ทุจริตเที่ยวด้วยกัน


เพิ่มเพื่อน    

     เกิดประเด็นเขย่ารัฐบาลอีกครั้ง หลังพบว่าโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” เจอปัญหาทุจริตหลากหลายรูปแบบ จนทำให้นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) แถลงข่าวด่วนขอเลื่อนการลงทะเบียน “เราเที่ยวด้วยกัน” เฟส 2 ออกไป

                โดยทาง ททท.ได้พบว่า มีผู้ประกอบการที่เข้าข่ายส่อทุจริตรวมจำนวนกว่า 500 แห่ง ประกอบด้วย โรงแรม 312 แห่ง จากจำนวนโรงแรมเข้าร่วมโครงการทั้งหมดกว่า 8,000 แห่ง และร้านค้า 200 ร้านค้า จากร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการกว่า 60,000 ร้านค้า

                ทั้งนี้ ผู้ว่าฯ ททท.ออกมาแฉข้อมูลกลโกงสารพัดรูปแบบที่จับได้ในเวลานี้ 1.จองห้องพักเข้าพักในโรงแรมราคาถูก แต่ไม่ได้เข้าพักจริง เพื่อขอรับคูปองอาหารมูลค่า 900 บาท สำหรับวันธรรมดา และมูลค่า 600 บาท ในวันสุดสัปดาห์ 2.โรงแรมปรับขึ้นราคาห้องพักและรู้เห็นเป็นใจกับผู้เข้าพัก รวมทั้งมีการซื้อขายสิทธิ์โดยไม่มีการเดินทางจริง (ส่วนใหญ่เป็นกรณีจองตรงกับทางโรงแรม) 3.โรงแรมยังไม่ได้กลับมาเปิดให้บริการ แต่มีการขายห้องพัก 4.ใช้ส่วนต่างของคูปองเต็มมูลค่าเงินเพื่อรับส่วนต่างเต็มจำนวน 5.เข้าพักจริงเป็นกรุ๊ปเหมา ตั้งราคาสูงเพื่อรับเงินทอน (ส่วนใหญ่จองตรงกับทางโรงแรม) 6.อัตราการจองห้องพักเกินจำนวนห้องพักที่มีอยู่เพื่ออัพเกรดให้ลูกค้าไปพักในโรงแรมอื่นเพื่อกินส่วนต่าง 7.ส่งผลให้การจองเพิ่มขึ้นจาก 14,000 ห้องต่อวัน พุ่งเป็นประมาณ 54,000 ห้องต่อวัน

               โดย ททท.เตรียมจะดำเนินการทางคดี ในประเด็นต้องสงสัย 3 กรณี 1.กรณีนักท่องเที่ยวจองแล้ว เข้าพักแล้ว และจ่ายเงินแล้ว โดยจะทำการตรวจสอบย้อนหลัง 2.กรณีนักท่องเที่ยวจองแล้ว จ่ายเงินแล้ว แต่ยังไม่ได้เข้าพัก จะระงับการจ่ายเงินไว้ก่อน 3.กรณีจองแล้ว ยังไม่ได้จ่ายเงิน และยังไม่ได้เข้าพัก ต้องตรวจสอบ ซึ่งหากพบว่ามีการทุจริตจริง ททท.จะขึ้นแบล็กลิสต์และตัดสิทธิ์ไม่ให้ผู้ประกอบการเหล่านี้เข้าร่วมมาตรการรัฐทั้งหมดทุกโครงการในอนาคต และเรียกเงินคืนให้รัฐ พร้อมทั้งดำเนินคดีด้านกฎหมายทั้งทางแพ่งและอาญา และลงโทษขั้นสูงสุด ขณะที่ในส่วนของผู้ใช้สิทธิ์ต้องพิจารณาอีกครั้ง ว่ามีเจตนาในการทำความผิดจริงหรือไม่ แต่หากถูกหลอกลวงก็จะเป็นอีกกรณี ทำให้ต้องพิจารณาเป็นรายกรณี แต่ยืนยันว่าการฉ้อโกงจะต้องเอาผิดจริงทั้งโรงแรม ร้านค้า ร้านอาหาร และผู้ใช้สิทธิ์

                แน่นอนในทุกโครงการจะมีช่องโหว่ให้คนที่คิดไม่ดีเข้าหาโอกาส ซึ่งทางธนาคารกรุงไทยยืนยันว่าการทุจริตทั้งในโครงการเราเที่ยวด้วยกันและโครงการคนละครึ่ง ธนาคารกรุงไทยมีข้อมูลทั้งหมด สามารถตรวจสอบได้ โดยที่ผ่านมาพฤติกรรมการทุจริตก็มีหลายรูปแบบ แต่ไม่ว่าจะเป็นการทุจริตในกิจกรรมใดๆ ก็ตาม ก็จะเกิดเป็นรูปแบบ หรือแพทเทิร์น ในการทุจริตขึ้นมา ซึ่งบางแพทเทิร์นก็เป็นการทุจริตในช่วงเวลาสั้นๆ บางแพทเทิร์นที่คนทุจริตมั่นใจว่าได้ผล ก็ทำนานหน่อย แต่ตรวจสอบได้หมด ซึ่งธนาคารกรุงไทยก็จะส่งข้อมูลให้กระทรวงการคลังและกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาไปดำเนินการ ซึ่งคงบอกไม่ได้ว่าแพทเทิร์นการทุจริตเป็นรูปแบบใดบ้าง เพราะมีการปรับเปลี่ยนตลอดเวลาเพื่อป้องกันการจับได้

                อย่างโครงการคนละครึ่งเองก็มีช่องโหว่ให้มีการทุจริตเช่นกัน ล่าสุดกระทรวงการคลังได้ออกมาระบุว่า ได้ตรวจสอบพบการทุจริตทั้งในฝั่งร้านค้าและผู้ได้สิทธิ์ รวมกว่า 700 กรณี ถือว่าไม่มาก เมื่อเทียบกับจำนวนผู้ได้รับสิทธิ์ในโครงการ 10 ล้านคน และใช้จ่ายจริงแล้ว 9.5 ล้านคน โดยกระทรวงการคลังจะประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อดำเนินการเอาผิด เรียกค่าเสียหายคืนกับผู้ที่ทุจริตทั้งหมด

                อย่างไรก็ดี หากมัวแต่ระมัดระวัง หรือวางแนวทางในการควบคุมที่เข้มข้นเกินไปก็จะไปส่งผลกระทบให้โครงการเดินหน้าได้ยาก ดังนั้นสิ่งที่ทำได้คือ การตรวจสอบ และวางแนวทางในการป้องปราม และจัดการเด็ดขาด เพื่อไม่ให้เกิดการทุจริตต่อมาอีก.

 

 ลลิตเทพ ทรัพย์เมือง


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"