4ปีคสช.วิทยานิพนธ์ไม่จบ


เพิ่มเพื่อน    

     "รังสิมันต์-พท." ประสานเสียงไม่เชื่อ ก.พ.62 มีเลือกตั้ง ชี้จะเปิดหีบลงคะแนนต่อเมื่อ "รัฐบาล" มั่นใจดูด ส.ส.ได้เสียงข้างมากหนุน "บิ๊กตู่" นั่งนายกฯ ครบ "อภิสิทธิ์" เปรียบ 4 ปี คสช.เหมือนเด็กทำวิทยานิพนธ์ไม่สำเร็จ ซัดขอต่อเวลาไปเรื่อย "กกต." เตรียมถกเลือกเลขาฯ 8 พ.ค.นี้ "บ.ก.ลายจุด" หน้าม้านผิดขั้นตอนขอศาล ปค.คุ้มครองใช้ชื่อพรรคเกรียน

    ที่ศาล มทบ.23 จ.ขอนแก่น วันที่ 7 พ.ค. ศาลทหารมีคำสั่งให้นายรังสิมันต์ โรม แกนนำกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย ผู้ต้องหาในคดีร่วมกันฝ่าฝืนคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ารับการถามคำให้การนัดแรกต่อองค์คณะตุลาการศาลทหาร 

    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายรังสิมันต์เดินทางมาพร้อมนายพัฒนะ ศรีใหญ่ ทนายความ เข้ารายงานตัวตามลำดับขั้นตอนการพิจารณาของศาลทหาร บริเวณชั้น 1 ของศาล มทบ.23 ทันที โดยมีกำลัง สารวัตรทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครองคอยดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยอยู่โดยรอบศาล พร้อมทั้งมีคำสั่งห้ามถ่ายภาพไม่ว่าจะกรณีใดๆ ในเขตอำนาจศาล มทบ.23 โดยเด็ดขาด

      โดยอัยการทหาร ศาล มทบ.23 ได้เบิกตัวนายรังสิมันต์ ซึ่งเป็น 1 ใน 9 ผู้ต้องหาในคดีดังกล่าว  จากเหตุการณ์การจัดกิจกรรมพูดเพื่อสิทธิและเสรีภาพเมื่อวันที่ 31 ก.ค.59 ในช่วงก่อนการลงประชามติรัฐธรรมนูญขึ้นถามคำให้การ โดยใช้เวลาในการเบิกความประมาณ 30 นาที ศาลจึงมีคำสั่งนัดพร้อมนัดแรกร่วมกับผู้ต้องหาในคดีดังกล่าวอีก 9 คน ในวันที่ 5 ก.ย.61 เวลา 13.30 น.

      นายรังสิมันต์กล่าวว่า ตุลาการศาลทหารได้นัดพร้อมอีกครั้งในวันที่ 5 ก.ย.ที่จะถึงนี้ โดยเป็นการนัดเพื่อพิจารณาว่าจะรับคดีความดังกล่าวรวมเป็นคดีเดียวกันกับผู้ต้องหาทั้ง 9 คนหรือไม่ โดยในวันที่  5 ก.ย.นั้นผู้ต้องหาที่อยู่ในคดีดังกล่าวนี้ โดยเฉพาะกับนายจตุรภัทร์ บุญรักษา หรือไผ่ ดาวดิน จะต้องเดินทางมาที่ศาลเพื่อเบิกตัวในคดีร่วมกันฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.ด้วยเช่นกัน

      "ผมมอบหมายให้ทนายความลงบันทึกคำให้การเพื่อที่จะแถลงต่อศาลในวันที่ 5 ก.ย.ว่าศาล มทบ.23 ไม่มีอำนาจในการพิจารณาคดีดังกล่าว เพราะผมนั้นเป็นพลเรือนไม่ใช่ทหาร จะมากระทำในลักษณะเช่นนี้กับประชาชนไม่ได้ ซึ่งบันทึกคำให้การนี้จะแถลงต่อศาลในวันที่ 5 ก.ย. ซึ่งเป็นวันนัดพร้อมนัดแรกของผู้ต้องหาทั้ง 9 คน ที่ปรากฏตามรายชื่อในคดีความดังกล่าว" นายรังสิมันต์กล่าว

    ถามว่ามองการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นหรือไม่ นายรังสิมันต์กล่าวว่าคงตอบได้อยาก เพราะวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะ คสช.ยังคงเดินสายเพื่อแสดงออกถึงการกระทำทางการเมือง ซึ่งเดิมมีกำหนดวันเลือกตั้งในเดือน พ.ย.ปีนี้ ก็เลื่อนไปเป็นปี 2562 และเมื่อดูพฤติกรรมและการกระทำแล้วนั้น การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นนั้นยากจนกว่า คสช.จะมั่นใจว่าตนเองจะได้ ส.ส.เสียงข้างมากเพื่อที่จะจัดตั้งรัฐบาลต่อไป

      "วันนี้ชื่อของ พล.อ.ประยุทธ์ปรากฏเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปชัดเจน ดังนั้นจะทำอย่างไรเพื่อให้ได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปได้ นั่นคือการที่มีเสียงข้างมากจัดตั้งรัฐบาล ซึ่ง คสช.มี ส.ว.ในมือแล้ว 250 คน ขาด ส.ส.อีกเพียง 125 คนก็จะจัดตั้งรัฐบาลได้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะเดินสายดูด ส.ส. เน้นไปที่กลุ่มขั้วอำนาจการเมืองเก่า ตระกูลดัง และพรรคการเมืองขนาดกลางและขนาดเล็ก เพื่อให้ได้มาซึ่ง ส.ส.ไม่น้อยกว่า 125 คน และผมไม่เชื่อว่าพรรคทหารจะมีเพียงพรรคเดียว" นายรังสิมันต์กล่าว
เลิกหวัง ก.พ.62 มีเลือกตั้ง

    แกนนำกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตยกล่าวว่า เมื่อการกระทำในลักษณะเช่นนี้ก็ไม่แตกต่างการเมืองในรูปแบบเดิม คือการให้ได้มาซึ่งเสียงข้างมาก และที่สำคัญการกระทำของรัฐบาลในปัจจุบันคือการดูด ส.ส. เป็นยุทธศาสตร์ที่เชื่อว่าจะทำให้ชนะการเลือกตั้ง ซึ่งการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นเมื่อ คสช.มีความพร้อม เมื่อลงเลือกตั้งแล้ว จะได้ที่นั่งตามเป้าหมายเพื่อให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป" แกนนำกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตยระบุ

    เช่นเดียวกับนายประกิจ พลเดช อดีต ส.ส.บุรีรัมย์ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ไม่มั่นใจในเดือนก.พ.62 จะมีการเลือกตั้ง เพราะนายกฯ พูดเลื่อนมา 5-6 ครั้งแล้ว คงคิดว่าถ้าเลื่อนนานเท่าไหร่จะละลายพฤติกรรมประชาชนได้ 

    "คงเข้าใจผิด ยุคนี้สื่อสารไปเร็ว ประชาชนก็เข้าใจมากขึ้นอะไรถูกอะไรผิด หวังจะให้ข้าราชการแก้ปัญหา จะไม่พบความสำเร็จ ข้าราชการยังทำงานเช้าชามเย็นชามเหมือนเดิม ไม่ได้คิดถึงประชาชน" นายประกิจกล่าว

    ถามว่าเจอกระแสพลังดูดเหมือนกับเพื่อน ส.ส.คนอื่นหรือไม่ อดีต ส.ส.บุรีรัมย์ พรรคเพื่อไทย หัวเราะก่อนตอบว่าก็มีเป็นเรื่องปกติ แต่จะยังอยู่กับพรรคที่มีแนวทางประชาธิปไตย ยังอยู่กับพรรคเพื่อไทยเหมือนเดิมต่อไป ไม่ได้ตกใจอะไร เรื่องต่างๆ ประชาชนรู้ทันเข้าใจมากขึ้นเรียนรู้ตลอด เมื่อไหร่จะยอมให้ทุกคนเสมอภาค แสดงความคิดเห็นได้ จากที่ได้สัมผัสประชาชนเขาก็อยากให้มีการเลือกตั้งตามกำหนดการเดิม       

    ส่วน พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) อดีตแม่ทัพภาคที่ 2 และแกนนำพรรคชาติพัฒนา เพื่อนร่วมรุ่นเตรียมทหารรุ่นที่ 12 ของนายกรัฐมนตรี ซึ่งมารอต้อนรับ พล.อ.ประยุทธ์ระหว่างลงพื้นที่จุดผ่านแดนถาวรช่องจอม อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์ 

    พล.อ.ธวัชชัยกล่าวถึงกระแสการดูดอดีต ส.ส.ของรัฐบาล คสช.ว่ายังไม่ขอพูดถึงการเมือง รอให้ประชาชนเป็นคนตัดสินใจ

    ซักว่ายังไม่โดนดูดใช่หรือไม่ แกนนำพรรคชาติพัฒนากล่าวว่าใช่ๆ ตอนนี้ยังไม่มีเรื่องการดูด

    วันเดียวกัน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวตอนหนึ่งผ่านรายการต้องถามถึงการเลือกตั้งว่า เราคงได้เลือกตั้งประมาณปีหน้า แต่จะเจาะจงว่าเดือน ก.พ.62 คงไม่มีใครกล้าพูดอย่างชัดเจน น่าจะบวกลบนิดหน่อย เพราะยังมีความไม่แน่นอนเรื่องกรอบเวลาเกี่ยวกับกฎหมายลูก และมีขั้นตอนที่เปิดให้เวลาขยับได้ 

    "ถ้าขยับแล้วทำให้การเลือกตั้งเรียบร้อยก็มีโอกาสที่จะคุ้ม แต่ขณะนี้ยังมองไม่เห็นว่าเกิดปัญหาอะไรที่ต้องมีการเลื่อนเลือกตั้ง และหากหัวหน้า คสช.เห็นว่าควรจะเลือกตั้งก็สามารถใช้อำนาจเพื่อจัดการให้เลือกตั้งตามกำหนดได้ ก็จะดีกับทุกฝ่ายในแง่ความมั่นใจ ซึ่งผมไม่เคยเรียกร้องว่าต้องเลือกตั้งวันนี้พรุ่งนี้ แต่การรักษาคำพูดการรักษาความน่าเชื่อถือของประเทศเป็นเรื่องสำคัญ" นายอภิสิทธิ์กล่าว
4 ปี คสช.ไม่มีอะไรดีขึ้น

    หัวหน้า ปชป.กล่าวถึงการยึดอำนาจบ้านเมืองใกล้ครบ 4 ปีคุ้มค่าหรือไม่ว่า ใช้คำว่าคุ้มไม่ค่อยเหมาะเท่าไหร่ เพราะคำว่าคุ้มต้องใช้ในลักษณะการลงทุนเพื่อหวังผลตอบแทนกลับมา อย่างไรก็ตาม เมื่อเกือบ 4 ปีที่แล้ว ผู้ก่อรัฐประหารอ้างความวุ่นวาย สุ่มเสี่ยงต่อการเผชิญหน้า แต่วันนี้โจทย์เปลี่ยน คือรัฐประหารยาว จึงประเมินยาก

      "คนหวังว่าอะไรๆ จะดีขึ้น แต่เอาเข้าจริงเรื่องการปฏิรูปทั้งหลาย 4 ปีที่ผ่านมาขยับน้อยมาก และไม่ใช่สิ่งที่คนคาดหวังอยู่ ตอนนี้นายกฯ มาพูดเรื่องจะเร่งปฏิรูป 5 ด้าน ในบรรยากาศตอนนี้บอกได้เลยว่า คนที่รอคอยการปฏิรูปไม่ได้คาดหวังอะไรแล้ว เหมือนเด็กทำวิทยานิพนธ์ ทำแล้วส่งงานไม่ทันก็มาขอยืดเวลา ซึ่งอาจารย์ก็แบ่งประเภทเด็ก เด็กบางคนทำเรื่องยากเกินไปจึงต้องให้เวลาถึงจะทำสำเร็จ  แต่เด็กอีกประเภทประเมินแล้วว่าต่อเวลาไปก็ทำไม่สำเร็จ ซึ่งตนคิดว่าอารมณ์ของคนทั่วไปในขณะนี้จะใกล้เคียงกับเด็กคนหลังมากกว่าคนแรก" หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าว

    ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีการประชุม กกต.แต่ยังไม่มีการพิจารณาคัดเลือกผู้เหมาะสมเป็นเลขาธิการ กกต. เนื่องจากคณะอนุกรรมการพิจารณาผู้สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นเลขาธิการ กกต. ที่มีนายอนุวัฒน์ เมธีวิบูลย์วุฒิ เป็นประธาน ได้เสนอรายงานผลการพิจารณามาถึงในช่วงท้ายของการประชุม ดังนั้นคาดว่าที่ประชุม กกต.จะมีการพิจารณาเรื่องดังกล่าวในการประชุมวันที่ 8 พ.ค.นี้

    อย่างไรก็ดี ช่วงเช้าที่ผ่านมาผู้สมัครเลขาธิการ กกต.ทั้ง 5 คน ประกอบด้วย พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา  รองเลขาธิการ กกต.และรักษาการเลขาธิการ กกต.ในปัจจุบัน, นายแสวง บุญมี รองเลขาธิการ กกต.,  นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม อดีตเลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง, นายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม, นายฉัตร์ชัย ยอดอุดม รองเลขาธิการ ป.ป.ท. ได้เข้าแสดงวิสัยทัสน์ต่อคณะอนุกรรมการฯ ทั้งในเรื่องแนวทางการบริหารงานและแนวทางการจัดการเลือกตั้ง

    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังการแสดงวิสัยทัศน์เสร็จสิ้น คณะอนุกรรมการได้ประชุมพิจารณาเอกสารผลงานที่ผู้สมัครได้จัดส่งก่อนหน้านั้นและการแสดงวิสัยทัศน์ ก่อนให้คะแนนผู้สมัครแต่ละคนเพื่อเป็นแนวทางให้ กกต.ในการพิจารณาคัดเลือก โดยการประชุมคณะอนุกรรมการฯ เสร็จสิ้นในช่วงบ่ายและ เสนอรายงานผลการพิจารณาต่อเลขานุการคณะอนุกรรมการฯ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายประจำของสำนักงานที่จะต้องนำรายงานดังกล่าวเสนอต่อที่ประชุม กกต.เพื่อพิจารณา 

    ส่วนที่ศาลปกครอง นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บ.ก.ลายจุด ผู้ยื่นจดแจ้งชื่อพรรคเกรียนต่อ กกต. ได้มายื่นคำร้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้ศาลคุ้มครองสิทธิ์ใช้ชื่อพรรคเกรียน หลัง กกต.ไม่เห็นชอบให้จดแจ้งชื่อพรรคดังกล่าว ด้วยอ้างว่าชื่อพรรคจะก่อให้เกิดความสับสน ขัดต่อความสงบเรียบร้อย และอาจผิดศีลธรรม

    "ด้วยประเด็นทางกฎหมาย ศาลปกครองแจ้งว่ากระบวนการดังกล่าวต้องผ่านการวินิจฉัยของ กกต.  และมีการอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้จดแจ้งชื่อพรรคดังกล่าวก่อน ดังนั้นคณะผู้ตั้งพรรคจะเดินทางไปยื่นอุทธรณ์คำสั่งต่อสำนักงาน กกต.ในวันที่ 8 พ.ค. เวลา 10.00 น." บ.ก.ลายจุดกล่าว.              


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"