เศรษฐกิจแย่แต่บาทแข็งโป๊ก...


เพิ่มเพื่อน    

พอเงินบาทแข็งทะลุเพดาน 30 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ เมื่อสัปดาห์ก่อน ก็เริ่มจะมีการเรียกร้องให้ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องเข้าช่วยบริหาร ไม่ให้ผู้ส่งออกของไทยต้องเผชิญกับปัญหาที่เดิมหนักอยู่แล้วเพราะพิษโควิด

            ในยุคของ ดร.วิรไท สันติประภพ เป็นผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ จุดยืนของธนาคารกลางจะพยายามไม่ระบุว่าทางการจะทำอะไรเพื่อเข้าไปพยุงสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยน แต่จะแนะนำให้ธุรกิจของไทยพยายามบริหารความเสี่ยงอย่างรอบคอบและทันกับความเปลี่ยนแปลง

            แต่ดูเหมือนว่าผู้ว่าฯ ธนาคารกลางคนใหม่ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ จะมีแนวทางเชิงรุกในเรื่องนี้มากกว่า

            อาจเพราะสถานการณ์เปลี่ยนไป หรือทิศทางการบริหารของผู้บริหารชุดนี้กำลังปรับให้สอดคล้องกับความเป็นไปของเศรษฐกิจไทยที่เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

            คุณวชิรา อารมย์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน  ธปท. บอกนักข่าวสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า หลังจากข่าวความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีนและทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มดีขึ้นในช่วงเดือนพฤศจิกายน เงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วประมาณ 3.5%  ซึ่งเป็นระดับอ่อนค่าที่สุดในรอบ 2 ปีครึ่ง

            ทำให้สกุลเงินภูมิภาคหลายประเทศปรับแข็งค่าขึ้นมาก

            เงินหยวนแตะระดับแข็งค่าในรอบ 2 ปีครึ่ง เงินวอนเกาหลีใต้และเงินดอลลาร์สิงคโปร์แตะระดับแข็งค่าในรอบ  3 ปี เงินดอลลาร์ไต้หวันแตะระดับแข็งค่าในรอบ 23 ปี

            เงินบาทก็ได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกเช่นเดียวกัน โดยตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เงินบาทแข็งค่าขึ้น 3.5% เทียบกับเงินวอนเกาหลีใต้ที่ 4.5% และเงินรูเปียห์อินโดนีเซียที่ 3.9% อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับต้นปีเงินบาทยังอ่อนค่าอยู่เล็กน้อย

            "ธปท.ไม่ได้นิ่งนอนใจต่อการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท และได้เข้าดูแลเพื่อชะลอความผันผวนที่จะกระทบต่อการปรับตัวของภาคเศรษฐกิจจริง รวมถึงจะติดตามสถานการณ์ในตลาดการเงินอย่างใกล้ชิด" คุณวชิราแถลง

            เมื่อวันพฤหัสฯ ที่ผ่านมา เงินบาทแข็งที่สุดใน 7 ปี อยู่ที่ 28-29 บาทต่อดอลลาร์

            ก่อนหน้านั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยออกบทวิเคราะห์โดยระบุว่า เมื่อวันพุธที่ 9 ธ.ค. เงินบาทอยู่ที่ระดับ 30.05  เทียบกับระดับ 30.15 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในวันศุกร์ที่  4 ธ.ค.ที่ผ่านมา ทั้งนี้ สัญญาณพร้อมผ่อนคลายนโยบายการเงินของเฟดต่อเนื่อง จะยังส่งผลกดดันทิศทางเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ให้อ่อนค่าลง และหนุนให้เงินบาทและสกุลเงินในเอเชียอื่นๆ ปรับตัวแข็งค่าขึ้น

            "มีความเป็นไปได้ที่จะยังคงเห็นเฟดส่งสัญญาณพร้อมผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติมภายในไตรมาส 1/2564 เนื่องจากความเสี่ยงจากโควิด-19 กำลังเลวร้ายลง จนทำให้หลายรัฐต้องมีการประกาศมาตรการควบคุมสถานการณ์ และเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงต้องรอแรงกระตุ้นจากมาตรการฝั่งการคลังที่คงจะเริ่มมีผลจริงต่อเศรษฐกิจ ภายหลังจากการเข้ารับตำแหน่งของทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ของนายโจ ไบเดน ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ" ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุ

            และคาดการณ์ว่าเงินบาทอาจทยอยแข็งค่าไปที่ระดับ  29.00-29.25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงปลายปี 2564

            เพราะมีแรงหนุนจากปัจจัยที่อ่อนแอของเงินดอลลาร์  โดยเฉพาะแนวโน้มการดำเนินมาตรการผ่อนคลายทางการเงินของเฟด เพื่อช่วยสร้างความเชื่อมั่นและประคองเศรษฐกิจสหรัฐฯ และจากปัจจัยพื้นฐานของไทยที่เกิดจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด และความเป็นไปได้ที่จะมีกระแสเงินทุนไหลเข้าตลาดการเงินในเอเชียและไทยต่อเนื่อง

            เป็นจังหวะเดียวกับที่มีข่าวว่าเงินสำรองระหว่างประเทศของไทยพุ่งขึ้นไปอยู่ที่ 280,000 ล้าน USD เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

            ณ วันที่ 27 พฤศจิกายน 2563 พบว่าอยู่ที่  280,697.88 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนที่ 279,908.13 ล้านดอลลาร์

            นับว่าเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดนับตั้งแต่มีการเก็บสถิติมา

            เมื่อเทียบกับระดับโลก ประเทศไทยยังคงรั้งตำแหน่งอันดับ 12 ของโลกในด้านปริมาณเงินสำรองฯ ไว้อย่างเหนียวแน่น

            เงินสำรองฯ มูลค่า 280,697.88 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หากเทียบเป็นเงินบาทไทยจะอยู่ในมูลค่าที่  8,501,777.48 ล้านบาท

            เงินสำรองระหว่างประเทศเป็นดัชนีวัดเศรษฐกิจไทยได้ในมิติหนึ่ง มีน้อยไปก็ไม่ได้ มีมากไปก็ใช่จะไม่มีปัญหา

            ผู้รู้อธิบายไว้ชัดว่าเงินสำรองฯ เป็นเครื่องมือชี้วัดความสำคัญที่ต่างชาติใช้ประเมินความมั่นคงและเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินของประเทศ

            ถ้าเงินสำรองฯ มีน้อยไปก็อาจเสี่ยงต่อการเกิดวิกฤติค่าเงินเช่นที่เคยเกิดมาแล้ว

            แต่ถ้ามีมากไปก็อาจต้องคำนึงถึงภาระจากขนาดงบดุลธนาคารกลางที่ใหญ่ขึ้นทั้งด้านสินทรัพย์และหนี้สินด้วยเช่นกัน

            ทำไมเงินสำรองฯ ของไทยจึงเพิ่มขึ้นมากมายขนาดนี้?

             คำอธิบายทางการคือ เป็นเพราะกระแสเงินที่ไหลเข้ามาในประเทศไทย แม้ว่าเศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงจากผลกระทบโควิด-19

            แต่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างสวนกระแส จากการไหลเข้าของเงินลงทุนไทยที่เคยลงทุนในต่างประเทศกลับเข้ามา

            รวมถึงเงินทุนต่างชาติ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะกดดันให้ค่าเงินบาท อาจมีทิศทางแข็งค่ามากขึ้นอีกในปีหน้า

            โดยหลักๆ การแข็งค่าของเงินบาท เปรียบเสมือนเป็นการเพิ่มขึ้นของมูลค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับสกุลเงินต่างชาติอื่นๆ

            สาเหตุส่วนใหญ่มีผลมาจากความต้องการเงินบาทที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาท

            โดยสิ่งที่อาจจะแตกต่างกันไปในการแข็งค่าของเงินบาทในแต่ละครั้ง อยู่ที่ปัจจัยหรือสาเหตุที่ส่งผลทำให้ความต้องการเงินบาทมีเพิ่มขึ้น

            ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ และผลการพัฒนาวัคซีนที่เป็นไปในเชิงบวกมีส่วนทำให้เกิดมุมที่เป็นบวกต่อทิศทางเศรษฐกิจ

            ส่งผลให้มีการเคลื่อนย้ายเงินทุนจากสินทรัพย์เสี่ยงต่ำอย่างพันธบัตรสหรัฐฯ มาเลือกหาผลตอบแทนที่สูงในตลาดเอเชีย ที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ดีและสามารถเติบโตได้อย่างแข็งแรง

            ปีหน้าการไหลเข้าของเงินทุนก็มีแนวโน้มที่จะดำเนินต่อไปอีก เพราะความต้องการหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นของนักลงทุนต่างชาติ (Search for yield)

            นั่นแปลว่าจะส่งผลให้มีแนวโน้มการเคลื่อนย้ายการลงทุนมายังประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง

            ทุกอย่างยังผันผวน อะไรที่เคยเป็นเรื่อง "ปกติเดิม"  กำลังกลายเป็นเรื่อง "ปกติใหม่" และตรรกะเมื่อวานอาจใช้วันพรุ่งนี้ไม่ได้!

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"