‘แผลเป็นทางเศรษฐกิจ’


เพิ่มเพื่อน    

 

      เมื่อวานนี้ ผมได้นำเสนอแนววิเคราะห์เศรษฐกิจไทยของ EIC แห่งธนาคารไทยพาณิชย์ที่น่าจะนำไปประกอบการประเมินสถานการณ์สำหรับคนไทยทุกคน

                แม้ว่าสำนักนี้จะคาดว่าปีหน้าเศรษฐกิจไทยจะโต 3.8% แต่ก็มาจากฐานที่ต่ำของปีนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติอาจจะมีกลับมาประมาณ 8 ล้านคน หากคนไทยได้รับวัคซีนในกลางปีหน้าเป็นต้นไป

                แต่เรื่อง “เปราะบาง” ก็ยังมีอยู่อย่างกว้างขวาง

                จะมี “แผลเป็น” ทางเศรษฐกิจที่จะติดตัวอยู่กับเราไปอีกระยะหนึ่งทีเดียว

                และ “แผลเป็นเศรษฐกิจ” เหล่านี้จะเป็นแรงกดดันต่อเราไปอีกระยะหนึ่งทีเดียว

                “แผลเป็น” ที่ว่านี้คือ

                1.ความเปราะบางของตลาดแรงงาน ได้แก่ การว่างงานที่ยังคงอยู่ในระดับสูง การทำงานต่ำระดับที่เพิ่มขึ้นมาก และการที่แรงงานจำนวนมากต้องเปลี่ยนไปทำงานที่มีรายได้น้อยลง

                2.การเปิด-ปิดกิจการที่ยังซบเซาต่อเนื่อง

                3.ปัญหาหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้นมาก

                “แผลเป็นทั้ง 3 ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่เป็นข้อจำกัดต่อการฟื้นตัวของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนในระยะข้างหน้า ทำให้แม้เศรษฐกิจจะขยายตัวได้ในปีหน้า แต่ยังต้องพึ่งพาการใช้จ่ายของภาครัฐค่อนข้างมาก และระดับ GDP ทั้งปีในปีหน้าก็จะยังต่ำกว่าระดับในปี 2562” EIC ระบุ

                 ด้านนโยบายการเงิน คาดว่า ธปท.จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ตลอดปี 2564

                และคงใช้มาตรการเฉพาะจุดร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการส่งผ่านนโยบายการเงินและสนับสนุนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้และการจัดการกับหนี้เสีย

                ภาวะการเงินโดยรวมของไทยยังคงอยู่ในระดับผ่อนคลายจากการที่ ธปท.คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ และใช้มาตรการต่างๆ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องและลดค่าใช้จ่ายด้านการชำระหนี้ให้แก่ครัวเรือนและธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ

                EIC คาดว่า ธปท.จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.5% ตลอดปี 2564 ควบคู่กับการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลเมื่อจำเป็น เพื่อดูแลดอกเบี้ยในตลาดการเงินให้อยู่ในระดับต่ำ

                เท่ากับเป็นการช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายใต้แนวโน้มเงินเฟ้อที่จะยังอยู่ในระดับต่ำ

                คาดเงินเฟ้อทั่วไปปี 2564 อยู่ที่ 0.9%

                มีแนวโน้มว่าจะมีการปรับเงื่อนไขของมาตรการ Soft loan และการใช้เครื่องมือการค้ำประกันความเสี่ยงของ บสย.เข้ามาช่วยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการส่งผ่านสภาพคล่องไปยังธุรกิจ SME ให้มากขึ้น

                เรื่องค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นดูจะเป็นประเด็นที่ทุกสำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจจะเป็นกังวลเหมือนๆ กัน

                EIC คาดว่าค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น โดย ณ สิ้นปี 2564 ค่าเงินบาทจะอยู่ในช่วง 29.5-30.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

                เป็นผลจากเงินดอลลาร์สหรัฐที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลงตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

                ความขัดแย้งทางการค้าที่แม้จะดำเนินต่อไป แต่น่าจะลดความผันผวนลง และการขาดดุลทางการคลังที่มากขึ้นของสหรัฐ ส่งผลให้เงินทุนเคลื่อนย้ายมีแนวโน้มไหลเข้าตลาด EM รวมถึงตลาดการเงินไทยมากขึ้นในระยะต่อไป

                ปัจจัยภายในประเทศที่อาจทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่ามากกว่าคู่ค้าคู่แข่งโดยเฉลี่ย คือ การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่องในปี 2564 (คาด 3.0% ของ GDP)         

                นอกจากนี้ เสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยที่ยังแข็งแกร่งจนทำให้เงินบาทถูกมองเป็นสกุลเงินในภูมิภาคที่ปลอดภัย

                รวมถึงพฤติกรรมที่เรียกว่า home bias ของนักลงทุนไทยที่ลงทุนในต่างประเทศค่อนข้างน้อย

                มาตรการของ ธปท.ในการเปิดเสรีเงินทุนเคลื่อนย้ายขาออกอาจไม่ส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนลงในระยะสั้นนัก

                เหตุเพราะการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศต้องอาศัยการปฏิรูปเพื่อลดข้อจำกัดในส่วนอื่นๆ ด้วย เช่น ภาษี กฎเกณฑ์ของหน่วยงานอื่นๆ การให้ความรู้แก่นักลงทุนรายย่อย และการยกระดับความสามารถของสถาบันตัวกลาง

                EIC ระบุด้วยว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2564 ยังมีความเสี่ยงที่จะขยายตัวในด้านต่ำ โดยมีปัจจัยเสี่ยงสำคัญ 5 ประเด็น ประกอบด้วย

                1.การระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 และความล่าช้าในการกระจายวัคซีนในไทยอย่างแพร่หลาย

                2.แผลเป็นทางเศรษฐกิจที่อาจส่งผลต่อเสถียรภาพสถาบันการเงินผ่านระดับหนี้เสียที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อความสามารถในการเข้าถึงเงินทุนของภาคเอกชน

                3.ปัญหาเสถียรภาพการเมืองในประเทศ ซึ่งอาจกระทบต่อความเชื่อมั่นในการลงทุน

                4.ภัยแล้ง จากระดับน้ำในเขื่อนที่ยังอยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต และ

                5.เงินบาทที่แข็งค่าเร็วกว่าคู่ค้าคู่แข่ง ซึ่งอาจกระทบต่อการฟื้นตัวของอุปสงค์ต่างประเทศ

                เหล่านี้คือความเสี่ยงของไทยที่แก้ไขได้ด้วยความสามารถในการบริหารของรัฐบาลที่กำลังต้องฟันฝ่าความท้าทายมากมายหลายด้านที่ยังมีความผันผวนปรวนแปรในระดับที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน!.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"