"ทักษิณ" โดนตามเชือดอีก ป.ป.ช.หอบสำนวน 120 แฟ้มยื่นฟ้องเองคดีเห็นชอบให้ฟื้นฟูกิจการ "ทีพีไอ" หลังยืดเยื้อเกือบ 8 ปี ชี้ทั้งที่รู้ว่ากระทรวงคลังไม่มีอำนาจตามกฎหมายเข้าไปจัดการทรัพย์สินบริษัทเอกชน สร้างความเสียหายระบบราชการ ผิด ม.157 ด้าน "แม้ว-ปู" ออกจากสิงคโปร์ เข้าดูไบก่อนไปยุโรป
เมื่อวันจันทร์ นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และโฆษก ป.ป.ช.เปิดเผยว่า วันนี้พนักงานคดี สำนักคดี สำนักงาน ป.ป.ช.ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการ ป.ป.ช.ให้ยื่นฟ้องนายทักษิณ ชินวัตร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีนี้สืบเนื่องจากคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดนายทักษิณ ชินวัตร เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2553 กรณีนายทักษิณเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มีอำนาจหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 ประกอบพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2545 จึงมีอำนาจกำกับและควบคุมกำกับหน่วยงานของรัฐในฝ่ายบริหารทั้งหมด
"โดยเมื่อปี พ.ศ.2546 นายทักษิณ ชินวัตร ในฐานะนายกรัฐมนตรี ได้เห็นชอบและยินยอมให้กระทรวงการคลังเข้าเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (TPI) ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเข้าปรึกษา จนนำไปสู่การทำหนังสือยินยอมของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้กระทรวงการคลังเข้าเป็นผู้บริหารแผนของบริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (TPI) โดยมีรายชื่อคณะผู้บริหารแผนตามที่นายทักษิณเสนอ และกระทรวงการคลังได้เข้าไปเป็นผู้บริหารแผน การกระทำของนายทักษิณเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จึงเป็นการกระทำทั้งที่รู้อยู่ว่ากระทรวงการคลังซึ่งเป็นส่วนราชการ ไม่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่จะเข้าไปเป็นผู้บริหารแผนกิจการหรือจัดการทรัพย์สินให้บริษัทเอกชน เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่กระทรวงการคลัง และเสียหายต่อระบบราชการ จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และได้ส่งอัยการสูงสุดดำเนินคดี"
เลขาธิการ ป.ป.ช.กล่าวว่า ต่อมาได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานผู้แทนฝ่ายอัยการสูงสุดและฝ่ายคณะกรรมการ ป.ป.ช.ขึ้นมาเพื่อรวบรวมพยานหลักฐานร่วมกัน แต่คณะทำงานดังกล่าวไม่อาจหาข้อยุติเกี่ยวกับการฟ้องร้องคดีได้ ดังนั้นในวันนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงได้มอบหมายให้พนักงานคดี สำนักงาน ป.ป.ช.ดำเนินการยื่นฟ้องเองต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นคดีหมายเลขดำที่ อม. 40/2561 โดยคดีนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้ยื่นฟ้องพร้อมคำร้องขอให้ศาลประทับรับฟ้องไว้พิจารณา กรณีไม่ปรากฏตัวจำเลยต่อหน้าศาล โดยอาศัยเหตุตามเงื่อนไขการยื่นฟ้องโดยไม่ปรากฏตัวจำเลยต่อหน้าศาล ตามนัยมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2560 เนื่องจากจำเลยไม่มารายงานตัวและศาลได้เคยออกหมายจับในคดีอื่นไว้แล้ว
นายวรวิทย์กล่าวอีกว่า สำหรับในคดีที่เคยฟ้องไว้แล้ว และคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้มีมติให้ดำเนินการยื่นคำร้องขอยกคดีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้มีคำสั่งจำหน่ายคดีขึ้นพิจารณาใหม่อีก 2 คดี คือ คดีทุจริตการอนุมัติให้กู้เงินแก่รัฐบาลสหภาพพม่า 4,000 ล้านบาท (Exim Bank) และคดีทุจริตโครงการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัว และ 2 ตัว ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล (คดีหวยบนดิน) นั้น มีความคืบหน้า ดังนี้ 1.คดีหมายเลขดำที่ อม. 3/2551 คดีหมายเลขแดงที่ อม. 4/2551 คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ผู้เข้าเป็นคู่ความแทนโจทก์ นายทักษิณ ชินวัตร จำเลย กรณีทุจริตการอนุมัติให้กู้เงินแก่รัฐบาลสหภาพพม่า 4,000 ล้านบาท (Exim Bank) ศาลนัดพิจารณาคดีครั้งแรกวันที่ 4 กรกฎาคม 2561
2.คดีหมายเลขดำที่ อม. 1/2551 คดีหมายเลขแดงที่ อม. 10/2552 คตส. โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ผู้เข้าเป็นคู่ความแทนโจทก์ นายทักษิณ ชินวัตร กับพวกรวม 47 คน จำเลย กรณีทุจริตโครงการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัว และ 2 ตัว ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล (คดีหวยบนดิน) ศาลนัดพิจารณาคดีครั้งแรกวันที่ 25 กรกฎาคม 2561
ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถ.แจ้งวัฒนะ นายพัฒนพงศ์ จันทร์เพ็ชรพูล ผู้อำนวยการสำนักคดี สำนักงาน ป.ป.ช. พร้อมเจ้าหน้าที่ได้หอบสำนวน 21 กล่อง 120 แฟ้ม คดีที่ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีเห็นชอบให้กระทรวงการคลังเข้าเป็นผู้บริหารแผนคนใหม่ของบริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) หรือทีพีไอ ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำที่นอกเหนืออำนาจกระทรวงการคลัง ซึ่งไม่มีอำนาจเข้าไปบริหารบริษัทเอกชน อันเป็นความผิดตามมาตรา 10 แห่ง พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2546 เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ระบบราชการ จึงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ มายื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแล้ว โดยได้รับไว้เป็นคดีหมายเลขดำที่ 40/2561
สำหรับคดีนี้ ป.ป.ช.มีมติชี้มูลตั้งแต่วันที่ 16 ก.ค.53 โดยมี ร.อ.สุชาติ เชาว์ศิษฐ อดีต รมว.การคลัง ร่วมกระทำผิดด้วย แต่เจ้าตัวถึงแก่กรรมจึงจำหน่ายคดีไป จากนั้นมีการส่งให้อัยการสูงสุดเพื่อส่งฟ้อง แต่อัยการไม่เห็นด้วย ทำให้ต้องมีการตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างอัยการและ ป.ป.ช. แต่ก็ไม่สามารถหาข้อยุติที่ตรงกันได้ ป.ป.ช.จึงตัดสินใจยื่นฟ้องเอง รวมระยะเวลาดำเนินการก่อนส่งศาลฎีกาฯ ยาวนานเกือบ 8 ปี ซึ่งถือเป็นคดีสุดท้ายของนายทักษิณที่ค้างอยู่ในขั้นตอนของ ป.ป.ช. และยังมีอีก 4 คดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ประกอบด้วยคดีหวยบนดิน, คดีเอ็กซิมแบงก์ปล่อยกู้พม่า 4 พันล้านบาท, คดีทุจริตธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้ให้บริษัทในเครือกฤษดามหานครกว่า 9 พันล้านบาท และคดีแปลงสัญญาสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิต ซึ่งเพิ่งมีการรื้อคดีมาพิจารณาลับหลังจำเลยที่หลบหนีคดีไป ตามที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองฉบับใหม่เปิดช่องให้ทำได้
วันเดียวกัน มีรายงานข่าวจากพรรคเพื่อไทยเปิดเผยว่า ช่วงที่นายทักษิณและ น.ส.ยิ่งลักษณ์อยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ระหว่างสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีสมาชิกและแกนนำพรรคเพื่อไทยไปเข้าพบจำนวนมาก โดยวันที่ 7 พ.ค.ทั้งคู่ใช้เวลาอยู่กับครอบครัว และจะเดินทางออกจากสิงคโปร์มุ่งสู่นครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในวันที่ 8 พ.ค. จากนั้นใช้เวลาอยู่ดูไบไม่นานนักแล้วเดินทางไปยังทวีปยุโรปต่อไป.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |