ตั้ง2คณะทำงาน 27พ.ค.คิกออฟ ฟื้นฟู'ป่าแหว่ง'


เพิ่มเพื่อน    

     ตั้งคณะทำงาน 2 ชุดแก้ปัญหาบ้านพักตุลาการ ดึงตัวแทนท้องถิ่น-ภาคประชาชนร่วมกับภาครัฐ ธนารักษ์ขอเข้ารังวัดแนวเขต 10 พ.ค. คิกออฟปลูกต้นไม้ฟื้นฟูป่าแหว่ง 27 พ.ค. ขณะที่ศาลรอหนังสือตอบกลับจากรัฐบาล 

     ที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม เวลา 13.30 น. นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานการประชุมหารือผู้เกี่ยวข้องและเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ เพื่อเดินหน้าแก้ไขปัญหาบ้านพักตุลาการศาลอุทธรณ์ภาค 5 หลังจากได้ข้อสรุปร่วมกันในการเจรจาร่วมกับนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตัวแทนของรัฐบาลเมื่อวันที่ 6 พ.ค.ที่ผ่านมา ทั้งนี้มีหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง อาทิ ธนารักษ์พื้นที่เชียงใหม่, สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 เชียงใหม่, อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย, ชลประทานเชียงใหม่ รวมทั้งตัวแทนเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ เช่น นายธีระศักดิ์ รูปสุวรรณ, นายชัชวาล ทองดีเลิศ และ น.ส.ลักขณา ศรีหงส์ เข้าร่วมด้วย

    โดยที่ประชุมได้แจ้งผลสรุปของการหารือร่วมกับนายสุวพันธุ์ 3 ด้านเพื่อเป็นกรอบในการทำงาน ก่อนจะให้ทุกฝ่ายได้เสนอทิศทางและการตั้งคณะทำงานเพื่อขับเคลื่อน และมีข้อสรุปร่วมกันคือ ให้มีการตั้งคณะทำงาน 2 ชุดใหญ่ คือคณะที่จะทำงานด้านการฟื้นฟูป่า และคณะที่จะจัดการกับอาคารสิ่งปลูกสร้างเพื่อทำเป็นป่าที่สมบูรณ์ โดยแต่ละคณะมีตัวแทนร่วมกันทั้งภาครัฐ ท้องถิ่น และภาคประชาชน  เบื้องต้นการปลูกป่าฟื้นฟูจะเริ่มทำในวันที่ 27 พ.ค.นี้ ในพื้นที่ที่สามารถดำเนินการได้ไปก่อนแล้วค่อยทำเป็นระยะๆ ไปจนครบ

    ส่วนกรณีการสำรวจแนวเขตเพื่อรังวัดพื้นที่ ธนารักษ์พื้นที่เชียงใหม่ได้ทำหนังสือขออนุญาตไปยังศาลยุติธรรมเพื่อเข้าไปดำเนินการในวันที่ 10 พ.ค. แต่ขึ้นอยู่กับศาลจะพิจารณาอนุญาตให้เข้าไปรังวัดหรือไม่และเป็นวันไหน สำหรับการส่งมอบพื้นที่คืนกรมธนารักษ์ น่าจะสามารถดำเนินการได้ในเดือน ก.ค. หลังจากมีการรับมอบงานจากผู้รับเหมาในเดือน มิ.ย.นี้ สำหรับการส่งมอบพื้นที่ให้กรมอุทยานแห่งชาติฯ เพื่อประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย ต้องหารือในรายละเอียดต่อไป

    ขณะที่เครือข่ายทวงคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพระบุว่า จะเปิดรับความเห็นของประชาชนทั่วประเทศ ในการเสนอแนวทางร่วมกันเพื่อหาทางออก โดยเฉพาะในข้อกฎหมายที่ยังติดขัดอยู่ เพราะถือว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของประชาชน และเป็นบทเรียนที่จะไม่เกิดปัญหาข้อพิพาทในลักษณะดังกล่าวนี้ในประเทศไทยต่อไปอีกในอนาคต พร้อมแสดงความกังวลว่าภาครัฐจะยื้อเวลา และจะไม่นำไปสู่การรื้อบ้านพักตุลาการหรือบ้านป่าแหว่ง โดยได้ย้ำว่าหากผิดจากเจตนารมณ์ ไม่ได้รับความคืบหน้าในเร็ววัน จะมีการยกระดับการเคลื่อนไหว ซึ่งรองผู้ว่าฯ เชียงใหม่ได้อธิบายให้เข้าใจตรงการในการทำงานที่ต้องมีความรอบคอบและอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย

    จากนั้นนายพุฒิพงศ์กล่าวสรุปว่า ที่ประชุมมีการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินการตามแผนระยะสั้น ระยะปานกลาง และระยะยาว รวม 2 คณะ คือ คณะทำงานด้านการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ และคณะทำงานปรับโครงสร้างเพื่อดำเนินการกับสิ่งปลูกสร้างให้กลับเป็นป่าสมบูรณ์ โดยมีการกำหนดรายชื่อตัวแทนจากภาครัฐและเครือข่ายส่งไปให้หัวหน้าผู้ตรวจสำนักนายกรัฐมนตรีดำเนินการพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งคณะทำงานจะทำงานควบคู่กันไปโดยมีคณะอำนวยการที่มีผู้ว่าฯ เชียงใหม่เป็นประธานช่วยดูแลให้งานเดินหน้าไปโดยเร็ว

    ส่วนกิจกรรมเริ่มต้นในการปลูกป่าที่ทำได้ทันทีคือ การเข้าไปปลูกป่าในวันที่ 27 พ.ค.นี้ ตามมติเดิมเพื่อเร่งฟื้นฟูสภาพแวดล้อม ซึ่งจะมีทั้งการปลูกต้นไม้ในพื้นที่บางส่วนของอาคารชุดและทำฝายสร้างความชุ่มชื้นในพื้นที่โดยรอบ สำหรับพื้นที่บริเวณบ้านเดี่ยว 45 หลังยังไม่สามารถเข้าไปดำเนินการได้   เพราะยังไม่มีการส่งมอบพื้นที่การก่อสร้างจากเอกชนให้แก่ศาล ซึ่งมีกำหนดส่งมอบพื้นที่คืนในวันที่ 20  มิ.ย.61 จึงไม่อยากให้ใจร้อนเพราะของราชการไม่สามารถหายไปไหนได้ จึงต้องมีคณะทำงานมาช่วยกันพิจารณาทางที่เหมาะสม และข้อกฎหมายมีทางให้เดินอยู่ ถึงที่สุดอาจจะใช้คำสั่งของสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยก็ได้ หากพิสูจน์ได้ว่ามีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตราย แต่ตอนนี้ยังไปไม่ถึงจุดนั้น

    นายชาติชาย นาคทิพวรรณ ผู้อำนวยการส่วนจัดการต้นน้ำ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16  เชียงใหม่ กล่าวว่า พื้นที่ดังกล่าวเป็นป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณ จากการประเมินแบ่งออกเป็น 3 โซน  คือโซนลำห้วยสองด้าน คือห้วยแม่ชะเยืองและแม่จอกหลวง โซนอาคารชุด 9 หลัง และโซนรอบๆ นอกจากต้นไม้ใหญ่ ต้องมีการปลูกพืชคลุมดิน เพื่อป้องกันการพังทลาย หญ้าแฝก โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีความลาดชัน สำหรับพันธุ์ไม้ที่นำมาปลูกจะเน้นพันธุ์ไม้พื้นถิ่น เช่น คำมอกหลวง คูน อินทนิล ตะขบ มะขามป้อม สัก เต็ง รัง พลวง ซึ่งขณะนี้มีกล้าเตรียมพร้อมไว้หมดแล้ว รวมทั้งไม้อื่นที่เหมาะสมเพื่อความหลากหลายในการกลับคืนสู่ธรรมชาติ โดยทั้ง 3 โซนที่กำหนดก็จะดำเนินการไปตามระยะและขั้นตอน

    ที่ จ.สุรินทร์ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า ทส.มีความพร้อมที่จะเข้าสนับสนุนการฟื้นฟูพื้นที่ดังกล่าวโดยการปลูกป่า ขณะนี้ได้เตรียมกล้าไม้เอาไว้พร้อมแล้ว เพื่อรองรับฤดูฝนที่กำลังจะมาถึงเร็วๆ นี้ สำหรับต้นไม้ที่จะใช้การฟื้นฟูในครั้งนี้จะเป็นไม้ถิ่นที่เข้ากับพื้นที่ได้ เพราะบริเวณตรงนั้นเป็นป่าเต็งรัง ต้นไม้ที่เตรียมไว้จะเป็นไม้เต็ง  ไม้รัง ไม้แดง ไม้ประดู่ มีทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ อาทิ ไม้ใหญ่ 1,600 ต้น กล้าไม้ 4,000 ต้น รวมถึงหญ้าแฝก พืชคลุมดิน และฝายชะลอน้ำขนาดเล็ก 110 ฝาย โดยจะเริ่มปลูกพร้อมกันในวันที่ 27 พ.ค.นี้  อีกทั้งในวันที่ 29 พ.ค.จะตรงกับวันต้นไม้แห่งชาติ จะถือโอกาสในการปลูกป่าพร้อมกันทั่วประเทศด้วย

       พล.อ.สุรศักดิ์เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ หรือ ครม.สัญจร ในวันที่  8 พ.ค.นี้ ทส.จะเสนอขอความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. … ซึ่งหากที่ประชุม ครม.เห็นชอบจะทำให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีส่วนร่วมในการดูแลป่า ทั้งป่าไม้และป่าเศรษฐกิจ เป็นกฎหมายที่ชาวบ้านเฝ้ารอมานานกว่า 10 ปีแล้ว ที่ผ่านมาไม่เคยมีรัฐบาลไหนสามารถอนุมัติได้ แต่รัฐบาลนี้จะผลักดันให้เป็นผลสำเร็จ  

    ทางด้านนายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม (ก.บ.ศ.) ได้มีมติทำหนังสือถึงรัฐบาลเพื่อขอแนวทางแก้ปัญหาว่า หากรัฐบาลจะให้สำนักงานศาลยุติธรรมดำเนินการอย่างไรก็ไม่ขัดข้องที่จะดำเนินการ ดังนั้นเมื่อสำนักงานศาลยุติธรรมได้มีหนังสือถึงรัฐบาลไปแล้ว และผลการประชุมที่มีข้อสรุปเมื่อวันที่ 6 พ.ค.ที่ผ่านมา หากมีข้อตกลงอย่างไรบ้างเข้าใจว่าคงจะมีการนำกราบเรียนให้รัฐบาลทราบ และขั้นตอนหลังจากนั้นเข้าใจว่าคงจะมีหนังสือตอบกลับอย่างเป็นทางการมายังสำนักงานศาลยุติธรรม ซึ่งสำนักงานศาลยุติธรรมจะเสนอให้  ก.บ.ศ.พิจารณาต่อไป แต่ในขณะนี้ยังไม่ทราบรายละเอียด คงต้องรอหนังสือตอบกลับอย่างเป็นทางการก่อน
 

   นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ "ต้องถาม" กรณีข้อสรุปของรัฐบาลเกี่ยวกับบ้านพักตุลาการบริเวณเชิงดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ว่า เห็นด้วยที่จะคืนพื้นที่ก่อสร้าง ส่วนต้นทุนที่ลงไปแล้วต้องแบกรับ เพื่อยืนยันความต้องการของเราและเป็นวิธีการปรามจากพื้นที่อื่นๆ ซึ่งได้ยินมาเหมือนกันว่ามีอีกหลายพื้นที่ที่มีลักษณะคล้ายกันกับกรณีดังกล่าว จะได้หยุดยั้งไป

    เมื่อถามว่า การก่อสร้างครั้งนี้ถูกกฎหมาย หากมีการรื้อถอนถือว่าผิดกฎหมายใช่หรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับความต้องการของรัฐ ซึ่งถือเป็นโครงการใหม่ที่ต้องการฟื้นฟูสภาพของพื้นที่ และยังมองไม่เห็นว่าการที่รัฐตัดสินใจในลักษณะดังกล่าวจะผิดกฎหมาย ถ้าผิดจริงแสดงว่าสิ่งที่รัฐตัดสินใจจะทุบหรือรื้อไม่ได้เลยใช่หรือไม่ ซึ่งไม่น่าใช่ อย่างไรก็ตาม บริเวณดอยสุเทพยังมีร้านอาหาร สวนสัตว์ซาฟารี และอื่นๆ ซึ่งควรเข้าไปดูให้เป็นไปตามที่ต้องการและควรทำให้สอดคล้องเป็นหลักการเดียวกัน.


 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"