17 ธ.ค.63 - นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.กทม. โฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวถึงสถานการณ์การใช้มาตรา 112 ต่อผู้เข้าร่วมชุมนุมในขณะนี้ว่า รู้สึกกังวลใจ เพราะเห็นชัดว่าเป็นการใช้กฎหมายในลักษณะเหวี่ยงแห ตีความกว้างขวางเกินตัวบทกฎหมาย ซึ่งเดิมทีการบังคับใช้กฎหมายมาตรานี้ก็มีปัญหาอยู่แล้ว เช่น ตีความครอบคลุมไปถึงการหมิ่นประมาทสมเด็จพระนเรศวรมหาราช, การหมิ่นสุนัขทรงเลี้ยง, การชี้นิ้วขึ้นฟ้า, การแชร์บทความของสื่อมวลชนซึ่งสื่อต้นทางไม่ถูกดำเนินคดีใดๆ แต่ผู้แชร์เพียงคนเดียวที่ถูกดำเนินคดี หรือคดีที่ยังมีความคลุมเครือที่รู้จักกันดีอย่างคดีอากง คดีเหล่านี้มีทั้งที่ถูกตัดสินว่าผิด สารภาพผิด ไม่สั่งฟ้อง หรือยกฟ้อง แต่ที่ปฏิเสธไม่ได้คือหลายคดีถูกจำกุมคุมขังให้เสียอิสรภาพไปก่อนที่จะได้ต่อสู้คดีเสียด้วยซ้ำ
นายณัฐชา กล่าวต่อไปว่า การดำเนินคดีตามมาตรา 112 เป็นที่วิจารณ์มากในแง่ละเมิดสิทธิมนุษยชนและถูกจับตาจากนานาชาติ จนทำให้ไม่มีการใช้กฎหมายนี้มาระยะหนึ่ง กระทั่งมีการชุมนุมทางการเมืองของนักศึกษาและประชาชนอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้กฎหมายมาตรานี้ถูกนำมาใช้อีกครั้ง ที่น่าสังเกตคือ การดำเนินคดีในระลอกนี้ใช้การออกหมายเรียกมาก่อน ไม่ได้จับกุมคุมตัวทันทีเหมือนที่ผ่านมา อย่างไก็ตาม กฎหมายนี้ยังคงมีอัตราโทษสูงและเปิดโอกาสให้ตีความได้กว้างขวาง ทำให้ผู้ชุมนุมจำนวนมากถูกออกหมายเรียกและมีเยาวชนอยู่ในหมายเหล่านั้นด้วย ขณะที่ยังมีข้อเท็จจริงว่า หลายคนที่ถูกออกหมายเรียกดังกล่าวนั้นไม่ได้แม้แต่มีการแสดงความเห็น แสดงสัญลักษณ์ หรือขึ้นไปปราศรัยที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์เลย ซึ่งในหมายเรียกให้เหตุผลว่า ‘ร่วมกัน’ หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ฯ การแจ้งข้อกล่าวหาแบบนี้จึงไม่ปกติอย่างยิ่ง เพราะเป็นการขยายอำนาจเกินตัวบทของกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่จำเป็นต้องเป็นผู้กระทำเองเท่านั้น
กฎหมายที่มีอัตราโทษที่ร้ายแรงแบบนี้ ที่สำคัญคือดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่ควรจะต้องตีความตัวบทกฎหมายอย่างเคร่งครัด ไม่ใช่ดูว่าชื่อไหนวิจารณ์รัฐบาลมากหรือแสดงออกมาก ก็รับแจ้งคดีร้ายแรงไว้ก่อน การดำเนินคดีของเจ้าหน้าที่อย่างน้อยที่สุดคือไม่ควรตีความไปเกินตัวบทของกฎหมาย ต้องคำนึงถึงพยานหลักฐานที่ชัดเจน และไม่ควรเป็นกฎหมายที่ใครก็ฟ้องได้ เวลานี้สิ่งที่เกิดขึ้นคือภาพของนักกิจกรรมที่ต้องเดินเข้าออกโรงพักกันเป็นว่าเล่น นั่นจึงไม่แปลกใจเลยว่า ทำไมจึงมีข้อเสนอแก้ไขกฎหมายนี้ในเรื่องการกำหนดให้มีหน่วยงานแทนพระองค์เป็นผู้ฟ้องร้องที่ชัดเจน
“การกระทำหว่านแหและกว้างขวางระยะนี้ ยังต้องตั้งคำถามไปถึงรัฐบาลด้วยว่า กำลังใช้กฎหมายมาตรา 112 เพื่อกลั่นแกล้งผู้ชุมนุมและใช้เป็นเกราะกำบังตัวเอง เพื่อเบี่ยงประเด็นความล้มเหลวด้านต่างๆ ของรัฐบาล และกระแสเรียกร้องให้ประยุทธ์ออกไปหรือไม่ นอกจากนี้ ขอฝากย้ำไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจอีกครั้งว่า การใช้ดุลพินิจเพื่อดำเนินคดีควรจะต้องเป็นไปตามตัวบทกฎหมาย อย่าทำให้ประชาชนมีข้อกังขาต่อกระบวนการยุติธรรม ขอให้คำนึงว่า ท่านคือผู้ดำรงไว้ซึ่งเกียรติและศักดิ์ศรีของผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ มิใช่เป็นผู้พิทักษ์ทรราชอย่างนี้” นายณัฐชา กล่าว
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |