นให้เกิดขึ้นในแผ่นดินนี้ และทำมาหากินได้ ยิ่งในสภาพการณ์ตอนนี้คือต้องช่วยเหลือกันและบริโภคกันภายในประเทศ อย่าทำร้ายกัน อย่าทำร้ายประเทศชาติ อย่าทำร้ายประชาชน”
ไม่รู้จักสาธารณรัฐ
เมื่อถามว่า พูดได้เลยว่าแนวคิดเรื่องการเกิดสาธารณรัฐจึงเป็นไปไม่ได้ พล.อ.ณรงค์พันธ์กล่าวว่า "ไม่ทราบครับ เรื่องนี้ไม่มีในหัวผม" เมื่อถามย้ำว่าไม่มีทางเป็นไปได้ใช่หรือไม่ พล.อ.ณรงค์พันธ์ กล่าวว่า "ไม่รู้ๆ ไม่รู้จักคำนี้" เมื่อถามต่อว่าที่บอกว่าต้องเทิดทูนสถาบัน เราต้องมีการปกป้องสถาบันไม่ให้มีใครก้าวล่วงใช่หรือไม่ พล.อ.ณรงค์พันธ์กล่าวว่า "ทุกคนมีหน้าที่ปกป้อง ใครมีหน้าที่ด้านไหนก็ทำไปในด้านนั้น เมื่อจุดมุ่งหมายคือประชาชนร่มเย็นเป็นสุข และการที่ประชาชน ประเทศชาติจะร่มเย็นเป็นสุขได้นั้น สถาบันหลักเป็นจุดศูนย์รวม ต้องอยู่อย่างมั่นคง ทุกคนจึงมีหน้าที่ คนถือกฎหมายก็มีหน้าที่เช่นกัน"
ผู้สื่อข่าวถามว่า เป็นห่วงสถานการณ์ของกลุ่มผู้ชุมนุมยังกล่าวถึงสถาบันอยู่หรือไม่ พล.อ.ณรงค์พันธ์กล่าวว่า คงไม่ตอบเรื่องการเมือง ตนไม่เชี่ยวชาญเรื่องการเมือง เมื่อถามต่อว่าช่วงรอยต่อปีใหม่ เกรงจะมีมือที่สามฉวยโอกาสสร้างสถานการณ์หรือไม่ พล.อ. ณรงค์พันธ์กล่าวว่า ช่วงหยุดยาวหน่วยงานความมั่นคงก็ติดตามสถานการณ์อยู่แล้ว ทุกคนเสียสละอุทิศตน เพียงแต่เราไม่รู้ การที่บ้านเมืองร่มเย็นเป็นสุขในขณะนี้เราก็ต้องขอบคุณเจ้าหน้าที่เหล่านั้น เพราะทำให้บ้านเมืองสงบร่มเย็น ไม่มีภัยอันตรายใดๆ เกิดขึ้นกับประชาชน
ที่บริเวณด้านหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ผู้ชุมนุมกลุ่มราษฎร นำโดยนายสิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ แกนนำกลุ่ม มศว คนรุ่นเปลี่ยน, นายชูเกียรติ แสงวงศ์ หรือจั๊ด การ์ดภาคีเพื่อประชาชน, นายณวรรษ เลี้ยงวัฒนา หรือแอม, นายอรรถพล บัวพัฒน์ หรือครูใหญ่ขอนแก่นพอกันที, นายชินวัตร จันทร์กระจ่าง หรือไบรท์ แกนนำกลุ่มคนรุ่น ใหม่นนทบุรี, นางณัฏฐธิดา มีวังปลา หรือแหวน พยาบาลอาสา เดินทางมาทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์เรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายมาตรา 112 และเรียกร้องให้ตำรวจยกเลิกการดำเนินคดีกับนักกิจกรรมและประชาชน ในข้อหามาตรา 112 เนื่องจากเป็นกฎหมายที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพ จากนั้นผู้ชุมนุมได้ร่วมกันเขียนความรู้สึกสิ่งที่ควรยกเลิกและสิ่งที่ควรปรับปรุงลงบนกระดาษสีขาว
นายชินวัตรกล่าวว่า กฎหมายมาตรา 112 เป็นกฎหมายที่ล้าหลัง เป็นกฎหมายที่กดขี่ข่มเหงประชาชน นำมาทำลายล้างกันเรื่องการเมือง ตนจึงขอรณรงค์ให้ยกเลิกกฎหมายมาตรา 112 และที่พวกเราออกมาชุมนุม เพราะต้องการให้ปฏิรูปสถาบัน ไม่ใช่การล้มล้าง เราอยากให้สถาบันอยู่ได้แบบสง่างาม
ต่อมา พ.ต.อ.พาติกรณ์ ศรชัย ผกก.สน.ปทุมวัน แจ้งว่ากิจกรรมวันนี้ เป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผิด พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ให้เลิกการชุมนุมภายในเวลา และห้ามทำทรัพย์สินของทางราชการเสียหาย ทำให้นายณวรรษชี้แจงว่า วันนี้เป็นการทำกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ ไม่ใช่การชุมนุม หวังว่าตำรวจจะไม่ดำเนินคดีใดๆ กับพวกเรา
3 นิ้วทยอยรับทราบข้อหา
จากนั้น นายชินวัตร นายชูเกียรติ และนายสิรภพ ได้นำน้ำยาล้างจานมาล้างทำความสะอาดอักษรคำว่า "ชาติ" ซึ่งเป็นป้าย ตร.เพื่อล้างสิ่งมลทินที่เกาะอยู่ในสถานที่แห่งนี้ ที่ดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมแบบหว่านแห โดยภายหลังล้างป้าย ตร.เสร็จ นายณวรรษกล่าวว่า เราได้ล้าง "ชาติ" แล้ว หากพวกพี่ๆ รักชาติ และทำงานรับใช้ประเทศชาติจริงๆ ช่วยดูแลไม่ให้ใครเอาประชาธิปไตยออกไปจากประเทศนี้ได้ หลังจากนี้หากมีการชุมนุมในวันใด ขอให้ตำรวจที่ เห็นด้วยในการชุมนุมลาพักร้อนในวันนั้น ก่อนที่ผู้ชุมนุมจะร่วมกันชู 3 นิ้ว และตะโกน พร้อมกันว่า "ที่นี่มีคนตาย", "เสื้อแดงไม่ได้รับความยุติธรรม" และประกาศยุติกิจกรรมใช้เวลาประมาณ 45 นาที
ที่ สน.ลุมพินี นายชูเกียรติ แสงวงศ์, นายสิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ, นายชินวัตร จันทร์กระจ่าง และผู้ชุมนุมรวม 4 คน เข้าพบ พ.ต.ท.เทอดศักดิ์ มนัสชน สว.(สอบสวน) สน.ลุมพินี ตามหมายเรียกข้อหา ม.112 พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ และ พ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อ จากการชุมนุมบริเวณแยกราชประสงค์ ก่อนไปสาดสีที่หน้า ตร.เมื่อวันที่ 18 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยมีมวลชนหลักสิบคนแต่งกายด้วยเสื้อสีเหลืองและสีดำมาให้กำลังใจ
นายสิรภพกล่าวหลังให้ปากคำกับพนักงานสอบสวนกว่า 2 ชั่วโมงว่า มีผู้ถูกหมายเรียกคดี ม.112 พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ และ พ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อ ทั้งหมด 2 คน คือตนกับนายชูเกียรติ และถูกหมายเรียกเฉพาะ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะอีก 5 คน คือนายชินวัตรและประชาชน ซึ่งตนให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาและไม่ได้เซ็นชื่อรับทราบข้อกล่าวหา จะให้การเป็นหนังสือ โดยมีนัดอีกครั้งในวันที่ 13 ม.ค.64
"ทราบว่ามีผู้ถูกหมายเรียกอีกรวม 15 คน ซึ่งตำรวจจะทยอยเรียกให้เข้ามารายงานตัว การที่รัฐบาลใช้ ม.112 แบบนี้ จะทำให้มันเสื่อมลงด้วยตัวเองจากการใช้กฎหมายพร่ำเพรื่อ บางคนเพียงพิมพ์ข้อความในโซเชียลที่ไม่เกี่ยวข้องกับสถาบันยังถูกคดีได้ ยืนยันยังเคลื่อนไหวต่อไปจนกว่าข้อเรียกร้องจะสัมฤทธิผล" นายสิรภพกล่าว
ที่ สน.บางโพ น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว แกนนำกลุ่มราษฎร พร้อมด้วยนายวชิรวิทย์ รุ่งเรืองศิริผล แกนนำกลุ่มเสื้อแดงอิสระ และนายคุณากร มั่นนทีรัย ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เข้าพบ พ.ต.อ.สุรเดช พจนาวงษ์พานิช ผกก.สน.บางโพ เพื่อรับทราบข้อกล่าวตามหมายเรียกในความผิดฐานไม่แจ้งการชุมชุนตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ จากการจัดกิจกรรมชุมนุมที่หน้าอาคารรัฐสภา เมื่อวันที่ 17 พ.ย.
นายคุณากรเปิดเผยว่า ตำรวจได้ทำการเรียกกลุ่มแกนนำต่างๆมา ตามหมายมาทั้งหมด 6 คน แต่วันนี้เดินทางมาเพียงแค่ 3 คน ส่วนอีก 3 คนนั้น ได้แก่ นายภาณุพงศ์ จาดนอก, นายอำนนท์ นำภา และนายเอกชัย หงส์กังวาน แจ้งขอเลื่อนพบพนักงานสอบสวนไปก่อน ขณะที่แกนนำที่เข้าพบพนักงานสอบสวนวันนี้ให้การ ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และจะเร่งทำเอกสารเป็นลายลักษณ์อักษรส่งพนักงานสอบสวนอีกครั้ง
ต่อมา นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน แกนนำการชุมนุมฯ พร้อมทนายเดินทางมาพบพนักงานสอบสวน สน.บางโพ ตามหมายเรียกในข้อหาจัดการชุมนุมโดยไม่แจ้งเจ้าพนักงานตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ จากการชุมนุมเดียวกันที่รัฐสภา โดยพนักงานสอบสวนแจ้งกับทนายความว่า จะแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมกับนายพริษฐ์ ในความผิดตามประมวลกฎหมาย อาญา ม.116 และ ม.215 ด้วยซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับการชุมนุม
นายพริษฐ์กล่าวว่า ตั้งแต่เริ่มมีกิจกรรมการชุมนุมตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ตนถูกดำเนินคดีความแล้วกว่า 40 คดี โดยเฉพาะปีนี้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 รวม 12 คดี จึงมองว่าเจ้าหน้าที่รัฐใช้กฎหมายไม่เป็นธรรม
กล้าทำต้องกล้ารับ
นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงนายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ โฆษกพรรคก้าวไกล ระบุว่าการใช้ ม.112 ต่อผู้เข้าร่วมชุมนุม เป็นการใช้ในลักษณะเหวี่ยงแห ตีความกว้างขวางเกินตัวบทกฎหมายและละเมิดสิทธิมนุษยชน ว่า หากยังสงสัยในกฎหมาย ม.112 ทางที่ดีควรเตือนไปยังกลุ่มผู้ชุมนุมไม่ให้มีการปราศรัยพูดพาดพิงสถาบัน หรือควรยุติการชุมนุมไปเลยจะดีกว่า เพราะการชุมนุมไม่เป็นประโยชน์กับใครอีกทั้งยังสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนอย่างมาก โดยขอให้ย้อนมองดูพฤติกรรมการชุมนุมของผู้ชุมนุมว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้อื่นด้วยหรือไม่ เพราะทำให้เดือดร้อนพูดจาหยาบคาย ด่าทอผู้อื่น และยังทำเรื่องเลวร้ายจาบจ้วงและหมิ่นสถาบันอย่างมากหากกลุ่มผู้ชุมนุมกล้าที่จะทำแล้ว ก็ขอให้กล้ายอมรับกับความ เป็นจริง ที่จะต้องถูกดำเนินคดี ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจถือว่าปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายเช่นกัน
"รัฐบาลไม่เคยสั่งการหรือบังคับใช้กฎหมายกลั่นแกล้งคนอื่น ทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย ประชาชนฝากบอกมาว่า พรรคก้าวไกล แต่ทำท่าจะไปไม่ไกล เพราะประชาชนรู้ว่านักการเมืองที่สนับสนุนกลุ่มที่ทำผิด ม.112 คือใคร และใครที่ออกมาปกป้องคนทำผิด ม.112 นั่นแหละตัวดี ที่พยายามจะยุยงให้คนมาจาบจ้วงก้าวล่วงคิดล้มล้างสถาบัน ทั้งที่รู้อยู่แก่ใจว่าเป็นการกระทำผิดกฎหมายชัดเจน พรรคการเมืองหรือนักการเมืองเหล่านั้นสมควรที่จะต้องถูกเจ้าหน้าที่ จับตาดูว่าสมคบคิดหรือให้การสนับสนุนด้วยหรือเปล่า" นายสุภรณ์กล่าว
สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานเมื่อวันศุกร์ที่ 18 ธ.ค.ว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติออกแถลงการณ์แสดงความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองในไทย ที่มีการคุมขังนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยหลายคน ซึ่งรวมถึงเยาวชนอายุ 16 ปี ภายใต้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
คำแถลงกล่าวว่า เรารู้สึกหนักใจอย่างยิ่งกับการดำเนินการโดยทางการไทยที่ตั้งข้อหาผู้ประท้วงอย่างน้อย 35 คนในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งรวมถึงผู้ประท้วงที่เป็นนักเรียนอายุ 16 ปี ภายใต้มาตรา 112
ราวีนา ชัมดาซานี โฆษกสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ กล่าวว่า ความผิดดังกล่าวมีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปี ถึง 15 ปี ฐานหมิ่นประมาท, ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อราชวงศ์ "เราตกใจอย่างยิ่งที่ผู้ประท้วงอายุ 16 ปีถูกตำรวจนำตัวส่งศาลเยาวชนเมื่อวานนี้เพื่อขอคำสั่งฝากขัง" โฆษกหญิงผู้นี้กล่าว อย่างไรก็ดี ศาลปฏิเสธและอนุญาตให้ประกันตัว
ชัมดาซานีให้ข้อสังเกตด้วยว่า คณะกรรมการสิทธิฯ เคยร้องขอทางไทยหลายครั้งให้ตรากฎหมายโดยสอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศ แต่น่าผิดหวังอย่างยิ่งที่หลังจากผ่านมา 2 ปีโดยไม่มีคดีใดๆ จู่ๆ เราก็ได้พบเห็นคดีจำนวนมาก และน่าตกใจที่ตอนนี้ยังมีการดำเนินคดีกับผู้เยาว์ด้วย
เธอกล่าวอีกว่า คณะกรรมการสิทธิฯ ของยูเอ็นยังมีความห่วงกังวลเรื่องการฟ้องร้องดำเนินคดีอาญาร้ายแรงอื่นๆ กับผู้ประท้วงที่เข้าร่วมการประท้วงอย่างสันติในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา
"เราเรียกร้องรัฐบาลไทยหยุดการใช้ข้อหาคดีอาญาร้ายแรงเช่นนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่ากับบุคคลที่ใช้สิทธิเสรีภาพของพวกเขาในการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมอย่างสงบ เรายังเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และทำให้กฎหมายนี้สอดคล้องกับสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น"
นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล นำเสนอผลสำรวจภาคสนามเรื่อง ความสุขของราษฎร กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวน 1,406 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 11-17 ธันวาคม ที่ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่ของกลุ่มราษฎรทั่วไปหรือร้อยละ 87.6 มีความสุขค่อนข้างมากถึงมากที่สุด หลังสถานการณ์ความขัดแย้งรุนแรงเริ่มคลี่คลาย ในขณะที่ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 86.6 ของกลุ่มราษฎรเยาวชน มีความสุขค่อนข้างมากถึงมากที่สุด หลังสถานการณ์ความขัดแย้ง รุนแรงเริ่มคลี่คลาย เช่นกัน
ที่น่าพิจารณาคือส่วนใหญ่ของกลุ่มราษฎรทั่วไปหรือร้อยละ 89.6 และส่วนใหญ่ของกลุ่มราษฎรเยาวชนหรือร้อยละ 79.1 ระบุ เห็นคนไทยเป็นหนึ่งเดียวกันจงรักภักดีต่อสถาบันหลักของชาติ เป็นเหตุแห่งปัจจัยทำราษฎรมีความสุข ในขณะที่ส่วนใหญ่ของกลุ่มราษฎรทั่วไปหรือร้อยละ 88.3 และส่วนใหญ่ของกลุ่มราษฎรเยาวชน หรือร้อยละ 87.5 ระบุคนในครอบครัวรักกัน แม้เห็นต่างกัน วัยต่างกัน .
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |