ผู้แทนหน่วยงานต่างๆ และภาคีเครือข่ายที่ร่วมในพิธีลงนามความร่วมมือ
ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ / 4 องค์กร คือ เครือข่ายสวัสดิการชุมชน สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และวิทยาลัยโลกคดีศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือ ว่าด้วยการส่งเสริมการพัฒนาระบบสวัสดิการชุมชนเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ และส่งเสริมกองทุนสวัสดิการชุมชนกว่า 6,000 กองทุนทั่วประเทศให้มีความเข้มแข็ง ช่วยเหลือคนในสังคมให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี
วันนี้ (16 ธันวาคม) ระหว่างเวลา 8.00-10.00 น. ที่ห้องประชุมสัญญา ธรรมศักดิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) มีพิธีลงนามความร่วมมือว่าด้วย ‘การส่งเสริมการพัฒนาระบบสวัสดิการชุมชนเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน’ โดยมีผู้แทน 4 องค์กรร่วมลงนาม คือ นายแก้ว สังข์ชู ผู้ประสานงานเครือข่ายสวัสดิการชุมชนระดับชาติ นายอัมพร แก้วหนู รองผู้อำนวยการ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) นายธนนนทน์ พรายจันทร์ ผู้อำนวยการ สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ประภาภรณ์ ติวยานนท์ มงคลวนิช คณบดีวิทยาลัยโลกคดีศึกษา ม.ธรรมศาสตร์
โดยมีพยานในการลงนาม คือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จิตติ มงคลชัยอรัญญา คณบดีวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ นายไมตรี อินทุสุต ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ นายสิน สื่อสวน ที่ปรึกษาสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ นายอยุทธ์ เตชะสุกิจ ผู้อำนวยการศูนย์เพิ่มมูลค่าผลผลิตและการออกแบบผลิตภัณฑ์ SMEs และมีผู้แทนเครือข่ายสวัสดิการชุมชน ผู้แทนหน่วยงานภาคีเข้าร่วมงานประมาณ 30 คน
‘สวัสดิการของประชาชน’ จัดตั้งแล้วกว่า 6,000 กองทุนทั่วประเทศ
กองทุนสวัสดิการชุมชนเป็นกิจกรรมของภาคประชาชนที่รวมตัวกันจัดระบบดูแลคุณภาพชีวิตของกันและกัน ตามแนวคิด “สังคมไม่ทอดทิ้งกัน ร่วมกันแบ่งปันความสุข” และ ”การให้อย่างมีคุณค่า รับอย่างมีศักดิ์ศรี” โดยประสานการทำงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และรัฐบาลผ่านสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
ปัจจุบันมีการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนทั่วประเทศแล้ว จำนวน 6,032 กองทุน เป็นกองทุนในระดับตำบล เทศบาล และเขต (ในกรุงเทพฯ) มีสมาชิกมากกว่า 6 ล้านคน มีเงินกองทุนรวมกันประมาณ 17,000 ล้านบาท จัดสวัสดิการพื้นฐานให้สมาชิกและผู้ได้รับความทุกข์ยากในชุมชน ครอบคลุมตั้งแต่ เกิด แก่ เจ็บ ตาย อาชีพ การศึกษา แก้ไขปัญหาครอบครัว ชุมชน ฟื้นฟูวัฒนธรรม ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม จัดที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกิน และการช่วยเหลือเมื่อประสบภัยพิบัติต่างๆ
ตัวแทนสมาชิกกองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลบ้านส้องมอบสิ่งของช่วยเหลือครัวเรือนที่ประสบไฟไหม้
ตัวอย่างเช่น กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลบ้านส้อง อ.เวียงสระ จ.สุราษฎร์ธานี ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมดประมาณ 4,400 คน มีเงินกองทุนประมาณ 3.5 ล้านบาท สมาชิกจะต้องสมทบเงินเข้ากองทุนคนละ 1 บาท/วัน (สมทบเป็นรายปีคนละ 365 บาท) เมื่อสมัครเป็นสมาชิกแล้วอย่างน้อย 3 เดือน กองทุนฯ จะให้ความช่วยเหลือตามระเบียบที่กำหนดเอาไว้ ยกเว้นบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากอุบัติเหตุกองทุนฯ จะให้การช่วยเหลือทันที
สวัสดิการที่สำคัญ เช่น เจ็บป่วยนอนโรงพยาบาล 1-2 คืน เบิกได้ 1,000 บาท สูงสุด 6 คืน เบิกได้ 3,000 บาท ปีหนึ่งไม่เกิน 2 ครั้ง หมา แมว งู ตะขาบกัด กองทุนฯ ช่วยเหลือ 500-1,000 บาท คลอดบุตร ครั้งละ 2,000 บาท กรณีแท้งลูก กองทุนฯ จะช่วยเหลือ 3,000 บาท
บาดเจ็บจากอุบัติเหตุ ถูกทำร้าย เบิกจ่ายได้ทันที (ไม่ต้องเป็นสมาชิกครบ 3 เดือน) กองทุนจะช่วยเหลือตั้งแต่ 1,000 บาทขึ้นไป กรณีแขน-ขาขาด กองทุนฯ ช่วยเหลือข้างละ 10,000 บาท ตาบอด ข้างละ 10,000 บาท ทุพพลภาพถาวร ช่วยเบื้องต้น 10,000 บาท และไม่ต้องสมทบเงินเข้ากองทุนตลอดชีพ และหากเสียชีวิตในเวลาต่อมา กองทุนฯ ช่วยเหลือ 20,000 บาท
กรณีเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ (ไม่ต้องเป็นสมาชิกครบ 3 เดือน) หากเสียชีวิตจะช่วยเหลือทันที 30,000 บาท กรณีเป็นโรคเรื้อรังเสียชีวิต จะต้องเป็นสมาชิกไม่น้อยกว่า 6 เดือน กองทุนฯ ช่วยเหลือ 30,000 บาท นอกจากนี้เมื่อเกิดภัยพิบัติ เช่น น้ำท่วม ไฟไหม้ กองทุนจะให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับความเดือดร้อนตามความเหมาะสม ไม่จำกัดเฉพาะสมาชิก เช่น ช่วยเรื่องอาหาร ที่อยู่อาศัย ฯลฯ
นอกจากนี้ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลบ้านส้องยังร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในท้องถิ่น จัดทำหน้ากากผ้าอนามัยประมาณ 20,000 ชิ้นแจกจ่ายให้แก่ประชาชน และยังร่วมรณรงค์ ป้องกัน คัดกรอง เฝ้าระวังการแพร่กระจายของโควิด-19 ด้วย
4 องค์กรลงนามความร่วมมือพัฒนาระบบสวัสดิการชุมชน
บันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วย ‘การส่งเสริมการพัฒนาระบบสวัสดิการชุมชนเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน’ ฉบับนี้ จัดทำขึ้นในวันที่ 16 ธันวาคม 2563 ระหว่างเครือข่ายสวัสดิการชุมชนระดับชาติ กับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และวิทยาลัยโลกคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยภาคีทั้ง 4 หน่วยงานได้ตกลงความร่วมมือในด้านการสนับสนุนทางวิชาการ และความร่วมมืออื่น ๆ เพื่อพัฒนาระบบสวัสดิการชุมชนให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน มีระบบบริหารจัดการกองทุนที่ดี สร้างหลักประกันความมั่นคงของคนในชุมชนท้องถิ่น โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้
การลงนามความร่วมมือของ 4 หน่วยงาน
1.เพื่อเสริมสร้างบทบาทและความสามารถของกองทุนสวัสดิการชุมชนและเครือข่ายกองทุนสวัสดิการชุมชนให้เป็นพลังพลเมืองพัฒนาประเทศ และคุณภาพชีวิตของประชาชน 2.เพื่อดำเนินการให้เกิดการพัฒนาระบบสวัสดิการของชุมชนตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และสอดคล้องกับปัญหาความต้องการและแนวความคิด หลักการแนวทางการดำเนินงานที่กองทุนสวัสดิการชุมชนได้ดำเนินมาก่อนแล้ว และสนองตอบต่อตัวชี้วัดการพัฒนาอย่างยั่งยืน 3. เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างเครือข่ายสวัสดิการชุมชน องค์การมหาชน องค์กรที่ไม่หวังผลกำไร และสถาบันวิชาการที่มีบทบาทภารกิจในการเสริมสร้างความเข้มแข็งในการขับเคลื่อนสังคมอย่างบูรณาการ ให้เป็นกรณีตัวอย่าง เพื่อการขยายผล
โดยแต่ละหน่วยงานจะมีบทบาทดังนี้ เครือข่ายสวัสดิการชุมชน ให้การสนับสนุนในด้านต่างๆ เช่น (1) ประสานสนับสนุนการดำเนินงานของภาคีเพื่อทำโครงการต่าง ๆ กับกองทุนสวัสดิการชุมชนที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับโครงการนั้น ๆ สนับสนุนความรู้ให้กองทุนสวัสดิการชุมชน สามารถวิเคราะห์และวางแผนการจัดสวัสดิการให้เหมาะสมกับบริบทของแต่ละพื้นที่ (2) สนับสนุนข้อมูลพื้นที่รูปธรรมระบบสวัสดิการชุมชน เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ระหว่างองค์กรภาคีต่าง ๆ
(3) สนับสนุนเรื่องการจัดพื้นที่ของกองทุนสวัสดิการชุมชน เพื่อใช้สำหรับการฝึกภาคปฏิบัติ การวิจัย การอบรม ดูงาน ให้กับนักศึกษาและอาจารย์ของวิทยาลัยโลกคดีศึกษา (4) เผยแพร่ ส่งเสริมการประยุกต์แนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืน และตัวชี้วัดการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ สู่การปฏิบัติการของกองทุนสวัสดิการชุมชนให้เป็นไปอย่างกว้างขวาง เพื่อให้คนในสังคมได้รับสวัสดิการที่ทำให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดี มีชีวิตที่มั่นคง
(จากซ้ายไปขวา) ผู้แทนสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ เครือข่ายสวัสดิการชุมชน สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และวิทยาลัยโลกคดีศึกษา ม.ธรรมศาสตร์
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ให้การสนับสนุน เช่น (1) ส่งเสริม สนับสนุนการดำเนินงานของกองทุนสวัสดิการชุมชนในพื้นที่ และเครือข่ายสวัสดิการชุมชนระดับต่าง ๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง ร่วมสร้างสังคมสวัสดิการ และมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (2) ประสานอำนวยการความสะดวกด้านต่าง ๆ ตามที่ตกลงร่วมกัน (3) สนับสนุนด้านบุคลากร งบประมาณ และทรัพยากร เพื่อการดำเนินงานตามแผนงาน โครงการที่ได้กำหนดร่วมกัน
สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ให้การสนับสนุน (1) บุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาธุรกิจ การบริหารจัดการและการสร้างมูลค่าเพิ่ม ให้กับกิจกรรมสินค้าหรือบริการของชุมชน (2) สนับสนุนการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลของชุมชนเพื่อการวางแผนการพัฒนาให้ สอดคล้องกับความต้องการของแต่ละพื้นที่ รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูล (Big Data) (3) แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์การพัฒนาชุมชนร่วมกับองค์กรภาคีภายใต้ความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
วิทยาลัยโลกคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้การสนับสนุน (1) บุคลากรทางด้านวิชาการเพื่อร่วมหนุนเสริมการพัฒนาความรู้และนวัตกรรมใหม่ของ ระบบสวัสดิการชุมชนและสังคม (2) สนับสนุนทางวิชาการเพื่อพัฒนาฐานข้อมูลกองทุนสวัสดิการชุมชนที่มีประเด็นงานด้านต่างๆ ที่หลากหลาย เพื่อสามารถนำมาใช้ประโยชน์สำหรับการกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนการพัฒนาในพื้นที่ต่างๆได้
(3) ศึกษาวิจัย ยกระดับองค์กรความรู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อหนุนเสริมการพัฒนาระบบสวัสดิการชุมชนให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และยั่งยืน รวมถึงเพื่อการเผยแพร่ ขยายผลความรู้ ทั้งในสถาบันการศึกษา ภาคส่วนอื่นๆ ในสังคม และเชื่อมโยงเครือข่ายสวัสดิการชุมชนไทยกับนักวิชาการและองค์กรพัฒนาของประเทศไทยและในสากล ฯลฯ
ใช้ 4 หลักบริหารกองทุนสวัสดิการให้เข้มแข็ง
นายแก้ว สังข์ชู ผู้ประสานงานเครือข่ายสวัสดิการชุมชน กล่าวว่า เงินในกองทุนสวัสดิการชุมชนส่วนใหญ่มาจากการสมทบบริจาคจากคนในชุมชนเกือบ 60% โดยใช้หลักการบริหารอยู่ 4 หลัก คือ หลักที่ 1 ความดีของคนในชุมชน หลักที่ 2 คือความงามของวิถีวัฒนธรรมในชุมชน หลักที่ 3 คือความสามารถของคนในชุมชน และหลักที่ 4 คือความโปร่งใส โดยใช้ 4 หลักนี้ในการปฏิบัติอย่างยั่งยืนเพื่อต้องการที่จะยกระดับกองทุนสวัสดิการชุมชนทั่วประเทศให้เข้มแข็งและสร้างชุมชนเข้มแข็งไปด้วย
นายแก้ว สังข์ชู
“เป้าหมายสำคัญของกองทุนสวัสดิการชุมชน คือคุณภาพชีวิตของคนทุกกลุ่ม ทุกชนชั้น ไม่ว่าใครจะอยู่ที่ไหน อย่างไร กองทุนจะต้องไปเสริมให้ได้ หลักสำคัญคือเราไม่ได้ทำแข่งกับรัฐ แต่เราต้องเสริมรัฐและคอยหนุนซึ่งกันและกัน เพราะในบางครั้งรัฐก็เข้าไม่ถึง เช่น ภัยพิบัติน้ำท่วมที่ภาคใต้ กองทุนสวัสดิการชุมชนสามารถนำทรัพยากรและบุคลากรลงไปช่วยเหลือพี่น้องได้ทันที ในวันนี้มีความปีติยินดี ที่ 4 หน่วยงานได้มาบันทึกความร่วมมือ ได้ช่วยกันสร้างให้ชุมชนเข้มแข็ง ทั้ง 6,000 กว่ากองทุน พร้อมที่จะให้ความร่วมมือที่จะให้หน่วยงานอื่นเข้าไปเสริม เพราะตัวกองทุนเองก็มีข้อจำกัดบางอย่าง เมื่อได้หน่วยงานต่างๆ มาร่วม จึงถือว่าเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับคนในชุมชนท้องถิ่น” นายแก้วกล่าว
นายธนนนทน์ พรายจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) กล่าวว่า ISMED มีความเชื่อว่า ธุรกิจคือส่วนที่จะเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาสังคม จุดมุ่งหมายของธุรกิจก็คือจะทำอย่างไรให้สังคมดีขึ้น ธุรกิจกับสังคมแยกกันไม่ออก เพราะฉะนั้นธุรกิจจะเข้มแข็งได้ สังคมก็จะต้องเข้มแข็ง ISMED เชื่อว่าความเข้มแข็งทั้งหลายมันคงไม่ได้เกิดขึ้นมาจากเฉพาะตัวใดตัวหนึ่ง คงต้องเกิดจากสิ่งที่เรียกว่าเป็นสภาพแวดล้อมหรือระบบนิเวศน์ของการสร้างความเข้มแข็ง
“ขณะนี้ทั้ง 4 องค์กร ถือว่าเป็นตัวตั้งต้นความเข้มแข็งของชุมชน ทาง ISMED มีนักวิชาการจะมาทำความเข้าใจ มาเรียนรู้กับชุมชน เพื่อที่เราจะได้นำความรู้บางอย่างไปพัฒนาให้ธุรกิจของชุมชนนั้นเข้มแข็ง เรียกว่าเป็นการประสานที่ลงตัว ด้วยความร่วมมือจากจุดตั้งต้นตรงนี้ก็จะขยายผลไปในอนาคตข้างหน้า ทาง ISMED มีความรู้สึกยินดีมากที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาครั้งนี้ เราจะเติบโตและเข้มแข็งไปด้วยกัน” ผู้อำนวยการ ISMED กล่าว
ผศ.ดร.ประภาภรณ์ ติวยานนท์ มงคลวนิช คณบดีวิทยาลัยโลกคดีศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ฝ่ายวิชาการควรจะทำงานโดยการเชื่อมต่อกับหน่วยงานอื่นมองและเล็งเห็นความสำคัญ สิ่งสำคัญของวิทยาลัยก็คือ Globalization หมายถึง การผันแปรเป็นโลกเดียวกันของสังคมต่างๆ ทั่วโลก ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวัฒนธรรม หรือการนำเอา Global มาผสานกับ Local เพราะบริบทเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ขาดในหลายประเทศ หลายๆ อย่างที่ประเทศไทยมีบทเรียน กรณีศึกษา การทำงานที่ดี เป็นผลงานของประเทศทั้งหมด ทางฝ่ายวิชาการก็มีบริบทที่จะต้องส่งเสริมตรงนี้ และนำเผยแพร่ความรู้ให้กับทุกคน ทุกภาคได้รับทราบ ทั้งในประเทศและต่างประเทศด้วย
นายไมตรี อินทุสุต ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ
นายไมตรี อินทุสุต ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ กล่าวว่า เรื่องที่เกี่ยวกับสวัสดิการสังคมเป็นเรื่องเกี่ยวกับมนุษย์ที่จะช่วยดูแลกัน คือ แบ่งปัน ช่วยกัน เกื้อกูล จุนเจือ มอบภาระ มอบความไว้วางใจให้กับคนข้างล่าง โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ได้ทำได้ดูแลกองทุนสวัสดิการชุมชนมาในระยะหนึ่ง ประมาณ 15-16 ปี มีสมาชิกประมาณ 6 ล้านคน มีกองทุนถึง 6,032 กองทุน มีทั้งกองทุนที่มีความแข็งแกร่ง ครึ่งๆ กลาง และง่อนแง่น
“วันนี้ที่หน่วยงานมาร่วม MOU. ก็จะมาช่วยเสริมความแกร่ง คนแกร่งก็จะมาร่วม SME ได้ ในการเดินต่อนั้น เราต้องสร้างนวัตกรรมให้ชุมชน จากนั้นก็จะมีงานวิชาการ งานวิจัย มาหนุนเสริมโฟกัสให้ถูกจัด เรื่องต่อไปคือ เรื่องทุนและทรัพยากร เรียกได้ว่าเป็นการแจกแจงได้ตรงจุด มามัดมารวมกันให้มันเกิดพลังมากขึ้น และอย่างที่สาม เกิดสิ่งที่โลกกำลังปรับตัว คือ เกิดธุรกิจ Social Enterprise เกิดธุรกรรม ธุรกิจ กิจประชา เพราะฉะนั้นการร่วมมือกันคือการเสริมพลัง เพราะทำคนเดียวไม่ได้ เป็นนิมิตหมายที่ดีที่เสริมพลังกัน จากดินสู่ฟ้า เราจะตอบโจทก์โลกทั้งหมด โดยการร้อยเรียงกัน วันนี้เรามาช่วยทำฐานรากให้เข้มแข็งโดยตัวเขาเอง” นายไมตรีกล่าวในตอนท้าย
สวัสดิการชุมชนกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ
องค์การสหประชาชาติ (United Nations) กำหนดเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals – MDGs) และได้สิ้นสุดลงในปี 2558 องค์การสหประชาชาติจึงได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนาภายหลังปี 2558 โดยจัดทำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals–SDGs) ขึ้นมา มีเป้าหมายทั้งหมด 17 ด้าน คือ
เป้าหมายที่ 1 : ขจัดความยากจน 2 : ยุติความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหารและยกระดับโภชนาการสำหรับทุกคนในทุกวัย 3 : สร้างหลักประกันว่าคนมีชีวิตที่มีสุขภาพดีและส่งเสริมสวัสดิภาพสำหรับทุกคนในทุกวัย 4 : สร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต 5 : บรรลุความเท่าเทียมระหว่างเพศ และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่สตรีและเด็กหญิง 6 : สร้างหลักประกันว่าจะมีการจัดให้มีน้ำและสุขอนามัยสำหรับทุกคนและมีการบริหารจัดการที่ยั่งยืน
กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลเมืองลีง อ.จอมพระ จ.สุรินทร์ สนับสนุนการอนุรักษ์ควาย สมาชิกที่เลี้ยงควายและควายออกลูกจะให้เงินช่วยเหลือตัวละ 200 บาท เพื่อส่งเสริมให้ทำเกษตรอินทรีย์ นำมูลควายไปทำปุ๋ยใส่ไร่นา ไม่ใช้สารเคมี
7 : สร้างหลักประกันให้ทุกคนสามารถเข้าถึงพลังงานสมัยใหม่ที่ยั่งยืนในราคาที่ย่อมเยา 8 : ส่งเสริมการเติบโตเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุม และยั่งยืน การจ้างงานเต็มที่ มีผลิตภาพ และการมีงานที่เหมาะสมสำหรับทุกคน 9 : สร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มีความทนทาน ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ครอบคลุมและยั่งยืน และส่งเสริมนวัตกรรม 10 : ลดความไม่เสมอภาคภายในประเทศและระหว่างประเทศ
11 : ทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความครอบคลุม ปลอดภัย มีภูมิต้านทานและยั่งยืน 12 : สร้างหลักประกันให้มีรูปแบบการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน 13 : เร่งต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบที่เกิดขึ้น 14 : อนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเล และทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน 15 : ปกป้อง ฟื้นฟู และสนับสนุนการใช้ระบบนิเวศบนบกอย่างยั่งยืน จัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนต่อสู้การกลายสภาพเป็นทะเลทราย หยุดการเสื่อมโทรมของที่ดินและฟื้นสภาพกลับมาใหม่ และหยุดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ
16 : ส่งเสริมสังคมที่สงบสุขและครอบคลุมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้ทุกคนเข้าถึงความยุติธรรมและสร้างสถาบันที่มีประสิทธิผลรับผิดชอบและครอบคลุมในทุกระดับ และ 17 : เสริมความเข้มแข็งให้แก่กลไกการดำเนินงานและฟื้นฟูสภาพหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน
ทั้งนี้การดำเนินงานของกองทุนสวัสดิการชุมชนส่วนใหญ่ที่ให้การช่วยเหลือหรือจัดสวัสดิการให้แก่สมาชิกกองทุน ตั้งแต่เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้านการศึกษา อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สร้างแหล่งอาหาร รวมทั้งหมดประมาณ 18 ด้าน รวมทั้งให้ความช่วยเหลือชาวชุมชน คนด้อยโอกาส ผู้ที่เดือดร้อนด้านต่างๆ ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกของกองทุนทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น ทำอาหารแจกจ่ายในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ทำหน้ากากผ้าอนามัยแจกจ่าย และร่วมรณรงค์ป้องกันโควิด-19 ด้วย ถือเป็นการดำเนินงานที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติในหลายด้าน เช่น เป้าหมายข้อที่ 1-6 และข้อ 11-15
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |